หากกล่าวถึงนักแสดงนำชายในวงการบันเทิงไทย
อาจมีเพียงไม่กี่ชื่อเท่านั้นที่ผุดขึ้นมาในความคิดของคนส่วนใหญ่ ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพราะประเทศนี้มีนักแสดงเพียงหยิบมือ หากแต่เป็นเหตุผลที่ว่า โอกาสอันน้อยนิดในวงการ ไม่ได้เปิดกว้างมากพอให้เหล่านักแสดง
เช่นเดียวกันกับ อัด-อวัช รัตนปิณฑะ ที่โอกาสไม่ได้เข้าหาเขาบ่อยๆ ทำให้ต้องต่อสู้กับความผิดหวังในอาชีพนักแสดงมาอย่างยาวนาน จนเกือบต้องล้มเลิกในเส้นทางนี้ แต่ด้วยมุมมองในปัจจุบัน ทำให้เขาไม่กลัวที่จะยืนหยัดเพื่อความฝันของตนเองอีกต่อไป
“ตอนนี้ก็ยังเจอปัญหาเดิมอยู่ ใช่ว่าชีวิตจะดี แต่เราก็ยอมรับได้อย่างมีสติมากขึ้นว่า นี่คือวัฏจักรคือชีวิตจริงของการเป็นนักแสดง”
อวัชถือเป็นนักแสดงไทยที่น่าจับตามองคนหนึ่ง นับตั้งแต่บท โอ๊ค ในซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น (2556) ที่สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงช่วงปี 2566 ชื่อของเขาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง หลังคว้ารางวัล Rising Star Award ในงาน Marie Claire with BIFF Asia Star Awards 2023 จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 (BIFF) ในบท สร จากภาพยนตร์ ดอยบอย (2566) ก่อนที่จะมีผลงานตามมาในเวลาอันไล่เลี่ย ทั้ง เทอม 3 (2567) และดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว (2567)
เป็นเวลากว่า 8 ปีในวงการบันเทิงของอวัช ที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในวงการบันเทิง จากจุดเริ่มต้นเดียวคือการอยากเป็นนักแสดง ทว่าโอกาสไม่ได้วิ่งเข้าหาเขาเหมือนคนอื่นๆ ยิ่งช่วงหลังมานี้อวัชต้องเผชิญหน้ากับสภาวะจิตใจที่ย่ำแย่ จนเกิดการตั้งคำถามกับตนเองในเส้นทางการแสดง แม้ปัจจุบันจะมีผลงานออกมาสู่สายตาผู้ชมอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่เครื่องยืนยันความสำเร็จของเขา
The Momentum ชวนผู้อ่านสำรวจตัวตนและความคิดของอวัช นับตั้งแต่ยังไม่เริ่มเข้าสู่เส้นทางการแสดง ไปจนถึงการก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในจิตใจของเขา เพื่อสะท้อนว่าการเป็นนักแสดงในประเทศไทยนั้น ต้องเผชิญกับสภาวะทางความคิดเช่นใดบ้าง
ความฝันในวัยเด็กที่ไม่ใช่การเป็นนักแสดง
ย้อนกลับไปตั้งแต่จำความได้ อาชีพในฝันของอวัชเกิดจากความชอบเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ความหลงใหลสัตว์ที่ทำให้อยากเป็นสัตวแพทย์ ไปจนถึงความฝันในการเป็นนักร้องเพราะชอบดูรายการประกวดร้องเพลง จึงทำให้อยากไปยืนอยู่บนเวทีในสักวัน
จนเมื่อถึงช่วงวัยรุ่น อวัชเริ่มเข้าวงการบันเทิงมาด้วยความบังเอิญ จากการชักชวนโดยทีมโมเดลลิง โดยมีผลงานชิ้นแรกเป็นการถ่ายโฆษณา
“ที่จริงตอนนั้นก็คิดเลยว่า วันหนึ่งอยากจะมาเป็นผู้กำกับบ้าง
“ออกกองครั้งแรก จําได้เลยว่าเจอกับพี่ต้น (นิธิวัฒน์ ธราธร) แล้วก็ชอบบรรยากาศกองแบบนี้มาก” อวัชเล่า
