เข้าใจว่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่รีเมก หรือหยิบเอาภาพยนตร์จากต่างประเทศไป ‘ทำใหม่’ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไทยพร้อมกันถึง 2 เรื่อง คือ Bad Genius (2024) ที่ดัดแปลงจาก ฉลาดเกมส์โกง (2017) หนังสัญชาติไทยโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ซึ่งทำรายได้ถล่มทลายในปีที่ออกฉายที่ 1,840 ล้านบาท (ทั้งยังสร้างปรากฏการณ์ที่มีคนดูชาวจีนสร้างรูปปั้น ‘ครูพี่ลิน’ ด้วย) และอีกเรื่องหนึ่งคือ Speak No Evil (2024) ดัดแปลงจากหนังชื่อเดียวกันสัญชาติเดนมาร์ก-เนเธอร์แลนด์ ที่ทำเงินไปได้แบบไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัว พร้อมกันกับที่มอบวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ให้หนัง 

ฮอลลีวูดนั้นโปรดปรานการรีเมกหนัง ไม่ว่าจะเป็นหนังในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดเองอย่าง Little Women ที่ได้รับคำชื่นชมหนาหูทั้ง 2 เวอร์ชันอย่างปี 1994 และปี 2019, หนังแบบที่หาที่ทางของตนเองเมื่อรีเมกได้อย่าง The Karate Kid (2010) ที่ต่างจากเวอร์ชัน 1984 ด้วยการให้ตัวละครหลักเป็นเด็กผิวดำ หรือแบบที่รีเมกแล้วโดนถามว่า ‘ทำไปทำไม’ แบบ Mulan (2020) ที่กลายเป็นว่า พลังหรือแม้แต่สารที่ต้องการจะสื่อสู้แอนิเมชันเมื่อปี 1998 ไม่ได้แม้แต่น้อย 

ไม่เพียงเท่านั้น ฮอลลีวูดยังเอื้อมมือไปหยิบจับเอาหนังจากต่างประเทศมา ‘ทำใหม่’ ให้เป็นน้ำเสียงของตนเองด้วย โธมัส เอลเลียตต์ (Tomas Elliott) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น (Northeastern University) ​ให้ความเห็นว่า เหตุผลหนึ่งที่ฮอลลีวูดยังหมกมุ่นอยู่กับการหยิบเอาหนังเก่ามาทำใหม่นั้น ด้านหนึ่งเพราะความสำเร็จของหนังเรื่องดังกล่าวย่อมเป็นหลักฐานว่า มันมีกลุ่มผู้ชมแข็งแรงและคนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะซื้อตั๋ว เพื่อดูหนังที่พวกเขารักในฉบับใหม่ ไม่ว่าจะใหม่ในแง่การตีความ ผู้กำกับ หรือนักแสดงก็ตามที 

“มันเหมือนหนังต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วพวกนี้ปรากฏตัวให้เห็นๆ กันตรงหน้าโปรดิวเซอร์ในฮอลลีวูด มีกลุ่มคนดูอยู่แล้วแน่ๆ ดังนั้นโปรดิวเซอร์พวกนี้จึงรู้ว่า ต้นทุนที่พวกเขาต้องใช้เพื่อสร้างหนังเรื่องหนึ่ง เพื่อให้ได้ไฟเขียวจากสตูดิโอ และเพื่อสร้างให้ได้สำเร็จลุล่วงนั้นมันต่ำกว่าหนังที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดมากทีเดียว” เอลเลียตต์ว่า “เพราะฉะนั้นเรื่องเงินจึงเป็นประเด็นสำคัญ และฮอลลีวูดก็ยินดีจะใช้วิธีเก่าๆ แบบนี้ หรือคือการสร้างสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วขึ้นมาอีกเสมอ” 

แม้จะเป็นหนังที่หยิบมา ‘ทำใหม่’ โดยอิงจากเรื่องราวเดิม หรือบ่อยครั้งก็ทำ ‘ซ้ำเดิม’ แบบทุกตารางนิ้ว แต่หนังที่ถูกนำมารีเมกนั้นก็ถูกอ่านและวิเคราะห์ใหม่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะในเชิงน้ำเสียงการเล่า ท่วงท่าการกำกับ หรือแม้แต่บริบทสังคมที่แวดล้อมในเวลานั้น ยังส่งผลให้หนังที่ถูกหยิบมาทำใหม่นั้นมีชีวิต และคำวิจารณ์เป็นของตนเองมากกว่าที่จะเป็นแค่ ‘หนังอีกเวอร์ชันหนึ่ง’ เท่านั้น 

