ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือคอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) ประติมากรชาวอิตาลีซึ่งเดินทางมารับราชการในสยามช่วงปลายรัชกาลที่ 6 และได้รังสรรค์ผลงานประติมากรรมมากมายในโอกาสต่างๆ ทั้งงานในพระราชสำนักไปจนถึงอนุสาวรีย์ ในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตราบจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2505
นอกจากงานปั้นซึ่งเป็นความชำนาญเฉพาะตัวแล้ว ‘อาจารย์ศิลป์’ ยังมีชื่อเสียงจากความทุ่มเทในการทำงานให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะงานวิชาการเกี่ยวกับศิลปะไทย และการฝึกสอนนักเรียน-นักศึกษาในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย
เกียรติคุณเหล่านี้ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานศิลปกรรมเกือบทุกแขนง ตั้งแต่อนุสาวรีย์ใหญ่โตจนถึงแสตมป์แผ่นน้อย ที่แม้แต่บรรดาศิษย์เอกของเขาก็ยากที่จะเทียบฝีมือได้
ผลงานอีกประเภทที่มหาชนดูจะเชื่อว่า เฟโรจีหรือศาสตราจารย์ศิลป์แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร มีส่วนอย่างมากในการสร้างสรรค์คือ เหรียญตราต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งถึงกับเชื่อกันว่า เหรียญของไทยที่ผลิตขึ้นในช่วงชีวิตของอาจารย์ศิลป์ ก็ล้วนเป็นผลงานอันไร้ที่ติของท่านทั้งนั้น แต่อันที่จริงแล้วเมื่อมองลึกลงไป ‘อาจารย์ศิลป์’ อาจไม่ได้นั่งทำงานอยู่คนเดียว
บทความนี้จึงขอหยิบเหรียญ 2 รูปแบบมายกเป็นกรณีตัวอย่าง หนึ่ง ‘เหรียญกษาปณ์ชุดพระบรมรูป-ช้างยืนแท่น พ.ศ. 2472’ ซึ่งประกอบด้วยเหรียญเงินชนิดราคา 50 และ 25 สตางค์ และ ‘เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475’ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป ทั้งในฐานะของสะสมจากสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นผลงานประเภทเหรียญที่โดดเด่นที่สุด 2 ชิ้น ของเฟโรจีภายใต้การทำงานกับราชสำนักสยาม
เหรียญทั้ง 2 แบบนี้ นอกจากเหรียญขนาดเล็กที่คนธรรมดาสามัญเข้าใจตรงกันแล้ว ยังมีประติมากรรมขนาดใหญ่กว่าแต่ลักษณะคล้ายกันด้วยคือ โล่พระบรมรูปหล่อจากโลหะทองแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ที่สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานโรงเรียนและวัดวาอารามที่ได้ทำการปฏิสังขรณ์ใหญ่ในช่วงเวลานั้น ซึ่งบางแห่งยังเก็บรักษาไว้ได้จนถึงปัจจุบัน โล่เหล่านี้มีลวดลายและข้อความ แบบเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่บนด้านหน้าของเหรียญกษาปณ์เงิน และอีกกรณีก็มีประติมากรรมต้นแบบทั้ง 2 ด้านของเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี ของกรมศิลปากรที่เคยจัดแสดงไว้ในหอประติมากรรมต้นแบบ
ประติมากรรม 2 อย่างนี้เองที่บางครั้งทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่โล่พระบรมรูปขนาดใหญ่นี้ จะสร้างจากต้นแบบเดียวกันกับที่ใช้ทำเหรียญกษาปณ์ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีผู้เสนอแนวคิดนี้ บนพื้นฐานที่เชื่อว่า อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ปั้นประติมากรรมต้นแบบของเหรียญตราทุกชิ้นในช่วงเวลานั้น และสาเหตุที่สัดส่วนหรือรายละเอียดเล็กน้อยในเงินเหรียญและโล่ดังกล่าวแตกต่างกัน ก็เพียงเพราะช่างผลิตเหรียญได้ดูประติมากรรมต้นแบบขนาดใหญ่ ที่ต่อมาหล่อขึ้นเป็นโล่พระบรมรูปเป็นตัวอย่าง สำหรับแกะสลักแม่พิมพ์เหรียญกษาปณ์ด้วยมือ จนทำให้รายละเอียดผิดเพี้ยนไป ส่วนเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร พ.ศ. 2475 ก็อาจประสบกับเหตุการณ์เดียวกัน เพราะเหรียญจริงที่พระราชทานแก่ข้าราชการและประชาชนจำนวนมาก ก็มีรายละเอียดต่างจากประติมากรรมต้นแบบ ที่กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้เล็กน้อยเช่นเดียวกัน
