วันนี้คุณนิยามคำว่า ‘ไอดอล’ เอาไว้อย่างไร
วงดนตรี ศิลปิน คนทำเพลง หรือเอนเตอร์เทนเนอร์ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำนิยามของผู้ฟังและแฟนคลับในการพูดถึงวงที่รัก ซึ่งมีรูปแบบการแสดงที่หลากหลาย และจะยิ่งซับซ้อนไปอีกหากเราพูดถึงคำว่า ‘ไอดอล T-Pop’ ที่จะมีความแตกต่างจากไอดอลญี่ปุ่นอันมีภาพจำว่า ต้องปฏิบัติตามบริษัทแม่ ทำตามกฎอย่างเคร่งครัด เพราะไอดอลในแบบไทยๆ นั้นมีอิสระในการคิดและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
จึงเป็นเหตุให้ QRRA เกิร์ลกรุ๊ปสไตล์ทีป็อป (T-Pop) จากค่าย Independent Records ตัดสินใจออกแบบคำว่า ‘ไอดอล’ เสียใหม่ ให้มีความเป็นไทยทั้งในแง่ของดนตรี เนื้อเพลง คอนเซปต์วง และรายละเอียดอื่นๆ ที่เรียกได้ว่า สร้างขึ้นมาใหม่ด้วยมือของพวกเธอแทบทั้งหมด
The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับสมาชิกวงทั้ง 5 คน อย่าง ฟ้อนด์-ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา, นิว-ชัญญาภัค นุ่มประสพ, นิกี้-วรินท์รัตน์ ยลประสงค์, ป๊อปเป้อ-พิณญาดา จึงกาญจนา และปาเอญ่า-นิพพิชฌาน์ พิพิธเดชา ถึงเรื่องราวตั้งแต่วันแรกของ QRRA จนถึงปัจจุบัน ที่พยายามให้คำว่าไอดอลไทยมีภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น
การรวมตัวในชื่อ QRRA เกิดขึ้นได้อย่างไร
ฟ้อนด์: ในตอนแรกเรามีการฟอร์มวงมาก่อนอยู่แล้ว แต่ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้สมาชิกเหลือแค่เรา ชัญญ่า แล้วก็นิกี้ ตอนนั้นก็นั่งคุยกันนะว่าจะไปต่อไหมกับวงไอดอล T-Pop แม้ตอนแรกนิกี้จะลังเลอยู่บ้าง แต่สุดท้ายเราก็ไปกันต่อ ผู้ใหญ่เลยให้โจทย์ว่า ต้องรับคนเข้ามาเพิ่มเลยต้องทำการออดิชัน
จนสุดท้ายก็ได้ป๊อปเป้อและปาเอญ่ามาเติมเต็มให้กับวง
ถ้าถามในมุมของเราเองว่า ทำไมอยากไปต่อคือ เรามีแพสชันกับวงนี้มาก แล้ว 2 วงก่อนหน้าอาจมีอุปสรรคบางอย่างจนทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นถ้าวันนี้ผู้ใหญ่ยังมอบโอกาสให้เราอยู่ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทิ้งมันไป คืออย่างน้อยขอให้ได้ลองทำอีกสักครั้งหนึ่ง ถ้ามันไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นอะไร ถือว่าได้ลองแล้ว
ชัญญ่า: สำหรับเรารู้สึกว่า เป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่จะได้ลองทำ คือพอได้ทำท่าปั้นข้าวมาแล้ว (ท่าเต้นจากเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ของวง BNK48) พอได้มาลองทำแนวที่มันเป็น T-Pop ก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเรา
