(1)

“ผู้กำกับใหม่ ซึ่งผมมั่นใจว่าคงมีผู้ผิดหวังมากกว่าผู้สมหวังในห้องนี้ที่ขอตำแหน่งไป เพราะรู้สึกว่าเยอะเหลือเกิน แต่ก็คงมีไม่น้อยที่ได้สมหวัง”  

ละครว่าด้วยตำรวจไทยกลายเป็นเรื่องขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกิดหลุดเรื่อง ส.ส. ‘ฝาก’ ตำแหน่งผู้กำกับมาหลายพื้นที่ทั่วประเทศกลางที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จนสร้างความตระหนกให้กับสังคมว่า นายกฯ หลุดเรื่องนี้ออกมาได้อย่างไร

เรื่องนี้ทิ้งระยะหนึ่งวัน จนวันถัดมาต้องรีบปฏิเสธว่า ‘ไม่มี’ ใครฝากได้ ‘ไม่ใช่’ อำนาจนายกฯ ในการฝาก ‘ผู้กำกับ’ และที่พูดในที่ประชุม ส.ส. นั้น เป็นเรื่อง ‘ความ’ ไม่ใช่เรื่อง ‘คน’

อันที่จริงเรื่องตำรวจเป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่กว่าที่หลายคนคิด ถ้าจำกันได้ไม่กี่เดือนก่อน โรงละครที่มีตำรวจเป็นตัวเอก เพิ่งจะฉายละครว่าด้วย ‘กำนันนก’ เมื่อสารวัตรสิว ถูกยิงตายกลางบ้านเศรษฐีในจังหวัดนครปฐม ไม่กี่วันถัดมา ผู้กำกับการตำรวจทางหลวงกระทำอัตวินิบาตกรรมอีกคน ท่ามกลางเรื่องราวถูกขีดขยายใหญ่โตว่าเพราะเหตุใดตำรวจถึงต้องไปรวมตัวกันกลางบ้านผู้มีอิทธิพล เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับส่วยทางหลวงหรือไม่ แล้วเพราะเหตุใดตำรวจถึงปล่อยให้ผู้ต้องหาหนี 

ก่อนจะจบองก์ละครเรื่องนี้ด้วยเรื่องใหญ่กว่า อย่างการนำ ‘คอมมานโด’ ไปบุกบ้าน พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล ในช่วงเช้าตรู่ แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ เงียบลง ผู้กำกับของเรื่องนี้บอกเพียงว่า ‘เอาแค่นี้’ เอาแค่พอหอมปากหอมคำ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่และพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ จึงได้เคลียร์เรื่องนี้ จับมือกันคืนดี พร้อมกับทิ้งความขัดแย้งทั้งหมดให้เป็นเพียงเรื่องในอดีต

แล้วสังคมไทยก็ค่อยๆ ลืมเรื่องตำรวจไปอีกครั้ง

 

(2)

แต่ปัญหาใหญ่ว่าด้วยตำรวจยังคงอยู่ เรื่องสีเทา สีดำทั้งหมดในประเทศนี้เกี่ยวโยงกับสีกากี ไม่ว่าจะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะบ่อนการพนันทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ไม่ว่าจะส่วยรถบรรทุก การเรียกเก็บค่าตั๋วของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ผูกกับ ‘ทุนจีนสีเทา’ เรื่อยไปจนถึงชีวิตประจำวันอย่างการตั้งด่านลอย ไล่จับหวยใต้ดิน 

กลายเป็นว่าตำรวจไทยเกี่ยวพันกับเรื่องเทาๆ ดำๆ ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กลายเป็นผู้พิทักษ์สิ่งอันไม่ชอบมาพากล ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วตำรวจคือคนในกระบวนการยุติธรรมที่ต้อง ‘ทัช’ กับชาวบ้านมากที่สุด แต่กลับกลายเป็นคนที่ประชาชนไว้วางใจน้อยที่สุด แล้วทุกอย่างก็วนซ้ำวนซากไม่ว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะชื่ออะไร หรือเป็นคนของใคร

แล้วทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากไหน? — ว่ากันจริงๆ เกี่ยวพันกับ ‘รัฐส่วนกลาง’ ซึ่งก็มีชื่อเรื่อง ‘คอร์รัปชัน’ ไม่แพ้กัน 

