เมื่อวานนี้ (27 สิงหาคม 2024) ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เรียกร้องให้มีการสอบสวนปม Deepfake สื่ออนาจารในแอปพลิเคชัน Telegram โดยระบุว่า เป็นอาชญากรรมทางเพศในโลกไซเบอร์อีกรูปแบบหนึ่ง ขณะที่สหภาพแรงงานครูและภาคประชาสังคมออกมาแสดงความกังวล หลังมีนักเรียนตกเป็นเหยื่อ ท่ามกลางสถิติคดีคลิปอนาจารจาก AI พุ่งสูงขึ้นในปี 2024
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวฮันคยอเร (Hankyoreh) สื่อเก่าแก่ของเกาหลีใต้ รายงานถึงคลิปอนาจารจาก Deepfake ที่แชร์ในแอปพลิเคชัน Telegram อย่างแพร่หลาย ระบุว่า เหยื่อส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลายและนักศึกษา โดยยกตัวอย่างข่าวฉาวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังบัณฑิตรายหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University: SNU) สร้างสื่อลามกจาก AI โดยใช้ใบหน้าเพื่อนร่วมชั้นของตนเองจากหนังสือรุ่นและโซเชียลมีเดีย ปล่อยคลิปดังกล่าวลงใน Telegram
อย่างไรก็ตาม ซอกยอลกล่าวถึงปัญหาข้างต้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เกาหลีใต้กำลังเผชิญกับวิดีโออนาจารที่ทำจาก Deepfake โดยมีผู้คนจำนวนหนึ่งตกเป็นเหยื่อ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสอบสวน หาตัวผู้กระทำความผิด รวมถึงให้ความรู้ต่อสาธารณชนในประเด็นดังกล่าวมากขึ้น
“ใครก็ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศในโลกดิจิทัลเช่นนี้ได้” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระบุและเสริมว่า การกระทำข้างต้นเป็นการฉกฉวยประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยผู้กระทำความผิดใช้ประโยชน์จากการไม่ระบุตัวตนในโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง
ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานครูและการศึกษาเกาหลี (Korean Teachers and Education Workers Union) ยื่นร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ให้ตรวจสอบประเด็นดังกล่าว หลังมีรายงานว่า นักเรียนจำนวนหนึ่งตกเป็นเหยื่อของคลิปอนาจารจาก AI
นอกจากนี้ภาคประชาสังคมยังเรียกร้องรัฐบาลให้ประกาศสื่อลามก Deepfake เป็นวาระแห่งชาติ โดย แพ บกจู (Bae Bok-joo) นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีและอดีตสมาชิกพรรคยุติธรรม (Justice Party) ระบุว่า เธอไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Telegram เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้ตั้งแต่ 10 ปีก่อน ทว่ากลับเต็มไปด้วยเรื่องราวฉาวโฉ่ นับตั้งแต่ข่าวฉาวของ พัก กึนฮเย (Park Geun-hye) ในปี 2014 จนถึงอาชญากรรมทางเพศอย่าง ‘Nth Room’ ในปี 2018-2020 โดยมีหัวหน้าเครือข่ายรายใหญ่คือ โช จูบิน (Cho Ju-bin) เขาถูกจำคุกเป็นเวลา 40 ปี ในข้อหาแบล็กเมล์ผู้หญิง 74 คนและเยาวชนอีก 16 คน
ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีเปิดเผยว่า อาชญากรรม Deepfake อนาจารพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีคดีความที่เกี่ยวข้องถึง 297 กรณี ภายในระยะ 7 เดือนแรกของปี 2024 ขณะที่จำนวนคดีในปี 2023 ทั้งหมดมี 180 คดี
ทั้งนี้สื่อท้องถิ่นรายงานว่า การสืบสวนปมคลิปอนาจารในเกาหลีใต้ยังเชื่อมโยงกับการจับกุมตัว พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) CEO Telegram ชาวรัสเซีย ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายา ฉ้อโกง และคลิปอนาจารเด็ก
อ้างอิง
https://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/1155393.html
https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20240827050640
Tags: เกาหลีใต้, ผู้หญิง, Telegram, อาชญากรรมทางเพศ, Deepfake, สื่ออนาจาร, สื่อลามก