หลายครั้งเคยตั้งคำถามว่า “คนมีชื่อเสียงแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร?” คำตอบที่ได้ก็คงหนีไม่พ้นการวนกลับมาที่คำถามเดิมว่า “เขาต่างกับเราเพราะเขามีชื่อเสียงไง” ชวนให้สงสัยต่อถึงความหมายของคำว่า ‘ชื่อเสียง’ แม้ในความเป็นจริงแล้วมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นนักข่าว มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นนักการเมือง มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นดารานักแสดง ชื่อเสียงที่ว่ามานั้นแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

การตั้งคำถามถึงชื่อเสียงเกิดขึ้นก่อนได้แลกเปลี่ยนความคิด ความฝัน และมุมมองเกี่ยวกับสังคมการเมืองกับ ‘อัด’ – อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงและศิลปินจากวงดูโอ mints ชายคนนี้ถือเป็นหนึ่งในคนที่ถูกนับว่ามีชื่อเสียง เพราะเป็นคนในวงการบันเทิง ทว่าเขากลับเลือกทำสิ่งที่แตกต่างและโดดเด่นกว่าเพื่อนในร่วมวงการหลายคนจนเกิดการตั้งคำถามในสังคม การกระทำนั้นคือ ‘การแสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมือง’

เมื่อพบอวัช จึงไม่รอนำความสงสัยเกี่ยวกับประเด็นของ ‘คนดัง’ มาถามเพื่อให้ได้ข้อกระจ่าง ไล่เรียงถามถึงโอกาสในการก้าวตามฝันทั้งในวงการบันเทิงและในประเทศแห่งนี้ ถามถึงความเศร้าที่เห็นเรื่องราวบิดเบี้ยวอยู่ตรงหน้าแต่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างที่ใฝ่ฝัน ไปจนถึงความรู้สึกเมื่อถูกโจมตีด้วยถ้อยคำหยาบคายที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การพบอวัชในครั้งนี้ทำให้สามารถเข้าใจและคลายสงสัยเกี่ยวกับวาทกรรม ‘คนดังอย่ายุ่งการเมือง’ ได้มากขึ้น ผ่านมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าที่เคย

ฝันที่อยากจะทำ ฝันที่จะอยากเป็นของอวัชคืออะไร

เรามีหลายความฝัน อย่างแรกคืออยากเป็นนักร้องเพื่อทำเพลงที่สื่อสารกับคนจำนวนมาก เพลงที่สามารถ ‘ขับเคลื่อน’ บางอย่างในสังคม ทำให้คนฟังเกิด ‘ความรู้สึกร่วม’ บางอย่าง เพลงที่ผ่านมาของ mints มักเป็นเพลงรักเสียส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ได้ลองเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคม โดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ต่างๆ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็เครียดมากพออยู่แล้ว เราอยากทำเพลงที่อย่างน้อยช่วยบรรเทาบรรยากาศแย่ๆ ลงสักนิดหนึ่ง แล้วคิดว่า ‘เฮ้ย เราต้องมีแรงสู้ว่ะ เราต้องมีแรงเดินต่อ’ ได้แค่สักนิดหนึ่งก็ยังดี อันนี้คือเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะทำ จนเป็นเพลงที่ชื่อว่า ถึงเวลาฟัง

เราอยากทำเพลงที่คนฟังฟังแล้วรู้สึกว่ายังมีเพื่อนที่คิดเหมือนกัน อยากให้รู้ว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยวในสังคม ปัญหาที่คุณเจอ คนอื่นๆ ก็เจอเหมือนกัน แต่เพลงจะช่วยปลอบโยนและตั้งคำถามต่อว่าเราจะทำอย่างไรให้ปัญหานี้ค่อยๆ แก้ไปได้

อีกฝันหนึ่งคืออยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ส่วนฝันสุดท้ายคือการอยากเห็นประเทศที่เราอยู่เป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี ความเหลื่อมล้ำในประเทศน้อยลง คนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อที่เราจะสามารถใช้ชีวิตในประเทศนี้ได้อย่างมีคุณภาพในฐานะพลเมือง