นิกี้: เราเป็นคนเดียวในวันนั้นที่ยังลังเล เพราะตอนนั้นพูดตามตรง ยังไม่รู้ว่าอนาคตของการทำวงแบบนี้จะเป็นอย่างไร อาจเป็นเพราะเราเคยผิดหวังมาจาก 2 วงก่อนหน้าด้วย เลยบอกกับทั้ง 2 คนตรงๆ ว่า ขอเวลาตัดสินใจก่อน แต่สุดท้ายสิ่งที่ทำให้เลือกจะไปต่อ คงเป็นเพราะคำว่า ‘โอกาส’ ที่เข้ามา ถ้าไม่ได้ทำ คงรู้สึกเสียดายไปตลอดหลังจากนี้แน่ๆ
ต้องการคนแบบไหนสำหรับสมาชิกใหม่ของ QRRA
ชัญญ่า: จริงๆ ไม่ได้มีภาพที่ชัดเจนเลยว่า ต้องการคนแบบไหน เราพิจารณาจากคนที่มาคัดเลือกกับเรา แล้วปาเอญ่ากับป๊อปเป้อเป็น 2 คนที่ทำได้ดีที่สุด คือทั้งคู่เป็นคนที่มีเสน่ห์และคาแรกเตอร์บางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่า เขามาถูกที่แล้ว และตอนนี้ถึงเวลาที่พวกเขาต้องได้เฉิดฉายสักที
ถามในมุมของสมาชิกใหม่บ้างว่า อะไรทำให้คุณตัดสินใจมาร่วมวง
ปาเอญ่า: เราก็เป็นแฟนคลับวงก่อนหน้ามาอยู่แล้ว ดังนั้นพอวันที่เขาเปิดโอกาสให้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ก็เลยตัดสินใจลองไปคัดเลือก ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะเป็นวง QRRA ด้วยซ้ำ คิดว่าจะเป็นวงอื่นไปเลย แต่พอได้อยู่กับวงนี้ก็เป็นเหมือนอีกก้าวที่ฝันไว้ของเราเหมือนกัน
ป๊อปเป้อ: ขอใช้คำว่าอยากท้าทายตัวเองมากกว่า เพราะเอาเข้าจริงเราไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นส่วนหนึ่งของวงเกิร์ลกรุ๊ปขนาดนี้ แต่พอมันมีโอกาสเข้ามา ก็เลยอยากลอง อยากท้าทายตัวเองดูสักครั้ง
สำหรับ QRRA จะมีความแตกต่างจากวงก่อนๆ อย่าง LYRA และ VYRA อย่างไรบ้าง
ฟ้อนด์: อธิบายคร่าวๆ มันจะแตกต่างในรูปแบบของคอนเซปต์วง สไตล์การทำเพลง รวมถึงการออกงานต่างๆ
ชัญญ่า: เราคุยกันตลอดว่าอยากพาวงไปทิศทางไหน เพื่อให้มีความแตกต่างจาก 2 วงก่อนหน้า ซึ่งสุดท้ายเราได้คำตอบจากคำพูดของคนอื่นว่า วง QRRA เหมือนวงเจ้าหญิง เป็น T-Pop ที่แตกต่างจากวงอื่นๆ
หากเปรียบ QRRA เป็นใครสักคนหนึ่ง คนนั้นเขาจะมีนิสัยและบุคลิกอย่างไร
นิกี้: มีคนแบบนี้อยู่บนโลกด้วยเหรอ (หัวเราะ)
ฟ้อนด์: เป็นคนซึนเดเระ มีฟอร์มในการคุยกับคนอื่นๆ ปากไม่ค่อยตรงกับใจ แต่ก็ยังมีความซุกซนขี้เล่นตามสไตล์เด็กสาวอยู่
เพลงเดบิวต์ของ QRRA คือ Miracle ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องใช้เพลงนี้ เป็นเพลงเปิดตัว
ป๊อปเป้อ: เพลงนี้เริ่มมาจาก B-Rock ที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ เขาทำเพลงมาก่อน 3 เพลงให้เราเลือก ซึ่งพวกเราเลือก Miracle และเพลงนี้ที่เราอยากให้เป็นเพลงเดบิวต์ของวง เพราะมันถ่ายทอดตัวตนของสมาชิกวง เป็นเพลงที่มีความเป็น QRRA มากที่สุด