เวลานั้นอวัชรู้สึกว่า การเล่นบทบาทต่างๆ ในโฆษณามีพลังบางอย่างที่น่าสนใจ เวลาที่เขาต้องเล่นบทกิน ที่ถึงจะไม่ได้กินเข้าไปจริงๆ แต่เขากลับรู้สึกว่าอาหารมันอร่อย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เขาเริ่มมีความคิดอยากจะก้าวเข้าสู่เส้นทางการแสดงอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การเล่นโฆษณา แต่เป็นการแสดงที่ได้มีบทพูด เพราะอวัชสนใจในความมหัศจรรย์ของศาสตร์การแสดง ที่จะทำให้ได้เข้าไปสำรวจความเป็นมนุษย์อันซับซ้อนของตัวละครนั้นๆ
Hormones วัยว้าวุ่น: จุดประกายความฝันการเป็นนักแสดง
จนกระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตได้มาถึง เมื่ออวัชได้อยู่หน้ากล้องในฐานะนักแสดงซีรีส์เรื่อง Hormones วัยว้าวุ่น ที่เป็นเหมือนประตูเปิดโลกในการแสดงว่า มีความแตกต่างจากการแสดงโฆษณา
“ตอนนั้นเราก็ไม่รู้เรื่องอะไร เป็นเด็กที่แค่ไปเล่นโฆษณามาบ้าง ถึงจะพอรู้ความรู้สึกบางอย่างด้านการแสดง แต่พอได้มาเป็นตัวละครโอ๊ค แล้วมีการเวิร์กช็อปการแสดงครั้งแรก มันเป็นการเปิดโลกเราเหมือนกันว่า จริงๆ แล้ว พอมาแสดงในโหมดของการอยู่หน้ากล้องในภาพยนตร์หรือซีรีส์เป็นคนละเรื่องเลย การทําความเข้าใจในเรื่องของอารมณ์และตัวเองมันคืออีกโลกหนึ่ง”
จนเมื่อ Hormones วัยว้าวุ่น ออกฉาย อวัชก็เริ่มมีความหวังว่า เส้นทางการเป็นนักแสดงของตนเองจะต้องไปได้ดี แม้จะเป็นบทสมทบ แต่ด้วยปรากฏการณ์ของซีรีส์ ทำให้จากเด็กธรรมดาคนหนึ่ง กลายเป็นนักแสดงที่เริ่มมีคนติดตาม
“เวลานั้น ในช่วงวัยประมาณ 16 ปี เราก็คาดหวังแล้วว่า ความฝันเดียวหลังจากนี้ของกู คือกูอยากจะเป็นนักแสดง” อวัชย้อนกลับไปถึงเป้าหมายในตอนนั้น
ทว่าทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นดั่งใจหวัง
หลังผ่านพ้นช่วงปี 2558 อันเป็นยุครุ่งเรืองของซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ไปแล้ว พื้นที่บนหน้าจอของชายผู้ใฝ่ฝันถึงอาชีพนักแสดงคนนี้ ก็เริ่มหดหายลงไป หรือหากจะมีบทบาทมาถึงมือส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่บทนำ เป็นเพียงบทสมทบ
ในตอนแรก เรื่องนี้สร้างความไม่สบายใจให้กับอวัชอยู่ไม่น้อย เขาคิดถึงขนาดที่ว่าอาจเป็นเพราะส่วนสูงของเขา จึงทำให้ตนเองไม่ใช่พิมพ์นิยมของพระเอกในไทย อีกทั้งในช่วงนั้น สื่อก็ไม่ได้มีพื้นที่หลากหลายมากพอสำหรับเขา ตอนนั้นอวัชจึงเริ่มตั้งคำถามกับอาชีพนักแสดงของตนเอง
“รู้สึกว่าทำไมคนอื่นเขาไปข้างหน้า ในขณะที่เราหยุดอยู่กับที่ ตอนนั้นก็เกิด Self-Doubt (สงสัยในความสามารถของตนเอง) ขึ้นเยอะมากๆ ว่า เส้นทางที่เราเลือกมันอาจไม่ใช่สําหรับเรา”
อวัชเริ่มรู้สึกผิดหวังกับตนเอง เพราะเส้นทางการแสดงของเขาสวนทางกับสิ่งที่หวังเอาไว้ ความสงสัยในความสามารถของตนเองและคำถามมากมายเกิดขึ้นซ้ำไปมา สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาเริ่มเข้าสู่สภาวะทางจิตใจที่ไม่มั่นคง
“ตอนนั้นเรารู้สึกแย่กับตัวเอง แล้ว Self-Esteem ของเราก็ถูกทำลายโดยตัวของเราเอง”
