แม้หลายคนจะมีภาพจำว่า วิโอเลต วอเทียร์ เธอคือนักร้องเสียงดี จากบ้าน The Voice ที่ต่อยอดมาเป็นศิลปิน ผลิตผลงานคุณภาพต่อเนื่องมาโดยตลอด
แต่ในหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า บทบาทด้านการแสดงของเธอก็ถือเป็นสิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยหากจะพูดถึงบทอันเป็นที่จดจำคงหนีไม่พ้น เจ๋ ใน ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2558) ที่มาพร้อมกับวลีติดหูอย่าง “ไปค่ะ พี่สุชาติ” หรือใน One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ (2565) ที่เธอมารับบทเป็น พริม หนึ่งในแฟนเก่าของตัวเอกภายในเรื่อง ที่ขโมยซีนในช่วงท้ายของหนังได้อย่างอยู่หมัด
สำหรับในปีนี้เธอตัดสินใจกระโดดเข้ามารับงานแสดงฝากฝั่งซีรีส์บ้าง หลังได้รับการทาบทามจากเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) และกอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา ที่มีโปรเจกต์ทำ อนาคต ซีรีส์ดราม่าไซ-ไฟ ทั้งหมด 4 ตอน ที่เกิดจากการตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรหากเทคโนโลยีบนโลกที่พัฒนาไปจนล้ำสมัย เกิดขึ้นบนสังคมที่ยังมีความเชื่อและชุดความคิดแบบไทยๆ อยู่
The Momentum พูดคุยกับวิโอเลตถึงที่มาในการตกปากรับคำ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในฐานะนักแสดงหลักในตอน Paradistopia รวมถึงประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เรื่องกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศอันเป็นเนื้อหาหลักภายในตอน คำว่าซีรีส์ไซ-ไฟที่ดีของวิโอเลตเป็นอย่างไร รวมถึงเป้าหมายด้านการแสดงของเธอหลังจากนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ทำไมจึงตัดสินใจมารับบทในซีรีส์อนาคตครั้งนี้
ความรู้สึกครั้งแรกหลังจากเราอ่านบทเรื่องนี้จบ คือสนุก วางไม่ลง เป็นไม่กี่เรื่องที่เราอ่านรวดเดียวจบเลย คืออยากรู้ว่ามันจะเกิดอะไรต่อหลังจากนี้
ดังนั้นสุดท้ายแล้วที่ตอบตกลงมาเล่น เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันจะออกมาดีไหม เรารู้เพียงแต่เรื่องราวตรงนี้มันสนุกมากๆ ก็เลยเชื่อสัญชาตญานตัวเองว่ามันต้องมีดีอะไรบางอย่าง ประกอบกับช่วงจังหวะที่เราห่างจากงานแสดงมาพอสมควร เลยคิดว่าถึงเวลาอันสมควรของตัวเองแล้ว
สำหรับซีรีส์ประเภทไซ-ไฟ (Sci-fi) เช่นนี้ คุณมองว่ามีความท้าทายอย่างไรบ้าง
เราว่าซีรีส์แบบนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โลกใบนั้นที่ไม่เหมือนกับที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน มันเป็นอย่างไร มีเทคโนโลยีแบบไหน หรือขับเคลื่อนด้วยชุดความคิดแบบไหน ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจว่าตัวละครที่เรารับบทบาทเขาเป็นใคร อยู่ในภาคส่วนในของสังคม และเป็นคนอย่างไร
