จะมีศิลปินกี่คนบนโลกที่ทั้งผลงานและตัวตนของพวกเขาจะสะท้อนอัตลักษณ์ของชนชาติที่พวกเขาอาศัยได้เท่ากับ ฟรีดา คาห์โล และ ดิเอโก ริเวรา – คู่สามีภรรยาศิลปินชาวเม็กซิกันที่ใบหน้าของพวกเขาปรากฏอยู่บนธนบัตรมูลค่า 500 เปโซที่ใช้กันทั่วประเทศเม็กซิโก

ในขณะที่เราพบว่าผลงานจิตรกรรมของดิเอโก ริเวรา ปรากฏอยู่ตามพื้นที่สาธารณะหลากหลายแห่งทั่วเม็กซิโก ซิตี้ และเมืองใหญ่อื่นๆ ในย่านท่องเที่ยวแทบทุกเมืองทั่วประเทศ เราก็จะพบกับใบหน้าคมๆ หนวดบางๆ และมีคิ้วติดกันของฟรีดา ปรากฏอยู่ในรูปแบบของโปสเตอร์ ปฏิทิน เสื้อยืด และอีกหลากหลายของที่ระลึก ไม่นับรวมจากกรอบรูปที่แขวนประดับบ้านของใครหลายคน ประหนึ่งรูปที่มีทุกบ้าน

ทั้งฟรีดาและดิเอโกไม่เพียงจะเป็นศิลปินที่มีส่วนสำคัญในการสร้างชาติเม็กซิโกยุคใหม่ด้วยงานศิลปะ หากอัตลักษณ์ของทั้งคู่ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวแก่เม็กซิโกในยุคปัจจุบัน แม้พวกเขาจะจากไปเกินกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

ไม่เพียงแค่การมีตัวตนเป็นสัญลักษณ์ แต่ทั้งบ้านและสตูดิโอของศิลปินทั้งคู่ก็ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ a must ของเม็กซิโก ซิตี้ เฉกเช่นหากคุณได้มาเชียงใหม่แล้วต้องไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ หรือมาเยือนปารีสแล้วต้องไปเยือนพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ อะไรทำนองนั้น

บ้านของฟรีดาอยู่ในเขตโคโยอาคัน (Coyoacan) เป็นบ้านหลังใหญ่ของครอบครัวของเธอ ขณะที่สตูดิโอของดิเอโก ซึ่งปัจจุบันถูกปรับให้เป็นพิพิธภัณฑ์ Museo Casa Estudio Diego Rivera y Frida Kahlo อยู่ในย่านซาน แองเจล (San Angel) เป็นบ้านพ่วงที่ทำงานขนาดกะทัดรัดของทั้งคู่ ทั้งสองแห่งคือแลนด์มาร์คสำคัญในเส้นทางตามรอยผลงานของศิลปินของนักท่องเที่ยว

จะว่าไป เม็กซิโก ซิตี้ ถือเป็นเมืองเมืองหนึ่งที่มีการปรับเปลี่ยนบ้านของศิลปิน นักคิด และนักเขียนในศตวรรษที่ 20 มาเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวชมไม่น้อย เพราะนอกจากบ้านและสตูดิโอของศิลปินข้างต้นแล้ว ยังมีบ้านทรงโมเดิร์นที่ยังคงความอมตะของ ลุยส์ บาร์รากัน (Luis Barragan) สถาปนิกเม็กซิกันที่มีผลงานดังไกลระดับโลก บ้านของลุยส์ บุนเยล (Luis Bunuel) ผู้กำกับภาพยนตร์สุดเซอร์ฯ ชาวสเปนที่เปลี่ยนสัญชาติและย้ายมาตั้งรกรากที่เม็กซิโก หรือไม่ไกลจากบ้านของฟรีดาในเขตโคโยอาคัน ก็มีบ้านของเลออน ทรอตสกี นักปฏิวัติคนสำคัญของรัสเซียที่ลี้ภัยสตาลินมาอยู่เม็กซิโก (แต่ก็ยังไม่วายมีมือสังหารถูกส่งมาเก็บเขาถึงโต๊ะทำงานที่บ้าน)