การรับมือกับความรู้สึกในตอนนั้นของเขามีเพียงทางเดียวคือการยอมแพ้ หลังจากความพยายาม ทุ่มเท และตั้งใจมาตลอดหลายปี พร้อมทั้งได้พิสูจน์ทุกอย่างเต็มกำลังแล้ว ทว่ากลับไม่มีอะไรดีขึ้น หลายครั้งที่พยายามลุกขึ้นสู้ แต่ท้ายที่สุดก็ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีก สถานการณ์แบบนี้วนเวียนอยู่ในชีวิตอย่างไม่จบไม่สิ้น ในจุดหนึ่งจึงพบว่า ตนเองฝืนต่อไปก็ไม่เห็นหนทางแล้ว
ทางออกเดียวคือต้องเริ่มหาหนทางใหม่ๆ สร้างโอกาสให้ตนเอง เพื่อไม่ให้ตัวตนของเขาแหลกสลายหายไป สุดท้ายอวัชจึงก้าวออกจากเส้นทางการเป็นนักแสดง แล้วเดินหน้าสู่การเป็นนักร้อง ในนามวง mints
“จากที่เคยรอว่าเมื่อไรจะถูกเลือก หรือทำไมไม่ถูกเลือกสักที ก็กลายเป็นคิดว่าถึงเวลาที่มึงต้องลงไปสร้างอะไรด้วยตัวเอง ทําอย่างไรให้มันมีโอกาสเข้ามา ก็ลุกขึ้นไปสร้างโอกาสให้ตัวเองสิ”
อวัชชวน ต้นหน ตันติเวชกุล นักแสดงในวงการบันเทิงด้วยกันมาทำวงดนตรี ในตอนนั้นเขาไม่ใช่แค่ดาราที่อยากมาทำเพลงเล่นๆ แต่ตั้งใจที่จะเป็นนักร้องจริงๆ และจริงจังกับเส้นทางนี้มาก ประกอบกับความสามารถของทั้งอวัชและต้นหน จึงทำให้ตั้งแต่การเปิดตัวเพลงแรกของวง ยอดเข้าชมก็พุ่งสูงถึง 1 หมื่นวิว โดยนับเป็นยอดที่ค่อนข้างสูงสำหรับนักร้องที่ทำวงด้วยกันเอง โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ค่ายใดค่ายหนึ่ง
แม้การเป็นนักร้องจะเป็นเส้นทางใหม่ในวงการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเป็นนักร้องเคยเป็นหนึ่งในความฝันสมัยเด็กของอวัชเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน สิ่งนี้ก็ทำให้อวัชยิ่งห่างไกลจากการเป็นนักแสดงเข้าไปอีก เนื่องจากภาพจำของเขาต่อสาธารณชนกลายเป็นนักร้องวง Mints ไปแล้ว
‘ดอยบอย’ เชื้อไฟครั้งใหม่ในฝันครั้งเก่า
หลังการห่างหายไปจากหน้าจอในช่วงหนึ่ง ปี 2566 อวัชกลับมาสู่สายตาผู้ชมอีกครั้งกับบทนักแสดงนำ จากภาพยนตร์เรื่องดอยบอย อวัชเล่าว่า ตอนที่ถูกติดต่อให้ไปแคสติงแล้วได้บทสรมา ถือเป็นโอกาสสำคัญนำไปสู่การปลุกไฟที่มอดดับหลังจากการยอมแพ้ ให้กลับมาลุกโชนขึ้นอีกครั้ง เพราะหากไม่ได้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ชมอาจไม่เห็นอวัชในประเทศไทยแล้ว เพราะช่วงนั้นเขาก็มีความคิดที่จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้วหางานอื่นทำ
“ดอยบอยคือจุดเปลี่ยนชีวิตของเราในวัย 20 ปลาย” อวัชเกริ่นถึงความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีต่อตัวเขา
ซึ่งการรับบทสรที่มีภูมิหลังเป็นทหารจากรัฐฉาน ในประเทศเมียนมา แล้วมาทำงานในบาร์โฮสต์จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประสบการณ์ที่ทำให้อวัชได้เข้าใจตัวละครในหลายมิติ ทั้งการเป็นผู้ขายบริการทางเพศ รวมถึงการเป็นผู้ลี้ภัย ในแง่มุมหนึ่ง สิ่งนี้ก็สอดคล้องกับความต้องการแรกเริ่มของเขาที่สนใจในการแสดง เพราะอยากจะเข้าไปสำรวจความเป็นมนุษย์อันซับซ้อนภายในตัวละคร