ฟ้อนด์: ส่วนเนื้อเพลงเราก็มานั่งคุยกับนักเขียนว่า ถ้าเราจะจีบคนคนหนึ่ง จะมีวิธีการ จะต้องทำอะไรบ้าง
คำว่า ‘เพลงที่มีความเป็น QRRA’ ที่พวกคุณพูดถึงคืออะไร
ปาเอญ่า: เราว่าเพลงของวงจะมีความสว่าง ความปัง ฟังแล้วเหมือนมีกลิตเตอร์กรุ๊งกริ๊ง ใสๆ อยู่ข้างในหู
ในวันนี้ ไม่ง้อจะพอแล้วนะ (Enough) คือเพลงล่าสุดของวง พวกคุณพัฒนามันขึ้นมาอย่างไรบ้าง
ชัญญ่า: ตอนนั้นทางทีมอยากได้เพลงช้าที่ต้องเศร้า พวกเราเลยไปทำการบ้านว่า จะเล่าเรื่องอะไรในเพลง สุดท้ายก็ได้คำว่า ‘ไม่ง้อจะพอแล้วนะ’ มา
นิกี้: คือคำนี้เราได้เพราะตอนคุยกับพี่ฮาย (ธันวา เกตุสุวรรณ) สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า อยากได้เพลงที่สื่อถึงความรักที่มีปัญหากันอยู่ แต่ไม่อยากได้ปัญหาที่มันรุนแรงจนถึงขนาดที่ต้องเลิกกัน แบบนั้นมันเครียดเกินไป เราเลยนึกถึงภาวะการง้อ-งอนกัน เลยได้คีย์เวิร์ดนี้มา ก่อนที่จะถูกนำไปพัฒนาเป็นท่อนอื่นๆ
พูดถึงการเป็นไอดอลไทยของพวกคุณในตอนนี้ มีความแตกต่างจากการเป็นไอดอลญี่ปุ่นไหม
นิกี้: เราว่าแตกต่างเรื่องการทำงาน เพราะไอดอลญี่ปุ่นจะมีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเพลง ท่าเต้น เขามีรูปแบบจากวงหลักอยู่แล้ว เราแค่เอามาทำในรูปแบบของไทย รวมถึงยังมีกฎต่างๆ ที่เราต้องปฏิบัติตามด้วย
แต่พอเป็นไอดอลไทย เราจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการอื่นๆ มากขึ้น ทั้งคอนเซปต์เพลง เนื้อเพลง หรือท่าเต้น
ป๊อปเป้อ: พอได้มาเป็น QRRA เรารู้สึกว่ามันมีผ่อนคลายมากขึ้น เป็นความรู้สึกและประสบการณ์คนละแบบเมื่อเทียบกับ BNK48
ฟ้อนด์: สำหรับเรามีความยากในการปรับตัวอยู่บ้างคือ เราชินกับการเป็น BNK48 มาตลอด 6 ปี แต่พอทุกวันนี้ต้องมาเป็นฟ้อนด์ QRRA มันเหมือนต้องเริ่มใหม่ ก็เป็นจุดที่ท้าทายตัวเราอยู่ไม่น้อย
คิดว่าอะไรที่ทำให้เพลง T-Pop ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
ชัญญ่า: สำหรับเราคือการเต้น เราคิดว่ายุคนี้จะร้องเพลงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว มันต้องมีเต้น มีการทำ Visual ด้วย มันจะถึงกลุ่มผู้ฟังได้มากยิ่งขึ้น
ป๊อปเป้อ: เราว่ามันคือการหยิบอะไรที่คนชอบอยู่แล้วกลับมาทำใหม่ เพราะเมื่อก่อนกระแส T-Pop ก็เคยได้รับความนิยมมาแล้วก่อนหน้า
คำว่า ‘ไอดอล’ กับ ‘ศิลปิน’ สำหรับพวกคุณมีความหมายแตกต่างกันไหม