เพราะสำหรับกรณี Bad Genius สัญชาติอเมริกันที่ถือเป็นงานกำกับเรื่องแรกของ เจ. ซี. ลี (J.C. Lee) หนึ่งในทีมเขียนบทซีรีส์ The Morning Show (2019) ก็มีบริบทของการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมแบบสหรัฐอเมริกา โดยเค้าโครงเรื่องนั้นไม่ต่างจากเวอร์ชันไทยนัก เพราะพูดถึง ลินน์ (แสดงโดย คัลลินา เหลียง) นักเรียนสาวอัจฉริยะเชื้อสายเอเชีย-อเมริกันที่รับจ้างโกงข้อสอบในรั้วโรงเรียน และรับปากจะช่วย แพต (แสดงโดย ซามูเอล บราวน์) เด็กหนุ่มบ้านรวยกับ เกรซ (แสดงโดย เทย์เลอร์ ฮิกสัน) แฟนสาวของเขาเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ด้วยการโกงข้อสอบ เพียงแต่เธอไม่อาจบรรลุงานหินนี้ได้เพียงลำพัง จึงต้องขอความช่วยเหลือจาก แบงค์ (แสดงโดย จาบารี แบงค์ส) เด็กหนุ่มนักเรียนทุนที่เติบโตมาจากครอบครัวผู้อพยพและต้องขวนขวายหาเงินมาจุนเจือครอบครัว 

หากว่าต้นฉบับของไทย พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำและระบบอันบิดเบี้ยวของสถานศึกษา เวอร์ชันอเมริกันก็พูดในประเด็นเดียวกัน แต่มีความเฉพาะตัวเมื่อผู้กำกับสานใยเส้นเรื่องที่พูดถึงความเป็นอื่นและการเป็นผู้อพยพผ่านตัวละครเข้ามาด้วย จะเห็นได้จากแบงค์ที่นอกจากบ้านมีฐานะไม่ค่อยดีแล้ว เขายังต้องรับมือกับตำแหน่งแห่งที่ของตนในฐานะคนนอกอยู่เนืองๆ หรือกระทั่งสถานะของเขากับแพต ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มผิวขาวบ้านรวย ก็เปรียบเหมือนอีกขั้วขัดแย้งหนึ่งที่เป็นบริบทสำคัญในสหรัฐฯ 

ในอีกแง่หนึ่ง หนังที่ถูกนำมารีเมกเป็นเวอร์ชันอเมริกันอย่าง Speak No Evil ก็ฉายท่วงท่าการเล่าแบบฮอลลีวูดที่เน้น ‘ความโฉ่งฉ่าง’ เป็นหลัก ทั้งยังเป็นหนังที่เลือกเล่าในแบบที่ต่างไปจากต้นฉบับ กล่าวคือหนังเล่าถึง 2 สามี-ภรรยาชาวอเมริกัน เบน (แสดงโดย สกูต แม็กไนรี) กับหลุยส์ (แสดงโดย แม็กเคนซี เดวิส) ที่ไปเที่ยวพักร้อนในอิตาลีพร้อม แอ็กเนส (แสดงโดย เอลิกซ์ เวสต์ เลฟเลอร์) พวกเขาเจอกับแพดดี (แสดงโดย เจมส์ แม็กอะวอย) กับเคียรา (แสดงโดย ไอส์ลิง ฟรานเซียซี) 2 สามี-ภรรยาผู้แสนเป็นมิตรที่ออกท่องเที่ยวพร้อม แอนต์ (แสดงโดย แดน ฮอจห์) ลูกชายที่ไม่มีลิ้น 

หลังจากผ่านบทสนทนาอันถูกคอเปี่ยมอารมณ์ขัน แพดดีกับเคียราก็เชิญเบนกับหลุยส์ไปพักร้อนที่กระท่อมน้อยแสนวิเวกของพวกเขา ด้วยความไม่อยากปฏิเสธและหวังให้การพักร้อนครั้งนี้ เป็นสะพานสานสัมพันธ์ชีวิตคู่ที่ใกล้อับปางลง ชาวอเมริกันทั้งคู่จึงตกปากรับคำและออกเดินทางไปกระท่อมกลางป่าแห่งนั้น โดยไม่เอะใจสักนิดว่า มันจะนำพาความวิปโยคมาสู่ครอบครัวพวกเขา 

