“I am not the problem, the society is.”

‘เขื่อน’ – ภัทรดนัย เสตสุวรรณ หรือ เขื่อน ดนัย ปรากฏตัวในชุดเดรสลายดอกไม้สีครีมอ่อนหวาน แม้บทสนทนาต่อไปนี้ระหว่างเราและเขา จะเป็นการพูดคุยที่ค่อนข้างจริงจังและตึงเครียด แต่บรรยากาศแห่งการพูดคุยกลับอบอวลไปด้วยความนุ่มนวล อ่อนหวาน และสุภาพ ไม่ต่างจากชุดเดรสลายดอกไม้ที่เขาสวมใส่

แน่นอนว่าในวาระ Pride month สิ่งที่เราต้องมานั่งจับเข่าพูดคุยกันคงหนีไม่พ้นเรื่องเพศ หากแต่เป็นการพูดคุยที่พิเศษเมื่อมองผ่านมุมมองของนักจิตบำบัด และเรื่องราวของเขาตั้งแต่การเป็นบอยแบนด์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ถูกคาดหวังจากสังคม ถูกบังคับให้ come out โดยไม่เต็มใจ สู่การใช้ชีวิตแบบลื่นไหล ดังมวลเถาวัลย์ที่โอบรับดอกไม้ พร้อมกับการนิยามตนเองว่าเป็นเควียร์ ทุกเรื่องราวที่เขาเล่าให้เราฟังอย่างหมดเปลือก ใต้ตาที่ปาดอายชาโดว์สีหวาน ก่อนจะลงท้ายบอกกับเราว่า “ชีวิตเขื่อนก็ช้ำเลือดช้ำหนองมามากเหมือนกันนะ”

ผู้คนจดจำคุณในภาพหลากหลาย นิยามความเป็น ‘เขื่อนดนัย’ ในมุมมองคุณเองให้ฟังหน่อย 

ถ้าให้นิยามตัวเองวันนี้สามารถทำได้ แต่หากให้นิยามวันพรุ่งนี้อาจจะทำไม่ได้ เขื่อนรู้สึกว่าโลกที่เราเติบโตมามันลื่นไหลมาก เราโตมากับการไม่เข้าใจอะไรเลย ยกตัวอย่างตอนเป็นบอยแบนด์ K-OTIC เราใส่เสื้อผ้าที่สังคมบอกว่านี่คือลุค ‘แมนๆ’ แต่พอเราแต่งตามที่สังคมต้องการ สังคมกลับบอกว่าเรา ‘แอ๊บแมน’ วันไหนอยากหยิบกระโปรงขึ้นมาใส่ คนในสังคมก็จะบอกว่าแต่งตัวเพื่อสร้างสตอรี สร้างคาแรกเตอร์ให้ตัวเองเหรอ พอวันไหนเราหยิบกางเกงมาใส่ คนก็จะถามว่าทำไมวันนี้ไม่ใส่กระโปรง กลับมาแอ๊บแมนอีกแล้ว นี่คือโลกที่เราเติบโตมาแบบนี้ ต่อให้ไม่ว่าวันนี้เขื่อนจะรู้สึกอย่างไร คนข้างนอกก็จะคอยบอกว่าอันนี้ไม่ใช่คุณ คุณเป็นอีกแบบหนึ่ง

จนตอนนี้เขื่อนทำความเข้าใจได้แล้วว่า ที่ผ่านมาปัญหามันไม่ใช่ตัวเขื่อน แต่ปัญหามันคือสังคม ‘I am not the problem, the society is’ สังคมกำลังมีปัญหากับเขื่อน เลยทำให้เขื่อนมีปัญหากับตัวเอง จนเราคลิกกับตัวเองว่าเราอยู่ในโลกที่ลื่นไหล ยกตัวอย่างวันนี้เขื่อนตื่นมาแล้วรู้สึกมีภาวะ Feminine รู้สึกตัวเล็กมาก อยากใส่กระโปรงเราก็ใส่ หรือพรุ่งนี้ภาวะ Masculine รู้สึกแข็งแรงมาก อยากใส่สูท เราก็จับสูทมาใส่ เขื่อนเลือกที่จะโอบรับในความลื่นไหลไปพร้อมๆ กับการให้เกียรติตัวเอง ให้เกียรติความรู้สึก และสนับสนุนตัวเองในทุกๆ วัน ส่วนเรื่องเพศเขื่อนนิยามตัวเองว่าเป็น ‘เควียร์’ (Queer)

เควียร์คืออะไรที่อยู่บนโลกคู่ขนาน และไม่ได้ตายตัวกับอะไรสักอย่าง มีความสั่นคลอน เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อเรานิยามตัวเองว่าเป็นเควียร์ วันนี้เขื่อนจะเป็น Hypermasculinity พรุ่งนี้จะเป็น Hyperfeminine หรือวันหน้าจะเป็น Non-binary ก็ได้ เพราะอย่างที่บอก มันลื่นไหลมาก และเราเลือกที่จะเป็นแบบนี้

อะไรคือกุญแจที่ทำให้เขื่อนดนัยค้นพบตัวเอง และเข้าใจว่าเราไม่ได้มีปัญหา แต่สังคมต่างหากที่กำลังมีปัญหากับเรา 

เขื่อนว่ามันไม่มีแบบดีดนิ้ว เป๊าะ! ไม่มีแบบ light bulb moment แบบหลอดไฟสว่าง ยูเรก้า! มันไม่มี มันเหมือนการค่อยๆ ออกเดินทางช้าๆ แต่หากให้พูดถึงจุดเริ่มต้นน่าจะเป็นตอนเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ มันค่อยๆ เปิดออกทีละนิด เพราะตอนอยู่อังกฤษเรายังไม่ได้ออกมา come out หมายถึงการเปิดเผยไม่ได้ออกมาจากปากของเราเอง เพราะเขื่อนอยู่ในโลกที่ก้ำกึ่งมาก เป็น Hypermasculine จนกระทั่งเรานิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ แต่พอไปอยู่ที่อังกฤษก็ได้เจอสังคมเควียร์ ได้เจอสังคม LGBTQ+ มากขึ้น เราก็รู้สึกว่าได้ปลดปล่อยตัวเองมากขึ้น

แต่ก่อนเขื่อนนิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ใช่ไหม แล้วสไตล์การแต่งตัวเมื่อก่อนจะใส่เสื้อโปโล ใส่สูท เข้าฟิตเนสเยอะหน่อย และเขื่อนเข้าใจว่าเกย์ต้องมีเซ็กซ์เยอะๆ ไม่มีใครบอกนะว่าเกย์ต้องเป็นแบบไหน แต่นี่คือบริบทที่เขื่อนรับรู้มาจากสื่อในประเทศ เขื่อนอยู่ประเทศไทย เวลามองขึ้นมาเราไม่มีต้นแบบเลย เมื่อมาอยู่ที่อังกฤษก็เลยเริ่มปลดปล่อยตัวเอง พร้อมๆ กับการตั้งข้อสงสัยเรื่องเพศว่า เราอยู่อังกฤษมาตั้งนานแล้ว ทำไมถึงไม่กล้าไปบาร์เกย์ อะไรที่มันห้ามเราอยู่ อะไรที่มันดึงเราอยู่ วันนั้นเลยตัดสินใจไปบาร์เกย์ พอไปแล้วรู้สึกสบายใจกับตรงนี้มาก สบายใจกับการแต่งตัวแบบนี้ ทำทรงผมแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีความรู้สึกหนึ่งที่ยังไม่ได้ปลดปล่อยออกมา เรายังสัมผัสได้ว่ามันอยู่ตรงนั้นแต่เข้าไม่ถึง

