เกาะอก โบใหญ่ ลูกไม้ หรือเดรสสั้น มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนใส่แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นจากเวียดนาม ทั้งดารานักแสดง หรือเหล่า KOLs (Key Opinion Leaders) บนหน้าสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปีที่ผ่านมา กระแสเสื้อผ้าเวียดนามยังคงเป็นที่นิยมในหมู่คนไทย ไปจนถึงพร็อพอื่นๆ อย่างกระเป๋า รองเท้า
จนนำมาสู่คำถามที่ว่า ปรากฏการณ์นี้สั่นสะเทือนวงการแฟชั่นแบรนด์ไทยหรือไม่
The Momentum ชวน แพรว-พรรณระพี โกสิยพงษ์ แห่ง Awesome.screen โรงงานการ์เมนต์ (Garment) หรืออุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เพิ่งไปสำรวจตลาดแฟชั่นเวียดนามมาเมื่อไม่นานนี้ คุยเพื่อหาคำตอบว่า เบื้องหลังความนิยมของเสื้อผ้าเวียดนามคืออะไร ส่งผลต่อดีไซเนอร์ไทยหรือไม่อย่างไร รวมถึงชวนคุยเรื่องสถานการณ์ของโรงงาน OEM (Original Equipment Manufacturer) ที่รับผลิตเสื้อผ้าตามแบบที่ลูกค้ากำหนดในประเทศไทยว่า เป็นอย่างไรบ้างในปัจจุบัน
การสำรวจแฟชั่นเวียดนามของผู้เชี่ยวชาญด้านเสื้อยืด
พรรณระพีเริ่มเล่าว่า บริษัทของเธอที่ชื่อ ออซั่มโด (Awesomedough) ซึ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ Awesome.screen ที่ทุกคนรู้จักกันดี เป็นโรงงาน OEM และอีกแบรนด์หนึ่งในเครือคือ Awesome.bkk ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อยืดเปล่าที่ขายลูกค้าปลีก-ส่งทั่วไป โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นโรงงานสกรีนอื่นที่มารับเสื้อยืดเปล่าไปอีกต่อหนึ่ง
เมื่อไม่นานมานี้ พรรณระพีได้ไปสำรวจตลาดเวียดนาม และบอกว่าสำหรับโรงงานการ์เมนต์ที่ถูกพูดถึงและเป็นกระแสในปัจจุบันนี้ไม่ได้แปลกใจมากนัก เพราะได้เห็นพัฒนาการของอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้โรงงานการ์เมนต์เวียดนามส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน แต่สำหรับผู้บริโภคจะเริ่มเห็นเซเลบริตีหรือดาราฝั่งฮอลลีวูด รวมถึงศิลปินเคป็อป (K-Pop) สวมใส่กันในช่วงไม่กี่ปีที่่ผ่านมา ซึ่งแฟชั่นเวียดนามมีดีไซน์และอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจนเลยยิ่งทำให้มีกระแสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ปัจจัยที่ทำให้เสื้อผ้าแบรนด์เวียดนามก้าวขึ้นมามีกระแส ส่วนหนึ่งเพราะภาครัฐเขาสนับสนุนอย่างจริงจัง เรื่องแรกคือเขามีแคมเปญหนึ่งของเวียดนามที่เรียกว่า ‘เวียดนามผลิต เวียดนามใช้’ เหมือนเขาเห็นศักยภาพของบ้านเขาว่า มีแนวโน้มกลายเป็นอุตสาหกรรมระดับโลก ประเด็นถัดมาคือเรื่องค่าแรง เมื่อย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว เวียดนามค่าแรงต่ำมาก จึงดึงดูดนักลงทุนให้เข้าตั้งโรงงาน OEM ดังนั้นพวกแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) ระดับโลก จึงย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม ส่งผลให้แรงงานในสายอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในประเทศจึงยกระดับทักษะไปโดยปริยาย” พรรณระพีไล่เรียงถึงที่มาที่ไปของแฟชั่นเวียดนาม