ทั้งต้นฉบับและเวอร์ชันอเมริกันล้วนพูดถึงประเด็นสำคัญอย่างความสุภาพ และการไม่กล้าปฏิเสธคนของชนชั้นกลาง ภาวะประนีประนอมไร้ที่จุดยืน เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะจนผลักให้ตนเองหล่นลงไปสู่หุบเหวแห่งความจำยอม โดยเวอร์ชันเดนมาร์ก-เนเธอร์แลนด์ที่กำกับโดย คริสเตียน ทาฟดรัป (Christian Tafdrup) บดขยี้ตัวละครและคนดูอย่างถึงที่สุดด้วย การทำร้ายตัวละครจนแหลกละเอียด โดยเฉพาะองก์ท้ายที่ตัวละครผู้แสนสุภาพพ่ายแพ้ให้อีกฝ่ายอย่างเต็มรูปแบบ จนไม่เหลือความเป็นมนุษย์ และน่าจะเป็นอีกประเด็นที่ทำให้คนดูหงุดหงิดและขัดใจกับการตัดสินใจของตัวละครอย่างที่สุด

และเวอร์ชันอเมริกัน ‘แก้เกม’ ตรงนี้ด้วยการเล่าใหม่และเปลี่ยนรูปแบบชะตากรรมตัวละครไปโดยสิ้นเชิง ทั้งยังใส่น้ำเสียงความเป็นฮอลลีวูดเต็มขั้นด้วยฉากไล่ล่า ฉากต่อสู้ หรือแม้แต่ฉากใช้อาวุธปืน อันเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในตัวต้นฉบับ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การตัดสินใจไม่เดินตามเส้นเรื่องเดิมนี้ก็ ‘ทำงาน’ กับคนดูในอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อหนังดำเนินมาถึงครึ่งหลังและคนดูได้พบว่า พวกเขากำลังดูหนังอีกเรื่องที่ตัวละครออกเดินทางไปสู่จุดจบ ที่ต่างไปจากเวอร์ชันก่อนหน้า (ที่อีกด้านก็ทำให้สารที่พูดถึงความโอนอ่อนและความประนีประนอมแบบชนชั้นกลางจางลงไปโดยปริยาย) 

Infernal Affairs (2002) หรือในชื่อไทย สองคนสองคม หนังสัญชาติฮ่องกงที่ประสบความสำเร็จถล่มทลายระดับคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลม้าทองคำ ก็เคยถูกหยิบไปดัดแปลงในชื่อ The Departed (2006) โดย มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) และเป็นหนังเพียงเรื่องเดียว (จนถึงตอนนี้) ที่ส่งสกอร์เซซีคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมออสการ์ จากการเข้าชิงทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยตัวต้นฉบับหนัง ว่าด้วยสายลับที่แฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มเจ้าพ่อมาเฟียฮ่องกง กับนายตำรวจที่เป็นสายให้เจ้าพ่อที่ต้องมาหักเหลี่ยมเฉือนคมกันเองในที่สุด 

และในเวอร์ชันของสกอร์เซซี (คนทำหนังผู้หลงใหลในเส้นเรื่องมาเฟียมาแต่ไหนแต่ไร) ก็เดินเรื่องไม่ต่างกันนัก หากแต่ฉากหลังทั้งหมดเกิดขึ้นในบอสตัน โดย บิลลี (แสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) เป็นนายตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มของ คอสเตลโล (แสดงโดย แจ็ก นิโคลสัน) เจ้าพ่อรายใหญ่แห่งบอสตัน จนสนิทสนมและถือเป็นมือขวาของคอสเตลโล อีกด้านหนึ่งคอสเตลโลก็ส่ง โคลิน (แสดงโดย แมตต์ เดมอน) ลูกน้องคนสนิทเข้าไปเป็นตำรวจ เพื่อลักลอบเอาข้อมูลมาส่งให้เขา 

ว่าไปแล้วธีมของเรื่องก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก หากแต่น้ำเสียงการเล่าเรื่อง ท่วงท่าของการกำกับ และการตัดต่อ ทำให้แทบจะกลายเป็นหนังคนละเรื่องไปโดยปริยาย เพราะภาษาหนังของ Infernal Affairs เป็นภาษาแบบหนังเอเชียจัดๆ สกอร์เซซีก็ทำให้หนังของตนเองเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นฮอลลีวูดผ่านการแสดง การเคลื่อนกล้อง การตัดต่อ หรือแม้แต่ประเด็นการเมืองที่ว่าด้วยบรรยากาศชวนอึดอัด หวาดระแวง และสิ้นหวังของสหรัฐฯ ช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 