เป็นอันสรุปว่า มีเพียงประติมากรรมต้นแบบขนาดใหญ่ชิ้นต่างๆ เท่านั้นที่รักษาฝีมือของบรมครูท่านนี้ไว้ได้อย่างแท้จริงกว่าที่ปรากฏอยู่บนเหรียญขนาดเล็ก ซึ่งเป็นผลงานปลายน้ำและปนเปื้อนไปด้วย Human Errors จากใครก็ไม่รู้ในกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ ถึงอย่างนั้นก็ดี โดยทั่วไปมักยกย่องกันว่า เหรียญทั้ง 2 แบบเป็นผลจากความอุตสาหะและอัจฉริยภาพของศาสตราจารย์ศิลป์แต่เพียงผู้เดียว
ทีมที่ถูกลืม
การผลิตเหรียญกษาปณ์เงินสำหรับรัชกาลที่ 7 เกิดขึ้นหลังจากเปลี่ยนรัชกาลแล้ว 3-4 ปี หรือราวปลายปี 2472 ครั้งนั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ในนามศิลปากรสถานทรงคิดแบบลายเส้นเหรียญกษาปณ์ทั้ง 2 ด้านทูลเกล้าฯ ถวายถึง 6 แบบด้วยกัน ในจำนวนนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือก แบบพระบรมรูปผินพระพักตร์ทางซ้ายสำหรับด้านหน้า และแบบช้างยืนแท่นสำหรับด้านหลังแล้ว ได้พระราชทานคืนมายังศิลปากรสถานเพื่อทำเป็นแบบปั้น สำหรับส่งให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดสร้างแม่พิมพ์ต่อไป ประติมากรรมต้นแบบที่คงจะทำจากปูนปั้นและยังสาบสูญอยู่ในปัจจุบันนี้ ได้ปั้นขึ้นจนเสร็จและส่งไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2472 (2473 ตามระบบปีปฏิทินปัจจุบัน) รวมทั้งหมด 3 ชิ้นคือ ด้านหน้า 1 ชิ้น และด้านหลัง 2 ชิ้น สำหรับชนิดราคา 50 และ 25 สตางค์ โดยในเวลาต่อมาสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์มีลายพระหัตถ์อีกฉบับ ความตอนหนึ่งว่า
“นายช่างผู้ที่ปั้นแบบตราเหรียญ 50 และ 25 สตางค์นั้น มีใจผูกพันอยากจะใคร่ได้ดูแม่พิมพ์ซึ่งทำขึ้นแล้วก่อนที่จะตีเงิน เพราะว่าถ้าหากมีสิ่งใดที่เสียอยู่บ้าง จะได้มีโอกาสแก้ได้”
ท้ายที่สุดเมื่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแจ้งว่า ต้นแบบทางด้านพระบรมรูปได้แช่แบบเป็นทองแดง หรือถอดแบบด้วยวิธี Electrotype และพร้อมนำเข้าเครื่องย่อลายแล้ว เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2472 (2473 ตามระบบปีปฏิทินปัจจุบัน) ก็ทรงให้ส่งเฟโรจีไปตรวจสอบการทำงาน
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวบนเหรียญกษาปณ์เงิน พ.ศ. 2472 ชนิดราคา 50 สตางค์
นอกจากจะเชื่อได้ว่า เฟโรจีเป็นประติมากรผู้ปั้นต้นแบบของเหรียญกษาปณ์ชุดนี้แล้ว ยังเห็นถึงความเอาใจใส่ของเขาที่มีต่อการทำงานประติมากรรม โดยน่าจะเป็นผู้อาสาไปตรวจสอบงานในส่วนโรงกระสาปน์สิทธิการเอง ทั้งที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบตามสังกัดแบบราชการ และในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่า โรงกษาปณ์สยามซึ่งมีอุปกรณ์การทำงานด้วยวิธีย่อลายแบบครบวงจรแล้วในสมัยนั้น สามารถทำงานเกือบครบวงจรการผลิต สำหรับแม่พิมพ์เหรียญหนึ่งด้านได้ภายในระยะเวลาเดือนเศษ และคงจะสำเร็จลงในเวลาหลังจากนี้ไม่นานนัก อย่างไรก็ตามอาจมีปัญหาในด้านอื่น เช่น สภาพเศรษฐกิจ ราคาโลหะเงิน ระยะเวลาการผลิต ฯลฯ ที่ทำให้การประกาศใช้เหรียญกษาปณ์ชุดนี้ล่าช้าออกไปอีก 1 ปี
เมื่อกระบวนการผลิตทุกอย่างจบลงไป และมีการประกาศใช้เหรียญกษาปณ์เงินประจำรัชกาลที่ 7 ทั้ง 2 ชนิดราคาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2473 (2474 ตามระบบปีปฏิทินปัจจุบัน) กลับเป็นโล่พระบรมรูปทองแดงเอง ที่กระทรวงธรรมการเป็นผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างขึ้นภายหลัง ตามคำขอของพระปาน วัดบางนมโค ที่บูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ในท้องที่ไปแล้วกว่า 30 วัด สิ้นเงิน 4 แสนบาทเศษ จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระครูพิเศษทางการก่อสร้างที่ พระครูวิหารกิจจานุการว่า ต้องการจะขอพระราชทานพระบรมรูปหรือเครื่องหมายบางอย่าง สำหรับประดับไว้บนอาคารที่ได้ปฏิสังขรณ์ มาเป็นที่ระลึกถึงพระราชบุญญาภินิหารที่ช่วยให้การทำงานของท่านลุล่วงไปได้ด้วยดี
โล่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานพระอธิการโสภร วัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2476
ที่มา จังหวัดพิษณุโลก, สมุดภาพพิษณุโลก, (นนทบุรี: ต้นฉบับ, 2566), 196.