จนกระทั่งเขื่อนไปเจอสังคมเควียร์ เจออะไรที่มันลื่นไหล มี Queer night มีผู้ชายที่เป็น Straight ชอบผู้หญิง แต่เขาชอบใส่กระโปรง เราก็กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราไม่ได้โหยหาเซ็กซ์ขนาดนั้น เขื่อนเป็นคนประเภทที่หากไม่มีแฟน เรื่อง one night stand ไม่เคยนึกถึงเลย ปกติแล้วจะเที่ยว พูดคุยกับเพื่อน ถกปรัชญา เหนื่อยก็พักผ่อน แต่วันนั้นเขื่อนตัดสินใจปลดล็อกตัวเอง ด้วยการลองทำทุกอย่างที่เรากำลังตั้งคำถามอยู่ เขื่อนลองไปปาร์ตี้ เป็นงานที่เขาจัดขึ้นมาสำหรับคนไปเที่ยว และมันมี Dark room เป็นห้องที่ใช้สำหรับมีเซ็กซ์ เราก็แบบ let’s do this ไปดูว่าเขาทำอะไรกันบ้าง และเมื่อเราอยู่ในเหตุการณ์นั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง

        เมื่อเขื่อนนำตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้น มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า การมีเซ็กซ์ที่เราเห็นข้างหน้าเหมือนกับเรามองดูคนเล่นไพ่ เขื่อนเห็นเขาทำเป็นกิจกรรม เมื่อเข้าใจแบบนี้เราก็แบบ it looks like a nice activity, but this activity is not for me. เราก็เข้าใจได้ว่ากิจกรรมแบบนี้ไม่เหมาะกับเราเท่าไร มันเหมือนกับเวลาที่เขื่อนคุยกับคนไข้ที่ชอบโดนอึใส่ ฉี่ใส่ เป็นแบบ Scat party เมื่อเราอยากรู้ อยากเข้าใจคนไข้มากขึ้น เขื่อนก็เลยตัดสินใจซื้อตั๋ว Scat party แล้วไปดูด้วยตาตัวเองเลยว่า ที่เขาอึใส่กัน ฉี่ใส่กัน มันเป็นยังไง มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยนะ ก็เหมือนปาร์ตี้ที่เขื่อนเคยไปมันก็ปลอดภัยเหมือนกัน พอหลายๆ อย่างมารวมกัน สิ่งนี้ก็ค่อยๆ ปลดปล่อยตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดถ้าเป็นเมื่อก่อนเขื่อนไม่กล้าพูดแน่นอน แต่ทุกวันนี้เรากล้าพูดเพราะมันเป็นพื้นที่ปลอดภัย มันเป็น My body my choice มันเป็น consent

เขื่อนมีประสบการณ์เรื่องพื้นที่ปลอดภัยที่อยากจะแชร์บ้างไหม

เขื่อนเคยไปเซ็กซ์ปาร์ตี้ที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ในฐานะเอเซ็กชวล (asexual) คนหนึ่ง ขอเล่าย้อนก่อนว่าเขื่อนอยู่อังกฤษมา 5 ปี เพื่อนและลูกพี่ลูกน้องทุกคนที่อยู่อังกฤษจะเที่ยวยุโรปบ่อยมาก แต่เขื่อนเป็นคนที่ไม่เที่ยวเลย ถ้าว่างเมื่อไหร่ก็ไปทำงานเสิร์ฟอาหาร เป็นพนักงานต้อนรับ ไม่ก็ขัดห้องน้ำ เพราะเขื่อนชอบอยู่กับตัวเอง ชอบอยู่ในโลกเล็กๆ ของตัวเอง เพราะฉะนั้น ทุกปี เพื่อนๆ ก็จะเซอร์ไพรส์ซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อให้ไปเที่ยวกับเขา จำได้ว่ากลุ่มแรกคือน้องที่ไทยซื้อตั๋วไปเที่ยว Tomorrowland แล้วต่อมาก็มีเพื่อนๆ ที่ไบรตัน เขาบอกว่า ‘Koen, you are mad, you are crazy, you work too hard’ เพื่อนๆ ก็เลยซื้อตั๋วให้ไปอัมสเตอร์ดัม แต่ไม่บอกรายละเอียดอะไรเลย เพราะน่าจะคิดว่าถ้าบอกเราจะไม่ไป (หัวเราะ)

พอไปถึง สรุปเป็นเซ็กซ์ปาร์ตี้ตอนกลางคืน แล้ววันนั้นคอนเซ็ปต์ของงานคือใส่อะไรก็ได้ 1 ชิ้น แน่นอนเขื่อนเลือกกางเกงใน (หัวเราะ) และโครงเหล็กอันหนึ่ง ก็ถ่ายรูปกับเพื่อนฝรั่งที่เป็นคนจัดทริปอายุ 40 ปี ลงในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก พร้อมกับระบุสถานที่ที่เราไปแบบเปิดเผยมากว่าเราไปไหน แม่เขื่อนก็มาคอมเมนต์ในรูปว่าดูแลตัวเองด้วยนะคะ เที่ยวให้สนุกนะ เพราะคุณแม่รู้ว่าเขื่อนดูแลตัวเองอยู่แล้ว และพ่อแม่ของคนที่จัดทริปก็มาคอมเมนต์ว่าเที่ยวกันอีกแล้วนะ ก็สนุกสนานกันดี

แต่มันมีเพจเฟซบุ๊กที่ประเทศไทย เขาแคปฯ ไปแล้วเหมือนจะคุยเมาท์ๆ กับเพื่อน แต่ดันลืมสลับบัญชี เลยเอาบัญชีออฟฟิเชียลโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ข้อความประมาณว่า ‘ดูอีเขื่อนสิ ไปงานแบบเย็ดหมู่ กูว่าแล้ว เข้าไปรู้เรื่องแน่ คอยดูที่ประเทศไทยนะ มันฉาวแน่’ ตอนเรามาอ่านโพสต์ก็รู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว เพราะหนึ่ง เพจนี้คือเพจ LGBTQ+ Community สอง มันเป็นการ Slut shaming มาก เขื่อนจะไปไหน เขื่อนจะเปิดเผยหรือปิดบังมันก็เป็นเรื่องของเขื่อน แล้วยังมีการบอกว่าต้องโดนแฉ โดนรุม นี่คือสิ่งที่เราสงสัยว่าทำไมเราถึงต้องโดนรุม โดนแฉ แค่เพราะเขื่อนไปงานที่เราเลือกไปเหรอ My body, my choice, my consent.

