ความยุติธรรมของชาวบ้านในกรณีการสลายการชุมนุม ‘ตากใบ’ ค่อยๆ เลือนหายไปทุกวินาที ก่อนจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 นี้ ในขณะที่แสงแห่งความหวังส่องสว่างขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านผู้เคราะห์ร้ายจากโศกนาฏกรรมรวมตัวกันยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส กระทั่งมีคำสั่งรับคำฟ้องและออกหมายเรียกและหมายจับจำเลยทั้ง 7 ราย เป็นตัวเร่งให้คดีที่ดองไว้กลับมาดำเนินการอย่างเร่งด่วนในช่วงใกล้จะขาดอายุความ
บทความนี้ชวนย้อนดูความ ‘ผิดปกติ’ ของกระบวนการยุติธรรม ที่เอื้ออำนวยต่อวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยทบทวนปัจจัยแห่ง ‘ความล่าช้า’ ของกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้คดีสลายการชุมนุมตากใบถูกแช่แข็งไว้ไม่เดินหน้าเกือบ 20 ปี
Justice delayed is justice denied กับคดีตากใบที่ไม่เคยได้รับ ‘ความยุติธรรม’
“ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม”
ภาษิตกฎหมายที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ในคดีสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส สามารถสรุปเหตุการณ์ในกระบวนการยุติธรรมตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันดังนี้
วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ มีจุดเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 ราย อ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการยักยอกอาวุธปืนเพื่อนำไปให้ผู้ก่อความไม่สงบ แต่ชาวบ้านในชุมชนเห็นว่าทั้ง 6 รายนี้ไม่มีความผิด จึงนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จนเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารกับผู้ชุมนุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ รวมถึงกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย จากนั้นจึงควบคุมตัวผู้ชุมนุมกว่า 1,300 ราย ไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ที่อยู่ห่างไปราว 150 กิโลเมตร1
การควบคุมตัวโดยให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อ มือไพล่หลัง ใช้รถบรรทุกทหาร แต่ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากจึงให้ซ้อนทับกันหลายชั้น จนเป็นเหตุให้มีคนที่ถูกจับและขนย้ายโดยรถบรรทุกเสียชีวิต 78 รายจากการขาดอากาศหายใจ และอีก 7 รายในระหว่างการชุมนุม รวมผู้เสียชีวิต 84 ราย2 หลังเหตุการณ์ผ่านมาเนิ่นนานจนคดีใกล้จะขาดอายุความแต่คดีไม่คืบหน้า
ย้อนกลับมาดูกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 ในคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี แจ้งข้อกล่าวหาเจตนาฆ่าต่อเจ้าหน้าที่ 8 นายที่เกี่ยวข้องเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม และทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีต่อพนักงานอัยการ จังหวัดปัตตานี เพื่อให้ยื่นคำร้องตามขั้นตอนต่อ เพื่อไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนของกฎหมาย3
วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 หลังอัยการยื่นคำร้องและไต่สวนการตายนานหลายปี ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพถึงพฤติการณ์ที่เสียชีวิต4 หลังจากนั้นพนักงานอัยการจึงส่งสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองจิกดำเนินการต่อไป จากนั้นก็เงียบหาย โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดในสำนวนคดีหรือความคืบหน้าหลังจากนั้น มาเป็นระยะเวลานาน 14 ปี
วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ท่ามกลางกระแสสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศบีบบังคับให้มีการติดตามคดี ซึ่งอัยการและตำรวจจะต้องมีคำตอบถึงความเนิ่นช้าของกระบวนการยุติธรรมนี้ แต่กลับมีข่าวร้ายปรากฏในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรว่า ‘สำนวนคดีตากใบหาย’ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตั้งคณะทำงานรื้อฟื้นคดีขึ้นมาอีก ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลาอีก
วันที่ 25 เมษายน 2567 วันเดียวกับที่กลุ่มผู้เสียหายทนรอไม่ไหว รวมตัวกันยื่นฟ้องเองต่อศาลจังหวัดนราธิวาส พนักงานสอบสวนก็ส่งสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ พร้อมสรุปสำนวนสั่ง ‘ไม่ฟ้อง’ เนื่องจาก ‘สมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย’5 ให้พนักงานอัยการอย่างรวดเร็ว เมื่ออัยการสูงสุดรับสำนวนแล้ว ยังมีการส่งสำนวนเพื่อสอบสวนเพิ่มเติมกลับไปให้พนักงานสอบสวน และเร่งให้ส่งสำนวนกลับมาภายในเดือนกรกฎาคม 2567
วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ด้วยกระบวนการที่ล่าช้าจนใกล้จะขาดอายุความ เหล่าญาติผู้สูญเสียตากใบยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบความคืบหน้าและเร่งรัดคดี เนื่องจากคดีที่ประชาชนฟ้องเองจะต้องใช้ระยะเวลาในการไต่สวนมูลฟ้องอยู่หลายเดือนกว่าศาลจะประทับรับฟ้อง เกรงว่าจะขาดอายุความเสียก่อน จึงหวังพึ่งพาอัยการอีกทางหนึ่ง แต่กลับได้รับหนังสือตอบกลับมาว่า “ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม”6
ในที่สุดวันที่ 18 กันยายน 2567 สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงว่า มีความเห็นสั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีตากใบ ซึ่งมีผู้ต้องหา 2 รายที่เป็นเหมือนกับคดีชาวบ้านรวมกันฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส และอีก 6 รายเป็นพลขับ แม้จะออกหมายจับแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถติดตามตัวมาไม่ได้สักคน กระทั่งมีการออกมายอมรับว่า 2 รายหลบหนีไปต่างประเทศแล้ว7
โศกนาฏกรรมร้ายแรงจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐปรากฏเห็นเด่นชัดต่อสาธารณชน ซึ่งก็ยังไม่สามารถดำเนินคดีฟ้องต่อศาลได้หากไม่สามารถจับตัวใครได้เลยในคดีนี้ เช่นเดียวกับในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องต่อศาล แม้ศาลจะประทับรับฟ้องและออกหมายจับแล้วก็ตาม เส้นตายอายุของความยุติธรรมนี้จะหยุดอยู่ที่วันที่ 25 ตุลาคม 2567 หากจับไม่ได้หรือผู้ต้องหาไม่มาปรากฏตัวต่อศาลก็อาจจะไม่สามารถจะดำเนินคดีต่อไปได้อีก
เกือบ 4 ปีหายไปจากการ ‘ไต่สวนการตาย’ ที่ไร้ความหมาย
ความล่าช้าตั้งแต่ขั้นตอนแรกในกระบวนการไต่สวนการตาย ก่อนจะมีการดำเนินคดีอาญาต่อ ผู้กระทำความผิดเสียอีก โดยกฎหมาย8 กำหนดให้กรณีเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และหากการตายอยู่ในระหว่างการควบคุมหรือโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลไต่สวนการตายวินิจฉัยหาสาเหตุการเสียชีวิตว่า “ใครคือผู้ตาย เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคืออะไร ใครทำให้ตาย หากเป็นการตายของบุคคลซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่”
อย่างไรก็ตาม กระบวนการชันสูตรพลิกศพนี้ยังมีความน่าเคลือบแคลงสงสัย แม้พนักงานอัยการจะมีหน้าที่ร่วมการชันสูตรด้วย9 แต่อำนาจการทำสำนวนชันสูตรถูกผูกขาดอยู่ในมือของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองจิก ซึ่งอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็อยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่ง10 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีส่วนในการก่อเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ โดยอำนาจหน้าที่อาจมีความเกี่ยวพันกับสาเหตุการเสียชีวิต ทำให้อาจมีผลต่อการทำสำนวนสอบสวนการตายไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม จากพยานจำนวนมากทำให้กระบวนการไต่สวนการตายใช้เวลานานหลายปี ก่อนศาลจะมีคำสั่งโดยสรุปว่า “สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่”11 คำสั่งของศาลที่ควรจะเป็นหลักฐานในการทำสำนวนอาญาชิ้นสำคัญที่ชี้ว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำเพื่อดำเนินคดีต่อไป กลับจบลงอย่างคลุมเครือในกระบวนการงดสอบสวนและการสั่งไม่ฟ้องไปเสียอย่างนั้น12
