สำหรับผู้เขียนแล้ว สิ่งที่นึกขึ้นหลังการประกาศไลน์อัปของ Maho Rasop 2024 คือการกลับมาของ AIR ศิลปินอิเล็กทรอนิกส์ ‘รุ่นเดอะ’ จากฝรั่งเศส ที่ครั้งนี้พวกเขาก็มีกำหนดการมาไทยเป็นครั้งแรก ดังนั้นคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย ถ้าได้ดูสักครั้ง

ภาพ: Maho Rasop

อีกหนึ่งคำถามต่อมาที่สำคัญคือ แล้วเราจะยังสามารถดื่มด่ำไปกับความสนุกของการไปเทศกาลดนตรี (Music Festival) ได้อยู่ไหม หากแทบไม่รู้จักศิลปินหรือวงดนตรีที่มาร่วมแสดงเลย มิหนำซ้ำยังไม่เคยไปงานเฟสติวัลที่ไหนเลย

 สิ่งนี้คือคำถามของผู้เขียนเมื่อรู้ว่า การอยากดูวงในตำนานอย่าง Air เพียงวงเดียว พ่วงมากับเทศกาลดนตรี ที่เป็นการรวมเอาเหล่าศิลปินหลายวงมาแสดงอยู่ในงานเดียวกัน ทว่าโดยมากคือศิลปินที่ผู้เขียนไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน

ทำให้ความท้าทายในครั้งนี้คือ การเปิดใจรับประสบการณ์แห่งท่วงทำนองใหม่ใน Maho Rasop 2024 ที่สุดท้ายนำไปสู่คำตอบว่า การไปเทศกาลดนตรีไม่ใช่แค่การฟังเพลงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำความรู้จักกับวิถี ผู้คน และวงดนตรีใหม่ๆ ที่ทำให้ต้องกลับมาเปิดเพลงซ้ำ วนฟังจนถึงวันนี้

แต่สุดท้ายแล้วคำถามทั้งหมดก็ถูกตอบจนสิ้นสงสัย เมื่อการเข้าไปสัมผัสบรรยากาศ Maho Rasop 2024 ในคืนที่ 24-25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มอบประสบการณ์แปลกใหม่กับการได้รู้จักทั้งดนตรีและผู้คนที่หลากหลายยิ่งขึ้น

ภาพ: Maho Rasop

สำรวจแปลนงาน ลานมหรสพ

สำหรับ Maho Rasop 2024 จัดขึ้นโดย ความร่วมมือของ 3 ผู้จัดอย่าง Fungjai, HAVE YOU READ และ Seen Scene Space ที่นำทัพศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ มาร่วมแสดงฝีมือกันอย่างคับคั่งในงานกันอย่างจุใจถึง 2 วัน เริ่มตั้งแต่ช่วงบ่าย 3 ลากยาวไปจนถึงเที่ยงคืนของทั้งที่ 24-25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยมีตารางการแสดงสดของศิลปินในวันแรกให้เต็มอิ่มกันมากมายตั้งแต่ White Lies, ADOY, Hippo Campus, Motorama, YONLAPA, The Paradise Bangkok Molam International Band, Batu, fatalism, Grrrl Gang, Identified Patient, JPBS, Kova O’ Sarin, RICEWINE, ryota, Subsonic Eye, Venn, Wuthichai และ ผ้าอ้อม99999

ภาพ: Maho Rasop

รวมถึงในวันสุดท้าย AIR, Hitsujibungaku, John Carroll Kirby, Ornaree, Real Estate, Shintaro Sakamoto, Silica Gel, Automatic, BIG SPECIAL, Bubble Tea and Cigarettes, Cashu, FAZI, Flower.far, Jitwam, LEPYUTIN, Mad Madmen, SUBURB SOUND และ Surprise Chef

