ผมได้ยินชื่อ ‘ยังเติร์ก’ เมื่อหลายปีก่อน ครั้งเริ่มสนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่นานนัก แน่นอนว่า ชื่อกลุ่มพวกเขาดูผิดแผกจากกลุ่มอื่นๆ ในการเมืองไทย ครั้งหนึ่งเคยมีข่าวลือว่า ร็อด สจวร์ต (Rod Stewart) นักร้องดังชาวอังกฤษ ได้ยินชื่อกลุ่มดังกล่าวขณะเดินทางเยือนไทยเมื่อปี 2524 ขณะที่เกิดความพยายามยึดอำนาจโดยคณะทหารยังเติร์กพอดี
คำว่า ‘ยังเติร์ก’ แท้จริงมีมานานเกินร้อยปี หมายถึงทหารหนุ่มอย่าง มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Ataturk) ทหารหนุ่มผู้เป็นนักรบกอบกู้อิสรภาพ สร้างชาติตุรกีสมัยใหม่ ในวัยเดียวกับที่บรรดา ‘คณะราษฎร’ นำเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ส่วนคณะทหารยังเติร์กแบบไทยๆ ไม่ได้เป็นพวก ‘บิ๊ก’ เหมือนปัจจุบัน หากแต่เป็นนายทหาร จปร.7 วัย 30 ปีกว่าๆ ที่เริ่มมีบทบาทหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จากกลุ่มที่เรียกว่า ‘กลุ่มนินทาเจ้านาย’ จนกลายเป็นมีบทบาทอย่างสูงช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ในหนังสือประวัติศาสตร์ กลุ่มยังเติร์กไม่ได้มีบทบาท ไม่ได้มีความสำคัญเท่าไร เพราะพวกเขาเป็น ‘ผู้แพ้’ ไม่ได้มีความสลักสำคัญกับระบอบการเมืองไทยเท่าไรนัก แต่การทำความเข้าใจพวกเขา ก็สามารถลากเส้นต่อจุดประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาที่ไม่มีใครพูดถึงให้เห็นภาพชัดขึ้น ทำความใจบรรดาขุนทหารได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ที่หายไปได้อย่างแนบเนียน ผ่านการค้นคว้าของคนร่วมสมัยอย่าง พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก
เพราะพลเอกบัญชรไม่ได้เล่าประวัติศาสตร์เป็นเส้นตรง แต่ยังเล่ามุมต่างแบบ ‘ราโชมอน’ และยังให้ทัศนะ ให้ข้อมูลค้นคว้าจากหลายมุมในฐานะนายทหารที่เข้าใจบริบทช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดีและเป็นระบบ จากบรรดาหนังสือชีวประวัติของนายทหารหลากหลายคน ที่บางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว บางคนก็ชราภาพมาก
และนี่คือบางช่วงบางตอนที่ทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงมีคุณค่าสำหรับคนสนใจประวัติศาสตร์นัก
1. สุญญากาศหลัง 14 ตุลาฯ
ผมเพิ่งเข้าใจไม่นานนี้เองว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีหลากหลายเรื่องราวมากกว่าความโหดเหี้ยม และการ ‘ล้อมปราบ’ ของ ‘ฝ่ายขวา’ แต่ในอีกแง่คือ การช่วงชิงการนำของบรรดาทหารหลังยุค จอมพล ถนอม กิตติขจร, จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร จบลงแบบดื้อๆ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ความเข้าใจโดยทั่วไปก็คือประชาชนชนะ แต่ในความเป็นจริงคือทหารอีกขั้วหนึ่งที่ล้มจอมพลถนอมนั้นชนะ และ ‘นักการเมือง’ ก็ยังยินดีที่จะใช้บริการทหารต่อไป ต่อให้หักขั้ว เปลี่ยนข้าง พลิกมุม อย่างไร ก็ยังต้องพึ่งพาบารมีทหาร ไม่ว่าจะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม หรือพรรคชาติไทย ก็ล้วนแล้วแต่มี ‘พลเอก’ คุมกำลังเป็นของตัวเอง