14 กว่าปีหายไปจากกระบวนการสอบสวน กับความยุติธรรมที่สาบสูญ
ความคลุมเครือของกระบวนการยุติธรรมของพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการซึ่งไม่เปิดเผย ทำให้ดูราวกับเรื่องเงียบหายไปราว 14 ปี แต่ต่อมากลับปรากฏในรายงานต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ว่า กรณีการเสียชีวิตจากการขนย้าย 78 ราย พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองจิก สรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้องว่า “ไม่มีผู้กระทำความผิดอาญา จึงมีความเห็นยุติการสอบสวน” จากนั้นส่งให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีก็มีความเห็นพ้องกัน ทำให้คดียุติลงไปตั้งแต่ปี 2554 แล้ว13 แต่สำนวนกลับไม่ถูกส่งไปให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด[14] จึงเกิดความน่าสงสัยถึงความไม่โปร่งใสของการทำงานของพนักงานสอบสวน ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการ
“ตราบใดที่พนักงานสอบสวนไม่ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ไม่มีทางที่จะรู้ว่าสำนวนมันอยู่ที่ไหน อย่างไร” ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวโต้แย้งคำถามกังขาต่อการทำงานของพนักงานอัยการ ในงานแถลงสั่งฟ้องสำนวนคดีตากใบ และเมื่อถูกสอบถามเรื่องการดำเนินคดีที่เนิ่นช้า 20 ปีหายไปไหน ประยุทธกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ไปถามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”14
อัยการปฏิเสธกระบวนการติดตามสำนวนคดีจากตำรวจ ราวกับว่าไม่เคยพบเห็นสำนวนคดีนี้มาก่อน และสำนวนกลับโผล่มาอีกครั้งในช่วงที่ใกล้จะขาดอายุความเต็มที15 สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาการทำงานร่วมกันของพนักงานอัยการกับพนักงานสอบสวน ที่เป็นไปได้ยากในการตรวจสอบถ่วงดุลกันตามกระบวนการที่ควรจะเป็น ไม่สามารถติดตามสำนวนคดีว่าอยู่ขั้นตอนใด และกลับกลายเป็นว่า เมื่อสำนวนไม่ถูกส่งมาอยู่ในมือก็จะไม่มีความรับผิดชอบใดๆ จนส่งผลให้การดำเนินคดีอาญาจำนวนมากเกิดความล่าช้า
นอกจากนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวว่า ปัญหาสำคัญยังอยู่ที่องค์กร ‘ตำรวจ’ ในด้านโครงสร้างระบบบังคับบัญชาแนวดิ่ง ที่ยังมีความน่าสงสัยในทำงานของพนักงานสอบสวน ภายใต้โครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีกลไกโครงสร้างระบบบังคับบัญชาที่ยึดโยงกับอำนาจทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีนายกฯ ที่มีอำนาจสูงสุด ส่งผลให้ถูกการเมืองหรือผลประโยชน์เข้าแทรกแซงสำนวนสอบสวนได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นโครงสร้างระบบสั่งการแนวดิ่ง โดยไม่มีองค์กรภายนอกตรวจสอบถ่วงดุลการปฏิบัติงานของตำรวจได้ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนภายใต้ระบบการตรวจสอบบังคับบัญชาในองค์กรตำรวจกันเอง16 จึงไม่ยากที่จะทำให้ ‘สำนวนหาย’ ได้อย่างง่ายดาย
