ในปีนี้เชื่อว่า หลายคนสัมผัสได้ถึงความร้อนจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และสภาพอากาศแปรปรวน ประเทศไทยเผชิญกับอากาศร้อนสุดขีดในช่วงกลางปี จนถึงน้ำท่วมภาคเหนือเมื่อเดือนที่ผ่านมา จนตระหนักถึงภาวะโลกรวน (Climate Change) มากขึ้น
ขณะที่เทรนด์ธุรกิจสีเขียวกำลังมาแรง องค์กรใหญ่คำนึงถึงเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ มากขึ้น Net Zero Carbon หรือการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 กลายเป็นเป้าหมายที่ธุรกิจน้อยใหญ่พุ่งเป้าจะไปให้ถึง Net Zero Carbon และ Sustain กลายเป็นคำติดปากที่ทุกคนพูดแล้วดูเท่
คำถามคือเรื่องนี้กระทบกับชีวิตเราอย่างไร คนทั่วไปได้อะไรกับการที่บรรษัทขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ประกาศตัวให้คาร์บอนเป็นกลาง หรือคาร์บอนเป็นศูนย์
และจะดีกว่าหรือไม่ หาก Net Zero จะเปลี่ยนให้กลายเป็น Real Zero เป็น ‘ศูนย์’ ทุกเรื่อง-ทุกประเด็นอย่างแท้จริง เปลี่ยนผ่านจากการ ‘ชดเชย’ คาร์บอน ไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในบางกระบวนการ
The Momentum ชวน ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) เป็นหนึ่งในสปีกเกอร์ในงานครบรอบ 8 ปี Drive The Momentum กับหัวข้อ From Net Zero to Real Zero เพื่อหาคำตอบว่า ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมหาศาลจะสามารถช่วยโลกได้อย่างไร รวมถึงแนวคิด Net Zero กระทบต่อมนุษย์ ชุมชน หรือกลุ่มเปราะบางในมิติไหนบ้าง
ปัญหาภาวะโลกร้อน หรือภาวะโลกรวนทุกวันนี้ สาเหตุคืออะไร
ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรามีข้อตกลงในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศปี 1992 พิธีสารเกียวโตปี 1997 และความตกลงปารีส 2015 ในแนวนโยบายสำคัญคือ เราต้องพยายามควบคุมก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นทศวรรษนี้ แต่ว่า 2 องศาเซลเซียสอาจจะน้อยไป อาจจะไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เรานับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคือ เมื่อ 200 ปีที่แล้ว เพราะเป็นยุคที่เริ่มนำพลังงานฟอสซิล ถ่านหิน ก๊าซน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมาเผาผลาญ แล้วก็เริ่มพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จาก 200 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมา 1.1-1.3 องศาเซลเซียส ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์บอกว่า ถ้าแตะ 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อไร มันจะเป็นจุดพลิกผันและไม่กลับคืนมาแล้ว หมายความว่า จะเจอภาวะโลกรวน ฟ้าฝน ความแห้งแล้ง น้ำท่วม น้ำแข็งละลาย ทะเลสูงขึ้น อะไรต่างๆ นานา จนเรียกว่ายากที่จะกลับมาจุดเดิม