กระนั้นก็ดี เว้นแต่บ้านของลุยส์ บาร์รากัน ที่เปิดรับเฉพาะการจองออนไลน์ล่วงหน้า (และคิวจองเต็มเร็วมาก) ก็เห็นจะมีแค่ The Blue House บ้านสีฟ้าของครอบครัวฟรีดาในเขตโคโยอาคันนี่แหละที่หัวกระไดไม่เคยแห้ง กระทั่งในเช้าวันที่ฉันไปเยือนช่วงกลางสัปดาห์ คิวคนรอเข้าก็ยาวเสียจนต้องขดแถว 3-4 ขยักอยู่บนฟุตบาทหน้าบ้าน

หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Frida ที่กำกับโดยจูลีย์ เทย์เมอร์ (Julie Taymor) และนำแสดงโดยซัลมา ฮาเยก (Salma Hayek) ซึ่งออกฉายในปี 2002 คงคุ้นเคยกับบ้านสูงสองชั้นที่ทาสีฟ้าสดใสหลังนี้ดี เพราะนี่คือบ้านที่ฟรีดาอาศัยมาตั้งแต่เด็กกับครอบครัว กระเสือกกระสนจากการเป็นโปลิโอ ระทมทุกข์จากอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกของเธอแตกหักไปทั้งร่าง เริ่มต้นสร้างงานศิลปะจากบนที่นอน  ต้อนรับแขกเหรื่อระดับซูเปอร์สตาร์ของเม็กซิโก เป็นที่หลบภัยแด่ครอบครัวของทรอตสกี ที่สุดยังเป็นเรือนตายหลังสุดท้ายของเธอ หลังจากทนทรมานกับความเปราะบางของร่างกายมาทั้งชีวิต

แม้บ้านจะไม่ได้เก็บผลงานระดับมาสเตอร์พีชของฟรีดาเอาไว้ แต่นิทรรศการในช่วงแรกเมื่อพ้นช่องเก็บตั๋วมา ก็เผยให้เราเห็นถึงผลงานจิตรกรรมในยุคต้นของฟรีดา ตั้งแต่ที่เธอจับดินสอวาดรูปเล่นในวัยเด็ก ไปจนถึงเริ่มทำงานศิลปะระหว่างที่ต้องพักฟื้นร่างกายหลังการผ่าตัด รวมทั้งภาพถ่ายในแต่ละช่วงวัยของเธอที่มีทั้งถ่ายพร้อมหน้าทั้งครอบครัว

พ้นจากโซนนิทรรศการไป ก็เป็นส่วนห้องหับต่างๆ ของตัวบ้าน ที่ผู้ดูแลยังคงเก็บเฟอร์นิเจอร์และของตบแต่งไว้อย่างดีดังเช่นที่บ้านเคยมีชีวิต อย่างห้องครัวที่ไม่เพียงถ้วยชามรามไหจะอยู่ครบ หากงานโมเสกประดับประดานู่นนี่ รวมไปถึงโบราณวัตถุจากยุคแอซเท็คก็เย้าให้ใครมาเห็นก็อดใจไม่ได้ที่จะถ่ายรูปไว้ หรือห้องรับประทานอาหาร ที่ครั้งหนึ่งเคยปรับให้เป็นห้องนอนของดิเอโก ก็ยังมีเสื้อผ้าดิเอโกที่เคยใส่ที่บ้านนี้จัดแสดง เสริมความขลังเข้าไปอีก

 