นอกจากปัจจัยโครงสร้างตำรวจที่ตรวจสอบได้ยากแล้ว ยังมีอีกปัจจัยสำคัญคือ ช่องว่างของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้การ ‘แช่คดี’ หรือ ‘ดองคดี’ เกิดขึ้น คือไม่มีการกำหนดระยะเวลาการรวบรวมสำนวนของพนักงานสอบสวนให้ชัดเจน หรือกำหนดระยะเวลาสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อไป โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้แต่เพียงว่า “ให้เริ่มสอบสวนโดยมิชักช้า…”17 แน่นอนว่า การไม่เคร่งครัดในระยะเวลาสอบสวนก็อาจเป็นส่วนดีต่อบางกรณีเฉพาะ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ดังเช่นที่เกิดในคดีตากใบนี้
ว่าด้วยความยุติธรรม
คดีตากใบเงียบหายราวกับไม่เคยมีอยู่ 14 ปี กระทั่งมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมยื่นเรียกร้องติดตามความคืบหน้าคดี ทำให้เรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แต่กลับปรากฏต่อที่ประชุมว่า ‘สำนวนคดีหาย’18กลุ่มผู้เสียหาย ญาติผู้เสียชีวิตที่หมดความอดทนรอเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงรวมตัวกันยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนราธิวาสด้วยตนเอง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับความยุติธรรม
เกือบ 20 ปี ที่ชาวบ้านถามหาความยุติธรรมจนเหนื่อยล้า แต่ก็ไม่สามารถหาคนกระทำมาลงโทษได้แม้แต่คนเดียว ในขณะที่ความหวังริบหรี่ลงทุกวินาทีกำลังจะผ่านไปจนถึงวันขาดอายุความ ช่วงเวลานี้ควรจะเป็นโอกาสให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับมาสร้างความยุติธรรม ด้วยการจับผู้ต้องหาตามหมายจับมาให้ได้ เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กลับคืน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถจับใครได้เลย ยิ่งตอกย้ำปัญหาเรื้อรังในโครงสร้างตำรวจที่เกี่ยวพันกับการเมืองอย่างฝังรากลึก และมีวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมในองค์กร ที่พร้อมกับดำเนินการตามคำสั่งหรือนโยบาย โดยละทิ้งหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมไปจนหมดสิ้น
ที่ผ่านมาผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมักไม่ได้รับความยุติธรรม ในประวัติศาสตร์วัฏจักรการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในการเมืองไทย ไม่ว่าจะตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ ล้วนมีชาวบ้านล้มตาย เจ็บ และพิการ แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำหรือสั่งการต้องรับโทษแม้แต่คนเดียว และในคดีตากใบเองก็ตาม19 ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้กฎหมายอย่างอำนาจนิยม และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่สนับสนุนให้เกิดรัฐลอยนวลนี้ เป็นการทำลายคุณค่าชีวิตความเป็นมนุษย์ ทำลายความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
บทเรียนเหล่านี้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งองค์กรตำรวจและองค์กรอัยการ เนื่องจากกลไกขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมขาดความยึดโยงกับประชาชน แต่กลับให้คุณค่าต่อระบบสั่งการ สายบังคับบัญชา นโยบายของรัฐ เมื่อประกอบกันจึงทำให้เกิดวัฒนธรรมความรุนแรงต่อประชาชนวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำๆ แม้ประชาชนผู้เคราะห์ร้ายจะทวงถามเพียงใดก็ไร้คำตอบ และไร้ผู้ใดรับผิดชอบในความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมนี้ ความหวังจะมีสังคมประชาธิปไตยอยู่บนหลักนิติรัฐ นิติธรรมคงเป็นแค่ฝันที่ไม่มีวันจะเป็นจริง
1 Ilaw, “คดีตากใบ 2547 กับวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลด้วยการหมดอายุความ,” 8 ตุลาคม 2567, https://www.ilaw.or.th/articles/45135.
2 THE STANDARD TEAM, “OMCT เรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ล่าช้าคดีตากใบ ชี้การลอยนวลพ้นผิดจะบั่นทอนความเชื่อมั่นในหลักนิติธรรม
,” 23 กันยายน 2567, https://thestandard.co/omct-thai-govt-tak-bai-case/.
