ความรักเปรียบเสมือนน้ำตาลหอมหวานที่ให้พลังงานต่อจิตใจและสมอง
เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน กฎทางเคมีเล็กน้อยจะผสานเข้ากับกลไกทางชีววิทยาอย่างลงตัว นำพาออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนแห่งความรักและความผูกพันไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายของเรารู้สึกมีความสุขตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ฮอร์โมนออกซิโทซินกำลังพลุ่งพล่าน จะออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับยากล่อมประสาทหรือสารเสพติด แต่อย่าได้กังวลใจไป เพราะด้วยเหตุนี้แหละที่ทำให้การตกหลุมรักหรือได้จีบใครสักคนหนึ่ง มีประโยชน์ต่อสมองและจิตใจของเรา
ในช่วงที่เราตกหลุมรักและอยากเข้าหาใครสักคน สมองของเราจะกระตุ้นให้ต่อมไร้ท่อหลั่งสารสื่อประสาทออกมาจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นและตอบสนองต่ออารมณ์และแรงขับทางเพศ แน่นอนว่ามีฮอร์โมออกซิโทซินที่ทำหน้าที่เพิ่มความรู้สึกผูกพันและดึงดูดฝ่ายตรงข้ามดังที่กล่าวไปข้างต้น ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของโดปามีน (Dopamine) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเหมือนได้รับรางวัลทุกครั้งที่ถูกกระตุ้น ขณะที่ระบบลิมบิก (Limbic) หรือโครงสร้างสมองที่ช่วยควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ก็ถูกกระตุ้นให้แสดงออกในเชิงบวกเช่นกัน
ผลพวงจากการที่ระบบลิมบิกถูกกระตุ้นในเชิงบวก ประกอบกับการที่สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาในปริมาณมาก ส่งผลให้บางพื้นที่ของสมองในส่วนอื่นๆ ทำงานลดลง โดยเฉพาะสมองในส่วนคอร์เท็กซ์ (Cortex) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้เหตุผล การคิด การแก้ไขปัญหา การควบคุมอารมณ์และจิตสำนึก ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้ช่วงแรกที่รู้สึกตกหลุมรักใครสักคน เราจึงมองเห็นแต่ข้อดีของเขาเพียงอย่างเดียว เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า ‘ความรักทำให้คนตาบอด’ แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้ตาบอด เพียงแค่สมองในส่วนตรรกะและการประเมินค่าในเชิงลบทำงานลดลง
เมื่อสมองและร่างกายตกอยู่ในสภาวะเชิงบวก ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น มีแรงจูงใจในการทำบางอย่างให้ลุล่วงตามเป้าหมายมากขึ้น มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ และสนใจสิ่งใหม่กว่าแต่ก่อน ซึ่งอาจช่วยให้เราผ่านวันเวลาอันโหดร้าย ท่ามกลางสังคมและผู้คนที่เป็นพิษ หรือการงานที่หนักหนากว่าภูเขาเอเวอเรสต์ ดังนั้นการได้รักใครสักคน แล้วมุ่งมั่นที่จะตามจีบเขาคนนั้นเพื่อสร้างความประทับใจ อาจเป็นอีกกลไกหนึ่ง ที่ช่วยทำให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้นจากภายในสู่ภายนอก
เนื่องจากการมีความรักและได้สานต่อความสัมพันธ์กับคนอื่น ช่วยเพิ่มความมั่นใจและการนับถือตนเอง ท่ามกลางผู้คนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และกดดัน พยายามเหนี่ยวรั้งความมั่นใจไปจากเราทีละเล็กทีละน้อย การได้พูดคุยกับคนที่เราสนใจแลกเปลี่ยนความประทับใจซึ่งกันและกัน อาจช่วยให้เราได้สะท้อนตัวตนที่แท้จริงมากขึ้นว่า อย่างน้อยเรายังน่าสนใจและมีค่าในสายตาของคนอื่น อีกทั้งการสนทนาในเรื่องที่ต่างออกไปจากชีวิตประจำวัน อาจทำให้เราหลงลืมเรื่องเครียดในวันแย่ๆ ได้
แม้จะไม่ได้ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด ทว่าในงานวิจัย Organizational Behavior and Human Decision Processes เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในองค์กรและการตัดสินใจ พบว่า การจีบกันในที่ทำงานแบบทีเล่นทีจริงระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ช่วยลดความตึงเครียดในที่ทำงานได้มากกว่า สถานที่ทำงานที่ไม่มีการแสดงออกเชิงชู้สาวเลย โดยการแสดงออกดังกล่าวไม่นับรวมการล่วงละเมิดทางเพศหรือการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง
อีกทั้งการมีความรักและเข้าหาใครสักคน ยังช่วยให้เราปรับปรุงพฤติกรรมการเข้าสังคมที่อาจเป็นปัญหาเช่นภาวะวิตกกังวลทางสังคม เนื่องจากการที่เราได้ตกหลุมรักคนอื่น และหัวใจเรียกร้องให้ไปหาเขาคนนั้น ร่างกายของเราจะเริ่มปรับตัวและสร้างแรงจูงใจใหม่ในการเข้าสังคม ถึงแม้จะยังคงพูดน้อยและมีท่าทีเขินอาย แต่อย่างน้อยทุกสิ่งทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อคนที่มีภาวะวิตกกังวลทางสังคมกล้าที่จะก้าวเท้าออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง และนี่อาจเป็นหนึ่งในพลังแห่งความรัก ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตและจิตใจของเราดีขึ้น
ที่มา:
– https://www.uow.edu.au/media/2023/what-happens-in-our-brain-and-body-when-were-inlove.php
– https://www.verywellmind.com/flirting-is-good-for-your-mental-health-5190392
Tags: ตกหลุมรัก, ฮอร์โมน, ความรัก, สมอง, Wisdom