เขื่อนก็เลยตัดสินใจทักเพจเฟซบุ๊กนั้นไปประมาณว่าอันนี้ไม่โอเคนะกับการกระทำแบบนี้ เขาก็ตอบมาว่าไม่ได้ตั้งใจจะโพสต์รูปลงเพจ แค่เมาท์คุยกับเพื่อน เขาก็ขอโทษเรา ขอโทษเยอะมาก เขื่อนเลยบอกว่าต่อให้ไม่ได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณะ มันจะ public หรือไม่ public มันก็ไม่ได้อยู่ดี LGBTQ+ เราโดนเลือกปฏิบัติมาตลอด แต่ทำไมเราถึงต้องกลับมาเลือกปฏิบัติกันเองด้วย นี่คือสิ่งที่เขื่อนปลดล็อกตัวเองออกมา หมายถึงเขื่อนกล้าที่จะปลดปล่อย เปิดเผยตัวเองมากขึ้น กล้าที่จะเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติใน LGBTQ+ ด้วยกันเอง และกล้าที่จะ call out ว่าสิ่งที่เขื่อนคิดว่าถูก มันก็สามารถผิดได้เหมือนกัน แต่เราสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ เพื่อสร้างพื้นที่ความปลอดภัยทางเพศที่มันปลอดภัยจริงๆ

 

อาจจะเรียกได้ว่า ‘เรา’ เป็นผู้มีประสบการณ์ เคยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการถูกกดดันจากสังคม การถูกเหยียด จนกระทั่งถูกบังคับให้ come out สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนอะไรบ้างในสังคมไทย

เขื่อนว่ามันน่ากลัว น่ากลัวในที่นี้หมายถึง พอมันมีกระแสสังคมแบบนี้ มันทำให้บุคลากรเก่งๆ หรือต้นแบบดีๆ ไม่กล้า come out ออกมา เพราะมันมีผลกระทบ มี butterfly effect ยกตัวอย่างตอนที่เขื่อนเป็นเด็กอายุประมาณ 9 ขวบ ซึ่งตอนนี้เราอายุ 29 ปี ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราแตกต่าง เราต้องการหาต้นแบบ หรือไอดอลที่เป็นเควียร์, นอน-ไบนารี และเอเซ็กชวล อย่างที่เขื่อนบอก เวลามองขึ้นมามันไม่เห็นใครเลย กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เราเห็นคือ ใครที่ภาพหลุดหรือมีกรณีคล้ายๆ ของเขื่อน ก็จะถูกคนรุมต่อว่า ว่าผิดเพศ มันกลายเป็นเรื่องน่ากลัวมาก มันกลายเป็นว่าฉัน come out ไม่ได้ เพราะหากออกมา come out ต้องโดนแบบนี้ จริงๆ ปัญหามันมีหลายอย่างมาก แต่สิ่งนี้ที่เขื่อนเห็นมันแย่มาก มันทำให้น้องๆ หรือคนอื่นๆ ที่สมควรได้รับพื้นที่ปลอดภัย แต่เมื่อเขามองหาแล้วเขากลับไม่รู้จะหาที่ปลอดภัยได้จากไหน หรือต้องทำตามแบบใคร

เขื่อนมองว่าทางออกของปัญหานี้อยู่ตรงไหน เราควรเริ่มแก้ไขที่อะไรเป็นอย่างแรก

เขื่อนว่ามันเหมือนการที่เรามานั่งคุยนั่งสัมภาษณ์กันวันนี้ อย่างเขื่อนคุยกับคุณ เขื่อนก็ไม่ได้พูดคุยในฐานะศิลปิน เพราะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นดาราหรือศิลปินอยู่แล้ว เรามองตัวเองเป็นนักจิตบำบัดและนักขับเคลื่อน การที่เรานั่งคุยกันเลยเป็นการพูดคุยแบบเทใจออกมาเลย เขื่อนสามารถเล่าให้ฟังได้ทุกอย่าง เพราะเรารู้สึกว่านี่คือฉัน เรารู้สึกปลอดภัย ปลอดภัยที่จะคุยเรื่องพวกนี้ ทั้งๆ ที่สังคมบอกว่ามันคุยไม่ได้เพราะมันผิด แต่วันนี้เรากลับมานั่งคุยกันและเรายังรู้สึกปลอดภัย เขื่อนจะทำให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องพวกนี้มันสามารถปลอดภัยและเป็นตัวเองได้ อยากให้ทุกคนเห็นบริบทว่าสุดท้ายแล้วเราไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหามันอยู่ที่สังคม สังคมบอกว่าเรามีปัญหา แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา

อยากให้แชร์วิธีรับมือเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต ทั้งการถูกกดดันจากสังคม การที่ต้องเก็บความเป็นตัวเองไว้ช่วงที่เป็น K-OTIC หรือแม้กระทั่งการที่เราเลือกที่จะเป็นเขื่อนในทุกวันนี้

ชีวิตเขื่อนก็ช้ำเลือดช้ำหนองมาเยอะเหมือนกันนะ (หัวเราะ) ต้องถามก่อนเลยว่าเหตุการณ์ไหนดี เพราะเราผ่านอะไรมาเยอะมาก แต่หากให้พูดในภาพรวม วิธีการรับมือของเขื่อนที่เรารอดชีวิตมาได้ทุกวันนี้เป็นเพราะการบอกตัวเองว่า ห้ามเศร้า ห้ามเหนื่อย ห้ามห่วย ต้องเก่ง เก่งอย่างเดียว ถ้าสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับตัวเอง เราจะเลือกปิดรับ ไม่พูดถึง ไม่รับรู้ ไม่เห็น และเดินต่อไป เราก็ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเกราะป้องกันที่มีมันทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลย ไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกของตัวเองได้ เพราะโล่ที่เราสร้างมันหนักจนเกินไป เราก็แบกโล่แบบนี้มาตลอด จนวันหนึ่งมันก็ล้ม ขาก็หัก ขาเราก็มีอยู่แค่นี้ แต่เรากลับต้องแบกเรื่องต่างๆ มากมาย ทุกวันนี้เขื่อนเลยค่อยๆ วางทีละอย่างสองอย่าง นี้คือวิธีการรับมือแบบฉบับของเขื่อน แต่หากพูดถึงสถานการณ์อื่น มันก็แล้วแต่เรื่องอีกทีเพราะมันไม่มี one answer fits all แล้วมันรู้สึกไม่เป็นธรรมด้วยที่เราจะมาบอกว่าเราสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ก็ต้องคอยดูไปแต่ละบริบท 

ตอนนี้เขื่อนเป็นนักจิตบำบัด?