ย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีก่อน ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ตำรวจเคยยิ่งใหญ่มากถึงขนาดมีคำขวัญว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” แต่ความใหญ่ไปก็ทำให้ตำรวจถูกหวาดระแวง และนับจากการรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตำรวจก็กลายเป็นตกอยู่ใต้อิทธิพลของทหาร เป็นหนึ่งในวงจรที่ถูกทหารควบคุม และเป็นองคาพยพที่ซื่อสัตย์ภายใต้ทหาร ตำรวจที่ได้ดี มียศมีตำแหน่งก้าวหน้า ไม่ใช่มือปราบที่เก่งฉกาจ แต่คือนายตำรวจผู้มีสายสัมพันธ์กับ ‘ผู้ใหญ่’ ในกองทัพ

 

(3)

ตัดภาพจากนั้นมา เมื่อ ‘การเมือง’ อยู่คู่กับ ‘การเลือกตั้ง’ ตำรวจก็เป็นอีกหนึ่ง ‘รัฐ’ ขนาดใหญ่ การขยายตัว ขยายอำนาจของตำรวจ สัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับอำนาจทางการเมือง ระบบรัฐสภาไทยผูกกับตัวเลข ส.ส. เมื่อ ส.ส. มาจากผู้มีอิทธิพล มาจาก ‘บ้านใหญ่’ ในแต่ละจังหวัด ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกี่ยวพันกับตำรวจในแต่ละพื้นที่

เรื่องมันมีอยู่ว่า การเมืองแบบไทยๆ ผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องมี ‘แขนขา’ ไว้คอยเคลียร์หากประชาชนมีทุกข์ร้อน เพื่อรักษาฐานคะแนน ฉะนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมี ‘ตำรวจ’ เป็นพรรคพวก ด้วยเหตุนี้ ผู้บังคับการจังหวัดจึงต้องไปรายงานตัวกับ ‘ท่าน ส.ส.’ ผู้กว้างขวาง ขณะเดียวกัน หากมีตำรวจย้ายมาใหม่ ‘ท่าน ส.ส.’ ‘ท่านนายกอบจ.’ จำนวนไม่น้อยก็ต้องโดนบ้านใหญ่ขอดูตัว เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ ไม่เชื่อก็ลองไปถามคนเพชรบุรี คนชลบุรี คนนครปฐม คนบุรีรัมย์ก็ได้ว่า บรรยากาศเวลา ‘ย้ายตำรวจ’นั้นเป็นอย่างไร 

ยิ่งหากบ้านใหญ่บางจังหวัดนั้นพัวพันกับการมีธุรกิจสีเทาๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรับเหมารายใหญ่ ธุรกิจบ่อขยะ ธุรกิจรถบรรทุก ธุรกิจโรงสี ธุรกิจผูกขาดสินค้าเกษตร แล้วต้องแย่งชิง-กำจัดคู่ต่อสู้เพื่อขึ้นเป็นใหญ่ ‘ตำรวจ’ เองมีบทบาทสำคัญมากที่จะทำให้เรื่องพวกนี้ทำได้ง่ายขึ้น

เมื่อรัฐบาลต้องอาศัยมือของ ส.ส. เหล่านี้ ก็ไม่แปลกที่ ส.ส. จะขอใช้อำนาจรัฐบาล ‘ฝาก’ คนของตัวเองให้ขึ้นเป็นใหญ่ มีประโยชน์ทั้งรักษาพื้นที่ไว้ ไม่ให้ตกเป็นของคู่แข่ง และรักษาอำนาจรัฐบาลไว้ ให้ ‘มือ’ ที่ยกให้ยังคงอยู่ครบ ไม่ย้ายไปยังพรรคคู่แข่ง

วงจรอุบาทว์แบบไทยๆ ทุกอย่างเลยผูกโยงกันหมด ผู้มีอิทธิพล – บ้านใหญ่ – นักการเมือง – ตำรวจ – รัฐบาลกลาง และสิ่งที่อยู่เหนือรัฐบาลอีกที ส่วนประชาชนเล่นเป็นตัวประกอบ เป็นผู้จ่ายภาษีคนหนึ่งเพื่อจ่ายเงินเดือนให้รัฐบาลเอาไปใช้เท่านั้น

 

(4)

แล้วตั๋วตำรวจหน้าตาเป็นอย่างไร… ทำไมทุกคนถึงปฏิเสธกันหมดว่า ‘ไม่เกี่ยว’ 