จากเดิมบอกว่าเราจะคุมไม่ให้มันเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นทศวรรษคือ ปี 2100 แต่ตอนนี้บอกว่ามันไม่น่าจะทันแล้ว อาจจะสักประมาณปี 2050 อีกแค่ 26 ปีข้างหน้าเท่านั้นเอง
ฉะนั้นเลยเกิดแนวคิดให้ต้องเร่งลดก๊าซเรือนกระจก แต่ว่าโลกเราส่วนใหญ่ยังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก 80% จึงตามมาด้วยแนวคิดการชดเชยทางคาร์บอน (Carbon Offset) หมายความว่า เราปล่อยคาร์บอนเท่าไร เราก็ชดเชยเท่านั้น โดยหาวิธีให้ธรรมชาติเกิดการดูดคาร์บอนกลับ แล้วเอามาหักลบกัน อย่างเช่น ปล่อยคาร์บอนไป 5 ตันคาร์บอน ทำกิจกรรมเพื่อลบ 5 ตันคาร์บอน วิธีนี้เรียกว่า Net Zero มันจึงไม่ได้เป็นศูนย์ด้วยการเลิกปล่อยคาร์บอน
ปัญหาคือสถานการณ์โลกตอนนี้ ถ้านับจากปฏิวัติอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามีคาร์บอนที่ค้างอยู่บนอากาศที่ความเข้มข้นประมาณ 350 ส่วนต่อล้าน แต่ตั้งแต่เราใช้อุตสาหกรรมฟอสซิล จาก 350 ส่วนต่อล้าน ตอนนี้เกิน 420 ส่วนต่อล้าน ความเข้มข้นของคาร์บอนในชั้นบรรยากาศมันหนาเกินปกติที่ธรรมชาติจะรับไหวแล้ว ถ้าคิดเป็นตันคาร์บอนมันประมาณ 5.4 แสนล้านตัน ปัญหาโลกร้อน โลกรวนที่ผ่านมาทุกวันนี้ มันเกิดจากส่วนเกินมหาศาลที่มันล่องลอยอยู่บนชั้นฟ้าตอนนี้
กระบวนการชดเชยทางคาร์บอน (Carbon Offset) หรือ Net Zero ช่วยโลกได้จริงไหม แล้วปัญหาของวิธีการนี้คืออะไร
อย่างที่บอกว่าปัญหาคือ คาร์บอนที่ลอยอยู่บนชั้นฟ้า เพราะฉะนั้นต่อให้ Net Zero ปล่อยคาร์บอนเท่าไร ชดเชยเท่านั้นมันก็แค่เสมอตัว แต่ว่าบนชั้นฟ้ามันยังเหมือนเดิมไม่ไปไหน แล้วมันยังจะอยู่กับเราอีกเป็นร้อยๆ ปี แล้วมันก็ทำให้โลกรวนไปอีก 100 ปี
แต่ปัญหาก็คือ Net Zero ไม่มีทางเป็นอุดมคติที่เป็นจริงได้ เพราะเหตุผลหนึ่งคือเราประมาณการธรรมชาติต่ำไป เราบอกว่าเดี๋ยวทะเลก็จะดูดซับคาร์บอนกลับ เดี๋ยวป่าไม้ก็จะดูดกลับ เดี๋ยวแม่น้ำหรืออื่นๆ ก็จะดูดกลับ แต่ตอนนี้เป็นปัญหาที่กระทบทั้งระบบเลย ถ้าระบบหนึ่งป่วยก็จะกระทบทั้งระบบ ดังนั้น ศักยภาพการดูดคาร์บอนของธรรมชาติต่ำลงมาก ต่ำจนที่เรียกว่าบางจุดระบบนิเวศถึงจุดอิ่มตัว ดูดกลับไม่ได้แล้ว ถ้าเราจะเอาธรรมชาติมาแบก มันแบกแทบไม่ไหว
Net Zero มีกิจกรรมที่ใช้วิธีการเอาเม็ดเงินจากภาคอุตสาหกรรมไปทำความดีชดเชย เช่น ปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่เราต้องอย่าลืมว่า ไม่ว่าป่าไม้ ทะเล แม่น้ำ และอื่นๆ ถือเป็นทรัพยากรสาธารณะ มีประชาชน มีชุมชนที่อยู่กับป่าหรือทะเล ก็กำลังเปลี่ยนโลกใบนี้ทั้งโลก ให้เป็นโรงงานผลิตสิทธิการลดก๊าซ เปลี่ยนชาวบ้านทั้งหมดที่อยู่ในผืนดิน ผืนน้ำเหล่านั้น ให้เป็นแรงงานในการผลิตสิทธิในการลดก๊าซให้เรา