ใช่ครับ ตอนนี้เป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดจากอังกฤษ แขนง Existential Psychotherapy ทุกวันนี้ก็จะพูดคุยกับคนไข้ผ่านช่องทางออนไลน์หรือเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถพูดคุยพบปะกันได้ และตอนนี้ก็ช่วยที่บ้านทำธุรกิจโฮสเทลไปพร้อมๆ กับการเป็นนักเคลื่อนไหว และเป็นผู้ดูแลคุณแม่และพี่สาว ถ้าพูดง่ายๆ ตอนนี้ก็ดูแลที่บ้านครับ

 

การที่เราเติบโตมาด้วยแรงเสียดทานของสังคม การรับรู้ปัญหาเรื่องเพศผ่านเรื่องราวของตัวเอง สิ่งนี้ส่งผลให้เราสนใจเรียนต่อด้าน Existential Psychotherapy ด้วยหรือเปล่า

จริงๆ เขื่อนเติบโตมากับการเห็นปัญหาสุขภาพจิตมาตลอดว่าเขาเหล่านี้ต้องต่อสู้กับอะไรบ้าง ต่อสู้มากแค่ไหน บางทีไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาเลยด้วยซ้ำ เช่น พี่สาวของเขื่อนเป็นออทิสติกในระดับปานกลางถึงมาก มีการบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning disability) พี่สาวมีปัญหาเรื่องการอ่าน การเขียน เพราะฉะนั้น ตอนนี้เขาอายุ 33 ปี ก็ยังอ่านหรือเขียนไม่ได้ แต่องค์ความรู้โดยรวมก็ถือว่าโอเคระดับหนึ่ง

เขื่อนเลยโตมากับการที่เราไม่มีเวลาหลังเลิกเรียนไว้เที่ยวเล่น และเขื่อนไม่ใช่เด็กกิจกรรม ตอนเด็กๆ เราจะมีเพจเจอร์สีเขียวติดอยู่กับตัวเอง พอเรียนเสร็จครึ่งชั่วโมง ที่บ้านก็จะส่งข้อความมาว่ากำลังมารับแล้วนะ ก็คือมารับทั้งเราและพี่สาว เพราะฉะนั้น เขื่อนโตมากับการเป็นผู้ดูแลพี่ เราเลยเห็นว่า แม้โรงเรียนจะบอกว่ามีหลักสูตรสำหรับเด็กออทิสติก มันก็มีเพียงแค่นั้น เพราะมีไม่มีสิ่งสนับสนุนเรื่องสุขภาพจิต เขื่อนโตมากับการเห็นพี่สาวโดนล้อ โดนกลั่นแกล้ง และยิ่งพี่อยู่ในคลาสพิเศษ เขาก็จะมีเพื่อนที่บกพร่องทางการเรียนรู้เหมือนกัน และเขื่อนก็เห็นพวกพี่ๆ โดนบูลลี่ เพราะฉะนั้น เราจึงมองว่าสถานที่นี้ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย

แต่หากกลับมาที่บ้านพี่สาวจะค่อนข้างมีอภิสิทธิ์ เพราะเขาเติบโตมาในครอบครัวที่เข้าใจ เปิดรับ มีการสนับสนุนดูเต็มที่ อย่างเช่นคุณตา คุณยาย คุณแม่ ก็จะยื่นมือมาช่วยเหลืออยู่ตลอด แต่พอพี่สาวออกจากบ้านมันแทบไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาเลย นอกจากนี้ คุณแม่เขื่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไบโพลาร์ แม่จะเล่าให้เราฟังตลอดว่าเขารู้สึกไม่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของสังคมเลย ทำอะไรไม่เคยสำเร็จ และไม่รู้ว่าจะไปพูดคุยกับใคร เพราะคุณตา คุณยาย เคยมองว่าเรื่องสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูด และการที่คุณแม่จะเข้มแข็งและป้องกันตัวเองได้ดีที่สุดคือการเก็บไว้คนเดียว จนวันหนึ่งเขื่อนเห็นคุณแม่ไม่ไหวจริงๆ ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้อะไรมาก แต่ก็ตัดสินใจพาท่านไปโรงพยาบาลจิตเวช พอคุณแม่ได้รับการรักษา ได้กินยา ได้พักผ่อน และได้รับการความช่วยเหลือที่ทุกคนสมควรได้รับ คุณแม่ก็อาการดีขึ้น และใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น

จนมาวันหนึ่งเราก็นั่งคุยกันไปเรื่อยเปื่อย อยู่ๆ คุณแม่ก็ร้องไห้แล้วบอกว่าเสียดายจัง เสียดายที่ไม่มีใครเข้าใจเขา ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย และน่าจะไปหาหมอให้เร็วกว่านี้ เพราะคุณแม่รู้สึกเสียดายชีวิตที่ผ่านมา 55 ปี เหมือนเพิ่งได้มาใช้ชีวิตจริงๆ 5 ปีหลังการรักษา เราก็กลับมาคิดกับตัวเองว่า เออ ชีวิตเขื่อน เขื่อนไม่ได้เก่งเรื่องนี้ไปมากกว่าใคร ไม่ได้ตระหนักรู้ไปมากกว่าใคร แต่เราโตมาและรายล้อมไปด้วยเรื่องของสุขภาพจิต

การที่เราเลือกเรียน Existential Psychotherapy ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราไหม

มากค่ะ มันเหมือนว่าไม่สามารถหาคำมาอธิบายได้ มัน understatement เขื่อนมองว่ามันทำให้เรามีพลัง มีแรงบันดาลใจ เขื่อนมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้เป็นนักจิตบำบัดแค่เวลาเราปิดประตูหรือเข้าสู้ระบบพูดคุยกับคนไข้ แต่เราใช้วิสัยทัศน์ ใช้อุดมการณ์ในการมองโลกด้วยวิธีการมองคนไข้ในทุกๆ ที่ และฟังเขาแบบจริงๆ ฟังโดยไม่ตัดสินใจ ฟังโดยเชื่อเขาก่อน และนำตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของเขา เพราะฉะนั้น การที่เขื่อนเห็นตัวเอง ได้ยินตัวเอง เห็นคนอื่น ได้ยินคนอื่น หรือแม้กระทั่งอะไรที่เคยเป็นความสุขของเราเมื่อก่อน วันนี้กลับมานั่งดูใหม่ เราไม่ได้เห็นอะไรใหม่นะ แต่เราเห็นกว้างขึ้น เหมือนเมื่อก่อนเราเห็นแคบแค่นี้ เราเคยเป็นบอยแบนด์ที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เรามีความสุขมาก แต่ทำไมมันหนัก มันหนักมาก มันควรมีความสุขสิ เพราะสังคมบอกเราตลอดว่าเรามีความสุข 

จนวันนี้ เขื่อนไม่ได้มองสิ่งนี้เปลี่ยนไป แต่เรามองภาพกว้างขึ้นนิดหนึ่ง ไม่ได้บอกว่ากว้างมากนะ เรารู้แล้วว่าตอนนั้นเรามีความสุขเพราะสังคมบอกว่าต้องมีความสุข เพราะประสบผลสำเร็จ เพลงติดชาร์ต แต่เมื่อกลับมาดูให้กว้างขึ้น มันจะเป็นความคิดที่ว่า เพลงเราติดชาร์ตก็จริง สังคมบอกว่าเราต้องมีความสุข แต่สำหรับเด็กคนหนึ่งมันมากไป เด็กที่กำลังต่อสู้ในอัตลักษณ์ของตัวเอง ในเพศของตัวเองที่ต้องออกมายืนหน้าสื่อและโดนกดดัน โดนบังคับหลายๆ อย่าง ทำให้วิสัยทัศน์การมองเรามีมากขึ้น

