ไม่ว่าจะเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ หรือ ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ทั้งสองวลีมักถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ เพื่ออธิบายถึงลักษณะทางกายภาพของประเทศไทยอยู่หลายครั้ง ซึ่งสามารถสะท้อนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การกิน และการอยู่ร่วมกับ ‘น้ำ’ ของคนไทยมาตั้งแต่อดีตได้เป็นอย่างดี

แต่มาปีนี้ ‘น้ำ’ ที่อยู่ในวลีทั้งสองกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์ ทั้งในเชิงชีวิตและเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่ปีนี้เจอกับ ‘พายุ’ โหมกระหน่ำในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมที่ผ่านมา มิหนำซ้ำยังเจอกับสภาวะลานีญาที่ทำให้ปริมาณฝนในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้หลายจังหวัดของภาคเหนือต้องเจอกับ ‘มหาอุทกภัย’

โดยจังหวัดสุโขทัยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำยม ประกอบกับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมานานหลายสิบปี และทำให้เกิดแนวคิดการสร้าง ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) เมื่อปี 2523 ก่อนจะเปลี่ยนมือมาเป็นกรมชลประทานในปี 2528 โดยมีแนวคิดหลักคือ การเก็บปริมาณน้ำท่าในลำน้ำสำคัญอย่างลุ่มน้ำยม เพราะหากดูแม่น้ำในภาคเหนือจะพบว่า แม่น้ำยมเป็นเพียงลุ่มน้ำเดียวที่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่กักเก็บน้ำเหมือนแม่น้ำสายสำคัญอื่นๆ 

ทว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นกลับถูกตั้งคำถามถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง ทำให้เกิดการประท้วงจากคนในพื้นที่ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการสร้างเขื่อนคอนกรีตสูง 72 เมตรแห่งนี้ เป็นเหตุให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงกับเอ่ยปากอย่างร้อนแรงว่า กลุ่มคนที่ต่อต้านเขื่อนเป็นพวกคนใจแคบ ที่ไม่ยอมให้เกิดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง

“ทุกครั้งที่จะมีการพูดถึงเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็จะมีการเผาหุ่น ไม่รู้ว่าเผาจนผมไหม้กี่ครั้ง ใจแคบจริงๆ พูดคุยกันบ้างสิ” สมศักดิ์กล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567

ทำให้คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน นำโดย ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ, หาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) และประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี แนวร่วมคัดค้าน ออกมาแถลงถึงสาเหตุที่ว่า ทำไมต้องคัดค้านเขื่อนแห่งนี้ไม่ให้เกิดขึ้น โดยมีสาเหตุหลักๆ ทั้งหมด 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ‘ความมีประสิทธิภาพ’ – คณะกรรมการคัดค้านฯ อ้างอิงผลการศึกษาจากองค์การอาหารและการเกษตรโลก (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) โดยระบุว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นแทบจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย สามารถช่วยได้เพียง 8% เท่านั้น กล่าวให้เข้าใจอย่างง่ายคือ หากน้ำท่วม 1 เมตร เขื่อนแก่งเสือเต้นจะช่วยรับน้ำได้เพียง 8 เซนติเมตรเท่านั้น สาเหตุเป็นเพราะลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำยมมีมากกว่า 77 สาขา ซึ่งจุดที่จะสร้างเขื่อนมีลำน้ำสาขาเข้ามาเพียง 11 สาขาเท่านั้น
  2. ‘ความปลอดภัย’ – คณะกรรมการคัดค้านฯ อ้างข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีที่ชี้ให้เห็นว่า จุดที่จะสร้างเขื่อนนั้นอยู่บนรอยเลื่อนแพร่ (พื้นที่มีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง จึงมีความเสี่ยงหากต้องสร้างเขื่อนในบริเวณนั้น

“การสร้างเขื่อนจึงเปรียบเสมือนเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่” คณะกรรมการคัดค้านระบุความกังวล 