และที่สำคัญคือการชดเชยมันพิสูจน์ไม่ได้ว่าชดเชยได้จริง สุดท้ายอุตสาหกรรมทั้งหลายยังเติบโตต่อไป ภายใต้เป้าหมายว่าจะบรรลุ Net Zero แต่ก๊าซเรือนกระจกมันไม่ลดลงเลย เพราะว่ากลไกชดเชยทำให้เราสบายใจ สามารถเอาตัวรอด หรืออ้างกับโลกได้ว่าเรากำลังเข้าใกล้ เรายังคงเล่นเกมตัวเลขแบบนี้ต่อไป แต่แก้ปัญหาภาวะโลกรวนไม่ได้เลย
พอเราผลักภาระให้กับสังคมส่วนอื่น ก็มีปัญหาต่างๆ ตามมา เพราะสังคมทั่วโลกมันมีความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมเต็มไปหมด ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ป่าจำนวนมาก พอเราเอามาดูดซับคาร์บอน เราต้องก็มีโครงการต่างๆ ตามลงไปเลย ซึ่งโครงการเหล่านี้มันตามไปด้วยการควบคุมทั้งชุมชนและคนในพื้นที่ รวมถึงควบคุมระบบนิเวศด้วย
ยกตัวอย่างเคสคลาสสิกที่ยูกันดา มีกลุ่มทุนที่นอร์เวย์มาลงทุนในการปลูกป่าและลดคาร์บอน รัฐบาลยูกันดาเลยหาพื้นที่ให้ โดยการไล่ชาวบ้านออกไป 18 หมู่บ้าน ประมาณ 8,000 กว่าคนที่ต้องถูกไล่ออกไป แล้วเอามาปลูกป่า และปลูกต้นสนที่ไม่เหมาะกับพื้นถิ่น เพื่อคาร์บอนเครดิต แล้วทางกลุ่มผู้ลงทุนจากนอร์เวย์ก็ขายสิทธิในคาร์บอนเครดิตนั้นให้กับกระทรวงพลังงานสวีเดนอีกประเทศ
กระทรวงพลังงานสวีเดนก็เอาไปชดเชยการปล่อยคาร์บอนของตัวเอง จากสิทธิทางยูกันดาที่ถูกยักย้ายถ่ายเทไปสวีเดน โดยมีกลุ่มลงทุนจากนอร์เวย์หรือกลุ่มกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิชาการ ประชาสังคม หรือเอกชน ที่มาทำเป็นโบรกเกอร์ตัวกลาง ประเด็นคือคนสวีเดนไม่รู้เรื่องเลยว่า มีคนยูกันดาถูกไล่ที่
จากกรณียูกันดา หากมองกลับมาที่ประเทศไทยมีกรณีที่คล้ายกันไหม
อันนี้เราต้องต่อจิ๊กซอว์ จริงๆ เราจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยอยู่ในข้อตกลงอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศปี 1992 แต่เรื่องตลาดคาร์บอนมาบูมปี 1997-1998 หลังจากนั้นเราก็เริ่มมีองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ถ้าเราต่อจิ๊กซอว์ เราจะเห็นว่า รัฐพยายามทวงคืนพื้นที่ป่าไม้จากชุมชน จากชาวบ้าน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มมาตรการทวงคืนผืนป่า แต่เดิมเราก็เข้าใจว่า วิธีคิดแบบรัฐที่ผ่านมา ชาวบ้านรุกป่า อยู่ในป่าผิดกฎหมาย เราต้องทวงคืนพื้นที่ป่าเพื่อระบบนิเวศ แต่ว่าพื้นที่ป่าที่มันถูกทวงคืนมากขึ้น และยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เกี่ยวโดยตรงกับการเอาป่ามาดูดคาร์บอน เพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต และใช้การลงทุนจากภาคเอกชน แลกด้วยการให้คาร์บอนเครดิตกับเขา
เขาก็จะได้คาร์บอนเครดิตมาไว้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นความต่อเนื่องของการทวงคืนผืนป่า จนมาถึงเรื่องของมาตรการการฟื้นฟูผืนป่า เพิ่มพื้นที่ให้ได้เป้าหมายลดคาร์บอน โยงกับเรื่องตลาดคาร์บอนที่ภาคเอกชนมาลงทุนในพื้นที่ป่า