เพราะฉะนั้น เขื่อนมองว่าอุดมการณ์ อุดมคติ และวิสัยทัศน์ของนักบำบัดที่เขื่อนสวมใส่มันเป็นเลนส์ที่เราแทบไม่ถอดออกเลย แต่เราไม่ได้บำบัดจิตให้ทุกคนตลอดเวลานะ แต่เราจะมองในมุมที่เขาเรียกว่า Phenomenological คือการมองที่อะไรที่เป็นแบบนั้นจริงๆ ยกตัวอย่างใกล้ตัวนะครับ (พูดพร้อมกับหยิบหมอนข้างตัวขึ้นมา) นี่เราคิดว่ามันเป็นหมอนใช่ไหม แต่หากมองในมุมของ Phenomenological มันคือเครื่องหนังอันหนึ่งที่เราใส่นุ่นเข้าไปข้างใน และทำออกมาเป็นทรงนี้ รูปแบบนี้ แล้วมันสามารถทำอะไรได้บ้าง อาจจะใช้เป็นไม้เท้าก็ได้นะ นอนพิงขา หรือวางเท้าให้สบายก็ได้นะ แต่บริบทของที่มันอยู่ตรงนี้คือ ใช่ มันคือหมอน 

 

อยากให้พูดถึงเรื่องความป่วยของยุคสมัย ว่ากันว่าตั้งแต่ยุคมิลเลนเนียลลงไป กลายเป็นยุคแห่งความป่วยไข้ที่มีผลพวงมาจากสังคมมากที่สุด จากสังคมในปัจจุบัน เราสามารถรักษาได้ด้วยปัจเจกหรือไม่ อย่างไร

เขื่อนว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก และเป็นคำถามที่กว้างมาก เป็นสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้ หนึ่ง เขื่อนมองว่าเรื่องนี้มันละเอียดอ่อนมาก สอง ต้องเป็นสิ่งที่ฟังกันแบบจริงจัง ในมุมของเขื่อนเรารู้สึกว่าเรื่องสุขภาพจิตในช่วงเวลาที่ผ่านมามันขาดหายไป มันอยู่กับการเหยียดกันเรื่องโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า จนวันนี้ ในที่สุดเรามีคำว่าสุขภาพจิตแล้ว เขื่อนมองว่ามันดีมาก มันทำให้คนตระหนักได้ว่า เฮ้ย ในห้องเรียนเรามีจิตวิทยา 101 ปรัชญา 101 เราก็ควรมีสุขภาพจิต 101

การตระหนักรู้แบบนี้ดีมาก มันมาพร้อมกับการแบ่งแยกว่านี่คือโรคย้ำคิดย้ำทำนะ อันนี้โรคซึมเศร้า อันนี้ไบโพลาร์ มันทำให้คนแยกประเภทได้ แต่ตอนนี้เขื่อนมองว่าหลายๆ ครั้ง หลายๆ คนใช้คำพวกนี้ในทางที่แย่ เช่น นิสัยไบโพลาร์ เฮ้ย เป็นซึมเศร้าหรือเปล่าเนี่ย หรือบางคนที่เขาเป็นซึมเศร้าจริงๆ แล้วคำนี้พอถูกใช้มากๆ ก็จะโดนต่อว่า อ้าว อะไรก็โทษซึมเศร้า เลยกลายเป็นว่าคำนิยามแทนที่จะทำให้คนเข้าใจมากขึ้น กลับทำให้คนไปยึดติดมากขึ้น และพยายามจะค้นหาและสรุปให้อยู่ในตำราเล่มเดียว คนที่เขียนเขาเรียกว่า DSM มากจากคำว่า Disorder Manual ซึ่งคนขาวเป็นคนเขียนในวัฒนธรรมของเขา ในหลักสูตรของเขา เขื่อนรู้สึกว่าหลักสูตรพวกนี้อาจจะนำมาใช้กับวัฒนธรรมของเอเชียไม่ได้ เพราะฉะนั้น อะไรที่มันแปลว่าซึมเศร้า เครียด หรือเบิร์นเอาต์ แทนที่แต่ละคนจะมีเส้นทางการหาคำตอบเป็นของตัวเอง แต่วันนี้มันกลับถูกรัดรวมไว้ในความหมายเดียว ถูกแยกจับกลุ่มว่านี่คือซึมเศร้า นี่คือไบโพลาร์ และนี่คือย้ำคิดย้ำทำ

เพราะฉะนั้น เขื่อนรู้สึกดีมากที่มีการตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ก็อยากย้ำว่าเราไม่ควรไปชี้เป้า และพยายามเข้าใจคำว่าซึมเศร้าของแต่ละคนต้องเหมือนกัน ยกตัวอย่างการซึมเศร้าของแอมก็อาจไม่เหมือนการซึมเศร้าของพี่บุญศรี เพราะฉะนั้น เขื่อนมองว่ามันต้องอาศัยการพูดคุย การฟังที่มากขึ้น เขื่อนเป็นนักจิตบำบัดประเภทที่ว่า ถ้าเข้าไปในห้องจิตบำบัดแล้ว สมมติคนไข้บอกว่าฉันรู้สึกซึมเศร้า ฉันมีความเครียด มีความกดดัน สิ่งแรกที่เขื่อนจะถามก็คือ สำหรับเขา คำว่าซึมเศร้าคือแบบไหน หน้าตาเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ถ้ามันรู้สึกแล้วมันรู้สึกตรงไหนของร่างกาย เพราะเราจะไม่ตีความไปเองว่าเขาเป็นซึมเศร้านะ ต้องรักษาแบบนี้ เราต้องค่อยๆ ถาม เราจะต้องค่อยๆ แตกย่อยลงไปแบบนี้

ในสังคมที่เส้นแบ่งเรื่องพวกนี้ยังเบลอๆ อยากให้เขื่อนช่วยอธิบายหน่อยว่า แบบไหนเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งไหนที่เรียกว่าป่วย และแบบไหนถึงไม่ป่วย และอะไรเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งใดต้องถูกบำบัดหรือรักษา

เขื่อนว่าเราไม่ควรไปปิดกั้นใครเลย ถ้ามีคนคนหนึ่งบอกเราว่าฉันกำลังต่อสู้ ฉันมีปัญหา และไม่มีใครเลย เราไม่มีสิทธิ์ไปบอกเขาว่าเธอไม่มีปัญหาหรอก คิดมากไปเอง หน้าที่ของเราคือการรับฟัง ถ้าใครบอกว่าเขามีปัญหา ในโลกของเขามันคือปัญหาจริงๆ และเขื่อนหวังว่าที่หลายๆ คนจะทำได้คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขา แล้วมาฟังกันว่าเธอเป็นอะไร ปัญหาของเธอคือแบบไหน เราฟังได้ไหม เพราะฉะนั้น เขื่อนมองว่าแทนที่เราจะชี้เป้าว่าอันนี้ป่วยจริง อันนี้ป่วยไม่จริง เราต้องหันมาฟังกันให้มากขึ้น คำว่าป่วยของเขาคืออะไร เพราะสุดท้ายแล้ว สุขภาพจิตมันเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้

