มีการคาดการณ์จากกรมชลประทานที่ 1 ในวันนี้ (4 ตุลาคม 2567) ว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงจะเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า +5.00 เมตร ถือเป็นระดับน้ำสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่บันทึกได้ และจะไหลเข้าท่วมทั้ง 7 โซน ขณะที่บริเวณต้นน้ำอย่างอำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงมีฝนตกหนักและมีมวลน้ำไหลลงมาสมทบแม่น้ำปิงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอุทกภัยครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นกับลุ่มแม่น้ำปิงในเวลาไล่เลี่ยกันไม่ถึง 2 สัปดาห์
เมื่อเป็นอุทกภัยครั้งที่ 2 ของปี 2567 และเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันไม่นาน คำถามสำคัญคือ น้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ถือเป็นบทเรียนที่สร้างความพร้อมรับมืออย่างไร และอะไรเป็นตัวชี้วัดว่า การบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติ ทั้งการสื่อสารและการจัดการหน้างานที่นับว่าประสบความสำเร็จบ้าง
รองศาสตราจารย์ ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า การบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่จะใช้ฉากทัศน์ระดับกลาง และเตรียมแผนการปฏิบัติสำหรับฉากทัศน์ที่เลวร้ายเอาไว้เสมอ ส่วนการเลือกว่า จะใช้ฉากทัศน์ใดในการบริหารสถานการณ์อุทกภัย ชูโชคชี้ว่า ให้ประเมินจากโครงสร้างในการรับมือมวลน้ำที่จะไหลเข้ามาในพื้นที่ว่า จะสามารถรับมือได้หรือไม่
“เมื่อโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ไม่สามารถต่อสู้กับมวลน้ำที่จะไหลเข้ามาได้ ทางศูนย์บัญชาการสถานการณ์อุทกภัย หรือผู้นำในท้องถิ่นจะเอาการจัดการในฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดของภัยพิบัติมาวิเคราะห์ว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง
“ยกตัวอย่าง น้ำท่วมเชียงใหม่รอบแรกของปี 2567 เราประเมินว่า น้ำจะมีปริมาณเกินระดับ 4.30 เมตร อาจไปถึง 5 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่เทศบาลนครเชียงใหม่จะรับไหว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องยกเคสการจัดการน้ำท่วมของปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดระดับน้ำ P.1 สะพานนวรัฐกว่า 4.90 เมตร มาตั้งต้นคิดกันว่า จะทำอย่างไร”
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติระบุต่อว่า การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในช่วงอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะการสื่อสารข้อมูลจากทางหน่วยงานในน้ำท่วมครั้งแรกที่มองว่า ประสบความสำเร็จ
“เรามีตัวชี้วัดที่ใช้ดูว่า ระบบเตือนภัยของเราใช้ได้ผลไหม ก็คือรถยนต์ เพราะเป็นของมีค่าแล้วเคลื่อนย้ายได้ง่ายที่สุด หากรถของเขาจอดอยู่ในพื้นที่น้ำลึก และเราได้แจ้งว่า ให้ประชาชนนำรถออก ถ้าเขาเชื่อเรา เขาต้องย้ายรถไปไว้ที่สูง ซึ่งเรามีสถานที่จอดรถไว้ให้ สุดท้ายน้ำท่วมเชียงใหม่รอบที่แล้วไม่มีรถจมน้ำเลย ก็แสดงว่า ทุกคนได้รับการสื่อสาร
“เครื่องมือที่เรามีคือ การพยากรณ์ที่แม่นยำล่วงหน้าพอที่เขาจะทำอะไรได้ ผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบางต่างๆ เราต้องย้ายออกไปยังที่ปลอดภัย ส่วนคนที่เขาอยู่ในบ้านต่อได้เพราะเชียงใหม่น้ำไม่ค่อยสูง ก็ให้เขาอยู่โดยมีน้ำและอาหาร”