ที่ฉันชอบเป็นพิเศษคือห้องนอนบนชั้นสอง ห้องนอนที่มีเตียงไม้แบบมีเสาและหลังคาหลังที่ฟรีดาใช้นอนพักฟื้นและใช้เวลาห้วงสุดท้ายของชีวิต บนเพดานของเตียงนอนมีกรอบรูปที่บรรจุผีเสื้อสตัฟฟ์จำนวนสิบกว่าตัว – ภาพที่ฟรีดาเห็นทั้งก่อนนอนและตอนตื่น – ผีเสื้อสตัฟฟ์ที่ราวกับฟรีดาจะยั่วล้อชะตากรรมของตัวเอง สิ่งมีชีวิตที่สวยงามและมีปีกที่โผบินอย่างอิสระ หากต้องมาถูกสตัฟฟ์ใส่กรอบไว้ คล้ายกับที่เธอต้องใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตนอนซมอยู่บนเตียงหลังนี้ ยิ่งเมื่อบวกรวมกับโครงกระดูกจำลองหลากหลายโครงที่ถูกประดับไว้ตามมุมต่างๆ ทั่วบ้าน (ไม่เว้นกระทั่งในสวนกลางบ้าน) ก็คล้ายกับว่าสัญลักษณ์ของความตายเหล่านี้ช่วยขับเน้นความงดงามแห่งความระทมทุกข์ส่วนตัวของเจ้าของบ้านมากเป็นพิเศษ

สวนกลางบ้านที่ตบแต่งด้วยงานประติมากรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพีรามิดและโบราณสถานของชนเผ่ามายา เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ไม่แพ้สิ่งที่อยู่ในตัวบ้าน หากสิ่งที่อิมแพคกับฉันที่สุดในบ้านหลังนี้คือนิทรรศการในช่วงท้ายที่อยู่ในอาคารแยกออกมา นั่นคือนิทรรศการแสดงเครื่องแต่งกายส่วนตัว – อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของฟรีดา – ซึ่งไม่เพียงแค่เดรสแบบเม็กซิกันพื้นถิ่นและเครื่องประดับที่ทั่วโลกคุ้นตา แต่ยังรวมถึงเสื้อรัดลำตัว หรือ corset ที่ฟรีดาต้องสวมใส่ประจำเพื่อจัดกระดูกให้เข้าที่ รวมถึงเฝือกที่ใช้ดามส่วนต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้อาภรณ์ที่งามสง่า ศิลปินต้องทนทรมานมากแค่ไหน (แต่กระนั้นเธอก็ยังมีสุนทรียะมากพอที่จะวาดรูปตบแต่งคอร์เซทและเฝือกส่วนต่างๆ ให้เปี่ยมสีสันได้อย่างน่ารัก)

ห่างออกไปจาก The Blue House ครึ่งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ Museo Casa Estudio Diego Rivera y Frida Kahlo คือบ้านหลังที่สองของฟรีดา ตั้งอยู่ในย่านคนรวยและโรงแรมหรูในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ของเม็กซิโก ซิตี้

อาคารนี้เคยเป็นทั้งที่พักและที่ทำงานของฟรีดาและดิเอโก เป็นผลงานการออกแบบของ ฮวน โอ’กอร์มาน (Juan O’Gorman) สถาปนิกที่เป็นสหายร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับศิลปินทั้งสอง อาคารสไตล์โมเดิร์นนิสต์ที่ฮวนออกแบบเพื่อหวังให้เป็นแม่แบบของบ้านของชนชั้นแรงงาน (แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในเชิงการผลิตในวงกว้าง) สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1931 ภายในพื้นที่มีอาคารอยู่ด้วยกันสามหลัง ได้แก่ อาคารหลังที่เป็นสตูดิโอและห้องนอนของดิเอโก อาคารหลังที่เป็นส่วนพักอาศัยและที่ทำงานของฟรีดา (ซึ่งทาสีฟ้าแบบเดียวกับ The Blue House) และอาคารหลังสุดท้ายเป็นสตูดิโออัดรูปของกุยเลอโม คาห์โล พ่อของฟรีดา ผู้เป็นศิลปินภาพถ่าย  

สถาปัตยกรรมของกลุ่มอาคารนี้ได้รับอิทธิพลมาจากงานของ เลอ คอร์บูซิเยร์ (Le Corbusier) ซึ่งถือเป็นความอินเทรนด์ที่สุดของยุคนั้นพอสมควร ทั้งรูปแบบของอาคารที่ยกพื้นสูงในลักษณะลอยตัว หลังคาเป็น flat roof สำหรับเป็นพื้นที่ใช้สอย บันไดวน และการเจาะช่องหน้าต่างเป็นแนวยาว กรุด้วยกระจก อาคารทั้งสามตั้งอยู่ในสวนกรวดเรียบๆ หัวมุมถนน ล้อมรั้วด้วยต้นแคคตัส ราวกับบ้านฮิปส์เตอร์ยุค pre-pinterest ยังไงยังงั้น    