คิดว่าปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองตอนนี้ ส่งผลต่อความป่วยแห่งยุคสมัยบ้างไหม

อันนี้ขอแบ่งเป็น 2 ส่วนเลย ถ้าเป็นเรื่องสถิติของสุขภาพจิต แน่นอนมันต้องขึ้นอยู่แล้วเพราะมีการทำวิจัย ทำแบบสอบถาม มีคนกล้าออกมาตั้งคำถาม ออกมาเปิดเผยว่าฉันคิดว่าฉันมีความเครียดนะ เพราะฉะนั้นมันเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้ามองกลับมาอีกมุมหนึ่ง เขื่อนมองว่าตอนนี้เราอยู่ในโลกที่ทุกอย่างถูกกำหนดไว้หมดแล้ว ว่าเพศต้องเป็นอะไร ความสำเร็จคือแบบไหน ผู้ชายต้องใส่สีไหน เสื้อผ้าที่สวยต้องหน้าตาเป็นอย่างไร หุ่นดีคือแบบไหน สุขภาพดีคืออะไร มันถูกกำหนดไว้หมด

การที่มันถูกกำหนดไว้แบบนี้ คนที่มีลักษณะตรงกับความต้องการของสังคมก็สามารถอยู่ได้สิ เพราะฉันเกิดมาแล้วสังคมบอกว่าสิ่งนี้ดี แล้วฉันก็ดันไปตรงกับอันนี้ มันเลยกลายเป็นว่าความกดดันมันส่งผลให้คนที่อยู่นอกบรรทัดฐานเหล่านี้ต้องต่อสู้ กดดัน เพราะคนกลุ่มมากกำลังบอกว่าเขาผิดปกติ แน่นอน ถ้ามันเกิดเหตุการณ์นี้ ปัญหาเรื่องวิตกกังกล ความเครียด ไบโพลาร์ มันก็เกิดขึ้นด้วย เพราะมันไปกระตุ้นอะไรบางอย่างในตัวมนุษย์ เพราะเขารู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของบรรทัดฐานทางสังคม มันเลยมีความเครียดและความกดดัน

 

เห็นเขื่อนเคยพูดว่าอยากเปิดคลินิกสุขภาพจิตที่เมืองไทย คลินิกในแบบของเขื่อนจะเป็นแบบไหน

เป็นคำถามที่ตอบยากมากครับ เขื่อนอยากเปิดเพราะอยากทำ แต่ไม่ได้วาดฝันไปไกลแบบว่ากลับมาไทยแล้วต้องทำให้เรื่องการเหยียด เรื่องสุขภาพจิตในเมืองไทยหายไป มันเป็นอะไรที่เกินความคาดหมายมาก เพราะเขื่อนมองว่าอายุขัยของตัวเองน่าจะไม่พอ และสิ่งเหล่านี้น่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน สิ่งที่เราหวังอย่างน้อยในชีวิตคือการทำให้ทุกคนพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตให้มากขึ้น ให้การไปเจอนักจิตบำบัดหรือการเจอจิตแพทย์เป็นเรื่องที่ง่ายดายเหมือนการไปกินข้าว คือมันไม่ต้องมาคิดว่ามันไม่ดี กลัวคนข้างบ้านรู้ กลัวคนไม่เข้าใจ

เพราะฉะนั้น คลินิกที่เขื่อนอยากเปิด จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่าคลินิกด้วย เพราะมันดูเหมือนมีผู้ป่วยหรือคนไม่สบายใช่ไหม เขื่อนแค่อยากทำพื้นที่ปลอดภัยให้คนคนหนึ่งได้เข้ามาค้นหาตัวเอง ว่าชอบอะไร ชอบมีเซ็กซ์แบบไหน ชอบมีเซ็กซ์ท่าอะไร อยากคบใคร ทำไมถึงอยากมีแฟน 3 คน ทำไมแต่งงานมาแล้ว 10 ปี แต่ไม่อยากโดนตัวสามี เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถเข้ามาพูดเรื่องอะไรก็ได้ที่เขาอยากคุย นี่คือพื้นที่ปลอดภัยในอุดมคติของเขื่อน

การที่เราอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยในอุดมคติของเรา เกี่ยวข้องกับการทำรายการในยูทูบที่พยายามบอกเล่าเรื่องสุขภาพจิตด้วยหรือเปล่า

ใช่ครับ (หัวเราะ) เขื่อนจะต้องบอกก่อนว่า เราเป็นนักขับเคลื่อน และเรารู้สึกว่าการที่เราจัดสัมมนาหรือพูดในห้องเรียน แล้วบอกทุกคนว่าทุกคนว่ามาฟังเขื่อนพูดนะ จากประสบการณ์ส่วนตัว คนส่วนใหญ่ก็จะถอยหลังไปหนึ่งก้าว เพราะการอยู่ในห้องห้องหนึ่งมันดูน่าเบื่อ และยิ่งคนที่ไม่สนใจประเด็นนี้ก็จะยิ่งไม่อยากฟัง โจทย์ของการทำรายการของเราจึงเป็นการสื่อสารข้อมูลในเรื่องที่คนไม่ค่อยพูดกัน และต้องไม่ให้ความรู้สึกว่าเรากำลังบังคับเขาให้ดูเรื่องนี้ เขาต้องไม่รู้ว่ากำลังดูเรื่องอะไรอยู่ เช่น เราอาจจะกินยำ แต่เราพูดเรื่องสุขภาพจิตสอดแทรกเข้ามา หรือเป็นการนัดสัมภาษณ์ดาราหนังโป๊ แล้วพูดเรื่องความปลอดภัยในการมีเซ็กซ์และยาต้านไวรัสเอชไอวี (PREP) หรือการนั่งคุยกับคุณแม่เรื่องการ come out แต่จริงๆ จุดประสงค์หลักคือความสัมพันธ์และพื้นที่ปลอดภัย

เขื่อนรู้สึกว่าคนกดเข้ามาดูช่องยูทูบเราเพราะคิดว่าอันนี่น่าดูจัง ดูสบาย แต่พอดูจริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้สบาย แล้วมันมีข้อมูลเพิ่มเติมขณะดู เขื่อนมองว่ายูทูบเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ดีมาก ที่ทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้ฟังอีกกลุ่มหนึ่งได้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่ายอดการรับชมไม่ได้สูง แต่สิ่งที่น่ารักคือทุกคนมาให้กำลังใจเยอะมาก อย่างเช่น น้องๆ จะคอยมาพูดว่าขอบคุณพี่เขื่อนมากที่ทำคอนเทนต์แบบนี้ออกมา เราก็ดีใจมากที่มีคนมาดูคลิป เพราะงานขับเคลื่อนยิ่งมีคนฟังเยอะมันยิ่งดี จริงๆ แค่มีคนฟัง 10 คน เราก็ดีใจมากแล้ว เพราะอย่างน้อย 10 คนนี้ก็มีความเข้าใจมากขึ้นว่า BDSM community คืออะไร ทำไมบางคนชอบใส่ชุดหมาแล้วให้คนจูง ทำไมบางคนชอบโดนอึใส่ ฉี่ใส่ และสามารถถึงจุดสุดยอดได้จริงๆ นี่คือการเปิดประตู เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนอื่น ซึ่งมันดีมากๆ

