คุณจ่าย กยศ.แล้วหรือยัง

ที่ถามแบบนั้นเนื่องจากตั้งแต่เดือนธันวาคมปีนี้เป็นต้นไป กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อาจเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องอย่างหนักหนาสาหัส เนื่องจากปริมาณเงินสดที่ใช้ในการจ่ายให้กับผู้กู้ยืมและผู้กู้ยืมรายใหม่ยังคงสูง แต่ในขณะเดียวกันคนที่ได้ผ่านการกู้ยืม กยศ.จนกลายเป็น ‘ลูกหนี้’ กองทุนไปแล้ว กลับไม่ชำระหนี้คืน หรือชำระช้ากว่ากำหนดมากถึงร้อยละ 64.4  

สถานการณ์ของ กยศ.ปัจจุบันยังคงขาดทุนจากการปล่อยกู้เฉลี่ยปีละ 11,240 ล้านบาท และก่อนสิ้นปีนี้ (ธันวาคม 2567) เงินสดสะสมจะติดลบมากถึง 2,092.8 ล้านบาท จากการประเมินของ กยศ.

ฉะนั้นคำถามที่ว่า ‘คุณจ่ายเงิน กยศ.แล้วหรือยัง’ จึงสำคัญ ไม่ว่าจะทั้งกับเด็กรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อีกจำนวนมากที่ต้องการเข้าถึงระบบการศึกษา กับเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังยังชีพในรั้วสถานศึกษาด้วยเงินของ กยศ. และหากสถานการณ์ของกองทุนยังคงมีแนวโน้มที่มี รายจ่ายมากกว่ารายรับ ไม่แน่ว่าในปีหน้าอาจไม่ใช่ปีที่ดีของเด็กไทยในระบบการศึกษาทุกคน 

ภาพ: Getty Images

รายรับลด-รายจ่ายเพิ่ม 

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเคยประเมินว่า รายรับของกองทุนในช่วงปีงบประมาณ 2565-2567 จะลดลงกว่าร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบปีงบประมาณ 2562-2564 ส่งผลให้จากเดิมที่ กยศ.มีรายรับในช่วงปีงบประมาณ 2562-2564 เฉลี่ยประมาณ 3.09 หมื่นล้านบาทต่อปี จะลดลงเหลือประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปีงบประมาณ 2565-2567 ในทางกลับกัน รายจ่ายของกองทุนมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 43.3 จากเดิมในปีงบประมาณ 2562-2564 มีรายจ่ายประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 4.06 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2565-2567 

ตามเอกสารประกอบการชี้แจงงบประมาณของ กยศ.ที่ส่งให้กับกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ระบุรายละเอียดของรายรับ-รายจ่ายของกองทุนฯ ข้อมูลสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 ชี้ว่า รายรับของ กยศ.มีแนวโน้มลดลงสวนทางกับรายจ่ายที่สูงมากกว่ารายรับ โดยในปีงบประมาณ 2565 กยศ.มีรายรับเงินสดอยู่ที่ 28,920.6 บาท ต่ำกว่าเงินสดจ่ายตามการประเมินของ กยศ.อยู่ที่ 40,337.0 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับอยู่ที่ 11,416.33 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 ก็เช่นกัน กยศ.มีกระแสเงินสุทธิต่ำกว่ารายจ่ายที่ 11,700.2 ล้านบาท 

เมื่อรายรับลดลงและอยู่ต่ำกว่ารายจ่าย เงินสะสมของ กยศ.จึงมีขนาดลดลงตามไปด้วย เห็นได้ชัดจากเอกสารที่ระบุเงินสะสม ณ สิ้นปี ในปี 2564 ไว้ที่ 52,660 ล้านบาท และทยอยลดลงเรื่อยๆ จนเหลืออยู่เพียง 13,809.1 ล้านบาทในปี 2567 ตามการประมาณการของ กยศ.เฉลี่ยลดลงร้อยละ 28.4 ต่อปีหรือปีละ 12,950.3 ล้านบาท

จากการประเมินของศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB) ระบุว่า หากรายจ่ายของกองทุนในช่วงปีงบประมาณ 2568-2569 ยังมีรายจ่ายอยู่ที่ปีละ 40,686.3 ล้านบาท นับรวมกับการรายรับที่อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยใน 2 ปีนี้จากการคาดการณ์ของ กยศ. เงินสะสมในกองทุนฯ ก็ยังคงลดลงไปเฉลี่ยราว 14,371.1 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้เงินสดสะสมจำนวน 13,809.1 ล้านบาทในปีนี้จะเหลือเพียง 801.3 ล้านบาทในปี 2568 และเริ่มหมดลงจนกระทั่งเข้าสู่สภาวะกองทุนติดลบมากถึง 11,378.2 บาทในปีงบประมาณ 2569 ส่งผลจะทำให้ กยศ.เข้าสู่วิกฤตสภาพคล่อง ขาดเงินสด ในอีกประมาณ 1 ปีข้างหน้า 