เมื่อความฝันเกี่ยวพันกับระบบการบริหารของรัฐ คิดว่าการตามฝันของตัวเองในประเทศแห่งนี้เป็นเรื่องยากแค่ไหน

การตามฝันในประเทศนี้ พูดตรงๆ ว่ายากมาก เราเป็นคนหนึ่งที่มีฝันมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่ไม่เคยหยุดฝัน บางความฝันเคยแรงมาก แต่สุดท้ายก็มอดสลายหายไปเพราะความเป็นอยู่และสภาพสังคม ทุกอย่างทำให้ไปไม่ถึงฝันจนต้องกลับมามองความเป็นจริงว่า ความฝันบางอย่างอาจเป็นจริงไม่ได้ในประเทศนี้

บางครั้งคนมีความฝันเขาไม่มีต้นทุนในชีวิต ซึ่งคำว่า ‘ต้นทุนในชีวิต’ เป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ บางครั้งพอเรามีต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น ต้องดิ้นรนมากกว่าปกติ ดิ้นรนอยู่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงมากและเปลี่ยนแปลงได้ยาก ซึ่งความดิ้นรนหลายๆ ครั้ง ทำให้ระหว่างเส้นทางที่กำลังเดินไปมันดันหมดไฟเสียก่อน

ถ้าไม่มองในระบบใหญ่อย่างสภาพสังคม ลองมองไปยังอาชีพหนึ่งที่เราฝันอยากจะเป็น แต่ในแวดวงของอาชีพนั้นมีระบบที่เรียกว่า ‘ชนชั้น’ กับ ‘ศักดินา’ มีระบบคอนเนกชันต่างๆ ที่เอื้อกันเอง คนธรรมดาที่มีฝัน มีความสามารถ มีความต้องการอยากจะเข้าไปสู่ตรงนั้น แต่ไม่มีคอนเนกชัน ไม่รู้จักศักดินา ย่อมแทบไม่มีช่องทางให้เข้าไปเลย มันยากมากถ้าไม่มีต้นทุน แต่ไม่ได้แปลว่าคนที่ไม่มีต้นทุนในชีวิตจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ มันอาจจะเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับโครงสร้างทางสังคม ทำให้คนที่ไม่มีต้นทุนในชีวิตมีโอกาสน้อยกว่า

วาทกรรมที่ว่า ‘เพราะไม่พยายามถึงจน’ คุณรู้ได้อย่างไรว่าคนจนเขาไม่พยายาม เขาอาจจะพยายามมากแล้ว แต่สภาพสังคมเอื้อประโยชน์ให้คนที่มีต้นทุนมากกว่าหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การเดินตามความฝันในประเทศนี้มีจุดบกพร่องของมันอยู่

ทุกคนต้องเคยมีภาพฝันตัวเอง แต่สุดท้ายพอโตขึ้น ผ่านชีวิตมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น เราเรียนรู้ว่ามันยาก โลกแม่งยาก การใช้ชีวิตในประเทศนี้ไม่ได้ง่าย มีอีกหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แล้วบางครั้งแม้พยายามเปลี่ยนแปลงหรือพยายามที่จะดิ้นรนแค่ไหน มันกลับไม่เคยพอ

มีความคิดเห็นอย่างไรเมื่อมีคนบอกว่าคุณชังชาติ และออกตัวแรงมากเกินไป

เราดูข่าวการเมือง ข่าวการเลือกตั้ง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน หลายสิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งปกติ เวลาที่มองเข้าไปในสังคมก็เห็นคนกวาดถนน คนนั่งรถเมล์ แม่บ้าน ขอทาน คนทำงานทั้งออฟฟิศใหญ่หรือออฟฟิศเล็ก เห็นความหลากหลายและเห็นเพื่อนที่ทุกข์ระทมจากทำงานเพราะคุณภาพชีวิตแย่ลงทุกวัน สวนทางกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น