นี่คือการเปลี่ยนผ่านทรัพยากรสาธารณะที่ชุมชนดูแลให้เอกชนเข้ามาถือเป็นปัจจัยการผลิตสิทธิปล่อยก๊าซให้กับพวกเขา
ถ้าถามว่าเรามีชาวบ้านตรงไหนที่เดือดร้อนขนาดยูกันดาไหม อาจจะไม่ได้มาเป็นโปรเจกต์แบบนั้นโดยตรง แต่มันจะมาเป็นโปรเจกต์ในการทวงคืนผืนป่า คือการที่ชาวบ้านถูกลิดรอนสิทธิ ถูกตัดต้นไม้ ถูกจำกัดเขต ไปจนถึงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ออกมาแล้วมีบทเฉพาะกาลควบคุมพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ต่างๆ รวมทั้งการเอาป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนทางกฎหมาย พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ทั้งหมด เข้าโปรแกรมคาร์บอนเครดิตให้หมด
การเปลี่ยนผ่านจากป่าชุมชนไปสู่เอกชนกระทบในระดับชุมชน สังคม หรือวัฒนธรรมของคนที่อยู่ตรงนั้นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้โปรเจกต์ที่ขายคาร์บอนเครดิตจริงๆ ของไทยยังแค่เพิ่งเริ่มต้น มีป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี วัดและประเมินคาร์บอนเครดิตแล้ว พร้อมจะขายแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีคนมาซื้อ ในอนาคตไม่แน่อาจมีคนมาซื้อ
ดังนั้นเรายังไม่เห็นกรณีรุนแรง แต่ตอนนี้สิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่เผชิญคือ ความสับสน เพราะว่าอยู่ดีๆ ก็มีคนมาบอกว่า ป่าของคุณทำมาดีแล้วนะ คุณควรได้เงิน จะมีเม็ดเงินมาสนับสนุน เหมือนกับเป็นสิทธิของเราที่เราควรจะได้ แต่หารู้ไม่ว่าเขามาซื้อสิทธิของเราไป คือซื้อสิทธิในการดูดคาร์บอน แล้วเขาจะได้สิทธิในการปล่อยคาร์บอนเท่าเดิม
ตอนนี้ชาวบ้านเขาไม่รู้โจทย์ข้างหลังว่ามันเป็นการขายสิทธิต่อ เขาก็รู้แค่ได้เงิน คนก็จะตื่นตัวสนใจ แล้วพยายามเข้าสู่ตลาดคาร์บอน แต่ว่ามันไม่ง่าย เพราะการขายคาร์บอนเครดิตได้ มันต้องผ่านการประเมินของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งค่าประเมินราคาแพงมาก แพงชนิดที่ชาวบ้านจ่ายเองไม่ได้ แล้วพื้นที่ขนาดเล็กก็ไม่คุ้มที่จะทำ
ดังนั้น หนึ่ง คือชาวบ้านได้รับข้อมูลไม่หมด สอง คือไม่รู้ว่าจะมีภาระที่จะเกิดขึ้นตามมา แล้วก็สิทธิที่จะถูกจำกัดลง ถ้าเรามีป่าชุมชน เราเป็นโซนป่าอนุรักษ์ เราก็พยายามอนุรักษ์ป่าตรงนี้ เอาเข้าสู่ตลาดคาร์บอน เราอาจจะไม่ได้ถูกย้ายแบบยูกันดา แต่ว่าบริษัทจะเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของป่าตรงนั้นกับเรา มันเป็นทรัพย์สินของเขาไปด้วย เหมือนกับเป็นแปลงลงทุนของเขา แล้วเขาอาจจะมากำหนดด้วยว่าต้องปลูกพืชพันธุ์แบบไหน ซึ่งอาจไปทำลายระบบนิเวศเดิม หรือทำลายพืชพื้นถิ่น
รวมถึงหน้าที่ในการดูแลรักษา หรือหากเกิดไฟป่าขึ้นมา หรือเกิดแห้งแล้ง ต้นไม้ตายขึ้นมาจะเป็นภาระของใคร ตรงนี้ชาวบ้านยังไม่ได้คุยให้ชัดเจนว่า หากสมมติดูแลแล้วเกิดเสียหาย บริษัทจะฟ้องร้องชาวบ้านหรือเปล่า