หนังสือเล่มนี้จำแนกทหารแต่ละกลุ่มออกมาโดยละเอียด อ้างอิงเอกสารค้นคว้ามากมายว่าใครเป็นใคร ใครขั้วไหน ใครล้มใคร โดยนอกจากจะมีฉากหลังอันชุลมุนแล้ว ยังเติมเชิงอรรถด้วยการเติบโตของขบวนการ ‘ฝ่ายซ้าย’ และบริบทว่าด้วยการเติบโตของประเทศคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ที่ทำให้เรื่อง ‘ความมั่นคง’ เป็นเรื่องใหญ่ และไม่ว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็ไม่สามารถตัดทหารออกจากการเมืองได้
และในเวลานี้เองที่กลุ่มนินทาเจ้านายกลายเป็นกลุ่ม ‘นายทหารหนุ่ม’ ที่หาญกล้าถึงขั้นเข้าหานายกรัฐมนตรีในเวลานั้นอย่าง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เพื่อคัดค้านการเป็นรัฐมนตรีของ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่พลเอกกฤษณ์จะเสียชีวิตด้วย ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ก่อนรับตำแหน่ง เพราะเห็นว่าทหารควรออกห่างจากการเมือง
ขณะเดียวกันในช่วงแรกยังเห็นว่า พวกเขา พวกยังเติร์ก เป็นนายทหารที่เป็นห่วงบ้านเมือง และไม่ต้องการเห็นกองทัพไปพัวพันกับการเมืองมากนัก
น่าเสียดายที่ในตอนหลังกลับกลายเป็นยังเติร์กกลุ่มเดียวกัน ที่เข้าไปพัวพันกับการ ‘ยึดอำนาจ’ เสียเอง โดยเริ่มต้นจากการยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งแม้ยังเติร์กจะไม่ใช่ผู้ปฏิบัติโดยตรง แต่การคุมกำลังเข้ามา ‘รักษาความสงบ’ ในพระนคร และช่วยบรรดา ‘บิ๊ก’ ทั้งหลายยึดอำนาจ ได้ทำให้พวกเขาเห็นว่า การยึดอำนาจนั้นมีขั้นตอนอย่างไร มีแบบแผนอย่างไร และต้องทำแบบไหนจึงจะได้รับชัยชนะ
“ความสำเร็จในการยึดอำนาจโดยมีกำลังทหารหลายกองพันของนายทหารระดับกลาง ที่ออกมาประจำตามจุดสำคัญในกรุงเทพฯ ได้ทำให้เกิดความรับรู้ใหม่ในหมู่คณะทหารหนุ่มว่า แท้จริงแล้วความสำเร็จทั้งหมดนี้เกิดจากอำนาจปืนของหน่วยระดับกองพันที่ตนควบคุมบังคับบัญชาอยู่
“คณะทหารหนุ่ม-นายทหารระดับกลาง ยศพันตรีจึงเริ่มตระหนักเป็นครั้งแรกในพลังอำนาจที่มีลักษณะชี้ขาดของตนและเมื่อมีครั้งแรก ก็จะมีครั้งที่ 2 ตามมาในอีกไม่ช้า” พลเอกบัญชรบันทึกไว้ในหนังสือ
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในห้วงเวลา 5 ปีมีการยึดอำนาจทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จเกิดขึ้น 6 ครั้ง และทุกครั้งเกี่ยวข้องกับบรรดายังเติร์ก ในฐานะทหารผู้คุมกำลัง คุมกองพัน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ทั้งฝ่ายผู้ยึดอำนาจ
ขณะเดียวกันก็เริ่มสร้าง ‘ยังเติร์ก’ ให้เป็นขั้วอำนาจใหม่ โดยที่ไม่ต้องเป็น ‘บิ๊กทหาร’
2. การประกอบสร้าง นายกฯ เกรียงศักดิ์