เสียงลือก่อนหน้านี้ ว่ากันว่าประเทศไทยมีการ ‘แบ่งเกรด’ แทบทุกอย่าง สถานีตำรวจในกรุงเทพฯ ที่เกี่ยวพันกับธุรกิจเทาๆ ดำๆ สน.ทองหล่อ สน.ห้วยขวาง สน.ลุมพินี สน.บางรัก เป็น สน.เกรด AAA ในกรุงเทพฯ และมีราคาค่างวดสำหรับคนที่อยากไปดำรงตำแหน่ง เพราะมี ‘ผลประโยชน์อื่นๆ’ ที่ตำรวจเหล่านี้สามารถทำเงินได้ เก็บเงินได้

ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะผู้บังคับการจังหวัด ผู้บังคับการภาค ผู้บังคับการตำรวจภูธร ผู้บังคับการกองปราบ ฯลฯ ล้วนมี ‘ราคา’ ไม่ว่าจะเป็นราคาผ่านคอนเนกชัน หรือราคาในฐานะตัวเงิน

ด้วยเหตุนี้ อาชีพตำรวจจึงเป็นอาชีพที่มี ‘แรงกดดัน’ อย่างมาก เมื่อขึ้นสูงถึงจุดหนึ่ง ‘นาย’ อาจให้ทำอะไรที่ไม่อยากทำ ‘นาย’ บางคนอาจตั้ง KPI ด้วยยอดเงิน และหากต้องการย้ายไปในพื้นที่ที่ดีกว่า ก็อาจจำต้องทำตัวเป็น ‘ลูกรัก’ ของนาย

เรื่องน่าเศร้าก็คือ บรรดา ‘นาย’ ต่างก็มี ‘นาย’ อีกที อาจเป็น ‘นาย’ ในรัฐบาล ‘นาย’ ในกองทัพ หรือ ‘นาย’ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมืดๆ ตำรวจน้ำดีจึงอยู่ยากเข้าไปทุกวัน 

พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เคยบอกว่า สมัยที่เขาเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็โดนนักการเมือง ขอให้ ‘เลิกจับ’ รถมอเตอร์ไซค์ไม่ติดป้ายทะเบียน เพราะรถไม่ติดป้ายทะเบียนเหล่านั้นอยู่ในเครือข่ายวงศ์วานของนักการเมืองชื่อดัง 

และเมื่อย้ายไปเป็นหัวหน้าชุดสืบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา เขาก็ถูกสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังไปออกหมายจับ พลโท มนัส คงแป้น หนึ่งในนายทหารที่สนิทกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และเจออิทธิพลมืดมากมายจนต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียตราบจนวันนี้

ทั้งหมดเป็นคำถามที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ว่า แล้วตำรวจที่อยากเป็นคนปกติธรรมดา ที่อยากรักษากฎหมาย รักษาความเที่ยงธรรมให้กับประชาชน จะอยู่อย่างไร 

สุดท้ายตำรวจที่อยู่หน้าสื่อ ก็คงเหลือเพียงตำรวจที่เราตั้งคำถามว่า ‘เอาเงินมาจากไหน?’  

 

(5)

เหตุและปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ ‘ตำรวจ’ ถึงยังไม่ได้ปฏิรูปเสียที เพราะทุกอย่างโยงใยกันจนป่วนไปหมด โยงกับอำนาจทุกระดับในสังคมไทย ตั้งแต่ต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด

ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครกล้าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นักการเมือง ด้วยรู้ว่าการมีตำรวจเป็นพวกพ้อง ตัวเองย่อมได้ประโยชน์ ในฐานะที่มี ‘มือไม้’ คอยดูแล

ด้วยเหตุนี้วงการตำรวจก็จะยังคงเป็นแบบนี้เรื่อยไป ตราบใดที่สภาพสังคม – การเมืองไทย ยังเป็นเช่นนี้ เชื่อได้ว่าจะไม่มีใครพยายามเปลี่ยนโครงสร้าง และไม่มีใครพยายามที่จะเปลี่ยนสถานะของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้เป็นอย่างอื่น

เพราะฉะนั้น ตำรวจที่แบกหนักสุด ก็คือตำรวจที่ ‘แบก’ เด็ก อยู่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องแบกทั้งเด็ก แบกทั้งโครงสร้างไว้ให้ประชาชนได้เห็นว่ามีตำรวจที่ดีอยู่บ้าง…

และคงแบกหนักไปเช่นนั้นเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

Tags: , , ,