นับวันสิทธิเสรีภาพของประชาชนยิ่งถูกลิดรอนมากขึ้น เราตื่นมาแต่ละวันย่อมอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราเสียภาษี แต่ไม่เคยเห็นการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมเลย เห็นแต่ข่าวเงินภาษีถูกไปทำอะไรที่ไม่เข้าท่าสักอย่าง เราอยากเดินไปไหนมาไหนด้วยความสบายใจบนทางเท้าดีๆ แบบไม่มี PM 2.5 อยากนั่งรถสาธารณะที่มีค่าใช้จ่ายเหมาะสม อยากจะนั่งรถเมล์ที่ไม่ได้เก่าเขรอะแบบนี้ ซึ่งทุกอย่างรอบตัวไม่เคยถูกทำให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง

ตอนนี้มีเพื่อนมนุษย์ที่กำลังโดนทำร้ายหรือโดนรังแก เห็นกระบวนการยุติธรรมที่มันไม่ยุติธรรมอีกต่อไป ยิ่งความไม่ถูกต้องมีมากขึ้นในสังคม ยิ่งงงว่าทำไมเราถึงไม่รู้สึกรู้สา จะยอมนิ่งเฉยยอมรับสิ่งบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นเหรอ

ถามตัวเองว่าถ้าเฉย วันหนึ่งเกิดทำพลาดหรือคนรอบตัวทำพลาดขึ้นมา ทั้งหมดอาจเป็นเหยื่อของระบบอยุติธรรมนี้ด้วย แล้วแบบนั้นจะยอมได้ไหม เราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร ถ้ายอมอยู่ในประเทศที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความยุติธรรม

การที่เห็นมนุษย์คนหนึ่งโดนลดทอนความเป็นมนุษย์ แม้จะไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เรารู้สึกว่าอยู่เฉยไม่ได้ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นทำให้ต้องลุกขึ้นพูด ตั้งคำถาม เพราะเราเองอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่เคยดีในอดีต สิ่งที่ทุกคนเคยเชื่อว่าดีในอดีต อาจจะไม่ได้ดีสำหรับวันนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือต้องมองปัจจุบันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร วิธีการแก้ปัญหาคืออะไร อย่าเอาแค่ความเชื่อส่วนตัวมาใช้อย่างเดียว เราลุกขึ้นมาเพื่ออยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น ไม่ได้มีเจตนาอยากเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ล่มจมลง ถ้าไม่สนใจไม่ลุกขึ้นมาหรอก สุดท้ายสิ่งที่ทำเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ได้

การออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองครั้งแรกเกิดขึ้นได้อย่างไร

วันที่ออกมาครั้งแรกเริ่มลืมคิดว่าตัวเองอยู่ในวงการบันเทิง แรกๆ โดนเตือนเพราะการเรียกร้องยังไม่ได้เป็นเรื่องปกติขนาดนี้ มีคนเตือนเยอะมากว่า “ระวังนะ เดี๋ยววันหนึ่งจะเสียใจ” วันนี้บอกตรงๆ ว่าไม่เสียใจเลย จะเสียใจไปทำไม ในเมื่อที่ที่เรายืนอยู่คือเพื่อสิทธิเสรีภาพในฐานะที่มนุษย์คนหนึ่งที่เป็นพลเมืองของประเทศนี้ควรจะได้ เราไม่มีอะไรต้องเสียใจ

เหมือนเวลาเราเห็นโจรปล้นบ้านหลังหนึ่ง แต่ถูกสั่งว่าห้ามบอกคนอื่นว่าเห็นโจรปล้นเพราะเราเป็นคนดัง ถ้าพูดเดี๋ยวจะเป็นประเด็น อันนี้แปลกมาก เพราะเราเห็นไปแล้ว รู้ว่าสิ่งตรงหน้าไม่ถูกต้อง แล้วเราไม่สามารถโกหกตัวเองได้ จริงๆ อาจโกหกตัวเองได้นะ แต่สุดท้ายตัวเองจะทรมาน