3. ‘ทรัพยากรธรรมชาติ’ – ทรัพยากรธรรมชาติที่จะสูญเสียไป เนื่องจากพื้นที่จุดก่อสร้างเป็นผืนป่าไม้สักทองผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นผืนสุดท้าย จึงไม่สมควรทำลายและควรพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเสียมากกว่า

นอกจากนั้นประสิทธิพรยังเล่าถึง ‘เล่ห์เหลี่ยม’ ที่นักการเมืองมักหยิบมาใช้เป็นคำอธิบายประกอบการสร้างเขื่อนไว้ว่า พื้นที่จุดสร้างนั้นเขื่อนเป็นป่าหัวโล้น แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นพื้นที่ของป่าเบญจพรรณซึ่งส่วนใหญ่จะผลัดใบไม้ในฤดูแล้งเพื่อรักษาต้น

“นักการเมืองฉวยโอกาสบอกว่า ไม่มีป่าแล้ว สัมปทานไปหมดแล้ว อันนี้เป็นความอัปยศของนักการเมืองไทยที่อยากได้โครงการใหญ่ แล้วมาบอกว่าการสร้างเขื่อนไม่ได้เป็นการทำลายป่า แต่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พอนักการเมืองพานักข่าวมาดู ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่เข้าใจระบบนิเวศป่า กลายเป็นเข้าใจว่า ไม่มีป่าแล้ว มีแต่ไม้ยืนต้นตาย

“แต่เราก็พยายามพานักข่าวมาในหน้าฝนบ้าง สิ่งที่นักการเมืองบอกว่าไม่มีป่าแล้ว ความจริงคือ พอฝนมา ต้นสักผลิใบเขียวตบหน้านักการเมือง กลายเป็นภาพป่าที่สมบูรณ์ อันนี้คือวัฏจักรของป่าเบญจพรรณทั่วไป” แกนนำการคัดค้านกล่าว

อย่างไรก็ตามใช่ว่าชาวบ้านในตำบลสะเอียบจะละเลยปัญหาน้ำท่วม หรือน้ำแล้งในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ หากรัฐไม่สามารถทำโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นได้ โดยเสนอ ‘สะเอียบโมเดล’ ที่ร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการหลายสาขา พัฒนาออกเป็นแผนป้องกันน้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพกว่า 19 แนวทาง โดยหนึ่งในหัวใจสำคัญหลักคือ การมี ‘หลุมขนมครก’ เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนตลอดลุ่มน้ำยม เพื่อให้ท้องถิ่นบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง

มาจนถึงตอนนี้ระยะเวลาในการต่อสู้ล่วงเลยมากว่า 35 ปีแล้ว แม้ว่าโอกาสการเกิดเขื่อนแห่งนี้จะอยู่ในระดับที่น้อยมาก แต่ The Momentum ขอตั้งโจทย์และลงไปในพื้นที่ตำบลสะเอียบ จังหวัดแพร่เพื่อสำรวจด้วยตาของตัวเองว่า หากเขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นจริง สิ่งใดจะจมหายไปอยู่ใต้มวลน้ำหลังผนังคอนกรีตยักษ์กันบ้าง

ป่าสักทองคงหายไป

ตามจากศึกษาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จุดที่จะสร้างเพื่อให้มวลน้ำไหลเข้าท่วมคือส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่ยม บริเวณดงป่าสักทองที่มีพื้นที่กว่า 6 หมื่นไร่ The Momentum ได้พูดคุยกับ ก้องไมตรี เทศสูงเนิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา เขาเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างจริงคือ การเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ราว 1.4 แสนไร่

“1.4 แสนไร่เป็นป่าสักล้วนๆ ถ้าเขื่อนเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อพื้นที่ป่าสักราว 6 หมื่นไร่ ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษารายงานถึงมูลค่าป่าไม้สักทองแห่งนี้ว่า หากประเมินเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจะเป็นเท่าไร” 