พรรณระพีอธิบายต่อว่า เวียดนามมีการแผนยุทธศาสตร์ประเทศเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งวิสัยทัศน์ของแผนยุทธศาสตร์นี้ได้วางไปถึงปี 2573 โดยกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ภาครัฐจะผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศเวียดนาม ผ่านการส่งออกสิ่งทอไปยังประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ แคนาดา และตุรกี
“มีเรื่องหนึ่งที่เห็นคือ เรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศของเวียดนามกับประเทศอื่นๆ ในการยกเว้นภาษีในการส่งออกเสื้อผ้าไปยังยุโรปทั้งหมด” พรรณระพีกล่าว
อีกปัจจัยที่สำคัญคือทุนด้านสภาพภูมิศาสตร์ เวียดนามมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ครบจบในประเทศเดียว ทั้งการปลูกฝ้าย เครื่องจักรที่ใช้ผลิต และเมืองแฟชั่นอย่างโฮจิมินห์
“เวียดนามเขาจัดสรรพื้นที่เอาไว้ปลูกฝ้าย ปลูกพืชที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ ภาคเหนือของเขาก็จะเป็นเรื่องปั่น ย้อม ทอ ทำเส้นใย ภาคกลางตอนเหนือก็จะเป็นการพัฒนาเส้นใย ภาคกลางตอนใต้ติดชายฝั่งจะเป็นพวกโรงงาน เครื่องจักร อะไหล่จักร ส่วนตะวันตกเฉียงใต้คือโฮจิมินห์ที่เรารู้จักกัน จะเป็นเมืองแห่งการออกแบบ เป็นเมืองของการเปิดหน้าร้าน ขายและผลิตการ์เมนต์ เรียกได้ว่าเขาจัดสรรพื้นที่ไว้เตรียมพร้อมที่จะกลายเป็นอุตสาหกรรมของโลก” พรรณระพีเล่า
ในขณะที่ถ้าเราพูดถึงเสื้อผ้าแฟชั่นเวียดนามจะนึกถึงเสื้อผ้าออกงาน ใส่ไปเที่ยว มีดีไซน์แปลกตา หรือเป็นฟาสต์แฟชั่น แต่ถ้าเป็น Awesome.screen เราจะนึกถึงเสื้อยืด จึงต้องถามว่าแฟชั่นเวียดนามเหล่านี้เชื่อมโยงกับธุรกิจของพรรณระพีที่เน้นความยั่งยืนอย่างไร
“เรื่องแรกเลย เราอยากเห็นคุณภาพของเขาในฐานะคนทำการ์เมนต์ เราไม่ได้อยากดูแค่ของเวียดนาม แต่อยากดูทั้งของจีน อินเดีย ตุรกี บังกลาเทศ สำหรับแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นเราดูตะเข็บเย็บหมดเลยทุกอัน เราไปดูเวียดนามแล้วเรารู้สึกว่า เราที่ทำโรงงาน OEM มันยากเหลือเกินที่จะทำราคาให้ถูกเท่าเวียดนาม ภายใต้ค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่สูงกว่าเวียดนาม แต่พอเราดูเรื่องคุณภาพของแฟชั่นเวียดนามแล้ว เรามองว่าของไทยทำงานได้มีคุณภาพเทียบเคียง หรือดีกว่าเวียดนามในบางองค์ประกอบ บางสินค้า” พรรณระพีกล่าว
สิ่งที่ทำให้พรรณระพีรู้สึกทึ่งเมื่อไปดูตลาดแฟชั่นเวียดนาม ไม่เพียงแค่การออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น แต่รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่แวดล้อม นำเสนอออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์ตั้งแต่การจัดดิสเพลย์หน้าร้านและภาพถ่ายของเสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ
“ภายใต้บรรยากาศที่มันยังไม่ใช่เมืองหรูหรา หรือมีตึกสูงใหญ่โต ก็ยังมีร้านค้าที่ดูสวยมากๆ เหมือนกับที่ยุโรป เราเลยรู้สึกว่าคนมาที่เวียดนามเพราะแบรนด์ ไม่ได้มาเพราะสถานที่หรือสิ่งแวดล้อม มันเป็นการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิง เราเลยรู้สึกทึ่งมาก แต่ในขณะเดียวกัน ไทยเองก็มีแบรนด์หลายแบรนด์ที่นำพานักท่องเที่ยวให้มาไทยเพื่อท่องเที่ยวเชิงช็อปปิงได้ไม่ต่างจากเวียดนาม” พรรณระพีเล่า
โรงงาน OEM ไทย ที่อยากไปสู่ OBM
สำหรับแบรนด์ Awesome.screen เป็นที่รู้จักในคำว่า โรงงาน OEM ผลิตตามแบบที่ลูกค้าสั่ง ซึ่งหลายแบรนด์แฟชั่นของเวียดนามมีเบื้องหลังเป็นโรงงาน OBM (Original Brand Manufacturer) ที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าในนามของแบรนด์ตนเอง ซึ่ง Awesome.screen ก็อยากพัฒนาให้ไปถึงจุดนั้นเช่นเดียวกัน
นอกจากเรื่องเสื้อผ้าแล้ว ในโซเชียลยังเห็นพร็อพ อย่างกระเป๋า หมวก แบรนด์เวียดนามเริ่มมีกระแสตามมา หากสงสัยว่าปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อแฟชั่นแบรนด์ไทยบ้างหรือไม่ พรรณระพีกล่าวว่า ส่งผลกระทบอยู่ไม่น้อย
“เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาติดแบรนด์ใหม่ แล้วขายใหม่ในไทยมากพอสมควร มันก็จะทำให้ไทยดีไซเนอร์ไม่ได้เฉิดฉาย ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างรรค์ โรงงาน OEM ก็ไม่ได้ใช้ศักยภาพตัวเอง ไม่ได้ใช้เครื่องจักรของตนเองในการผลิตงานในรูปแบบใหม่ๆ ออกมา เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างปิดกั้นคนไทยพอสมควรเหมือนกัน แต่ในทางกลับกัน มันก็เป็นความท้าทายของไทยดีไซเนอร์ และโรงงานการ์เมนต์พอสมควรที่จะปรับตัว และเราก็ยังหวังว่าเราจะเห็นแบรนด์ไทยไปไกลระดับสากลเหมือนกัน” พรรณระพีอธิบาย
ในภาคการผลิตหรือโรงงานการ์เมนต์พรรณระพีเล่าว่า ในเวียดนามที่เคยเป็นฐานการผลิตให้กับแบรนด์สินค้าฟาสต์แฟชั่นระดับโลกในหลายแบรนด์ ทำให้ช่างมีฝีมือมีองค์ความรู้ที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากทำงานในภาคการส่งออกมานาน และโรงงาน OEM เวียดนามก็โดดเด่นตรงที่มีการนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ามาใช้ ดังนั้นเวียดนามจึงอยู่ในเทรนด์ตลอดเวลา พรรณระพีคิดว่าจุดนี้เป็นจุดที่ทำให้เวียดนามเป็นต่อไทยพอสมควร
ทั้งนี้พรรณระพียังพูดถึงการส่งออกในอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยที่ลดลงจากในอดีต แม้ว่าประเทศไทยเคยเป็นอุตสาหกรรมซันไรซ์ (Sunrise Industry) ในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอมาก่อน แต่ในปัจจุบันเข้าสู่ห้วงของการเป็นอุตสาหกรรมซันเซ็ต (Sunset Industry) หรือกล่าวได้ว่า จากอดีตที่เสื้อผ้าเคยเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในระบบเศรษฐกิจ แต่ในวันนี้เข้าสู่ช่วงซบเซาแล้ว