เขื่อนมักให้สัมภาษณ์ว่าแม่และพี่สาวเป็นบุคคลที่มีความสำคัญของคุณมาก คุณอยากบอกอะไรกับคนที่ยังรู้สึกไม่มั่นใจในการเปิดเผยความเป็นตัวเองเพราะข้อจำกัดทางครอบครัว 

ทุกคนมีสิทธิ์ครับ ถ้าเกิดเขาไม่อยากเปิดเผย เขาก็มีสิทธิ์ที่ไม่ต้องเปิดเผย คนมักเข้าใจว่าคนที่เป็น LGBTQ+ Community มัก owe it to someone ราวกับว่าเรากำลังติดค้างอะไรอยู่ ต้อง come out แต่หากเขารู้สึกไม่ปลอดภัยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะไม่ come out มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาบังคับกัน

คนที่อยาก come out มักจะพูดกับเขื่อนว่าทำอย่างไรให้ปลอดภัยดี เราก็จะบอกว่าการ come out ที่ดี คือการ come out ที่เรารู้สึกปลอดภัยที่สุด เพราะอย่าลืมว่าวันที่เราออกมาเปิดเผย คนมักเข้าใจว่ามันคือการเปลี่ยนผ่านจาก A ไป B แต่มันไม่ใช่ การ come out มันคือค่อยๆ เปลี่ยนจาก A ไป B ไป C ไป D แล้วก็จะไปจบที่ตัว Z คือเราตายแล้ว คือวันที่เราเลิกเป็นมนุษย์ เพราะการ come out คือกระบวนการ ความเข้าใจโลกมันจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์เปลี่ยน การ come out มันจึงไม่ใช่การเปลี่ยนแบบ 1 ไป 2 มันคือการเปลี่ยนจนถึงวันที่เราไม่มีชีวิต เขื่อนโชคดีหน่อยที่ออกมาเปิดเผยแล้วที่บ้านเข้าใจ มันก็จบแค่ตรงนั้น แต่อย่าลืมว่ามันยังมีคนที่ออกมา come out แล้วที่บ้านไม่ยอมรับ บางประเทศยังมีการประหารอยู่เลย สังคมบางที่ก็ไม่เปิดรับ เพราะฉะนั้น เขาต้องแบกรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย ดังนั้นให้เขาเป็นคนเลือกเอง

แล้วอีกประเด็นที่น่าเศร้าคือบางคนเขาไม่ได้อาศัยกับพ่อแม่ที่ให้กำเนิดมา คนเป็น LGBTQ+ ที่บ้านก็รับไม่ได้ สังคมรับไม่ได้ เขาเลยต้องอยู่กับครอบครัวที่เขาเลือก เขาสร้างขึ้นมาเอง นั่นคือคนใกล้ตัว คือเพื่อน คือคู่ชีวิต เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่าบางทีการ come out มันไม่ใช่การหาแสงสว่าง แต่มันคือกระบวนการที่เรากระโดดลงไป

อยากบอกอะไรกับครอบครัวที่ไม่สนับสนุนให้ลูกหลานเปิดเผยอัตลักษณ์ของตนเองบ้างไหม

มันยากมาก เพราะหากเราตอบคำถามนี้ มันจะเหมือนเราประดิษฐ์ขึ้นมา เขื่อนว่าตอนนี้มีหลายบ้านที่ตระหนักรับรู้ได้ และได้รับชุดข้อมูลที่ถูกต้องไปเยอะมาก มีการเข้าใจมากขึ้นและพยายามปรับ แต่ในขณะเดียวกัน บางครอบครัวที่ได้รับรู้และได้รับข้อมูลต่างๆ แต่ยังรับไม่ได้ และเลือกจะปิดกั้น ขอตัดแม่ตัดลูก ตัดออกจากกองมรดกก็มีเยอะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็วนกลับมาที่เดิม เขื่อนว่ามันไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ เพราะหน้าที่ของนักขับเคลื่อนพื้นที่ปลอดภัยคือการให้ข้อมูล ความรู้ และสร้างการตระหนักรู้ ถ้าวันหนึ่งเขาเหล่านี้โดนครอบครัวปฏิเสธ เราก็สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้

 

คิดว่าปัญหาเรื่องเพศของประเทศไทยยังมีแง่มุมไหนบ้างที่ต้องปรับความเข้าใจ

ปัญหาเยอะมาก แต่ที่อยากหยิบขึ้นมาพูดซึ่งเป็นสิ่งที่พูดมาหลายครั้งนั่นคือการสร้างการตระหนักรู้ การรับรู้ที่ดี ต้องพูดไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะกลายเป็นเรื่องปกติ ต่างประเทศเขาคิดว่าประเทศไทยเป็น LGBTQ+ friendly แต่จริงๆ แล้ว กฎหมายรองรับอะไรเราไม่มีเลย และเขื่อนมองว่าประเทศไทยไม่ได้ LGBTQ+ friendly จริงๆ เราแค่เป็นมิตรกับเกย์และผู้หญิงข้ามเพศเท่านั้น

ขนาดเกย์กันเองยังเหยียดเกย์สาวด้วยกันอยู่เลย เขื่อนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมเกย์ถึงถูกกำหนดขนาดนั้นว่าเกย์สาวคืออะไร มันมีการเหยียดเกิดขึ้นเยอะมาก ที่เขาเรียกว่า Bi erasing คนไม่เชื่อว่าไบเซ็กชวลมีจริง ยิ่งผู้ชายข้ามเพศนี่ไม่ต้องพูดถึง แทบไม่มีเสียงในสังคมไทยเลย คนเข้าใจว่าต้องเป็นทอม เป็นดี้ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าสังคมไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มชายข้ามเพศและเควียร์เลย ซึ่งเขื่อนเป็นแบบนี้ เรามองมาไม่เห็นใคร เพราะมันแทบไม่อยู่ในระบบการศึกษาไทยเลย และสิ่งที่น่าแปลกใจคือประเด็นของเอเซ็กชวล เขื่อนคิดว่าที่เมืองไทยจะมีการพูดถึงเรื่องนี้เยอะ แต่กลับไม่มีเลย

เคยมีโอกาสได้คุยกับเอเซ็กชวลหลายคน ซึ่งเขาก็มาจับมือเขื่อนแล้วบอกว่าขอบคุณมาก ขอบคุณที่เขื่อนพูดเรื่องนี้ สมมติเขาอายุ 35 ปี เขาเข้าใจมาตลอดว่าตัวเองผิดปกติ เพราะทุกคนต้องมีเซ็กซ์ ทุกคนต้องอยากมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ เขารู้สึกผิดปกติ จนเขื่อนออกมาระบุว่าตัวเองเป็นเอเซ็กชวล เราก็ค่อยๆ เปิดเผยตัวเองออกมา จนเขาได้เข้าใจว่าเขาไม่ได้ผิดปกติ มันก็ย้อนกลับมาที่เดิมเสมอคือ เขาไม่ได้ผิดปกติ สังคมต่างหากที่ผิดปกติ ที่มากำหนดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตอนนี้สังคมไทยทำเรื่องผู้หญิงข้ามเพศและเกย์ได้ดีแล้ว แต่หากเราอยากเป็นสังคม LGBTQ+ เราต้องอย่าลืมเพิ่มเพศอื่นเข้ามาด้วย