นอกจากนั้นคำถามที่เคยตั้งกับเส้นทางอาชีพนักแสดงของตัวอวัช ก็ได้ตัวละคร ผู้กำกับ และทีมงานจากเรื่องดอยบอย ช่วยกันตอบจนสิ้นสงสัย สิ่งนี้ทำให้หัวใจของให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง จากคนที่หมดความศรัทธาในตนเองไปแล้ว ก็กลับมายืนหยัดในฐานะนักแสดงได้อย่างมั่นใจ
“หลังจากได้แสดงดอยบอย มันมอบพลังแล้วก็ความฝันใหม่ในฐานะมนุษย์ให้กับคนคนหนึ่งว่า มึงทําได้เว้ย แล้วมึงก็ทําได้อีก”
อีกทั้งยังมอบพลังในการต่อสู้เพื่อไปให้ถึงความฝันอันยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม อย่างการเป็นนักแสดงระดับโลก
“เพราะฉะนั้น อยากจะขอบคุณตัวละครสร ขอบคุณดอยบอย ขอบคุณพี่เบิ้ล (นนทวัฒน์ นําเบญจพล) ผู้กํากับ แล้วก็ทีมงาน ทุกคนเป็นคนที่ผมรักมากๆ”
การเดินทางในผลงานที่ผ่านมา
หลังจากนั้นไม่นานผลงานของอวัชก็ปรากฏผ่านสายตาผู้ชมจำนวนมาก ตั้งแต่บทบาทแสงจันทร์จาก ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว ไปจนถึงซัน ในเรื่องเทอม 3
ในเทอม 3 อวัชได้รับโอกาสกลับมาร่วมงานอีกครั้งกับนนทวัฒน์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้กำกับคู่บุญของเขา ด้วยนิสัยและมุมมองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันของทั้งคู่ จึงทำให้พวกเขาสามารถเข้ากันได้เป็นอย่างดี อวัชยังเสริมว่า นนทวัฒน์เป็นผู้กำกับที่ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นไปได้ด้วยดี เพราะความเข้าอกเข้าใจที่มีต่อทุกคน ประกอบกับอวัชและนนทวัฒน์ยังมีจุดยืนเดียวกันคือการปฏิบัติกับคนอื่นอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยก ดังนั้นการทำงานของอวัชจึงเต็มไปด้วยความสนุก
“เวลาไปทํางานเราจะรู้สึกว่าสนุกจัง ได้ไปเจอทีมงาน เราสนิทกับทีมเสื้อผ้า สนิทกับทีมแคสติง สนิทกับพี่ Focus Puller ทุกคนเป็นเพื่อนกับเราได้”
ต่อมาที่บทบาทของแสงจันทร์ใน ดอกเตอร์ ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว ผลงานสตรีมมิงผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) จากผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ซึ่งเล่าเรื่องคอลัมน์ปรึกษาปัญหาเรื่องเพศที่ยังไม่เปิดกว้างในยุค 70s โดยบทแสงจันทร์เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของอวัช จากการได้เป็นกระบอกเสียงถ่ายทอดเรื่องราวของ LGBTQIA+ ในยุค 70s ให้โลดแล่นผ่านสายตาของคนยุคปัจจุบัน เพื่อให้ผู้คนเข้าใจถึงความเจ็บปวดที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ
ความยากความท้าทายของบทบาทนี้ คือการที่อวัชต้องทำให้คนดูเห็นพัฒนาการของตัวละครได้ในระยะเวลาอันจำกัดของภาพยนตร์ เพราะแสงจันทร์ออกมาแค่ตอนต้นกับตอนท้ายเท่านั้น ดังนั้นระหว่างทางที่หายไป อวัชจึงต้องจินตนาการภูมิหลังของตัวละครขึ้นมาเอง แต่เขาไม่ได้มีความกดดัน หรือมองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยาก เพราะจุดสำคัญที่ยึดถือคือการทำอย่างไรให้ตัวละครมีชีวิตบนจอมากกว่า