อย่างน้อยการที่ออกมาใช้เสียงในโซเชียลมีเดียต่างๆ เท่ากับเราได้ทำอะไรสักอย่างแล้ว การแสดงจุดยืนอาจทำให้คนสิบคนเข้ามาพูดถึงสิ่งนี้มากขึ้น แล้วสิบคนนั้นอาจจะกระจายต่อไปอีกเรื่อยๆ

ยิ่งคุณกด ยิ่งคุณพยายามจะปิดไม่ให้พูด กลับยิ่งทำให้รู้สึกว่าอยากพูด ยิ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมถึงห้ามพูด แปลว่าต้องมีอะไรผิดปกติสิ คุณถึงไม่อยากให้เราพูด เพราะถ้าไม่มีอะไร คุณก็ให้เราพูดปกติได้ เลยคิดว่า ‘ไม่ เราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นเรามีสิทธิ์ที่จะพูด’ ตอนนั้นคิดแค่นี้

มุมมองต่อวาทกรรม ‘คนดังอย่ายุ่งการเมือง’ ของอวัชเป็นแบบไหน 

ทำไมคนถึงชอบแยกเรื่องการเมืองออกจากบทบาทของศิลปินดารา ย้อนกลับไปตอนเป็นเด็ก เรามักถูกสอนว่าอย่าไปยุ่งกับการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของคนโกง คนที่คิดจะกินชาติหรือขายชาติ ซึ่งวาทกรรม ‘คนวงการบันเทิงห้ามแสดงออกทางการเมือง’ ทำให้ตั้งคำถามว่า ทำไมคนที่มีบทบาทเป็นพลเมืองเหมือนกัน แต่มีอาชีพเป็นศิลปินนักแสดงถึงไม่มีสิทธิ์พูด ทำไมอาชีพนี้ถึงเป็นข้อยกเว้น เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่าพิเศษกว่าอาชีพอื่นตรงไหน

ถ้าบอกว่าคนดังห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง ทำไมถึงเคยมีเหตุการณ์ที่คนในวงการแสดงจุดยืนทางการเมืองด้วยการออกมาชุมนุม ทำไมตอนนั้นถึงออกกันมาได้ แล้วทำไมช่วงนั้นวาทกรรมคนวงการบันเทิงห้ามแสดงออกทางการเมืองถึงไม่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าช่วงนั้นใครไม่ออกมาคือคุณผิด คุณคือแกะดำของสังคม

จริงๆ แล้วเป็นเพราะมีคนเอาวาทกรรมนี้มาเป็นเส้นแบ่ง เพื่อบอกให้คนอื่นต้องคิดแบบที่ตัวเองต้องการหรือเปล่า เพื่อกำหนดทิศทางสังคมส่วนใหญ่ว่าต้องมีความเชื่อทางการเมืองแบบไหนคุณถึงจะอยู่ได้ แต่ในสังคมที่ดีจะต้องมีพื้นที่ให้คนแสดงออกไม่ว่าจะคิดเห็นแบบไหนก็ตาม ทุกคนควรจะมีสิทธิ์ในฐานะมนุษย์ที่จะได้คิด และได้มีความเชื่อเป็นของตัวเอง ไม่ควรมีใครหรืออาชีพไหนถูกปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด

‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ของการออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองของคุณคืออะไร 

บางศิลปินมีเรื่องสัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังตอบได้ไม่ครอบคลุมว่าทำไมอาชีพนี้ถึงต้องห้ามพูด บางทีอาจเป็นเพราะคนในวงการบันเทิงอยู่ในสปอตไลต์ เวลาทำอะไร ข่าวก็จะไวกว่าคนอาชีพอื่น ผมตอบไม่ได้หรอกว่าคนในวงการบันเทิงจะได้รับผลกระทบเยอะกว่าคนทั่วไปจริงหรือเปล่า แต่บางทีคนอาชีพอื่นอาจโดนแบบเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้มีคนออกมาพูดถึงมากเหมือนที่คนดังโดนเท่านั้นเอง