ดังนั้นการมารับบท เจสสิก้า นักวิทยาศาสตร์ภายในเรื่อง ก็ต้องทำความเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง รวมถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่รู้ แต่ต้องเข้าใจ และทำมันได้อย่างช่ำชอง
แต่อีกสิ่งที่น่าสนใจของโลกไซ-ไฟในซีรีส์เรื่องนี้ คือมันล้ำสมัย แต่ไม่ได้ไกลตัวขนาดนั้น มันยังคงไว้ซึ่งความเชื่อ ศีลธรรม และชุดแนวคิดแบบไทยๆ ที่โลกปัจจุบันเป็นอยู่ มันเลยเกิดเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ว่าหากเทคโนโลยีล้ำสมัยมากๆ มาเจอกับความเชื่อแบบเดิมๆ ที่มันอาจขัดแย้งกันในบางมุม สังคมจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร
‘ความเป็นไทย’ ที่อยู่ในซีรีส์คือเรื่องอะไร
เราว่ามันคือเรื่องจารีต ประเพณี ที่พอเทคโนโลยีมันมาดิสรัปชัน (Disruption) หรือทำให้แนวคิดบางอย่างล้าหลัง สังคมเราจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไร มันเป็นมุมที่ชวนให้ทั้งนักแสดง ตัวละคร รวมถึงคนดูตั้งคำถามถึง
สำหรับบทเจสสิก้า คุณมีวิธีการออกแบบตัวละครอย่างไรบ้าง
สำหรับตัวละครเจสสิก้า เราไม่ได้อิงความเป็นไทยขนาดนั้น แน่นอนว่ามันมีความคิดแบบที่สังคมเราเป็นอยู่ แต่เธอก็เป็นคนที่เต็มไปด้วยชุดความคิดสมัยใหม่ ก้าวไปจากขนบที่เคยเป็น ซึ่งไม่ได้แปลว่าถูกหรือผิดนะ ขนาดเราเองที่มารับบทนี้ ในบางมุมเราก็ยังตั้งคำถามกับการตัดสินใจของตัวเธออยู่เหมือนกัน
มีวิธีในการเตรียมตัวสำหรับรับบทบาทนี้อย่างไร
ตอบยากมาก เพราะบางอย่างที่เกิดขึ้นในตอนถ่ายทำก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่เตรียมเอาไว้ ภาษากายของเรากับเจสสิก้าก็แทบจะคนละแบบเลย บางทีเราก็ตกใจด้วยซ้ำว่าเคยทำ Facial Expression แบบนั้นด้วยเหรอ เราไม่รู้ตัวเลย แล้วมันต่อเนื่องมาตลอดทั้งเรื่องว่า นี่คือวิธีการแสดงของเจสสิก้า ท่านั่ง ท่ายืน วิธีพูด วิธีขยับกล้ามเนื้อหน้า คือเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากไหน
เพราะสิ่งที่เราทำคือการทำการบ้านมาประมาณหนึ่ง ตีความตัวละครมาประมาณหนึ่ง แตพอเวลาเข้าฉาก เราปล่อยให้สัญชาติญาณนำพาไป
ในมุมมองของคุณซีรีส์ไซ-ไฟที่ดี ต้องเป็นแบบไหน
เราคงตอบให้ได้ไม่ชัดเจน เพราะสำหรับเรื่องนี้ เรามองว่าเป็นซีรีส์ประเภทดราม่า-ล้ำสมัย เพราะท้ายที่สุดมันไม่ใช่ซีรีส์ไซ-ไฟเหนือจริง แบบมีเอเลียนขี่ยานอวกาศ แต่ทั้งหมดยังอยู่บนพื้นฐานของโลก ของสังคมมนุษย์ ของตรรกะและเหตุผลอยู่ ดังนั้นเนื้อเรื่องหลักมันคงเป็นสภาพสังคมมากกว่าเทคโนโลยีภายในเรื่อง
สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นแฟนซีรีส์ไซ-ไฟเท่าไร มีอะไรอยากจะแนะนำพวกเขาบ้าง
เราว่าดูได้ ยิ่งถ้าชอบซีรีส์ดราม่าจะยิ่งชอบเลย เพราะสำหรับเรา เทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบหนึ่ง ในตอนอื่นๆ ก็เช่นกัน เรายังคุยกับอิ้ง (วรันธร เปานิล) ที่แสดงตอนนิราศแกะดำ เขาก็มองว่าเป็นหนังรักแนวดราม่า