เวลาพูดถึงเรื่องการเคารพความหลากหลายทางเพศ คนมักยังมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมเฉพาะกลุ่มอยู่ เขื่อนมองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อสังคมโดยรวมอย่างไร และหากไม่ขับเคลื่อนร่วมกันตั้งแต่วันนี้จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมในด้านอื่นๆ

เขื่อนไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใคร แต่เขื่อนมองว่าคนที่ไม่เข้าใจเรื่อง LGBTQ+ มันสะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางเพศ เราต้องอย่าลืมนะว่าความเท่าเทียมทางเพศมันไม่ได้จบแค่เป็น LGBTQ+ มันมีเรื่องความเป็นชาย เป็นหญิง มันมีเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดสีผิว ซึ่งเมืองไทยหนักมาก มีการเหยียดสีผิวดำ-ขาวชัดเจน บางโฆษณาตอนนี้ยังพูดอยู่เลยว่าผิวขาวดีกว่า

มันมีหลายเรื่องมากเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้ว เขื่อนในฐานะ LGBTQ+ ในฐานนักขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียม มันเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ความเท่าเทียม แต่จริงๆ แล้วมันมีความเท่าเทียมอีกหลายแง่ ทั้งเรื่องคนพิการ ถ้าเกิดคนหนึ่งบอกว่าเขาเลือกที่จะสนับสนุนการเหยียดสีผิว แต่ไม่สนับสนุนการเลือกปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียมทางเพศของ LGBTQ+ หรือไม่สนับสนุนเรื่องคนพิการ สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ใช่ความเท่าเทียมอยู่ดี ความเท่าเทียมที่แท้จริงคือทุกคนเกิดมามีสิทธิ์ มีเสียง มีทางเลือกเท่ากัน

เขื่อนมีอะไรอยากจะพูดสำหรับ Pride month หรือเปล่า

สิ่งที่อยากจะพูดคือทุกคนยังเห็น Pride month เป็นแบบ Let’s have you know 10 shots of Tequila and get drunk เป็นความสนุกสนาน สิ่งนี้ไม่ผิดเลย เพราะเขื่อนมองว่าการที่ทำให้คนตระหนักรู้ได้ดีที่สุดคือความสนุก ความเข้าใจ แต่เขื่อนก็ยังอยากให้ความสนุกสนานเหล่านี้เป็นการตอกย้ำและเตือนเราว่า กว่าเราจะมีพาเหรดในวันนี้ เราผ่านอะไรมาบ้าง โดนกดขี่ข่มเหง เป็นคนนอกรีตมานานแค่ไหน จนมีเรื่องที่สโตนวอลล์ ที่มีการประท้วงขึ้นเมื่อปี 1969 ทำให้เรามีการเฉลิมฉลองในทุกวันนี้ คนในเมืองไทยบางคนยังไม่ทราบเลยว่าจุดประสงค์เทศกาลไพรด์เพื่ออะไร มันเป็นการย้ำเตือนตอกย้ำ และเป็นการสร้างความรับรู้ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้เราต่อสู้กันมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นมันมีมากกว่างานปาร์ตี้ มันไม่ใช่วันหยุดหรือแคมเปญของบริษัทเพื่อหาเงิน หรือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด แต่ไพรด์เป็นการสร้างการตระหนักรู้ เป็นการบอกคนรุ่นต่อๆ ไปว่า สุดท้ายแล้ว ความเท่าเทียมและไพรด์มันคืออะไร 

ความฝันอันใกล้กับอนาคตสังคมเรื่องเพศที่เขื่อนอยากเห็นเป็นแบบไหน 

ถ้าให้พูดถึงสิ่งที่เราอยากเห็นมันน่าจะเป็นอะไรที่เห็นแก่ตัวมาก คือเราอยากให้น้องๆ มีพื้นที่ปลอดภัย ถ้าเขาชอบอะไร เป็นอะไร ก็ค่อยๆ เชื่อความรู้สึกตัวเอง และค่อยๆ คลำหา เขื่อนอยากจะบอกว่าไม่ต้องให้ใครมาบอกว่าเราต้องเป็นอะไร ต้องชอบอะไร เรานี่แหละอยากเป็นอะไรก็ได้ ชอบอะไรก็ได้ และหาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือสังคมไหนก็ตามที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้ เราก็ค่อยๆ ปลดล็อกตัวเอง และวันนั้นแหละ เราค่อยเลือกว่าเราอยากเป็นอะไร เราอยากนิยาม อยากระบุตัวเองว่าเป็นคนแบบไหน เพศอะไร ทำงานอะไร ความหมายชีวิตที่แท้จริงของเราคืออะไร และนี่คือสิ่งที่เขื่อนดนัยอยากจะเห็น

Fact Box

  • ‘เขื่อน’ - ภัทรดนัย เสตสุวรรณ อดีตนักร้องบอยแบนด์วง K-OTIC สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะค้นคว้าและวิจัยจิตวิทยา (Applied Psychology) และปัจจุบัน กำลังศึกษาต่อปริญญาเอก สาขาการบำบัดจิตด้วยปรัชญาชีวิต (Existential Psychotherapy)
  • ปัจจุบัน นอกจากมีบทบาทเป็นนักจิตบำบัด ยังเป็นยูทูเบอร์ ทำช่องของตัวเองที่ชื่อว่า ‘Koendanai’ ที่มีเนื้อหาทั้งเรื่องไลฟ์สไตล์ และการพูดคุยประเด็นจิตบำบัดอย่างง่ายๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นนี้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
  • ช่องของ ‘Koendanai’ ได้รับการสนับสนุนโดย Google ที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของชาว LGBTQ+ ทั้งพนักงานและชุมชนในและนอกองค์กรมาเป็นเวลาอันยาวนาน ด้วยการสร้างบรรยากาศที่เท่าเทียมแบบเปิดกว้างเพื่อให้พนักงานสามารถพูดคุยถึงประเด็นที่มีความสำคัญสำหรับพวกเขา รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มที่ให้ผู้คนเหล่านั้นแสดงความสามารถและความคิดเห็นได้อย่างเสรี นอกจากนโยบายองค์กรที่ส่งเสริมความหลากหลายและมอบทุนสนับสนุนองค์กร LGBTQ+ ทั่วโลกแล้ว การเปิดพื้นที่สื่อสารให้กับเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ Google สนับสนุนประเด็นดังกล่าว เพื่อผลักดันสังคมที่เคารพความหลากหลาย และสร้างความเท่าเทียม
Tags: , , , , , , ,