ความสำคัญของผืนป่าสักแห่งนี้ นับว่าเป็นป่าไม้สักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เมื่อเทียบกับป่าสักที่จังหวัดอื่น จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า ‘ดงสักทอง’ โดยความสำคัญของไม้สัก หัวหน้าอุทยานฯ​ เล่าให้ฟังว่า ไม้สักนับเป็นไม้ส่งออกที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล ส่วนใหญ่แล้วจะนำไปเพื่อการสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ และผลิตเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง

“ความแกร่งของไม้สักมีความแกร่งมากจนขนาดที่ว่า เนื้อไม้ของที่นี่จะออกสีเหลืองทองเลย ถ้านำไปเทียบกับหลายที่ เวลามันโตเร็ว มันก็ขยายเร็ว ความแกร่งมันจะน้อย ดังนั้นถ้าอยากได้ไม้สักที่ดีและมีคุณภาพต้องเป็นไม้สักของที่นี่” ก้องไมตรีระบุถึงคุณภาพไม้สักบริเวณดังกล่าว

นอกจากป่าสักทองที่จะได้รับผลกระทบแล้ว ก้องไมตรียังระบุถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศป่าเบญจพรรณไว้อย่างน่าสนใจว่า ปกติแล้วป่าเบญจพรรณที่นี่จะเป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิดทั้งนกยูง และหมาจิ้งจอกทองหรือที่รู้จักกันว่า ‘หมาจิ้งจอกสยาม’ (Siamese Jackal)

“ถ้าเขื่อนเกิดขึ้นจริงความหลากหลายของพืชพรรณ และสัตว์ป่าหายากตรงนี้ก็จะหายไปด้วย”

สำหรับดงสักทองที่มีพื้นที่กว่า 1.4 แสนไร่ยังมีความสำคัญต่อชาวบ้านตำบลสะเอียบในฐานะ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากการเก็บของป่าเพื่อดำเนินชีวิต เราจึงเห็นกระบวนการต่อต้านที่อาศัยความเชื่อทางศาสนาอย่าง ‘การบวชป่า’ เข้ามาเป็นกุศโลบายในการพิทักษ์ไว้ซึ่งไม้ยืนต้นชนิดนี้อีกด้วย

‘สาเอียบ’ หมู่บ้าน 200 ปีคงปิดตำนาน

“สะเอียบเป็นชุมชนโบราณที่ตั้งมา 200-300 ปีมาแล้ว เริ่มจากนายพรานเข้าป่าล่าสัตว์เดินมาจากอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มาเจอห้วยเอียบเลยตั้งชื่อว่า ‘สาเอียบ’ แต่ข้าราชการสมัยก่อนบันทึกชื่อผิดเป็น ‘สะเอียบ’ ก็เลยเป็นสะเอียบมาถึงทุกวันนี้” คำบอกเล่าที่มาชื่อหมู่บ้านที่ประสิทธิพร ในฐานะ ‘ลูกเขย’ คนสะเอียบเล่าให้เราฟัง

ประสิทธิพรเล่าให้ฟังถึงวิถีชีวิตคนในชุมชนอีกว่า ปัจจุบันนี้ชาวบ้านมีอาชีพต้มเหล้าเป็นหลัก สมัยก่อนการต้มเหล้าผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นบรรพบุรุษจึงเอาเหล้าที่หมักไปซ่อนในป่าใกล้หมู่บ้าน เลยเกิดเป็นยี่ห้อ ‘สักทอง’ ขึ้นมา

“ชุมชนสะเอียบมีภูมิปัญญาเอาสมุนไพร 25 ชนิด มาผสมกันเป็นแป้งเหล้าขึ้นมาหมัก และกลั่นเป็นเหล้า”