สำหรับผู้เขียน เรื่องราวในเทศกาลดนตรีครั้งนี้ เริ่มขึ้นหลังกระโดดลงจากรถสองแถว ที่ทางงานจัดเตรียมไว้รับส่งผู้โดยสารจากลานจอดรถ ความน่าตื่นตาตื่นใจของการเข้าร่วมงานเทศกาลดนตรีก็เริ่มขึ้นก่อนที่จะได้ก้าวผ่านประตูงานเสียอีก เพราะบรรยากาศ ผู้คน และเสียงดนตรีที่กึกก้องทั่วบริเวณ ทำหน้าที่เหมือนการแปะป้ายหน้างานว่า ‘คุณมาถึงแล้ว’

แม้ภายนอกโซนการจัดงานจะเห็นว่า ที่จอดหนาแน่นไปด้วยรถของผู้ที่มาร่วมงาน แต่เมื่อผ่านประตูเข้างานมาในช่วง 5 โมงเย็น ผู้คนไม่ได้หนาแน่นมาก จนตะวันเริ่มตกดิน จำนวนคนถึงเริ่มเยอะมากขึ้น แต่บรรยากาศภายในงานกลับไม่ได้ทำให้รู้สึกอึดอัดคับแคบ ตรงกันข้าม ภาพรวมของงานก็มีความเป็นระบบระเบียบอันเรียบง่าย แต่ก็ให้อิสระกับผู้เข้าร่วมงานด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแปลนการจัดงาน ที่มีโซนเวทีและโซนร้านค้าต่างๆ อยู่แยกกันอย่างเป็นสัดเป็นส่วน

ภาพ: Maho Rasop

สิ่งแรกที่จะสังเกตได้เมื่อเข้ามาภายในงานจะเป็น Backdrop ขนาดใหญ่ ให้ผู้เข้าชมร่วมถ่ายรูปบันทึกการมาถึงของพวกเขา ซึ่งแปลนงานครั้งนี้จะแบ่งซ้ายขวา แล้วเว้นที่ตรงกลางเอาไว้ โดยโซนเวทีทั้ง 3 จะอยู่ทางฝั่งซ้าย เริ่มต้นที่เวทีวิมาน (Viman Stage) เวทีขนาดกลางที่มีบรรยากาศค่อนข้างผ่อนคลาย ส่วนใหญ่แนวเพลงของวงที่ขึ้นแสดงจะมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่เน้นวิชวลเท่าเวทีใหญ่ ซึ่งฝั่งตรงข้ามของเวทีนี้ก็จะเป็นโซนขายอาหารที่มีเมนูหลากหลาย โดยจากการลิ้มลองเพียงไม่กี่ร้านก็ได้คำตอบว่า สิ่งที่อิ่มคุ้มที่สุดเห็นจะเป็นเมนูเคบับ แต่เมนูที่ซื้อซ้ำบ่อยที่สุดคือต๊อกบกกี เพราะราคาเริ่มต้นถูกกว่าร้านอื่น แถมยังเดินกินสะดวก หรือจะดูไปกินไปก็ไม่เป็นปัญหา

เดินถัดมาอีกหน่อยก็จะเป็นสวรรค์คลับ (Sawan Club) เวทีขนาดเล็กที่สุด แต่มีความแปลกใหม่ เพราะมีชั้น 2 ล้อมรอบเวที เพื่อให้ผู้ชมได้ขึ้นไปสัมผัสบรรยากาศการรับชมแบบ 360 องศา ซึ่งเวทีนี้เรียกได้ว่า คุมคอนเซปต์การเป็นคลับกลางแจ้ง ที่แม้จะมีวงมาเล่นสดบ้างอย่าง Surprise Chef แต่ส่วนใหญ่เน้นการแสดงโชว์มิกซ์เพลงของดีเจเป็นหลักมากกว่า ต่อมาตรงกันข้ามกับเวทีคือ RESTING AREA ของซอฟเฟล (Soffell Thailand) และบูธขายของที่ระลึก 