“จริงๆ ประเทศไทย เคยเป็นประเทศซันไรซ์ สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นมาก่อน คนทำการ์เมนต์ทุกคนก็เคยเป็นซันไรซ์มาก่อน แล้วหลายคนก็จะเรียกว่าตอนนี้เป็นซันเซ็ต แต่ว่าในความเป็นจริงเราก็เข้าใจฝั่งโรงงานอุตสาหกรรมในภาคเอกชนว่า หากลงทุนกับภาคเครื่องจักร หรือว่าเทคโนโลยีในตอนนี้ มันไม่ได้คุ้มค่าเหมือนแต่ก่อนแล้ว เนื่องจากว่ามันไม่ได้มีการส่งออกที่มากเหมือนสมัยก่อน” พรรณระพีกล่าว
นอกจากนี้พรรณระพียังเล่าว่า ในมุมมองของโรงงานเครื่องจักรก็อยากปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย และมองว่าสภาวะที่ดีสำหรับการทำอุตสาหกรรมที่ถูกต้องคือ การแข่งขันกันตั้งแต่ในประเทศ จึงทำให้อุตสาหกรรมมันพัฒนาได้ รวมถึงเรื่องฝีมือตัดเย็บของช่างไทยก็ไม่แพ้ชาติใด และนวัตกรรมผ้าในไทยก็มีความหลากหลายอยู่ไม่น้อย
“จริงๆ ประเทศเราก็มีผ้าฟังก์ชันหลากหลายเยอะมาก เช่น ผ้าสะท้อนน้ำหรือผ้าด้านในซับเหงื่อของเราออกมาแค่ 1 จุด แต่ด้านนอกกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้ผ้าตัวนั้นแห้งเร็ว และสำหรับเราในฐานะที่ไปดูโรงงานในประเทศไทยหลายที่ เราเห็นนวัตกรรมหลายอันที่รู้สึกทึ่ง เช่น ผ้ารีไซเคิลที่ทำจากขวดพลาสติกผสมกับเส้นใยที่ถูกใช้ในโรงงานสิ่งทอ ซึ่งมันเหลือจากการตัดเย็บ เอามาปั่นรวมกันใหม่ อันนี้ก็จะได้ปัจจัยที่ช่วยลดการใช้น้ำ เพราะว่าการปลูกฝ้ายมันทำลายทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราไม่ต้องปลูกใหม่ เราใช้ของเดิมที่เรามีอยู่ หรือการทำชุดนอนจากเกล็ดปลา ซึ่งเกล็ดปลาเหล่านี้เป็นขยะทางธรรมชาติอยู่แล้ว จึงนำเกล็ดปลามาทอใหม่ ผสมเข้ากับเส้นใย มันก็จะได้ความรู้สึกในการใส่ที่นุ่มสบาย ตื่นมาก็ยังรู้สึกว่าผิวชุ่มชื่น เป็นการเติมคอลลาเจนเข้ากับผิวด้วย” พรรณระพีเล่าถึงข้อได้เปรียบของสิ่งทอในไทย
รวมไปถึงเส้นใยธรรมชาติ อย่างกัญชง เส้นใยสับปะรด หรือเส้นใยไผ่ ที่อาจกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต
ช่วงท้ายของการสนทนา ในฐานะที่พรรณระพีเชี่ยวชาญด้านผ้า และเป็นคุณแม่ท่านหนึ่ง คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือ เนื้อผ้าอะไรที่เหมาะกับผิวของเด็ก เรื่องนี้พรรณระพีให้คำแนะนำว่า ต้องเป็นเส้นใยธรรมชาติ 100%
“ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเด็กโดยเฉพาะ จำเป็นมากๆ ที่ต้องใช้เส้นใยจากธรรมชาติ 100% เนื่องจากว่าไม่ลามไฟ คือเวลาเผาไหม้มันจะไหม้เหมือนไม้ หรือกระดาษ มันจะไหม้ออกมาเป็นตะกอนสีดำธรรมดาแล้วหยุด แต่ถ้าเราเผาเส้นใยที่เป็นพลาสติก มันจะละลายแล้วจะลามไฟ โดยส่วนตัวเราคิดว่าผ้าคอตตอน 100% เหมาะสมกับทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ มันมีเสน่ห์ในตัวของมัน ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย และทุกช่วงวัย” พรรณระพีให้คำแนะนำทิ้งท้าย
Tags: Awesome.screen, แพรว พรรณระพี, พรรณระพี โกสิยพงษ์, เสื้อผ้าเวียดนาม, แฟชั่นเวียดนาม, เวียดนาม, The Chair