หนึ่งประเด็นที่น่าสนใจภายในเรื่องนี้คือ กลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศ ตัวคุณต้องทำการบ้านอย่างไรบ้าง
ถ้ามองผ่านมุมมองเจสสิก้า เรารู้สึกว่าระบบความคิดนี้เข้าใจไม่ยาก เขาเป็นคนที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น อยากให้เกิดการพัฒนาสวัสดิการให้กับกลุ่มที่ทำอาชีพค้าบริการทางเพศ ซึ่งเราเองก็เห็นด้วยกับชุดความคิดแบบนี้อยู่แล้ว
เพียงแต่สิ่งที่ต้องทำการบ้านคือ คนที่เติบโตมาจากครอบครัวและอยู่ท่ามกลางสังคมที่ทำอาชีพนี้เขามีประสบการณ์แบบไหน มีความคิดความเชื่อแบบไหน ก็เป็นสิ่งที่เราต้องมาเรียนรู้ใหม่
ตัวคุณเองมองว่าปัญหานี้จะเริ่มแก้ไขอย่างไรดี
อย่างแรกที่สุดคือ เราต้องรู้จัก ยอมรับในอาชีพนี้ก่อนว่ามันมีอยู่จริง และมันเป็นอาชีพของคนในสังคม ซึ่งถ้าเราเห็นตรงกัน มันถึงจะไปต่อได้ ดังนั้นสำคัญที่สุดคือต้องปรับเปลี่ยนความคิดตรงนี้ ที่ในปัจจุบันมันยังขัดแย้งกับความคิดและความเชื่อของบางคนและบางกลุ่มอยู่
แต่เราเชื่อว่า ด้วยเวลาจะทำให้คนเข้าใจและยอมรับมันได้ในอนาคต
ในวันนี้เป้าหมายด้านการแสดงของคุณเป็นอย่างไร
วันนี้เราเริ่มเรียนรู้และเข้าใจว่า ตัวเองเป็นคนที่รักการแสดงมากๆ คนหนึ่ง ซึ่งเราก็อยากเล่นบทที่เติมแพสชันในตัวให้กับเรา ซึ่งซีรีส์อนาคตก็เป็นหนึ่งเรื่องที่มอบไฟตรงนี้ให้กับเรา ขนาดตอนถ่ายเสร็จยังคุยกับพี่กอล์ฟ (ปวีณ ภูริจิตปัญญา) เลยว่า คิวหมดแล้วเหรอ ถ่ายเสร็จแล้วเหรอ
คือเราเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตโดยต้องมีแพสชัน ซึ่งผลงานเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่จะเติมแพสชันให้กับเรา ดังนั้นหวังว่าในอนาคตเราจะได้ทำอะไรที่มันเติมแพสชันให้กับเรา
มีบทแบบไหนที่อยากเล่นในอนาคตบ้าง
มี อยากเล่นรอมคอม (Rom-com) เบาๆ ตลกๆ บ้าง ที่ผ่านมาเราได้รับเล่นบทหนักๆ ทั้งนั้นเลย
มองว่าคนที่ดูซีรีส์เรื่องนี้ว่าจะได้ประสบการณ์แบบไหน
อยากแรกเลยคือความตลกร้าย แล้วก็ความรู้สึกหลากหลายอารมณ์ที่ตามมา ที่สำคัญคืองานซีจีฉ่ำมาก อันนี้เราชอบส่วนตัว คือบางฉากมันเนียนเรายังสงสัยเลยว่า ตอนถ่ายมันมีสิ่งนี้จริงๆ ด้วยเหรอ คือมาเนียนมากๆ
แต่ถ้าถามว่าจะได้สารแบบไหนกลับไป เราว่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลยว่าเลือกที่จะมองมุมไหน หรือเลือกที่จะเชื่อ และตัดสินว่าใครถูก ใครผิด ซีรีส์เรื่องนี้เราไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจนขนาดนั้น ดังนั้นเราอยากเห็นการไปพูดคุยหรือถกต่อหลังจากดูเรื่องนี้จบว่า คิดเห็นอย่างไร โอเคไหม หรือถ้าไม่โอเค เป็นเพราะอะไร
Tags: วิโอเลต, อนาคต, Tomorrow And I, ปวีณ ภูริจิตปัญญา, Netflix, The Frame, วิโอเลต วอเทีย