ฟ้อนด์: ไม่ต่างกันเลย อยู่ที่คนจะคุ้นชิน หรือมองเราในบริบทไหน เพราะเราเป็นทั้งคนที่ทำเพลงและเอนเตอร์เทนคนดูในทุกโชว์เช่นกัน จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ในไทยนะ ทุกวันนี้ศิลปินหรือไอดอลทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีเอง เขาก็มีรูปแบบการทำงานไม่ต่างกันแล้ว อยู่ที่ว่าคนจะจำกัดความพวกเขาด้วยคำไหน
ชัญญ่า: อาจเป็นเพราะในอดีต ผู้คนมีภาพจำไอดอลญี่ปุ่น ที่มีหน้าที่สร้างความบันเทิงเป็นหลัก ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับด้านกระบวนการทำเพลงเท่าไรนัก ทำให้ 2 คำนี้ยังมีเส้นแบ่งที่แยกชัดเจนอยู่
แล้วจำเป็นไหม ที่ศิลปินจำเป็นต้องนำเสนอภาพลักษณ์และรูปร่างหน้าตา
ปาเอญ่า: เรื่องนี้มันอยู่ที่ศิลปินมากกว่าว่า เขาต้องการโชว์เพียงแค่ผลงาน หรือต้องการจะโชว์ความเป็นตัวเองในทุกเรื่องให้คนได้รับรู้
สุดท้ายแล้ว คนที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ก็เป็นคนดูมากกว่า ที่ก็มีความแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะชอบฟังแค่เพลง ไม่ได้สนใจตัวศิลปิน หรือบางคนที่พอฟังเพลงแล้วชอบมากๆ จึงค่อยมาตามตัวศิลปินที่หลังแบบนี้ก็มีเช่นกัน
นิกี้: อย่างศิลปินที่เรารู้จักคนหนึ่งคือ Ado เขาไม่เคยเปิดเผยหน้าตา แต่ผลงานของเขาก็มีคุณภาพ ยังมีกลุ่มแฟนคลับคอยตามผลงานเขาอยู่
หากอยากเป็นไอดอลต้องทำอย่างไรบ้าง
ชัญญ่า: เล่าผ่านการทำวง QRRA เลยก็ได้ ว่ามันยากมาก กับการจะหาพื้นที่ของตัวเองในวงการ T-Pop เพราะตอนแรกเรายังหาตัวตน ยังหาคอนเซปต์ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องมีหากจะเข้ามาในวงการนี้คือ ทุกคนต้องมีเอกลักษณ์ชัดเจน รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เป็นวงแบบไหน
มันต้องชัดขนาดที่ว่า แค่ฟังเพลงก็รู้เลยว่าเป็นของวงไหน หรือเวลาพูดชื่อวง ก็จะนึกสไตล์เพลง นึกคอนเซปต์ของวงออกทันที
แล้วพวกคุณใช้วิธีแบบไหน ในการทำเพลงฮิตขึ้นมา
นิกี้: ตอบยากมาก เพราะเพลงที่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะดัง หรือเพลงที่ดังบางคนก็อาจบอกว่าไม่ดี แบบนี้มันก็มี
ป๊อปเป้อ: จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นคำถามของพวกเราเหมือนกันว่า ต้องทำอย่างไรกันแน่
ฟ้อนด์: แต่เราเชื่อว่า สุดท้ายต้องทำเพลงให้สม่ำเสมอเข้าไว้ก่อน แล้วเดี๋ยวเพลงมันจะทำงานด้วยตัวของมันเอง
Tags: ไอดอล, คาร์ร่า, The Frame, T-POP, QRRA, Independent Records, ฟ้อนด์ QRRA, นิว QRRA, นิกี้ QRRA, ป๊อปเป้อ QRRA, ศิลปิน, ปาเอญ่า QRRA