อันที่จริงเรื่องราวในท่อนของ พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ และการรัฐประหารที่ล้มเหลวนั้น น่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการหักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างคณะปฏิวัติกับรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร การเสียชีวิตของ พลเอก อรุณ ทวาทศิน ในกองบัญชาการคณะปฏิวัติ การ ‘หักหลัง’ ของฝ่ายรัฐบาล ที่ทำให้เครื่องบินที่ส่งบรรดาคณะกบฏทั้งหลายขึ้นเครื่องไม่สามารถออกจากดอนเมืองได้ และการประหารชีวิตพลเอกฉลาดที่กลายเป็นนักโทษการเมืองคนสุดท้ายที่ถูก ‘สั่งตาย’
ทั้งหมดนี้ยังเติร์กไม่ได้เห็นด้วย และเมื่อยังเติร์กเป็นขั้วอำนาจใหม่ก็กลายเป็นว่า พวกเขาสามารถใช้อำนาจต่อรองในการเปลี่ยนตัวนายกฯ ได้
ถึงตรงนี้หนังสือของพลเอกบัญชรยังเล่าฉากการเปลี่ยนตัวนายกฯ อย่างน่าระทึกใจ ประวัติศาสตร์ฉบับทางการบอกว่า การรัฐประหารที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ เมื่อ 20 ตุลาคม 2520 นั้น เดิมทีไม่ได้ผลักดันให้ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกฯ หากแต่เป็นคนอื่น
แต่ด้วย ‘ยังเติร์ก’ นำโดย พันเอก มนูญ รูปขจร นำกำลังทหารเข้ามายังสนามเสือป่า พร้อมอาวุธครบมือ-รถถัง และไม่ยอมรับในคนที่คณะผู้ก่อการยึดอำนาจเลือก นายกฯ จึงถูกเปลี่ยนตัวเป็นพลเอกเกรียงศักดิ์ในที่สุด ด้วยอำนาจต่อรองจากยุทโธปกรณ์และด้วย ‘กำลังทหาร’ ในมือ
“หลังจากที่สอบถามจนได้ความกระจ่างถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ในการยึดอำนาจแล้ว ผมจึงลงมือร่างให้ ในขณะที่กำลังร่างอยู่นั้น ผมรู้สึกถึงอาการผิดปกติในห้อง มีการพูดคุยกันเสียงดังขึ้นทุกที ได้ยินเสียง พลเรือเอกสงัดพูดอย่างฉุนเฉียวว่า ถ้าอย่างนั้นก็เลิกทำ เรียกกลับมาให้หมด แล้วต่างคนต่างกลับบ้าน
“ผมกระซิบถามคุณประเทือง (กีรติบุตร) ว่าเกิดอะไรขึ้น ท่านก็กระซิบบอกว่า เกิดมีปัญหานิดหน่อยกับกลุ่มทหารหนุ่มๆ ที่ถูกส่งออกไปยึดสถานที่ราชการโดยนายทหารเหล่านั้นต้องการความแน่ใจว่า เมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้ว ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี” พลเอกบัญชรถอดความตอนหนึ่งจากบันทึกของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ สมภพ โหตระกิตย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้น
เห็นภาพชัดขึ้นว่าเป็นการ ‘ปฏิวัติซ้อน’ อีกรอบด้วยฝีมือของทหารหนุ่ม จนทำให้พวกเขาเริ่มก้าวขึ้นสู่อำนาจโดยเร็ว และเริ่มมีบทบาทในทางการเมือง-ในรัฐบาล ในเวลาต่อมาด้วยหัวโขน ‘วุฒิสมาชิก’ ในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์กันถ้วนหน้า
ทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งเพียง ‘พันโท-พันเอก’ เท่านั้น
3. จุดสูงสุด
