การสร้างบรรยากาศในสถานที่ทำงานให้น่าอยู่ โดยเฉพาะการทำให้เหล่าพนักงานสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากแต่ละคนก็มักมีบุคลิกที่แตกต่างกันไปในการทำงาน เรามักแบ่งรูปแบบบุคลิกของคนอย่างง่ายๆ เป็นอินโทรเวิร์ต (Introvert) และเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ซึ่งแน่นอนว่าทุกแห่งย่อมประกอบไปด้วยคนทั้งสองบุคลิกดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่ที่ทำงาน 

ดังนั้น การสร้างสมดุลความเข้าใจในการทำงานระหว่างพนักงานที่มีบุคลิกภาพแบบอินโทรเวิร์ตและเอ็กซ์โทรเวิร์ตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในขณะที่บุคลิกแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ตมักต้องการเป็นจุดสนใจ ชอบแบ่งปันมุมมองของตนเอง และสามารถโต้ตอบกับคำถามหรือปัญหาที่เข้ามาได้อย่างรวดเร็ว บุคลิกแบบอินโทรเวิร์ตก็เป็นคนที่มักสงวนตัวและต้องการเป็นอิสระ รวมถึงอาจต้องการเวลาในการครุ่นคิดเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา และไม่ต้องการเรียกร้องความสนใจมาที่ตนเอง

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความแตกต่างอยู่บ้างระหว่างทั้งสองบุคลิกในเรื่องของลักษณะนิสัย หากแต่สิ่งที่ทั้งอินโทรเวิร์ตและเอ็กซ์โทรเวิร์ตมีความต้องการร่วมกันในที่ทำงาน คือความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในที่ทำงาน

หลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะเป็นคนบุคลิกแบบอินโทรเวิร์ตในโลกที่การประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับการต้องพยายามแสดงตัวให้มากเข้าไว้ หรือบางครั้ง เราก็มักได้เห็นประเด็นดราม่าที่มีผู้ตั้งข้อวิจารณ์คนทำงานที่มีบุคลิกแบบอินโทรเวิร์ตในที่ทำงานบนโซเชียลมีเดีย

ขณะเดียวกันมีผู้วิเคราะห์ไว้ถึงข้อดีของการมีพนักงานที่มีบุคลิกอินโทรเวิร์ตในที่ทำงาน ทั้งการเป็นผู้ที่รับฟังคนอื่น มีความสามารถในการจัดระเบียบและวางแผน มีทักษะการสังเกตและวิเคราะห์ข้อมูล มีความตั้งมั่นในความคิดตนเอง และทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีระบบ ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องพยายามสังเกตจุดแข็งของพวกเขา เพราะการเข้าใจย่อมจะช่วยให้สามารถมอบหมายงานตามประเภทบุคลิกภาพของพวกเขาได้ดีขึ้น และการรู้จุดแข็งและจุดอ่อนเหล่านี้สามารถช่วยให้บริษัทตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้มากขึ้น เกี่ยวกับการจัดการพนักงาน 

แล้วเราจะทำอย่างไรให้เหล่าพนักงานอินโทรเวิร์ตไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนเองเป็น แต่ก็สามารถสนับสนุนและดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้ดีที่สุด คำตอบของคำถามนี้อาจเชื่อมโยงไปสู่คำว่า ‘การยืดหยุ่น’ ในสถานที่ทำงาน ดังต่อไปนี้

1. จัดให้มีมุมหรือพื้นที่สงบ – สถานที่ทำงานควรต้องมีมุมหรือพื้นที่ทำงานที่ผู้คนสามารถเลือกนั่งทำงานอย่าง ‘สันโดษ’ ได้ อาจไม่จำเป็นต้องถึงขนาดจัดให้มีห้องพิเศษสำหรับพนักงานทุกคน แต่การพยายามสร้างบรรยากาศให้พื้นที่ทำงานมีความ ‘สงบเงียบ’ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

2. เคารพขอบเขต – อย่ากดดันให้พนักงานของคุณมีส่วนร่วมทุกเรื่อง เพราะเหล่าพนักงานอินโทรเวิร์ตอาจต้องใช้เวลาชาร์จพลังหลังจากมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และอาจไม่พร้อมสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างทีมทุกครั้ง ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องปกติ

3. สร้างกิจกรรมกระชับสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น – เมื่อพูดถึงกิจกรรมการสร้างทีม เรามักนึกถึงการละลายพฤติกรรมต่างๆ ที่ต้องมาพบปะเล่นกิจกรรมร่วมกัน แต่การมีทางเลือกกิจกรรมที่เป็นมิตรสำหรับเหล่าพนักงานอินโทรเวิร์ตก็ถือเป็นข้อสำคัญ เช่น เกมออนไลน์ หรือการใช้แพลตฟอร์มการสื่อสารภายในทีมอย่าง Slack เพราะพนักงานเหล่านี้อาจสนใจกิจกรรมรูปแบบออนไลน์หรือการกระชับสัมพันธ์ในรูปแบบ ‘ข้อความ’ มากกว่าการร่วมกิจกรรมจริงๆ

4. ให้เวลา – เมื่อมอบหมายงานให้กับเหล่าพนักงานอินโทรเวิร์ต หรือต้องการความช่วยเหลือ อาจต้องให้เวลาพวกเขาสักพักในการคิดหาคำตอบ หรือหาหนทางการจัดการและแก้ไข เพราะพวกเขาอาจต้องการเวลาเพื่อครุ่นคิดสิ่งที่กำลังจะนำเสนอให้ดีที่สุดเสียก่อน

5. เปิดโอกาสให้พูดคุยตัวต่อตัว – หากคุณเป็นหัวหน้าและต้องทำการประชุม เมื่อการประชุมสิ้นสุดลง ลองแจ้งให้ทีมทราบว่าทุกคนสามารถเข้ามาพูดคุยกับคุณในภายหลังได้ เนื่องจากต้องเข้าใจว่าเหล่าพนักงานอินโทรเวิร์ตบางคนอาจชอบพูดคุยแบบตัวต่อตัวมากกว่าการพูดคุยในกลุ่มใหญ่ หรืออาจต้องใช้เวลาสักพักในการตกผลึกต่อสิ่งที่ต้องการถาม

6. สังเกตจุดแข็งและให้โอกาส – เมื่อต้องเป็นผู้มอบหมายงาน ลองพยายามนึกถึงงานหรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของพนักงาน เพราะการจับคู่งานกับจุดแข็งของพนักงาน ไม่เพียงแต่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้เปล่งประกายอย่างเต็มที่ พร้อมกับความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในที่ทำงาน

7. เกลี่ยการสนทนาให้ดี – เมื่อมีการจัดเซสชันการประชุมกลุ่ม พยายามเป็นตัวกลางที่จะเกลี่ยบทสนทนาในกลุ่มให้ดีที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าเหล่าพนักงานอินโทรเวิร์ตจะมีโอกาสได้พูดหรือแสดงความคิดเห็น

ที่มา: 

– nytimes.com

– zenefits.com

Tags: , , , , ,