3 ThaiPBS, “ส่องเบื้องลึก “คดีตากใบ” ปริศนา “ดองสำนวน” 19 ปี,” 19 กันยายน 2567, https://www.thaipbs.or.th/news/content/344391.
4 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, “บันทึกการไต่สวนการตายกรณีตากใบ,” 3 มิถุนายน 2567, https://crcfthailand.org/2009/06/03/381/.
5 ชลธร วงศ์รัศมี, “เปิดเอกสาร ‘ยุติการร้องขอความเป็นธรรม’ คดีตากใบ การปฏิเสธช่วยเหลือญาติผู้เสียหายของอัยการ ที่อาจทำให้ความอยุติธรรมไร้อายุความ,”19 กรกฎาคม 2567, https://themomentum.co/feature-takbai-2024/.
6 ชลธร วงศ์รัศมี, “เปิดเอกสาร ‘ยุติการร้องขอความเป็นธรรม’ คดีตากใบ การปฏิเสธช่วยเหลือญาติผู้เสียหายของอัยการ ที่อาจทำให้ความอยุติธรรมไร้อายุความ,”19 กรกฎาคม 2567, https://themomentum.co/feature-takbai-2024/.
7 มติชนออนไลน์, “กมธ.กฎหมาย-มั่นคง ซักเดือด 2 จำเลย คดีตากใบ อยู่ตปท. รุมบี้ตร. ประสานอินเตอร์โพล ส่งตัวกลับ,” 9 ตุลาคม 2567, https://www.matichon.co.th/politics/news_4836616https://www.matichon.co.th/politics/news_4836616.
8 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
9 ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ พ.ศ.2543, https://www3.ago.go.th/legald/wp-content/uploads/2021/11/Regulation_Attorney_06_06_2543.pdf.
10 พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547, https://thai-mecc.go.th/thaimeccsite/datacenter/file/get/224125.
11 เลขา เกลี้ยงเกลา, “8 ปีตากใบ (2) คดีไต่สวนการตายยังไม่จบ,” 9 พฤศจิกายน 2555, https://www.isranews.org/content-page/item/17575-8-ปีตากใบ-(2)-คดีไต่สวนการตายยังไม่จบ.html
12 ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ พ.ศ.2543, https://www3.ago.go.th/legald/wp-content/uploads/2021/11/Regulation_Attorney_06_06_2543.pdf.
13 ThaiPBS, “แสงสุดท้าย “ตากใบ” โศกนาฏกรรม ในวันคดีใกล้หมดอายุความ,” 23 ส.ค. 2567,https://www.thaipbs.or.th/news/content/343418.
14 ThaiPBS, “แสงสุดท้าย “ตากใบ” โศกนาฏกรรม ในวันคดีใกล้หมดอายุความ,” 23 สิงหาคม 2567, https://www.thaipbs.or.th/news/content/343418.
15 มติชน ทีวี, “ดองสำนวน 19 ปีอัยการสั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีตากใบ จี้ตร.ตามตัวก่อนเดดไลน์หมดอายุความ,” https://www.youtube.com/watch?v=otJIhrsuvsg
16 วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต, ชาติพันธุ์วรรณนาตำรวจ: การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจบนโรงพัก (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบันฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2566)
17 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130
18 สำนักข่าวอิสรา, “19 ปีตากใบ สำนวนคดี 85 ศพหาย! โอกาสสุดท้ายริบหรี่ก่อนขาดอายุความ” 14 ธันวาคม 2566, https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/124675-takbailost.html.
19ภาสกร ญี่นาง, “แกะรอยกระบวนการ (อ)ยุติธรรมและการสร้างสภาวะการลอยนวลพ้นผิด: กรณีโศกนาฏกรรมตากใบ ปี 2547,” 19 กรกฎาคม 2567, https://prachatai.com/journal/2024/07/109990.
Tags: Rule of Law, คดีตากใบ, กระบวนการยุติธรรม, ตำรวจ, ตากใบ