นอกจากนั้นในชุมชนยังมีการเลี้ยงหมูโดยอาศัยผลพลอยได้ (By-Product) จากการต้มเหล้าคือ ‘ส่าเหล้า’ มาให้หมูกิน ทำให้เนื้อหมูมีความนุ่มและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกกันในชื่อว่า ‘หมูน้ำโจ้’

“ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตโดยการต้มเหล้าและเลี้ยงหมู ทำให้เศรษฐกิจของที่นี่ดำเนินอยู่ได้ คนเฒ่าคนแก่ก็ล้างขวด บ้างก็ตัดกล่องกระดาษใส่ขวดเหล้า มีอาชีพ มีรายได้กันพอสมควร ที่สำคัญคือเรามีทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น ผัก เห็ด หน่อไม้ที่ชาวบ้านหาอยู่กินตามปกติ สามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้ชาวบ้านผูกพันกับถิ่นฐานอย่างมาก”

จากความผูกพันระหว่างคนกับชุมชนจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมชาวบ้านถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการต่อต้านเขื่อน ไม่ให้เขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นจริง เพราะสร้างผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตของผู้คนกว่า 1,000 ครอบครัวจะต้องถูกอพยพไปยังถิ่นฐานใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีมูลเหตุบ่งชี้ชัดว่าจะเป็นพื้นที่ใด และไม่สามารถการันตีคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้

ประสิทธิพรกล่าวเพิ่มเติมถึง ‘ปัจจัย’ ที่ทำให้ชาวบ้านไปจนถึงผู้บริหารท้องถิ่นร่วมกันต้านการสร้างเขื่อนอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นั่นคือ ‘ความรู้ ความเข้าใจ’ เมื่อมีความรู้ มีความเข้าใจ รู้ถึงผลกระทบจากการไปแลกเปลี่ยนของชาวบ้านกับเขื่อนทั่วประเทศ ทำให้ชาวบ้านสะเอียบเรียนรู้มากขึ้น และรู้สึกรักหวงแหนแผ่นดินเกิดของเขา

“แต่ภูมิปัญญาก็ยังติดตัวเราไปไม่ใช่หรือ” เราถามกลับด้วยความสงสัย

“ความเป็นชุมชนมันจะล่มสลายไป วัฒนธรรมประเพณีหรือองค์ความรู้ปัญญาที่มีอยู่ มันไม่แน่ว่าจะทำได้กับทุกที่ เพราะการผลิตเหล้ามันอยู่ที่น้ำ ชาวบ้านเคยไปต้มที่อื่น แล้วมันไม่ได้เหล้าที่มีคุณภาพ นั่นหมายความว่า น้ำที่เราใช้อยู่ตามลำห้วยหรือน้ำบ่อของชุมชนสะเอียบมันมีแร่ธาตุอยู่ในนั้น จึงทำให้ได้เหล้าที่มีคุณภาพดี ถ้าหากย้ายเราไป เราอาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพของสุรากลั่นก็ได้” เขยคนสะเอียบเอ่ยกับเราด้วยความกังวล

ประสิทธิพรยังบอกว่า การสร้างเขื่อนนับเป็นเทคโนโลยีการป้องกันน้ำที่มาจาก 100 ปีที่แล้ว เชื่อว่าวันข้างหน้าทั้งเทคโนโลยีและการจัดการน้ำจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีแนวทางอื่นที่เหมาะสมกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ สิ่งที่เราเสนอคือโครงการเล็กโครงการน้อยที่กระจายไปทั่วลุ่มน้ำยม เป็นการกระจายงบประมาณ และการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง

“เขายังคิดเหมือนเดิมว่า รัฐต้องเป็น ‘ผู้ตัดสินใจ’ ซึ่งเราไม่เชื่อแล้ว เราเชื่อว่าประชาชนเติบโต สังคมไทยเติบโตขึ้นทุกวันๆ และจะไม่ยอมให้รัฐเผด็จการมาตัดสินใจแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว เขื่อนส่วนใหญ่ที่สร้างเกิดขึ้นในยุคเผด็จการทั้งนั้น” ประสิทธิพรกล่าว