ภาพ: Maho Rasop

ขณะเดียวกันถัดมาด้านข้างสวรรค์คลับ ก็จะเป็นโซน GroundPLAY! by GroundControl ซึ่งเป็นพื้นที่ของงานคราฟต์และศิลปะ ทั้งร้านวาดภาพเหมือน ร้านถ่ายรูปด้วยกล้องแบบโบราณ ที่ขณะนั้น จอห์น แคร์โรลล์ เคอร์บี้ (John Carroll Kirby) หนึ่งในศิลปินของงานนี้กำลังใช้บริการอยู่ นอกจากนี้ยังมีงานคราฟต์มากมายอย่างโปสต์การ์ด เสื้อมัดย้อม และกำไล แต่ไฮไลต์สำคัญของโซนนี้เห็นจะเป็น SEEN SCENE MASSAGE by Seen Scene Space โซนนวดแผนไทยที่ตอบโจทย์ความเป็นไทยในงานเทศกาลดนตรีเหลือเกิน 

นอนบนเก้าอี้นวด พร้อมฟังเสียงเพลงจากเวทีข้างๆ อย่างเวทีมโหฬาร (Maholan Stage) เวทีใหญ่ที่สุดกับพื้นที่ที่มากที่สุด เพื่อรองรับแฟนๆ ของวงฮิต โดยมากเน้นการแสดงโชว์อันหนักแน่นไปด้วยดนตรี วิชวล และแสงสี นอกจากนี้โซนที่อยู่เยื้องกันคือ โซน VIP AREA ดาวดึงส์ ของผู้ที่ถือบัตร VIP พร้อมบูธจาก Wine Connection นอกจากนี้ภายในงานก็ยังจัดเต็มด้วยบูธเครื่องดื่มอีกหลายจุดจาก Singha, Johnny Walker และ Red Bull

ภาพ: Maho Rasop

ทำความรู้จักศิลปินใหม่

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากการสัมผัสบรรยากาศของงานคือ การมาทำความรู้จักกับวงใหม่ เพราะต้องสารภาพตามความจริงว่า นอกจากตำนานจากฝรั่งเศสอย่าง AIR แล้ว ผู้เขียนก็ไม่มีประสบการณ์กับวงไหนมาก่อนเลย แต่หลังจากการจบลงของ Maho Rasop 2024 เพลย์ลิสต์ตอนนี้กลับเนืองแน่นไปด้วยเพลงที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่บนโลก

การเดินใน Maho Rasop ช่วงแรกๆ ของผู้เขียนเน้นสำรวจไปเรื่อยๆ หลายเวที จนมาหยุดอยู่ที่การแสดงของ ADOY วงอินดี้ป็อบสัญชาติเกาหลี ที่เปิดไอจีสตอรี (IG Story) เมื่อไร ก็เห็นแต่คนแชร์เพลงของพวกเขาอยู่เสมอ โดยปกติเพลงของพวกเขามีเมโลดีง่ายๆ ฟุ้งๆ ฝันๆ สไตล์ City Pop ที่เคยได้ยินผ่านหูมาก่อนหน้านี้ แต่พอได้ฟังสดกลับรู้สึกถึงความหนักแน่น ประกอบกับเสียงเบสมันๆ ที่ข้างหลังมีวิชวลสีเจ็บ ตัดกับท้องฟ้าที่กำลังมืดลง พร้อมไปกับผู้คนที่เริ่มหนาแน่นขึ้น มวลรวมทั้งหมดจึงทำให้ความรู้สึกของการฟัง ADOY ครั้งนี้มีแต่ความอิ่มเอมใจ แม้จะไม่รู้จักสักเพลง แต่สุดท้ายก็ทำให้ Jet ในอัลบั้ม PLEASURES ก้าวเข้ามาชิงพื้นที่ในเพลย์ลิสต์ของผู้เขียนในที่สุด

ภาพ: Maho Rasop

ต่อมาวงที่ขึ้นหลังจาก ADOY คือ JPBS วง Post-Rock ผสม Instumental Rock สัญชาติไทยที่ทำให้ผู้เขียนต้องรีบมาฟังว่า นี่มันวงอะไรกันแน่ ทำไมจึงสามารถจับเราได้อย่างอยู่หมัดตั้งแต่เพลงแรก ซึ่งพอได้มายืนตั้งใจฟัง JPBS ก็พบว่า นิยามของวงนี้คือความ ‘แปลก’ ที่ตรงจริตผู้เขียนไม่น้อย เมื่อมีแนวทางที่แตกต่างของดนตรีเป็นสารตั้งต้น มาประกอบวิชวลที่เรียบง่ายอย่างจุดและเส้น ความหนักแน่นที่ได้สัดส่วนนี้ จึงผสานให้เกิดความดุเดือดไม่น้อย จนต้องยกให้ JPBS เป็นตัวชูโรงของ Maho Rasop 2024 

