ในหนึ่งชีวิตเราจะพบปะผู้คนจำนวน 8 หมื่นคน เฉลี่ย 3 คนต่อวัน และเพียง 611 คนเท่านั้นที่เราจะรู้จักพวกเขาเป็นการส่วนตัว อาจฟังดูเป็นตัวเลขที่เยอะมาก ทว่าเอาเข้าจริงแล้วเราต่างรู้ดีว่ายิ่งเติบโตเราจะยิ่งรู้จักผู้คนมากขึ้นแต่สนิทใจกับใครได้น้อยลง 

ที่สำคัญคือไม่มีวันรู้เลยว่า ในตัวเลขเหล่านั้นมีสักกี่คนที่รักและพร้อมดูแล หรือจะเกลียดชังและสาปแช่งแค่ไหน ในยุคสมัยที่กระแสธารแห่งสังคมไหลเชี่ยวยิ่งกว่าแม่น้ำ เราไม่รู้เลยว่าโลกจะเหวี่ยงคนแบบไหนเข้ามาในชีวิต ซ้ำร้ายไปกว่านั้นการมองหาคู่ชีวิตดี ๆ สักคน ยิ่งมีอัตราส่วนที่น้อยลงตามลำดับ ทว่าการคำนวณทางคณิตศาสตร์และจิตวิทยาสังคมได้พิสูจน์แล้วว่า ถึงแม้รักแท้จะมีน้อยแต่มีอย่างแน่นอน

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรในประเทศอังกฤษในช่วงปี 2017 ของมหาวิทยาลัยบาธ (University of Bath) ร่วมกับพิธีกรรายการ และนักคณิตศาสตร์ชื่อดังอย่าง ราเชล ไรลีย์ (Rachel Riley) พบว่า โอกาสพบรักแท้มีเพียงแค่ 1 ใน 562 คน หากเราปล่อยให้ความรักเป็นเรื่องของโชคชะตา โดยไม่ขวนขวายหาใครมาเป็นคู่ครอง นอกจากนี้ข้อมูลยังระบุอีกว่า คนที่อาศัยอยู่แถบชานเมืองหรือชนบท มีโอกาสพบคู่ครองมากกว่าหรือคิดเป็น 1 ใน 394 คน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ขึ้นอยู่กับอายุ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในแต่ละพื้นที่ด้วย เนื่องจากประสบการณ์ในการพบปะผู้คนจะเป็นตัวชี้วัดหลักว่า เราจะมีโอกาสเจอคู่ครองที่เหมาะสมกับเราหรือไม่ 

จากตารางอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยที่ทำให้พบคู่ครองที่ต้องการ อันดับแรกได้แก่ ทัศนคติทางความคิด 77% รองลงมาคือ สถานะความสัมพันธ์ 48% ความเข้ากัน 40% รสนิยมทางเพศ 39% ความดึงดูดซึ่งกันและกัน 18% ช่วงอายุที่เหมาะสม 17% 

นอกจากนี้การตอบตกลงใครสักคน เพื่อทำความรู้จักกันในเชิงลึก ยังสามารถเพิ่มโอกาสการพบเจอคนที่ใช่มากขึ้น เช่น การออกไปสังสรรค์กับผู้คนใหม่ ๆ จะเพิ่มโอกาสการรู้จักคนอื่น 75 คน หรือคิดเป็น 16% อีกทั้งการพบเจอคนผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ยังช่วยเพิ่มโอกาสการพบผู้คนใหม่ๆ ถึง  17% รวมถึงพบปะผู้คนผ่านงานอดิเรกหรือความชอบที่เหมือนกัน 11%  

ขณะที่การได้รู้จักเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนของเพื่อนอีกที จะมีโอกาสเพิ่มขึ้น 15% เมื่อนำมาผนวกรวมกับอัตราความเข้ากันได้จากข้อมูลข้างต้น อาจทำให้เราได้พบเจอคนที่ใช่และเข้ากันได้เพิ่มมากขึ้น 

นอกจากนี้ราเชลยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ยิ่งพยายามออกไปพบปะผู้คนมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่เราจะได้พบความรักก็มากขึ้นเท่านั้น แต่จากการรวบรวมข้อมูลในส่วนอื่นๆ พบว่า เมื่อเติมปัจจัยด้านสถานที่ อายุ รูปร่างหน้าตา และความชอบส่วนตัวลงไป โอกาสการพบเจอคนที่ถูกใจและอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืนก็จะลดน้อยถอยลงไปตามปัจจัยดังกล่าว

อีกทั้งการวิเคราะห์ผลลัพธ์ทางตัวเลขเพิ่มเติมยังพบว่า อายุเป็นปัจจัยหลักในการหาคู่ครอง โดยอายุที่มีแนวโน้มหาคู่ครองที่มั่นคงและประสบผลสำเร็จมากที่สุดจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35-47 ปี ซึ่งตัวเลขเหล่านี้อาจเชื่อมโยงกับรูปแบบสังคมและการทำงาน ที่เรียกร้องประสบการณ์และความมั่นคงในชีวิตเป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากคนที่อายุน้อยเกินไปอาจมีปัจจัยด้านความผันแปรของอารมณ์และสังคม ขณะที่กลุ่มคนวัยกลางคนมีประสบการณ์และความต้องการสร้างครอบครัวมากกว่า 

หากมองแบบผิวเผินเราอาจจะคิดว่ายิ่งอายุยังน้อยยิ่งมีโอกาสพบเจอรักที่ดีมากกว่า เนื่องจากอาจมีสิทธิในการต่อรองทางความสัมพันธ์ หรือรูปร่างหน้าตาที่มีความดึงดูด แต่ในทางกลับกันสถิติตัวเลขระบุว่า 65-74 ปี มีโอกาสพบคู่ครอง 1 ใน 304 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่มีแนวโน้มได้พบคนที่ใช่มากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีจำนวนคนเป็นโสดน้อยกว่า 

แต่อย่างน้อยตัวเลขเหล่านี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ความรักไม่จำกัดว่าคุณจะอายุเท่าไร หากนั่นเป็นรักแท้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน 

อย่างไรก็ตามสถิติและตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเป็นไปได้ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่มีอะไรมาการันตีว่าใน 365 วัน กับอีก 24 ชั่วโมง เราจะพบเจอคนแบบไหนได้บ้าง และความสัมพันธ์ที่ผ่านเข้ามาแต่ละครั้ง ครั้งไหนจะถือว่าเป็นรักแท้ แต่อย่างน้อยสถิติก็สามารถบอกอะไรบางสิ่งกับเราได้ว่า บางทีแม้กระทั่งความรัก โชคชะตา และการพบพาใครสักคน อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะความคิด วิถีชีวิต และการกระทำของเราล้วนดึงดูดผู้คนเข้ามาในบริบทที่ต่างกัน 

ดังนั้นความรักที่ดีอาจไม่ใช่พรหมลิขิต แต่เป็นสิ่งที่คิดและสร้างมันขึ้นมาเองได้

Tags: , , , , ,