สุราพื้นบ้านคงไม่มีให้ดื่ม

“เราจ่ายภาษีสรรพสามิตเยอะประมาณ 500 ล้านบาท ในอนาคตก็อาจจะจ่ายมากขึ้นอีกด้วย เพราะว่าสินค้าเราก็พัฒนาขึ้น” แม่สาย-กัญญาภัค ออมแก้ว เจ้าของสุรากลั่นพื้นบ้านสักทองแพร่ และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุรากลั่นพื้นบ้านกล่าว

แม่สายบอกต่อว่า ที่บ้านเริ่มต้มเหล้ามาตั้งแต่ยังจำความได้ ตั้งแต่สมัยก่อนมาจนถึงปัจจุบันก็จะใช้พืชผลทางการเกษตรในชุมชนมาทำ ตอนนี้วิสาหกิจชุมชนเราก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งเกิดปัญหาส่งของให้ลูกค้าไม่ทัน จนต้องขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่หมู่อื่นๆ ในตำบลใกล้เคียง

“ตอนนี้มีเกือบ 100 โรงเหล้า คิดว่าน่าจะเป็นตำบลที่ทำเหล้าชุมชนที่ใหญ่ที่สุด” แม่สายบอกกับเรา

“อะไรคือเคล็ดลับความอร่อยของสุราที่นี่” เราถาม

‘คุณภาพน้ำ’ คือคำตอบที่แม่สายบอกกับเรา “น้ำที่นี่มีแร่ธาตุมากกว่าที่อื่น รสชาติมันได้ มันคือวัตถุดิบหลักที่ทำให้เหล้าของเราโดดเด่น

“พื้นที่ของเรา การทำเหล้ามันดีอยู่แล้ว พื้นฐานก็ดีอยู่แล้ว คนในชุมชนก็มีงานทำกับสุราชุมชน ถ้าไม่มีการทำเหล้า คนในชุมชนที่นี่ก็เหมือนกับคนที่อื่น บ้านของเราไม่มีใครจน ไม่มีคนลักขโมย เขามีรายได้ เขาก็สบายใจ เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานส่งเรียนได้”

“ถ้าหากเขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นจริง เรามีความเป็นกังวลอย่างไรบ้าง” เราถามต่อ

“อันนี้เราก็ไม่รู้อนาคตเหมือนกัน ว่าจะเหมือนบ้านเราไหม อย่างไรเราคัดค้านไปตลอด รุ่นลูกรุ่นหลานเขาก็คงไม่อยากไปที่อื่น พื้นที่บ้านของเรามีรายได้ มีอาชีพเป็นหลักอยู่แล้ว 35 ปี เราก็ยังจะประท้วงต่อไปรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ยอม เพราะว่าบ้านเรามีรายได้อยู่แล้ว” แม่สายทิ้งท้าย

ไม่ควรตั้งโจทย์แก้น้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนตั้งแต่ต้น

มาถึงจุดนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่า หากเขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีเพียงป่าไม้อย่างเดียวเท่านั้นที่จะหายไป แต่สิ่งที่จะหายไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ‘ชีวิต’ ของผู้คนในชุมชนที่ดำเนินกันมายาวนานกว่า 200-300 ปี แลกกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่

ดังนั้นคำถามสำคัญคือ หากจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนโดยไม่กระทบกับ ‘ชีวิต’ ‘วัฒนธรรม’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ ประเทศไทยสามารถทำอย่างไรได้บ้าง The Momentum มีโอกาสพบกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อค้นหาคำตอบถึงวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมนั้น

สิตางศุ์เริ่มบทสนทนาว่า การแก้ไขโจทย์ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยไม่ควรเริ่มต้นจาก ‘เขื่อน’ แม้ว่าทางวิศวกรรมเขื่อนจะสามารถควบคุมน้ำได้ทั้งในมิติของเวลาและปริมาณน้ำ แต่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่ได้มีคำตอบตายตัวเพียงแค่เขื่อนเท่านั้น