วงต่อมาที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ AIR วงที่อาจเรียกได้ว่าเป็นแม่เหล็กของงาน เพราะเมื่อถามใครหลายคนถึงจุดประสงค์ในการมาครั้งนี้ พวกเขาก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า มาดู AIR วงอิเล็กทรอนิกส์ป็อป (Electronic Pop) ส่งตรงจากฝรั่งเศส ที่เล่นเป็นวงสุดท้ายของวันสุดท้าย

ภาพ: Maho Rasop

เมื่อใกล้ถึงเวลาขึ้นแสดงของ AIR ผู้คนจำนวนมากต่างหลั่งไหลไปจับจองพื้นที่หน้าเวทีมโหฬาร ทำให้รู้สึกว่าค่อนข้างเบียดเสียดกันระดับหนึ่ง จนมองเห็นศิลปินได้ค่อนข้างยาก แต่ยังสังเกตเห็นได้ว่า พวกเขาใส่ชุดสีขาวทั้งตัว ดูรวมๆ แล้วนี่มันวงฝรั่งเศสชัดๆ 

อย่างไรก็ตาม เพียงการขึ้นโน้ตตัวแรกของ La femme d’argent กลิ่นอายความเป็น AIR ก็ปะทะแฟนๆ เข้าไปอย่างจัง พร้อมกับเสียงตบมือที่ดังขึ้นตามมา มวลรวมของทั้งศิลปินและผู้คนจึงเป็นตัวชี้ว่า นี่แหละตำนาน และนาทีนี้คือช่วงเวลาที่สาวก AIR รอคอยกันมาตลอด ซึ่งผู้เขียนแทบจะไม่ได้ถ่ายคลิปวิดีโอเลย เพราะยืนตรงตั้งใจฟังมากกว่าการจดเลกเชอร์ในห้องเรียนเสียอีก

ฟังมาเรื่อยๆ ระยะหนึ่งก็มีความจำเป็นต้องกลับก่อน ทว่าระหว่างเดินออกกลับได้ยินเมโลดีที่คุ้นเคยดังขึ้น ภาพของ Lux ในภาพยนตร์ The Virgin Suicides (1999) ก็ฉายชัดขึ้นมาในหัวทันที Playground Love เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกบรรเลงขึ้น ซึ่งผู้คนก็ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายกันใหญ่ พร้อมกับที่ผู้เขียนวิ่งกลับเข้าไปแทบไม่ทัน เพราะนี่คือเพลงแรกที่ทำให้รู้จัก AIR

ภาพ: Maho Rasop

นอกจากนี้วงที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ FAZI วงจากจีนที่อาจเรียกได้ว่าดุที่สุดในงานปีนี้เลยก็ว่าได้ วิชวลสีแดงกับดนตรีกระหึ่ม ทำให้ภาพรวมของวงโหดขึ้นอีกหลายขุม

ขณะที่ FAZI ฟาดฟันอยู่ที่เวทีมโหฬาร ตัดภาพมาทางฝั่งเวทีวิมาน Shintaro Sakamoto ก็กำลังบรรเลงเพลงเบาๆ เพลินๆ ที่ผู้เขียนฟังแล้วก็รู้สึกว่า เป็นเมโลดีที่ฟังง่ายจนติดหู และที่สำคัญรู้สึกว่าเพลงน่ารักมาก เพราะความกวนเล็กน้อยที่แฝงอยู่ในการแสดงของเขา จากการนำตุ๊กตาไก่ยอดฮิตที่บีบแล้วมีเสียง มาเป็นเครื่องดนตรีเสริมประกอบการร้องเพลง จนถึงวันนี้ไม่ว่าจะทำอะไรเพลงของ Shintaro Sakamoto ก็เล่นวนในหัวอยู่บ่อยๆ