ภาพ: เอกสารประกอบการชี้แจงงบประมาณโดย 101 PUB

101 PUB ยังระบุเพิ่มเติมว่า กยศ.อาจเผชิญวิกฤตสภาพคล่องเร็วกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ จากตารางด้านบนจะเห็นว่า ในปีงบประมาณ 2568 เป็นปีงบฯ ที่ กยศ.มีรายจ่ายมากถึง 72,376.4 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ารายจ่ายของปีงบประมาณ 2565-2567 เกือบร้อยละ 80 และอาจมีการปล่อยสินเชื่อสูงกว่าปีอื่นๆ ที่ผ่านมาจากราว 4 หมื่นล้านบาทเพิ่มเป็นเกือบ 6 หมื่นล้านบาท รวมถึงปัจจัย การปรับโครงสร้างการชำระหนี้ของกองทุนที่พยายามบรรเทาภาระของลูกหนี้ เช่น การลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจึงกระทบกับจำนวนหนี้ที่ยังค้างจ่ายอยู่ เป็นผลให้ผู้กู้ที่ได้ชำระหนี้กองทุนไปก่อนหน้านี้กลายเป็นผู้ชำระเกิน และ กยศ.ต้องจ่ายคืนเป็นจำนวนเงินราว 8,000 ล้านบาท แน่นอนว่ารายจ่ายที่มากขนาดนี้ย่อมกระทบกับเงินสะสมในกองทุนในปีงบประมาณ 2568 ให้ลดลงถึงราว 44,679.8 ล้านบาท และหากลงลึกข้อมูลเงินสะสมเป็นแบบรายเดือนจะพบว่า กองทุน กยศ.จะติดลบภายในเดือนธันวาคมปีนี้ 

ภาพ: Getty Images

เบี้ยวเงิน-ไม่มีความสามารถจะจ่ายคืน 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2539 กยศ.ได้รับการจัดตั้งให้เป็นทุนหมุนเวียน โดยเริ่มดำเนินการจากงบประมาณของรัฐบาลที่ 4 แสนล้านบาท ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กระนั้นแม้ กยศ.จะเป็นกองทุนสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่ แต่ด้วยเป็นกองทุนจากการหมุนเวียนเงินจากผู้กู้ยืมรายเก่า ประกอบกับกลไกการชำระหนี้สินที่เป็นแบบทยอยจ่ายทีละน้อย และมักเกิดปัญหาผู้กู้ยืมไม่สามารถชำระสินเชื่อได้ภายหลัง หรือชำระไม่ตรงเวลาจึงเกิดเป็น ‘หนี้เสีย’ กระทบกับสภาพคล่องของกองทุน

ปัจจุบัน กยศ.มีผู้กู้ที่ชำระหนี้สินเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 1.8 ล้านคน และมีผู้กู้ที่อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ราว 3.5 ล้านคน ซึ่งจากการบริหารกองทุนนับตั้งแต่ปี 2539 พบว่า กองทุนมีหนี้เสียทั้งสิ้นร้อยละ 62 (มากกว่าหนี้เสียในวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ที่มีอยู่เพียงร้อยละ 47) สืบเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วยเหตุผลด้านความสามารถ และการผิดนัดชำระแม้จะไม่มีปัญหาทางการเงินก็ตาม ขณะที่การชำระหนี้ กยศ.ในช่วงปี 2566 ยังคงมีแนวโน้มการชำระหนี้ลดลงไปมากกว่าร้อยละ 7.57 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ในช่วงเวลาเดียวกัน และจากการเสนอผลการติดตามหนี้ของ กยศ.เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 พบว่า มีการผิดนัดชำระหนี้กับกองทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน

ในแง่ของการไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้จำนวนมาก ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชน ให้ความเห็นกับ The Momentum ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการบริหารจัดการของ กยศ.ที่มีปัญหา ทั้งการดำเนินการตามนโยบายอย่างทั่วถึงอย่างการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ การคืนเงินที่ลูกหนี้ชำระเกินก่อนหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ และระบบการให้ข้อมูลหนี้สินของ กยศ.ที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

  “เราได้นัดให้คำแนะนำกับกระทรวงการคลังไปแล้วว่า ต้องเร่งคำนวณยอดหนี้ใหม่และต้องทำให้ครบลูกหนี้ทุกคน แต่เมื่อเราให้ทีมงานของเราไปตรวจสอบว่า ยังมีลูกหนี้ กยศ.อีกคนที่ยังไม่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ เราเห็นว่ามีอยู่ร้อยละ 40 ด้วยซ้ำนะ ซึ่งจำนวนนี้อาจจะมีจำนวนลูกหนี้ ที่ยังไม่ได้ปรับโครงสร้างเข้าไปหลักล้านคนเลย เป็นเรื่องใหญ่นะ”

ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ของกองทุน จะทำให้หนี้สินของผู้กู้ลดจำนวนลง จากการปรับอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ซึ่งในส่วนนี้ผู้กู้รายเก่าที่ยังคงค้างชำระเงินคืน จะได้รับผลประโยชน์จากภาระหนี้สินที่ลดลง ซึ่งในมุมมองของปารมีเห็นว่า จะเป็นแรงจูงใจให้ลูกหนี้หันกลับมาชำระหนี้เข้า กยศ.อีกครั้ง 

“หากปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เงินที่ต้องชำระให้ กยศ.จะถูกลง ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 1 และยอดปรับอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งก็เห็นว่า เป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมกับลูกหนี้ แต่ที่ไม่เป็นธรรมคือลูกหนี้อีกร้อยละ 40 ที่ยังไม่ได้ปรับโครงสร้างหนี้ มันทำให้หนี้สินของเขาวิ่งอยู่ทุกวัน 

“ฉะนั้น กยศ.จะต้องเร่งปรับโครงสร้างให้เขา กลับมาคำนวณหนี้ให้ลูกหนี้ใหม่ ทั้งเบี้ยปรับและดอกเบี้ย เขาจะได้มีแรงจูงใจที่จะชำระหนี้ให้กับ กยศ.เงินจะได้ไหลกลับเข้ามา เมื่อ กยศ.ไม่เร่งปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ไปแจ้งเขาว่าดอกเบี้ยลดลงแล้วนะ หรือเบี้ยปรับก็ลดลงแล้ว เขาก็ไม่ชำระหนี้สิ”

นอกจากการปรับหนี้สิน สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกับลูกหนี้ของ กยศ.ทุกราย เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันทั้งข้อมูลของจำนวนหนี้สินรวม และการปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งปารมียังพบว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้แล้ว ยังมีบางส่วนที่ข้อมูลหนี้สินภายหลังการปรับโครงสร้างไม่ปรากฏอยู่บนแอปพลิเคชันของกองทุน 

“มีบางส่วนที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่ข้อมูลในระบบแอปพลิเคชันของ กยศ.กลับยังไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนข้อมูล มันก็ทำให้เห็นนะว่า ระบบการบริหารจัดการของ กยศ.ไม่มีประสิทธิภาพดีพอ ฐานข้อมูลคุณจะต้องเตรียมความพร้อม เพราะคุณรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้คุณมีตั้ง 7 ล้านคน” ปารมีระบุ 

ภาพ: Getty Images

ขณะที่ 101 PUB ได้เสนอวิธีการในการนำ ‘หนี้เสีย’ กลับเข้ามาภายในกองทุนอีกครั้งด้วย 3 วิธีหลักคือ การนำเอา กยศ.เข้าเครดิตบูโรเพื่อบีบให้คนไม่เบี้ยวหนี้, ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ่ายเงินคืน และในอนาคตได้เสนอให้มีการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เช่น การตัดเงินเดือนเร็วขึ้นและมากยิ่งขึ้นด้วย 

ด้าน ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า ข้อมูลสถานภาพการดำเนินการของกองทุนยังคงเป็นไปด้วยสภาพคล่อง 

“กยศ.ของเรายังคงมีผู้กู้เข้ามาชำระหนี้อยู่ตลอดทุกวันทุกเดือน การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์ในกรณีที่แย่ที่สุด กองทุนยังไม่ได้ติดลบตามที่เราได้ประมาณการไปตั้งแต่ครั้งแรก

“แต่ถึงแม้กองทุนจะไม่ติดลบ เราก็ได้มีการขอการสนับสนุนงบประมาณในปี 2568 เพื่อเติมเต็มการปล่อยให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2567 ในภาคเรียนที่ 2 และปีการศึกษา 2568 ในภาคเรียนที่ 1”

สืบเนื่องจากคำขอสนับสนุนงบประมาณปี 2568 สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติงบประมาณกว่า 4,573 ล้านบาท แต่หากย้อนดูข้อมูลจากสรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ครั้งที่ 6 จะพบว่า กยศ.ขอรับงบสนับสนุนมากถึง 1.9 หมื่นล้านบาท แต่สำนักงบประมาณได้พิจารณาปรับลดเหลือ 800 ล้านบาท ก่อนที่สภาฯ จะลงมติเพิ่มให้อีก 3,773 ล้านบาท จากการโยกงบประมาณจากโครงการอื่นๆ เข้ามาเสริม