ในขณะที่ภายในบ้าน The Blue House ของฟรีดารุ่มรวยไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่สะท้อนรูปรอยของชีวิตในอดีต Museo Casa Estudio Diego Rivera y Frida Kahlo แห่งนี้กลับพร่องไปด้วยเรื่องเล่า กระทั่งส่วนที่เป็นสตูดิโอหลักของดิเอโกที่เต็มไปด้วยงานศิลปะและของประดับตบแต่ง (รวมทั้งโครงกระดูกจำลองนับสิบอีกแล้ว!) ก็ยังไม่อาจสลัดภาพของพิพิธภัณฑ์เรียบๆ แห่งหนึ่งไปได้ มิพักเอ่ยถึงอาคารหลังสีฟ้าของฟรีดา (มีสะพานเชื่อมต่อมาจากอาคารของดิเอโก) ที่ไม่เหลือร่องรอยของการเป็นบ้าน หากถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นโถงโล่งๆ ที่นำเสนอรูปถ่ายและข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา (ทั้งเนื้อหาที่เล่าเรื่องชีวิตของทั้งคู่สมัยอาศัยอยู่ที่นี่ และนิทรรศการแสดงภาพจิตรกรรมที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อรับใช้อุดมการณ์สังคมนิยมในยุคนั้น)

กระนั้น ด้วยความดีงามของสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายในตัวบ้าน ก็ถือเป็นความคุ้มค่าอย่างยิ่งที่ต้องมาชมให้ได้สักครั้ง

Fact Box

  • พิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งอนุญาตให้ถ่ายรูปได้ แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมถ่ายรูปเพิ่มเติม ซึ่งไม่แพงเท่าไหร่ แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายเซลฟี่หรือถ่ายรูปบุคคลบริเวณส่วนจัดแสดงภายในอาคาร เพราะความที่มีพื้นที่จำกัด จึงไม่ต้องการให้ผู้ชมคนอื่นๆ ต้องมายืนออรอใครสักคนโพสท่าถ่ายรูป แต่พอออกมานอกอาคารแล้ว จะถ่ายเซลฟี่กี่ร้อยกี่พันภาพก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนมาห้าม
  • The Blue House หรือ Frida Kahlo House Museum เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ 10.00-17.30 น. ค่าเข้าชม 200 เปโซ (ราว 350 บาท) โดยตั๋วใบเดียวกันนี้ยังสามารถนำไปผ่านประตู Anahuacalli Museum อีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ดิเอโกสร้างไว้เพื่อรวบโบราณวัตถุจากชนเผ่ามายาและแอซเท็ค ภายในอาคารออกแบบโดย ฮวน โอ'กอร์มาน ได้แรงบันดาลใจมาจากพีรามิดเตโอติฮัวคัน พีรามิดของชนเผ่าแอซเท็ค ทั้งนี้ Anahuacalli Museum ก็ตั้งอยู่ในย่านโคโยอาคันเช่นกัน
    Museo Casa Estudio Diego Rivera y Frida Kahlo เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ 10.00-17.30 น. ค่าเข้าชม 35 เปโซ (ราว 60 บาท)
  • ทั้งบ้านและสตูดิโอมีผลงานจิตรกรรมของศิลปินทั้งคู่น้อยชิ้นแบบนับนิ้วได้ หากอยากชมผลงานของดิเอโกอย่างจุใจ ไซส์บิ๊กเบิ้ม แนะนำให้ไปชมที่ Diego Rivera Mural Museum และ National Palace โดยเฉพาะที่หลังที่ดิเอโกวาดจิตรกรรมฝาผนังประดับรัฐสภาไว้ ส่วนของฟรีดา ต้องไปที่ Museo Doroles Olmedo และ Museo de Arte Moderno ซึ่งเป็นแกลเลอรี่ศิลปะที่เน้นจัดแสดงผลงานในยุคโมเดิร์นของเม็กซิโกเป็นหลัก
Tags: , , , ,