ส่วนราคาที่คิดว่าต้องจ่ายคือ ถ้าคุณชัดเจนแล้ว ก็ต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น ในแวดวงจะมีเรื่องของผลิตภัณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้อง บางทีเจ้าของสินค้าอยากเป็นกลาง เขาก็จะไม่เลือกคนที่แสดงออกชัดเจน หรือบางครั้งคนมีอำนาจในวงการมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกับเรา เขาก็จะเลือกทำงานแต่กับคนที่คิดเห็นเหมือนกับเขา สิ่งนี้คือสิ่งที่เห็นได้ชัดในวงการบันเทิง

ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับเราแน่นอน และผลที่ได้รับอาจทำให้หลายๆ คนกลัว ไม่กล้าออกมาพูด แต่ถ้าวันหนึ่งทุกคนมีความเชื่อแบบเดียวกัน มีความกล้ามากขึ้น เริ่มกล้าที่จะออกมาพูดพร้อมกัน ทิศทางของวงการก็อาจเปลี่ยนได้

แม้ต้องเสียบางสิ่งแต่ก็รู้สึกดีเพราะเราเลือกเอง เลือกที่จะยืนอยู่ตรงนี้ เลือกที่จะเป็นแบบนี้ คิดไว้เล่นๆ ว่า ‘เออ กูคงไม่ตาย’ สุดท้ายถ้าอาชีพนี้ไปต่อไม่ได้คงหาอย่างอื่นทำ ดีกว่าต้องฝืนความรู้สึกตัวเองที่เห็นความผิดปกติตรงหน้าแล้วไม่ทำอะไร ถ้าไม่ได้มีอาชีพเป็นนักร้องนักแสดง ก็คงทำเหมือนเดิม จะพูด จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ หรืออาจทำมากกว่านี้ด้วยซ้ำอย่างการออกไปเป็นแนวร่วม คุยกับคนรอบตัวที่ยังไม่เข้าใจ คงลุยเต็มที่

อวัชมักแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย และแทบทุกครั้งก็มักถูกโจมตีด้วยบัญชีทวิตเตอร์ที่เพิ่งสร้าง บัญชีที่ไม่มีตัวตนชัดที่เรียกกันว่า ‘แอคหลุม’ การถูกโจมตีเพื่อบั่นทอนแนวคิด สร้างความรู้สึกเชิงลบมากน้อยแค่ไหน 

เวลาที่โพสต์อะไรแล้วโดนบัญชีที่เป็น IO (Information Operation) โจมตี พวกนี้มักมาพร้อมกัน มาแปะรูปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ภาพแตกจนไม่รู้จะแตกยังไง บางครั้งก็เป็นข้อความตัดแปะ 

แรกๆ รำคาญนิดหน่อย คิดว่า เอาแล้ว เริ่มเข้าข่ายที่เขาจะมาเล่นเราแล้ว มีความกังวลนิดหนึ่ง แต่หลังๆ ก็บล็อกหรือรีพอร์ต เพราะว่ามันไม่มีความหมาย เป็นแอคเคานต์ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ เราไม่ควรให้ค่า

การใช้โซเชียลมีเดียในยุคนี้ทำให้เห็นความตั้งใจว่าใช้เพื่ออะไรบ้าง บางคนใช้โซเชียลมีเดียเพื่อบั่นทอน โจมตีคนอื่น เพื่อสนองความใคร่ของตัวเอง หรือบางคนใช้เพื่อแสดงความคิดเห็น แบ่งปันความรู้ แชร์เรื่องราวต่างๆ เราจะแยกออกเองว่าแต่ละแบบเป็นแบบไหน มีเจตนาอะไร ปัจจุบันโซเชียลมีเดียส่งผลกระทบต่อคนอื่นในสังคมมากกว่าที่คิด ทำให้ทุกวันนี้เราใช้โซเชียลมีเดียด้วยความระมัดระวัง จากที่ระวังอยู่แล้ว ก็ระมัดระวังมากกว่าเดิมในการที่จะสื่อสารอะไรออกไป ถ้าใช้ให้ถูกทางจะมีประสิทธิภาพมาก แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิด ก็ทำให้เกิดความเสียหายได้เหมือนกัน