ต้นปี 2523 เรื่องเล่าที่ชัดแจ้งคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ถูก ‘บีบ’ ให้ออกจากตำแหน่งนายกฯ ใน ‘ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ที่ตัวเองมีส่วนสร้างร่วมกับบรรดาคณะทหารยังเติร์ก จากบรรดาวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตราคาน้ำมัน ความไม่พอใจในตัวรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์และความไม่ลงรอยกันของบรรดาทหาร
เรื่องเล่าจากปากหลายๆ คนก็คือ ด้วยความไม่พอใจดังกล่าว หากพลเอกเกรียงศักดิ์เลือกที่จะไม่ลาออก ก็อาจมีรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง โดยมีตัวเลือกนายกฯ คนต่อไปที่แต่งตัวรออยู่แล้วอย่างป๋าเปรม-พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ภายใต้การสนับสนุนของยังเติร์ก ที่บัดนี้มีมากกว่า 22 คน นั่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และเริ่มเปิดตัว แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้นถึงขนาดเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ คนต่อไปด้วยตัวเอง
และในเวลานั้น ส.ว.ก็สามารถเลือกนายกฯ ได้ ซึ่งแน่นอนว่ายังเติร์กเลือก ‘ป๋า’
สาเหตุดังกล่าวทำให้ป๋าเปรมได้ขึ้นเป็นนายกฯ ด้วยแรงส่งของบรรดาคณะทหารหนุ่มที่มีกำลังทหารอยู่ในมือหลายพันคน และจะกลายเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของป๋าเปรม
พันเอก จำลอง ศรีเมือง (ยศในขณะนั้น) ถึงกับไปนั่งเป็นเลขาธิการนายกฯ พันเอก ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ ได้นั่งเป็นนายทหารคนสนิทนายกฯ ขณะที่พันเอก มนูญ รูปขจร หัวหน้ากลุ่มยังเติร์ก กลายเป็นศูนย์กลางที่บรรดานักธุรกิจ นายทหาร นักการเมืองที่อยากเข้าหา ‘ป๋า’ ต้องเข้าผ่านทางพันเอกมนูญ
การเลือกถูกข้าง ทำให้กลุ่มนินทาเจ้านายหลัง 14 ตุลาฯ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว… และในเวลาเดียวกันก็สร้างศัตรูระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นบรรดานายทหารคนสนิทป๋าคนอื่นๆ รวมถึงกลุ่มนายทหาร ‘จปร.5’ รุ่นพี่ตามมา
รุ่น 7 และรุ่น 5 จะมีปัญหาระหว่างกันนานอีกนับสิบปีจนถึงการยึดอำนาจ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และพาประเทศเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีกครั้ง
4. กบฏเมษาฮาวาย
อย่างไรก็ตามปริศนาที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม นั่นคือใครเป็นคนเริ่มต้นความคิดในการยึดอำนาจครั้งที่มีทหารเข้าร่วมมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 42 กองพัน หรือนับรวมจำนวนทหารก็เกือบ 3 หมื่นนาย ในวันที่ 1 เมษายน 2524
เป็นคณะทหารยังเติร์กเองที่เข้าใจผิด คิดว่า ‘ป๋า’ จะเอาด้วย เป็นคณะทหารยังเติร์กเองที่เตรียมซ้อนแผนอีกที ทำรัฐประหารไปก่อน ค่อยเชิญ ‘ป๋า’ มาเป็นหัวหน้าทีหลังเหมือนครั้งก่อนๆ หรือเป็นป๋าเองที่ตลบหลัง พยายามลดอำนาจยังเติร์กที่มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการหลอกให้ยังเติร์กออกมาปฏิวัติ ต่างก็เป็นได้ทั้งนั้น