“การมีเขื่อนมีไว้เก็บกักน้ำ แต่ไม่ได้แปลว่าสุโขทัยจะไม่ท่วม เพราะสาเหตุของน้ำท่วมสุโขทัยมีมากกว่าน้ำที่มาจากทางเหนือ ลุ่มน้ำยมมีลุ่มน้ำย่อย ดังนั้นหลักการคือ หาที่ให้น้ำอยู่-หาทางให้น้ำไป”

อาจารย์ด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำยังบอกกับเราว่า ในความเป็นจริงลุ่มน้ำย่อยที่จะไหลเข้าสู่เขื่อนแก่งเสือเต้นมีการอุปโภคและบริโภคตัดยอดน้ำอยู่แล้ว ดังนั้นปริมาณน้ำที่จะเข้ามาในเขื่อนจะไม่เต็มศักยภาพที่รองรับได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีลำน้ำสาขาอื่นๆ จำนวนมากที่อยู่ใต้เขื่อนลงไป ประกอบกับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของสุโขทัยที่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดน้ำท่วมได้ง่าย

“สุโขทัยเป็นพื้นที่ที่เหมาะมากที่น้ำจะท่วม เพราะพื้นที่มันลุ่มมาก มีพื้นที่ทำนาข้าวเป็นจำนวนมาก คือการมีเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือแปลงร่างเป็นยมบน-ยมล่าง ก็แล้วแต่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสุโขทัยได้” สิตางศุ์กล่าว

บ่อยครั้งประเทศไทยเมื่อฝนตกจะเกิดปัญหาน้ำท่วม แต่เมื่อฝนหยุดตกจะเกิดภาวะแล้ง นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่มีระบบจัดเก็บน้ำที่มีประสิทธิภาพเพียงพอตามมุมมองของสิตางศุ์ เพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการทำบ่อชุมชนขนาดใหญ่ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท

“ถามว่าชุมชนเคยได้งบประมาณจัดการน้ำเยอะขนาดนี้หรือไม่ ไม่เคยและเป็นไปไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นบ่อที่ชุมชนจะสร้างด้วยตัวเองจะอยู่ที่หลักหมื่น มากสุดที่เป็นไปได้ก็ประมาณ 1 แสนลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

“เราอยากถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นเขาทำอะไรเองได้ แต่ถามว่ารัฐบาลสนับสนุนอย่างนั้นจริงๆ หรือไม่ ทำให้เขาสามารถทำได้จริงๆ หรือไม่ กฎหมายก็ยังไม่เอื้อ งบประมาณก็ไปไม่ถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นอยากทำอะไรจริงๆ และให้ชาวบ้านทำอะไรได้จริงๆ เอาเรื่องพวกนี้มาคุยกันแล้วลงมือทำกันดีกว่า”

ทั้งนี้สิตางศุ์ยังระบุเพิ่มเติมว่า โมเดลการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยมีได้หลายแนวทางที่มีประสิทธิภาพ หากพึ่งพิงแต่เขื่อน ซึ่งยากมากตั้งแต่กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)

“ใครที่ยังยึดติดกับน้ำท่วมสุโขทัยว่า ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น นั่นคือ ‘ใจร้าย’ กับคนสุโขทัยมาก เพราะหากมีคำตอบเดียวเพื่อป้องกันน้ำท่วม สุโขทัยจะไม่ทำอย่างอื่นเลย เราแทบไม่ทำมาตรการอื่นกับคนสุโขทัยอย่างนั้นหรือ” สิตางศุ์ว่า

แล้วโมเดลการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสุโขทัยที่ยั่งยืนควรมีหน้าตาเช่นไร? – เราถาม

อาจารย์ด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำให้คำตอบเป็นหลัก 3 ด้าน ดังนี้