แต่ผมไม่อยากให้โจทย์อยู่แค่ความเป็นธรรม หรือความไม่เป็นธรรมของแต่ละพื้นที่ เราต้องมองภาพใหญ่ด้วยว่า สุดท้ายแล้วเราจะลดโลกร้อนได้ไหม ถ้าทำแล้วมันกลายเป็นแค่เกมตัวเลขเฉยๆ มันไม่ได้มีผลอะไร ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นหนทางที่มันพิสูจน์ได้ยากว่า สามารถลดคาร์บอนได้จริง
ปีหน้าคนจะยังพูดถึง Net Zero ไหม
คนก็ยังจะยังพูด Net Zero เพราะว่าเราถูกทำให้จินตนาการได้แบบเดียวว่า วิธีแก้โลกคือการต้องบรรลุ Net Zero พยายามหากิจกรรมอื่นมาชดเชยการปล่อยคาร์บอน
แต่ปัญหาคือภาคอุตสาหกรรมต้องเลิกวิธีคิดชดเชย เพราะคือการปัดความรับผิดชอบ ถ้าปล่อยคาร์บอนเท่าไร ต้องวางแผนว่าสามารถเลิกปล่อยในกระบวนการไหนได้บ้าง หรือเป็น Real Zero ในขอบเขตใดได้บ้าง
อย่าไปเอาแรงจูงใจจากคาร์บอนเครดิตมาลดทอนความรับผิดชอบของตัวเองลงไป ไม่เช่นนั้นมันก็ยังเป็นเกมของตัวเลขไปเรื่อยๆ
แนวคิด Real Zero สำหรับภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจในไทย
มีน้อยมาก ของไทยผมยังไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นในต่างประเทศก็มีบางองค์กร อย่างเช่นบริษัทหนึ่งในอเมริกาทำเรื่องเหล็กกล้า เขาประกาศตัวว่า เขาจะเป็น Real Zero หากถามว่าเขาทำได้อย่างไร เขาบอกจะไม่ใช้ฟอสซิลเลยในการทำเหล็กกล้า แต่เขาจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานชนิดอื่นในการผลิต เป็นพลังงานหมุนเวียน พลังงานไฮโดรเจน หรือพลังงานอะไรก็ตามที่ไม่ปล่อยคาร์บอน
ซึ่งเขาบอกว่า เขาจะขอเป็น Real Zero ในภาคการผลิต ยกเว้นภาคการขนส่งที่เขาไม่สามารถควบคุมเชิงระบบ เขาขอเป็น Net Zero แทน
เพราะฉะนั้นเวลาใช้คำว่า Real Zero มันไม่ใช่การเลิกปล่อยคาร์บอนในทุกกิจกรรม แต่ต้องเจาะจงไปที่ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดก่อน อย่างพวกอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานฟอสซิลจำเป็นต้องเลิกใช้ หรือพวกอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ต้องมุ่งสู่การเป็น Real Zero ให้ได้มากที่สุด
ถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี คิดว่านโยบายเรื่องนี้ ภาพใหญ่จะเป็นอย่างไร เพราะหลายคนมองว่าคนจะพูดถึงเรื่อง Net Zero น้อยลง
มีความเป็นไปได้ เพราะทรัมป์ไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกรวน เขาเชื่อว่าโลกมันรวนเองตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นเพราะอุตสาหกรรมพลังงาน ไม่ใช่เพราะมนุษย์ โลกมันก็ร้อนๆ หนาวๆ ตามธรรมชาติของมันเอง เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้
และสหรัฐฯ ยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก เพราะฉะนั้น เขาจะคิดว่าทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมฟอสซิลซึ่งเป็นฐานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังจะเดินหน้าเติบโตต่อไปได้ เขาก็จะไม่เอาข้อตกลงเกี่ยวกับโลกร้อนมาเป็นข้อผูกมัดทางเศรษฐกิจของเขา
แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่สหรัฐฯ ที่ถอยหลัง เพราะจะทำให้โลกจะถอยหลังไปด้วย และโอกาสที่จะรักษาอุณหภูมิโลกก็ยิ่งแทบเป็นไปได้ยากมาก
ตอนนี้กระแสรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี (EV) เริ่มซาลงแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการลดคาร์บอนไหม
ส่งผลกระทบบ้างเพราะกระแสรถอีวีที่ลดลง ไม่ได้เป็นเพราะผู้บริโภคเลิกตระหนักเรื่องโลกร้อน แต่เป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานตามมาไม่ทัน อย่างที่ชาร์จและอื่นๆ เลยทำให้กระแสรถอีวีลดลง
แน่นอนว่าหากเปลี่ยนเป็นอีวีได้เร็วกว่านี้ก็จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้นกว่านี้ แต่อย่าลืมว่าถ้าประเทศเราส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้อีวี การใช้พลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นมา และไฟฟ้าของเรา 70% ยังเป็นฟอสซิลอยู่ นั่นหมายความว่า ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง แต่ถ้าเทียบแล้วก็ยังดีกว่าการใช้รถน้ำมัน
ดังนั้นการลดลงของกระแสอีวีอาจจะมีผลกระทบต่อการลดก๊าซบ้าง แต่อาจไม่ได้พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ซึ่งโจทย์ใหญ่ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ต้องคิดถึงการเปลี่ยนชีวิตใหม่แล้ว เราไม่สามารถใช้ทรัพยากรมีความมั่งคั่งในแบบเดิมได้ต่อไปแล้ว
สมมติว่าบ้านเรามีรถอีวีหลายคัน หากยังบริโภคเท่าเดิม ใช้ทรัพยากรเท่าเดิมหรืออาจจะมากขึ้น แสดงว่าเราไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง แถมทรัพยากรหรือสินค้าหลายอย่างที่เราใช้ ยังถูกทำให้เราสบายใจไปแล้วว่าช่วยลดโลกร้อน เราก็เพิ่มการบริโภคสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ ผลคือมันก็กลับมาที่โลกยังใช้ทรัพยากรเยอะ โลกก็ยังไม่พ้นวิกฤต ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นมันต้องชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างที่บอกว่า Real Zero มันต้องตามมาด้วยคอนเซปต์ใหญ่อันหนึ่งคือ เรื่องทฤษฎีลดการเติบโต (Degrowth) ซึ่งต้องลดการเติบโตในภาคการผลิต
ปกติเราจะพูดถึงการเติบโตสีเขียว (Green Growth) หรือการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรืออะไรก็ตามเติมคำว่า Growth ให้เติบโตมากขึ้นและกรีนมากขึ้น แต่โลกเราไม่ได้อนุญาตให้เราทำแบบนั้นได้อีกต่อไปแล้ว มันก็ต้องลดการเติบโตในบางปัจจัยลง เพื่อให้โลกยังสามารถไปต่อได้
Tags: การชดเชยทางคาร์บอน, climate change, Thai Climate Justice for All, Close-Up, TCJA, Net Zero, Carbon Offset, Drive The Momentum, กฤษฎา บุญชัย, Real Zero, Carbon Creadit