ในประวัติศาสตร์จากปาก ‘ผู้ชนะ’ ระบุสั้นๆ ว่า กบฏเมษาฮาวายไม่สำเร็จ เพราะพลเอกเปรมหลบหนีจากการควบคุมตัวของคณะปฏิวัติไปได้ พร้อมกับเชิญในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปประทับที่จังหวัดนครราชสีมาสำเร็จ จึงทำให้คณะปฏิวัติต้องพ่ายแพ้เป็นกบฏ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครรู้ว่าเกิดการหักเหลี่ยมอะไรขึ้นในบรรดาทหารผู้ใหญ่ เพราะอะไรบรรดาลูกรักทั้งหลายถึงได้พยายามทำรัฐประหารพลเอกเปรม
แต่เรื่องนี้หากรวบรวมข้อมูลที่พลเอกบัญชรค้นคว้า ก็สามารถทำเป็นหนังดีๆ ได้เรื่องหนึ่ง มี Conflict ตั้งแต่การที่บรรดากบฏยึดบ้านสี่เสาฯ และป๋าเปรมถึงขั้นเอ่ยว่า “เอาปืนให้ป๋า ป๋าจะยิงตัวตายตอนนี้เลยก็ได้” ความพยายามติดต่อจากฝั่งป๋าไปยัง ‘วัง’ จนป๋าหลบหนีจากการควบคุมตัวได้สำเร็จ และเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ไปนครราชสีมาได้ในเวลาต่อมา ทั้งที่เป็นการรัฐประหารที่มีกำลังทหารมากที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือการที่คณะรัฐประหารยังตัดสินใจสู้ต่อ แม้ป๋าเปรมและพระมหากษัตริย์จะไม่เอาด้วยก็ตาม จนถึงการพยายามนำกำลังจากนครราชสีมา ผนวกกับ ‘ทหารเสือราชินี’ เพื่อยึดกรุงเทพฯ คืน
“ทางฝ่ายกองบัญชาการคณะปฏิวัติเมื่อทราบว่า มีกำลังจากนครราชสีมาลงมาที่สนามบินดอนเมือง จึงมีคำสั่งให้กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ใช้ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. ตั้งยิงจากสนามกีฬากรมทหารราบที่ 1 ซอยสายลม ทำการระดมยิงไปยังสนามบินดอนเมืองเพื่อสกัดกั้นกำลังจากนครราชสีมา แต่ พันโท สุรพล ชินะจิตร ผู้บังคับกองพัน ปฏิเสธไม่ปฏิบัติตาม” พลเอกบัญชรให้ข้อมูลไว้ในหนังสือ
ขณะเดียวกันยังมีการรวบรวมข้อเขียนจากพันเอกมนูญด้วยว่า
“ทุกคนในกลุ่มทหารหนุ่มรู้และทราบแนวทางเป็นอันเดียวกันว่า กระทำงานครั้งนี้ทำให้ป๋า แต่เมื่อเดินทางมาแล้ว จึงทราบว่าหลงทางและถูกทำลายพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้คืนสู่สภาพโดยเร็วไม่ให้นองเลือดและได้ชื่อว่าทำลายสถาบัน สิ่งที่ได้ทำไปและข้อมูลต้องให้ตัดสินใจยุติการปฏิวัติคือได้รับข่าวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวว่ามีบุคคลพลเรือนอาวุธครบมือประมาณ 100 คน เดินทางจากชลบุรีเข้ากรุงเทพฯ แล้วหลังจากทราบก็ตรวจสอบดูว่า เป็นทหารราบ 21 นอกเครื่องแบบเข้ามา พวกเราจึงเฉย ด้วยเหตุผลไม่ต้องการกระทบกระเทือนถึงเบื้องพระยุคลบาท แต่มีการแทรกด้วยบุคคลอื่นๆ อีก มีอาวุธกระสุนครบเช่นกัน จะอยู่ในระหว่างทหาร 2 ฝ่ายจะเป็นผู้จุดระเบิดให้มีการยิงกัน และเริ่มการสู้รบ ขยายวงการต่อสู้ออกไป ผลคือความสูญเสียความตายของทหารและประชาชนในพื้นที่