  1. หาที่กักเก็บน้ำเพื่อตัดยอดน้ำก่อนที่น้ำจะเข้าสุโขทัย กล่าวคือ ตัดยอดน้ำบริเวณต้นน้ำ ซึ่งควรทำตามชุมชน โดยมีอยู่ประมาณ 10 ลุ่มที่อยู่เหนือแก่งเสือเต้น
  2. เพิ่มศักยภาพคลองระบายทั้งฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของเมือง กล่าวคือ ศักยภาพของคลองระบายต่างๆ ก่อนจะเข้าตัวเมืองสุโขทัยต้องดูว่าเป็นเท่าไร เมื่อรู้ศักยภาพของคลองระบายแล้ว ก็มาดูว่าสามารถจะเพิ่มศักยภาพคลองระบายหรือไม่
  3. บริหารจัดการทุ่งปลูกข้าวให้เป็นทุ่งหน่วงน้ำ กล่าวคือ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำไหลผ่าน เพราะเป็นที่ราบน้ำท่วม (Floodplain) เป็นพื้นที่ควรรับน้ำอยู่แล้ว หากทำให้น้ำแผ่ออกไปก่อนเข้าเมืองสุโขทัย ก็จะช่วยลดน้ำที่จะเข้าเมืองได้ แต่การจะเอาน้ำไปเก็บที่ทุ่งก่อนเข้าเมือง เป็นเรื่องที่ต้องจัดการกับรอบการปลูกข้าว เหมือนที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทำก่อน

“ญี่ปุ่นเขาเป็นประเทศเกาะ ฝนตกหนัก สิ่งที่เขาทำคือ ‘มีเขื่อน’ ช่วงกลางน้ำเขาก็เก็บ แต่สำคัญคือเขามี Floodplain 2 ข้างแม่น้ำที่กว้างมากเป็น 100 เมตร พอถึงฤดูน้ำมา พื้นที่ก็สามารถรับน้ำได้ และน้ำก็มีทางลงทะเล ก็เร่งระบายไป อันนี้เป็นสิ่งที่ประเทศที่เจริญเขาทำกัน

“อย่างไรก็ต้องให้น้ำอยู่กับชุมชน แต่จะอยู่กับชุมชนอย่างไร ในไทยตั้งแต่อดีตเราก็อยู่กับน้ำ ถ้าหากรัฐอยากทวงคืนพื้นที่ Floodplain จากริมน้ำจะทำอย่างไร รัฐจะทำเป็นโครงการใหญ่เลยหรือไม่ หากเสนอให้ย้ายก็ต้องไปหาที่ดินให้เขาใหม่ สนับสนุนเงิน หรือหากคนยังอยากอยู่รอบคันกั้นน้ำ ก็ต้องมาคุยกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ได้ เช่นทำบ้านเป็นแพแบบที่เนเธอร์แลนด์หรือไม่” สิตางศุ์เสนอ

เมื่อถามต่อว่า สะเอียบโมเดลในมุมมองเชิงวิชาการมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด สิตางศุ์ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นแนวทางที่ดี เพราะเป็น Nature-Based Solution หรือแนวทางการแก้ไขที่อิงกับธรรมชาติ สะเอียบโมเดลจึงไม่ใช่แค่การสร้างอ่างเล็กๆ เท่านั้น แต่คือเรื่องของวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ รายได้ และการอนุรักษ์ ซึ่งนับว่าเป็นโมเดลที่ควรสนับสนุน

“แต่เรื่องเขื่อนพวกนี้มันไม่เคยหายไปไหน มันอาจจะไม่ถูกพูดถึงในช่วงใดช่วงหนึ่ง แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมสุโขทัยขึ้น และสุโขทัยยังไม่ถูกแก้ไขด้วยวิธีการอื่น เขื่อนแก่งเสือเต้น หรือยมบน-ยมล่างก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดไป” สิตางศุ์ทิ้งท้าย

Tags: , , , , , , , ,