การจัดสร้างโล่พระบรมรูปนี้ เมื่อเสนาบดีกระทรวงธรรมการได้นำคำขอนี้ไปปรึกษากับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ช่วงกลางปี 2474 จนเห็นว่า ควรจะจัดสร้างได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้โรงเรียนเพาะช่างปั้นขยายจากต้นแบบของกรมศิลปากร แล้วออกระเบียบการขอพระราชทานพระบรมรูปไปประดับอาคารลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2475 โดยมีพระอุโบสถวัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระครูวิหารกิจจานุการครองวัดอยู่ได้รับพระราชทานเป็นลำดับแรก
นอกจากกรณีนี้เอกสารจดหมายเหตุยังให้ข้อมูลต่อไปเกี่ยวกับการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475 ในขนาดและวัสดุต่างๆ ว่า เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนแบบลายเส้น ถวายให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกแล้ว แบบที่ทรงเลือกได้ถูกส่งกลับมา เพื่อเปลี่ยนให้เป็นงานประติมากรรมนูนต่ำต่อไป ซึ่งประติมากรผู้ได้ทำงานนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากเฟโรจีที่ทำงานอยู่ในศิลปากรสถานจนสำเร็จลงเป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนการทำงานที่เป็นไปตามระบบและดูราบรื่นนี้จะดำเนินการต่อไป และเหรียญดังกล่าวก็ควรเป็นผลงานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ร่วมกับเฟโรจีตามปกติ แต่เมื่อนำประติมากรรมต้นแบบชิ้นนี้ทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดพระบรมรูปของพระองค์เอง และมีพระราชดำริว่าให้ลดพระนาสิก (จมูก) กับพระมัสสุ (หนวด) ที่โด่งและนูนสูงเกินไปลง โดยทรงส่ง หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล มา ‘ชี้แจงด้วยวาจา’
ประติมากรรมต้นแบบเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475 ด้านหน้า ของกรมศิลปากร
ที่มา คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี, ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-8, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539), 241.
อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาของการ ‘แก้แบบ’ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2473 (2474 ตามระบบปีปฏิทินปัจจุบัน) นั้น เฟโรจีได้เดินทางกลับไปประเทศอิตาลี เพื่อควบคุมการหล่อพระบรมรูปที่จะประดิษฐานเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เองก็ทรงกังวลว่า หากทำงานแก้ไขลงบนประติมากรรมชิ้นนั้นโดยตรงแล้วเสียไปก็จะเสียเลย กลับคืนดีไม่ได้อีก จึงทรงจัดให้สถาปนิกและจิตรกรคือ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร และลุซซีช่างเขียน ปั้นประติมากรรมต้นแบบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายใหม่เพิ่มเติม รวมกับแบบเดิมของเฟโรจี เป็นจำนวน 3 แบบ และหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกแบบที่หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรเป็นผู้ปั้นแล้ว ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขต้นแบบของเหรียญที่ระลึกชุดนี้อีกเลย
เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475 ด้านหน้า
ใช่ ไม่ใช่ อันไหนอาจารย์ศิลป์ทำ