นั่นแปลว่า จนถึงวันนี้ผ่านมา 43 ปียังมีเรื่องที่คนไม่รู้อีกมาก แต่สิ่งที่ปรากฏชัดก็คือ หลังกบฏครั้งใหญ่ครั้งนั้น บรรดายังเติร์กก็สูญสลายไปในบัดดลและไม่อาจยิ่งใหญ่ได้อีกเลย
5. บทสรุป
ความน่าสนใจก็คือพลเอกบัญชรบันทึกไว้ชัด หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกว่า ใครเป็นพระเอกหรือใครเป็นผู้ร้าย แต่คือพยายามค้นหาคำตอบ ความสงสัย และคำถามที่มีอยู่มากมาย หลังจากอ่านประวัติศาสตร์และเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานั้น
“ส่วนบางบทสรุป ผู้อ่านจะมีทัศนะอย่างไร ย่อมเป็นอิสระทางความคิดของแต่ละท่าน” พลเอกบัญชรกล่าวสรุป
อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญที่ผมค้นพบก็คือ การรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบให้เห็นการประกอบสร้าง‘ผู้นำ’ ในยุคนั้นว่า ไม่ได้เหาะมาจากท้องฟ้า แต่ประกอบสร้างด้วยดุลอำนาจใดบ้าง บริบทสังคม-การเมืองแบบไหน และความขัดแย้งก็ล้วนมีที่มาที่ไปที่ถูกสร้างขึ้น ทั้งด้วยสถานการณ์การสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างอำนาจนำของสถาบันจารีตในห้วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน
กล่าวง่ายๆ ไม่ได้มี ‘คนดี’ หรือ ‘คนไม่ดี’ เพียงแต่ว่า พวกเขาล้วนเป็นตัวละครที่บังเอิญได้บทที่ ‘ต้องเล่น’ ณ เวลานั้น
ทว่าผลลัพธ์สำคัญก็คือ ความขัดแย้งของบรรดาทหารทั้งหลาย ผู้ที่รับกรรมสุดท้ายเป็นประชาชนทั่วไป ที่ต้องอยู่กับสภาพการเมืองอัน ‘ไม่นิ่ง’ อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้ตั้งมั่น เป็นผลพวงจากการแย่งชิงอำนาจของขุนทหารรุ่นต่างๆ และนักการเมืองที่ต้องเอาทหารเป็นหลังพิง ด้วยรู้ว่าอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้อยู่ที่ไหน
ความน่าเศร้าก็คือผ่านมาหลายสิบปีแล้ว โลกเจริญรุดหน้าไปมากแล้ว แต่ทหารก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยเหมือนเดิม และกลายเป็นระบบการเมืองก็ทิ้งพวกเขาไม่ได้ นักการเมืองยังต้องเอาใจทหาร และทหารยังเป็นส่วนสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร หากพวกเขาไม่พอใจในดุลอำนาจ ก็สามารถทำรัฐประหารกันอีกรอบ โดยมีคนไทยและเศรษฐกิจไทยเป็นตัวประกัน ซ้ำยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งโห่ร้องแสดงความยินดีในการให้ทหารพระราชาออกมากำจัดนักการเมืองชั่ว ซึ่งเป็นข้ออ้างทุกครั้งในการยึดอำนาจ
ข้อสำคัญก็คือ หากไม่เอาทหารออกจากการเมือง เรื่องราวพวกนี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำๆ
และสุดท้าย เราจะเสียเวลาไปอีกหลายสิบปี ในขณะที่ประเทศอื่นไปไกลแล้ว
Fact Box
คณะทหารหนุ่มยังเติร์ก อุดมการณ์ ความฝัน ความจริง, ผู้เขียน: พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์, สำนักพิมพ์แสงดาว, 496 หน้า, ราคาปก 550 บาท