“พอเราไปติดสลักกับคําว่ายาก เราก็จะไม่ได้อยู่กับความเป็นจริงของตัวละคร สิ่งที่เราต้องโฟกัสคือเรื่องราวและความคิดของเขา มีสติมีสมาธิอยู่กับสิ่งที่ทำ พอเราคิดตรงนี้ได้ทุกอย่างมันก็ไหลไป”
2567 ปีทองของอวัชกับผลงานล่าสุดที่จ่อขึ้นจอเงิน
ในวันนี้ที่อวัชกำลังจะมีอีก 1 ผลงานเตรียมขึ้นจอ หากจะกล่าวว่าปีนี้ถือเป็นปีทองของเขาก็คงไม่ผิด ทว่าอวัชคิดต่างออกไป
“จริงๆ เราไม่ชอบคำว่าปีทอง เพราะรู้สึกว่าอยากให้ทุกปีเป็นปีที่มั่นคง ความจริงคิดว่ามันเป็นช่วงจังหวะที่งานมันออนต่อกันมากกว่า”
ภาพยนตร์ ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพ โดย ก้องเกียรติ โขมศิริ เรื่องราวว่าด้วยกลุ่มยุวชนทหาร ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พบว่า ทหารญี่ปุ่นมีปล่อยอาวุธชีวภาพอย่างซอมบี้ เพื่อมาจัดการศัตรู ซึ่งภาพยนตร์ดังกล่าวเปิดโอกาสใหม่ๆ ในด้านการแสดงให้อัด อวัช รับบทเป็นซอมบี้ และเนื่องจากเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน ดังนั้นตลอดการเวิร์กช็อป จึงเป็นการทดลองสิ่งใหม่เป็นส่วนใหญ่ ทั้งการหาช่องเสียง หรือแม้แต่ออกแบบวิธีการขยับเขยื้อนของซอมบี้
“ผมคิดว่าพอเรื่องนี้มันต้องเล่นอะไรที่มันเหนือจริง วิธีการของมันก็คือการเปิดใจ แล้วกระโจนลงไป เชื่อในโลกโลกนั้น”
สำหรับการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างอวัชกับผู้กำกับก้องเกียรติ อวัชให้ความเห็นว่า เขาอยากจะทำงานกับก้องเกียรติ เพราะต้องการก้าวออกจากข้อจำกัดของตนเอง ไปสู่บทบาทในภาพยนตร์แนวใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับสไตล์ของผู้กำกับคนนี้
อวัชเสริมว่า ก้องเกียรติเป็นผู้กำกับที่มีภาพในหัวชัดเจน และมีวิธีการทำงานที่มักจะให้ด้นสด (Improvise) บ่อยๆ ตามภาพในหัวของผู้กำกับที่ไหลไปตามอารมณ์ เขาจึงรู้สึกว่าสิ่งนี้ก็ถือเป็นการฝึกตนเองในฐานะนักแสดงอย่างดี
ดังนั้น สิ่งที่อวัชต้องทำคือการเตรียมตัวให้พร้อม แล้วลื่นไหลไปตามทิศทางที่ผู้กำกับวางไว้ ในขณะเดียวกัน ตัวก้องเกียรติเองก็เป็นผู้กำกับที่เปิดกว้างพอ ให้นักแสดงจะตั้งคำถาม และพูดคุยถึงทิศทางของการแสดงได้
รวมถึงการร่วมการกับนักแสดงดังอย่าง นนกุล แม้ว่าทั้งสองเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่อยู่ค่ายนาดาวบางกอก อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นการเจอกันของทั้งคู่เป็นครั้งแรกในฐานะนักแสดง ซึ่งอวัชก็ได้ให้ความเห็นว่า นนกุลเป็นคนที่ตั้งใจทำงาน และทำการบ้านในส่วนของตนเองมาเป็นอย่างดี ในด้านการแสดงบทบาทของสองพี่น้องที่ต่างกันคนละขั้วความคิด และอวัชชี้ว่า ในชีวิตจริง ตนเองและนนกุลก็มีความคิดคนละแบบกันบ้างในบางจุดอยู่แล้ว จึงสามารถนำจุดนี้มาประยุกต์เป็นข้อดีในด้านการแสดงได้
ความฝันในวัย 16 ปีที่เป็นจริงแล้ว
“ย้อนกลับไปช่วง Hormones วัยว้าวุ่น ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความฝันในการเป็นนักแสดง ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มั่นใจว่า ตัวเองถือว่าเป็นนักแสดงไหม”