ถึงตอนนี้ ผู้อ่านคงเห็นว่าเหรียญทั้ง 2 รูปแบบ มีส่วนที่เป็นผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์จริง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ใช่เจ้าของผลงานทุกชิ้นในแต่ละ Models ที่กล่าวมา และเราพบว่า ฝีไม้ลายมือของอาจารย์ศิลป์ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในผลงานชิ้นใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตามแต่โอกาสจะอำนวย ประเด็นสำคัญที่สุดคือ จะเห็นว่าเฟโรจีคนนี้ไม่ได้ถูกว่าจ้างมาให้ทำงานเองทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบตามอย่างศิลปินอิสระ แต่กลับเป็น ‘ทีมงาน’ ชั้นดีที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมอบหมายให้พัฒนาแบบลายเส้นของพระองค์ ไปเป็นประติมากรรมต้นแบบอยู่หลายครั้ง และการสร้างแม่พิมพ์เหรียญด้วยวิธีย่อลาย ก็ช่วยรักษาความเหมือนต้นแบบไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าบางครั้งเครื่องจักรอาจตีพิมพ์ลวดลายได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม
หากเชื่อว่า ประติมากรรมต้นแบบของเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475 ที่เก็บรักษาไว้โดยกรมศิลปากรนั้นเป็นของเฟโรจีจริง (เพราะต้นแบบด้านหน้าเหรียญที่ไม่ได้ใช้ผลิตจริงพบเพียง 1 จาก 2 ชิ้น เท่านั้น) ประติมากรรมชิ้นดังกล่าวก็อาจจะดูงดงามเป็นพิเศษตามแบบงาน ‘ชั้นครู’ อย่างที่ซึมซาบกันทั่วไป แต่ก็มีคุณงามความดีส่วนหนึ่งหรือไม่ที่ควรตกกับหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร ผู้ทรงเป็นเจ้าของผลงานต้นแบบสำหรับการผลิตจริง
หรือหากเป็นความต้องการของกระทรวง ทบวง กรมอื่น บางครั้งงานเสกสรรปั้นแต่งก็ถูกส่งต่อไปตามเส้นทางนั้น อย่างโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งเป็นสำนักเรียนใหญ่ของกระทรวงธรรมการและสามารถทำงานปั้นขยายตามต้นแบบของเฟโรจีได้
คำติ คำชมในส่วนการปรับแต่ง แก้ไขปริมาตร และรายละเอียดบางส่วนเพื่อให้เข้ากับขนาดและวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนไปควรตกเป็นของใคร ถ้าไม่ใช่บุคลากรของโรงเรียนเพาะช่างเอง
ท้ายที่สุดแล้ว ประติมากรรมที่มีขนาดใหญ่กว่า ไม่ได้หมายความว่าจะใกล้เคียงความเป็นต้นแบบมากกว่าแต่อย่างไร ดังนั้นผลงานบนหน้าเหรียญสมัยใหม่ของไทยก็ใช่จะมาจากอาจารย์ศิลป์คนเดียวฉันนั้น แต่กลับกันอาจยังคงเป็นเขาเองที่ทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ แล้วกลายเป็นแรงบันดาลใจ ที่ขับเคลื่อนศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยไปพร้อมกับคนอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน (?)
Happy Birthday อาจารย์ศิลป์-ประติมากรผู้ทำงานหลายอย่าง แต่ไม่ได้ทำทุกอย่าง
อ้างอิง
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี. (2539). ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-8. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
จังหวัดพิษณุโลก. (2566). สมุดภาพพิษณุโลก. นนทบุรี: ต้นฉบับ.
น. ณ ปากน้ำ (นามปากกา). (2550). ความงามในศิลปะไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 47 หน้า 437-438 วันที่ 15 มีนาคม 2473. ประกาศเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ว่าด้วยเหรียญกระษาปณ์เงินชนิดราคาห้าสิบสตางค์ และยี่สิบห้าสตางค์อย่างใหม่.
. เล่ม 49 หน้า 834-835 วันที่ 5 มิถุนายน 2475. แจ้งความกระทรวงธรรมการ.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กรมราชเลขานุการ. ร.7 รล.15.1 ฉ./1 เรื่องเหรียญที่ระลึกในงานฉลองพระนครครบ 150 ปี แผนกสร้างเหรียญและการเบิกจ่าย (14 พฤษภาคม 2473-5 ตุลาคม 2475).
. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 เบ็ดเตล็ด. ร.7 บ.4/63 สร้างพระบรมรูปสำหรับพระราชทานแก่สถานที่ต่าง ๆ (24 ก.ย. 2473-30 ส.ค. 2475).
. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร. (4) ศธ. 2.1.2.1/65 การทำแบบตราเงินเหรียญ (21 ต.ค. 2472-5 พ.ย. 2473).
. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร. (4) ศธ.2.1.2.1/76 การจัดทำเหรียญที่ระลึกสำหรับพระราชทานในงานสมโภชพระนครครบ 150 ปี (17 พ.ค. 2473-26 ก.ย. 2474).
Tags: คอร์ราโด เฟโรจี, อาจารย์ศิลป์, Feature, เหรียญกษาปณ์, ศิลป์ พีระศรี