ภาพ: Maho Rasop

เช่นเดียวกันกับ John Carroll Kirby ที่เล่นเพลงฟังเพลิน แถมมีการเป่าฟลูตเสริมความโดดเด่นของวงอีกด้วย ดังนั้นผู้คนที่ยืนฟังจึงโยกตัวกันเบาๆ ในขณะที่ผู้เขียนเองก็ยืนกินต๊อกบกกีไปด้วย เหมือนกับเวทีนี้เป็นการพักผ่อนจากการฟังวงหนักๆ มาหลายเพลง 

ไม่ต่างจาก Real Estate อินดี้ร็อกส่งตรงจากนิวยอร์ก ที่บังเอิญได้หยุดยืนเกาะขอบเวทีดู เพราะถูกใจวิชวลข้างหลัง ซึ่งมีเพียงชื่อวง โดยอยู่ในรูปแบบของโลโก้ที่ลอยไปมาระหว่างการพักหน้าจอ (Screensaver) แบบในเครื่องเล่นดีวีดียุคเก่า ซึ่งความเรียบง่ายของวิชวลนี้ ก็สอดคล้องกับเพลงของ Real Estate ที่เน้นกีตาร์เป็นหลัก คลอไปกับเสียงร้อง ที่ทำให้ภาพรวมของเพลงเป็นความสบาย และสงบ ซึ่งแฟนๆ บางคนก็ดูคลั่งไคล้ Real Estate เป็นพิเศษ จนส่งเสียงกรี๊ดให้ไม่หยุดหย่อน 

และการแสดงสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ การมิกซ์ของ ryota ที่เลือกเพลงในกระแสหลายเพลงมามิกซ์ในรูปแบบที่ไม่ซ้ำใคร ทำเอาสวรรค์คลับแทบแตก เพราะคนจำนวนมากอัดกันโยกกระจายอยู่ในนั้น ขณะที่ผู้เขียนยืนชมจากชั้นของสวรรค์คลับ ก็เห็นผู้คนมากมายทั้งนั่งทั้งยืนกระจายตัวกันอยู่บริเวณชั้น 2 กันจำนวนมาก

เปิดประสบการณ์ไปกับงานมหรสพ

Maho Rasop อาจไม่ใช่แค่งานแต่คือผู้คน 2 วันในเทศกาลนี้ จึงนับได้ว่าเป็นการเปิดประสบการณ์อย่างแท้จริง ทั้งการได้ทำความรู้จักศิลปินคนใหม่ เพื่อนใหม่ๆ รวมถึงวิถีของคอมมูนิตี้แบบใหม่ ที่ล้วนแล้วแต่สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย แม้บางช่วงจะต้องทำกิจกรรมคนเดียวอย่างซื้อของ กินข้าว หรือดูเวทีต่างๆ แต่ความสนุกก็ไม่ได้ลดน้อยลง เพราะมวลรวมของผู้คนในงานยังคงสามารถเติมเต็มความบันเทิงให้เกิดขึ้นได้

ภาพ: Maho Rasop

โดยสรุป Maho Rasop 2024 ไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลดนตรีที่รวมศิลปินหลากหลายมาแสดงบนเวทีเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่สร้างความทรงจำ ความประทับใจ และมอบประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำความรู้จักกับแนวดนตรีและศิลปินที่ไม่เคยฟังมาก่อน การได้สนุกสนานในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งการพบปะผู้คนที่มีใจรักในเสียงเพลงเหมือนกัน

Maho Rasop จึงกลายเป็นสะพานที่เชื่อมโยงผู้ฟังเข้าหากัน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำความรู้จักกับศิลปินใหม่ๆ จนตอนนี้ในเพลย์ลิสต์ของหลายคน อาจเต็มไปด้วยเพลงที่ได้รู้จักใหม่ๆ จาก Maho Rasop 2024 ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและอารมณ์ร่วมที่ยังคงอบอวลอยู่ในใจ

Tags: , , , , , ,