เมื่อถามอวัชว่า วันนี้จะเรียกตนเองว่าเป็นนักแสดงได้แล้วหรือยัง เรื่องนี้เขาเปิดใจว่า เป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามดังกล่าว เพราะเขาไม่อยากเอาบรรทัดฐานของตนเองไปชี้ที่คนอื่นว่าต้องเป็นแบบใด จึงจะสามารถนิยามได้ว่าตนเองเป็นนักแสดง เพราะทุกคนล้วนแล้วแต่มีสิทธิที่จะเป็นนักแสดง แต่สำหรับตัวเขาจุดที่ทำให้คิดว่า ตนเองเป็นนักแสดงแล้ว คือการถูกยอมรับในอุตสาหกรรมบันเทิง ประกอบกับเสียงตอบรับและคำวิจารณ์จากคนดู
“พอเรามีประสบการณ์มากขึ้น แล้วได้เล่นบทที่รู้สึกว่าได้ใช้ความสามารถ และประสบการณ์ที่สั่งสมถ่ายทอดออกมา มันก็ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นนักแสดงเต็มตัวแล้ว”
ถึงแม้ว่าอวัชจะเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในขณะนี้ แต่เส้นทางการแสดงก็ยังคงไม่ง่ายสำหรับเขา ความผิดหวังและความเจ็บปวดยังคงดำเนินต่อไป แต่เขาก็สามารถยอมรับความเป็นจริงได้อย่างมีสติมากขึ้น และเข้าใจว่าสิ่งนี้คือเรื่องธรรมดาของการเป็นนักแสดง
ในวันนี้แม้ว่าหลายคนจะมองว่าอวัชได้ก้าวข้ามผ่านความท้าทาย และพิสูจน์ตัวเองในฐานะนักแสดงสำเร็จแล้ว แต่อวัชบอกว่า ความจริงเขาก็ยังเจอปัญหาเดิมอยู่ ถึงปัจจุบันจะมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ความจริงแล้วก็เป็นแค่ช่วงนี้ หลังจากนี้ก็ไม่ได้มีโปรเจกต์อะไรต่อ
“หลังจากนี้ก็ไม่มีอะไร ตกงานอีกแล้ว”
ปัญหาคือ การเป็นนักแสดงในประเทศนี้ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนมากขนาดนั้น ดังนั้นอาชีพนักแสดงในไทยจึงเต็มไปด้วยความไม่มั่นคง ทำให้นักแสดงหลายคนไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นนักแสดงเพียงอย่างเดียวได้ อวัชสะท้อนความรู้สึกนี้ผ่านวรรคตอนหนึ่งที่ว่า
“วันนี้เราหวังว่า วันหนึ่งเราจะสามารถประกอบอาชีพเป็นนักแสดงอย่างเดียวได้ แต่มันยังไม่ใช่สําหรับวันนี้ ก็ต้องมองโลกของความเป็นจริงแล้วก็อยู่กับมันให้ได้”
ถึงแม้จะเจอกับความรู้สึกเดิมๆ อยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทำให้อวัชเรียนรู้ที่จะยอมรับความเป็นจริงอย่างมีสติมากยิ่งขึ้น และรับรู้ว่าการมีความสงสัยในตนเอง (Self-Doubt) นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกคนจะมีได้ เมื่อมันเกิดขึ้นก็ใช้เวลากับมันไปในการตกตะกอนความคิดว่า แท้ที่จริงเราต้องการอะไรกันแน่ สุดท้ายชีวิตก็จะนำพาเราไปสู่การตัดสินใจบางอย่างอยู่ดี สิ่งที่เราทำได้มีเพียงการยอมรับผลที่มันจะเกิดขึ้น
“สุดท้ายไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหน การตัดสินใจของเราอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่มันคือการตัดสินใจที่จะทำให้ได้เรียนรู้ และได้ประสบการณ์มาเป็นบทเรียนในชีวิต
“แค่ยอมรับ แล้วไปต่อ”
Tags: อวัช รัตนปิณฑะ, ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพ, ก้องเกียรติ โขมศิริ, The Frame, อัด, อัด อวัช