ในบรรดาหนังรีเมกมากมาย ที่มักหมายถึงการที่ผู้กำกับคนหนึ่งนำหนังของผู้กำกับอีกคนมาทำใหม่ แต่สำหรับ ไมเคิล ฮาเนเก (Michael Haneke) กลับตั้งใจจะรีเมกหนังของตนเองแบบเหมือนเดิมทุกกระเบียดนิ้ว Funny Games (1997) หนังสัญชาติออสเตรียชวนปวดประสาทที่ส่งเขาชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ว่าด้วยครอบครัวชนชั้นกลางกับชายแปลกหน้าที่มา ‘ขอไข่ไก่’ 

10 ปีต่อมา ฮาเนเกหยิบหนังกลับมาเล่าใหม่อีกครั้งในปี 2007 โดยเป็นหนังร่วมทุนสร้าง 6 สัญชาติ (สหรัฐฯ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรีย เยอรมนี และอิตาลี) ว่าด้วย 2 สามี-ภรรยาฟาร์เบอร์ จอร์จ (แสดงโดย ทิม รอธ) กับแอนน์ (แสดงโดย นาโอมิ วัตต์ส) ผู้เป็นเสมือนเจ้าแม่หนังรีเมกฮอลลีวูด) พบว่า ในเช้าวันธรรมดามีชายแปลกหน้าที่แนะนำตัวว่าชื่อ พอล (แสดงโดย ไมเคิล พิตต์) กับปีเตอร์ (แสดงโดย บราดี คอร์เบต) เข้ามาขอไข่ไก่จากพวกเขา และไม่ทันไร จอร์จก็ถูกหวดไม้กอล์ฟหวดเข้าให้ที่เข่า ส่งผลให้เขาลุกเดินเหินไม่ได้ และต้องทนดูลูกเมียถูกชายแปลกหน้า 2 คนจับเป็นตัวประกันในบ้าน หากแต่ความวายป่วงไม่ยุติเพียงแค่นั้น เมื่อทั้งสองเชื้อเชิญให้แอนน์กับลูกชายเล่นเกมชวนสยอง โดยเฉพาะเมื่อพอลบังคับให้แอนน์ค่อยๆ เปลื้องผ้าออก จากนั้นก็ตามมาด้วยกิจกรรมชวนทรมาน เมื่อคนแปลกหน้าทั้งสองเจออาวุธปืน 

เวอร์ชัน 1997 ฮาเนเกทำให้คนดูสติแทบแตกและกลายเป็น ‘ฉากในตำนาน’ ของหนังไปโดยปริยาย เมื่อเหยื่อหาทางต่อสู้กลับได้ แต่ตัวละครชายแปลกหน้ากลับแก้เกมด้วยการคว้ารีโมตแล้ว ‘เล่นถอยหลัง’ เพื่อแก้ถานการณ์ให้เปลี่ยนไปจากเดิม ถือเป็นการ ‘ทำลายกำแพงที่ 4’ (Breaking the Fourth Wall) ระหว่างภาพยนตร์กับคนดูที่ทรงพลังอย่างที่สุด และยิ่งขับเน้นสารที่พูดถึงการมีส่วนร่วมกับความรุนแรงของคนดู ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม กับภาพยนตร์อันเป็นสิ่งที่ฮาเนเกย้ำอยู่บ่อยๆ ในหนังของเขา 

ทั้งนี้ในเวอร์ชันฮอลลีวูดนั้น ตัวละครแอนน์ที่วัตต์สแสดงต้องเปลือยตนวาบหวิวกว่าเวอร์ชันออสเตรียอยู่มาก ราวกับฮาเนเกจะย้ำว่า แม้จะถ่ายทำทั้งเรื่องตามเวอร์ชันเก่าทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ว่าจะในแง่มุมกล้องหรือภาษาภาพยนตร์ แต่สิ่งที่ฟ้องว่า มันคือหนังฮอลลีวูดที่ต้องโฉ่งฉ่างกว่าเดิม คือการที่ตัวละครโป๊เปลือยมากกว่าเก่านั่นเอง

Tags: , , , , ,