อย่างไรก็ตามงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนมาแล้ว จากการคาดการณ์ของผู้จัดการกองทุน กยศ.อาจมีการเพิ่มการสนับสนุนมากกว่านี้ แม้จะระบุว่า กองทุนยังคงเพียงพอสำหรับดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้รายใหม่และรายปัจจุบันอยู่ก็ตาม 

“วันนี้เรียนตามตรงว่า สถานะของ กยศ.ยังคงมีรายได้เข้ามาทุกเดือน และมีรายจ่ายออกไปทุกเดือนมันก็จะหมุนกันไป ในการคาดการณ์กองทุนยังคงพอที่จะดำเนินการกับปีงบประมาณที่เราได้ขอเงินจากรัฐบาลมา

“แต่อย่าลืมว่า เรามีการขอเงินงบประมาณในปีงบประมาณ​ 2568 ตอนแรกเราขอไปแล้วเราได้มาประมาณ 800 ล้านบาท แล้วมีการลงมติให้ได้มา 3,773 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4,573 ล้านบาท ซึ่งในงบกลางที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เราก็ยังดำเนินการที่จะขอต่อไปอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากเราต้องมาดูของปีการศึกษาภาคเรียนที่ 1 ปี 2568 ด้วย ซึ่งก็เป็นการคาดการณ์อีกเหมือนกัน” ดร.นันทวันระบุ 

ภาพ: Getty Images

อย่างไรก็ดีแม้จะมีงบประมาณจากรัฐมาอุ้มกองทุนให้ยังดำเนินการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้กู้รายปัจจุบันและผู้กู้รายใหม่ ซึ่งเป็นเหล่าผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้ารับการศึกษา แต่จากการคาดการณ์ของ 101 PUB หากสถานการณ์เงินสะสมของกองทุนยังคงลดลงเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านบาท ก็อาจจะยื้อกองทุนได้เพียง 4 เดือนเศษเท่านั้น แต่หากลดลงเฉลี่ยเดือนละราว 3,700 ล้านบาท จากการประเมินของ กยศ.อาจยื้อได้มากสุดเพียงเดือนเศษ

กยศ.ถังแตกกระทบเด็กขาดทุนเรียน

ในฐานะผู้ที่ติดตามและร่วมถกปัญหาด้านการศึกษา ปารมีเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากว่า กยศ.ซึ่งเป็นกองทุนที่มอบโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มานานเกือบ 30 ปีเกิดวิกฤตสภาพคล่องขึ้น โดยแจกแจงออกเป็น 2 ผลกระทบดังนี้

1. เด็กที่เป็นผู้กู้ทั้งรายใหม่และรายปัจจุบัน อาจได้รับวงเงินในการกู้ยืมไม่เต็มจำนวน แต่อาจจะได้อยู่ที่ร้อยละ 70-80 ของคำขอกู้ยืม 

2. ปริมาณคำขอกู้ยืมของผู้กู้รายใหม่และผู้กู้รายปัจจุบัน ที่ต้องทำคำขอกู้อีกครั้งอาจจะได้รับเงินไม่เต็มจำนวน ยกตัวอย่าง มีผู้ส่งคำขอกู้เงินกับ กยศ.เป็นจำนวน 1 ล้านคน แต่ผู้ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่ออาจจะไม่ครบทั้ง 1 ล้านคน 

อย่างไรก็ตามในกรณีนี้คือ การคิดถึงผลกระทบจากความวิกฤตของสภาพคล่อง ไม่ได้มองถึงการ ‘ถังแตก’ ของ กยศ. ซึ่งปารมีมองว่า อย่างไรแล้วก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบกับการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กจำนวนมาก 

“กยศ.มันจำเป็นมากๆ กับเด็กนักเรียนนักศึกษา ยังไงแล้วรัฐบาลก็จะต้องหาวิธีการในการประคับประคองและหางบประมาณมาช่วยกองทุนเอาไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณกลางหรืองบอื่น เขาคงไม่ยอมให้ กยศ.ถังแตก แต่อาจจะตกอยู่ในสภาวะวิกฤตแค่นั้น”

อย่างไรก็ตามฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด อย่างกรณีการถังแตกของกองทุนที่เป็นความหวังทางการศึกษาของประเทศนั้น คงหนีไม่พ้นการตัดโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเมื่อเด็กกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงโอกาสที่จะได้ร่ำเรียน ท้ายที่สุดผลลัพธ์นั้นก็จะปรากฏในรูปแบบของการขาดแคลนกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป

อ้างอิง 

https://www.the101.world/student-loan-fund-crisis/

https://web.parliament.go.th/assets/portals/88/filenewspar/88_465_file.pdf

https://www.studentloan.or.th/th/news/1679568742

https://www.the101.world/student-loan-fund-crisis/

Tags: , ,