ขณะเดียวกันความเห็นของหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติ กลับแตกต่างจากมุมมองของ พชร คำชำนาญ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่บ้านเกาะกลาง ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า รู้สึกไม่พอใจการสื่อสารของหน่วยงานท้องถิ่นในยามภัยพิบัติ และมองว่า หน่วยงานท้องถิ่นมีเพียงให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมแก่ประชาชน แต่บางคนกลับไม่รู้ว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งมองว่า นี่คือการทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะช่วยเหลือตนเองตามยถากรรม
อีกหนึ่งการสื่อสารที่ย่ำแย่ในมุมมองของพชรคือ การสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ประชาชนสบายใจ
“ถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณวันที่ 22 กันยายน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่บอกผ่านสื่อท้องถิ่นว่า คืนนี้ชาวเชียงใหม่สามารถหลับได้อย่างสบายใจ คือพวกคุณไม่ต้องมาทำให้เราสบายใจ เพราะประชาชนควรรู้ว่า ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น แล้วหลังจากนั้นไม่กี่วันน้ำก็ท่วมอย่างหนักในเมืองเชียงใหม่”
กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมยังเสริมต่อว่า ความสบายใจของประชาชนไม่ใช่การสื่อสารจากหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อความสบายใจของคนในพื้นที่ แต่หมายถึงการที่เขาสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือได้อย่างทันท่วงที กับสถานการณ์ที่กำลังจะเลวร้าย
ความเหลื่อมล้ำในการจัดการและให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย เป็นหนึ่งในปัญหาที่พชรมองเห็นในอุทกภัยเชียงใหม่ครั้งนี้ เนื่องจากหน่วยงานท้องถิ่นจัดการและสื่อสารเฉพาะกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจ ส่วนพื้นที่รอบนอกกลับถูกทิ้งแม้จะมีน้ำท่วมอยู่ในปริมาณมาก
“มันเป็นภาพของประชาชนที่ต้องออกมาสื่อสารกันเองว่า ‘บ้านของฉันยังท่วมอยู่’ ในขณะที่ในเมืองน้ำลดไม่ท่วมแล้ว หน่วยงานพวกนี้ก็ไม่สื่อสารอะไรแล้ว เพราะว่า ย่านเศรษฐกิจสามารถเปิดใช้การได้ตามปกติแล้ว ในขณะที่พี่น้องที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี บอกว่า น้ำท่วมมา 6-7 วันกลับไม่มีหน่วยงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือเขา” พชรระบุ
สำหรับน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งนี้ ชูโชคยืนยันว่า การบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่จะยังคงทำได้อย่างดีเยี่ยม เช่นเดียวกับการบริหารจัดการภัยพิบัติในครั้งก่อน โดยมีการประชุมของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติเรียบร้อยแล้ว และจะยึดแผนการปฏิบัติการตามเดิม เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา
“ก็ให้มีการย้ายรถไปจอดที่สูง ให้จราจรไปจัดการรถที่ขนย้ายผู้ป่วยติดเตียงให้เขาออกก่อน ประชาชนเขาให้ความร่วมมือดีมาก ทางเราก็ได้สั่งปิดโรงเรียนไปแล้วตั้งแต่เมื่อตอนบ่าย ให้ข้าราชการที่ทำงานลาได้ครึ่งวันโดยไม่มีปัญหาภายหลัง เพื่อให้ไปช่วยประชาชนขนย้ายสิ่งของ เมื่อถึงวันที่เกิดภัยพิบัติเราจะไม่มีการมาประชุมกันแล้ว เราจะต้องมาประชุมกันก่อนเกิดภัยพิบัติ แล้ววันจริงเราก็ปฏิบัติไปตามแผน ซึ่งเรื่องนี้มันอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำที่เขาดึงนักวิชาการไปช่วยสนับสนุน ผมเองก็เป็นคนวางรูปแบบการจัดการ เมื่อระบบมันดีเราก็ดีใจ
“วันที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาก็ได้คุยกับท่านนิดหน่อย เขาก็บอกว่า ให้ภาครัฐส่วนกลางนำเอารูปแบบการบริหารจัดการอุทกภัยของเชียงใหม่ไปขยายผลยังพื้นที่อื่นๆ โดยปรับให้เหมาะสมกับสภาพบริบทของพื้นที่”
Tags: แม่แตง, ฝนตก, น้ำป่าไหลหลาก, แม่น้ำปิง, อุทกภัยภาคเหนือ, สันป่าข่อย, เชียงใหม่, น้ำท่วม, แม่ริม