นอกจากการโจมตีทางโซเชียลฯ โดย ‘แอคหลุม’ ยังถูกบัญชีที่สืบค้นตัวตนจริงจำนวนมากโจมตีอย่างรุนแรง ไปจนถึงการถูกลดทอนโดยบุคคลรอบตัวที่คิดต่างกันอย่างสิ้นเชิง มีวิธีจัดการกับคลื่นความเกลียดชังตามบริบทที่ไม่เหมือนกันอย่างไรบ้าง 

มีหลายครั้งโดนโจมตีทางทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กแล้วสงสัยว่าเขาคิดอะไร เลยลองเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่เห็นต่างกับเรา พอเข้าไปอยู่สักพักก็เห็นว่าตรงนี้คืออีกโลกหนึ่ง โลกที่เต็มไปด้วยข่าวปลอม โลกที่เต็มไปด้วยข่าวที่ใครพิมพ์อะไรก็พิมพ์ ใครอยากจะตัดแปะอะไรก็ตัดแปะ แล้วทุกคนคิดว่าอันนั้นคือความจริง มันล้างสมองมากๆ ดูแล้วเครียด

การเข้าไปก็ทำให้เข้าใจคำว่า Echo Chamber (ภาวะที่ข้อมูลข่าวสารหรือชุดความคิดความเชื่อในโซเชียลมีเดียถูกผลิตซ้ำ ปิดกั้นการเรียนรู้ หรือการยอมรับการปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว) ถ้าไม่มีความรู้แล้วอยู่ตรงนั้น ได้รับแต่ข้อความแบบนั้น เราก็อาจจะเชื่อ ซึ่งความคิดเหล่านี้ถ้าเสพทุกวัน ก็คงฝังรากลึกไปถึงแก่นของเขา เขาคงเปลี่ยนยาก เพราะเขาคงเชื่อไปแล้ว แต่สิ่งที่หนักกว่าคือ Hate Speech เห็นแต่การด่าทอ ด่าคนนั้นคนนี้ มีแต่คำหยาบคาย วิจารณ์รูปร่างหน้าตาคนอื่น

เราเลยมองว่าเขาเป็นมนุษย์ที่โตมาในความเชื่ออีกแบบหนึ่ง แล้วความเชื่อนั้นอยู่ในจิตใจ เป็นความเชื่อเดียวในชีวิตที่อยู่ในรากลึกไปแล้ว วันหนึ่งมีคนเดินไปบอกว่า “ความเชื่อคุณมันไม่ถูกต้อง” การที่เขาจะเสียความมั่นใจหรือไม่อยากเสียหน้าเพราะอีโก้ค้ำคอ จนทำให้ไม่ยอมรับฟังแล้วเถียงข้างๆ คูๆ ก็คงทำอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามอธิบายขนาดไหนเขาคงไม่เปิดรับ ไม่พยายามทำความเข้าใจ ซึ่งเราจะไม่ตอบโต้ด้วยการด่ากลับเพราะเข้าใจว่าคงเปลี่ยนอะไรเขาไม่ได้

ถ้าเป็นคนที่พอจะรับฟังเหตุผลของเราได้ เรายินดีที่จะคุย ยอมเหนื่อยเพื่อคุยกับเขา เพื่อให้เขาได้เข้าใจปัญหามากขึ้น ซึ่งตรงนี้ใช้เวลามาก มันเหนื่อย แล้วมันต้องอดทนด้วย เพราะมันยากมากในการเปลี่ยนความคิดคนที่เชื่อฝังหัวกับสิ่งหนึ่งมาตลอด แต่ถ้าสำเร็จจะรู้สึกว่าเราทำได้ มีความหวังเล็กๆ ว่าครั้งต่อไปก็จะต้องทำได้อีก แต่คนที่คุยไม่ได้ก็ไม่รู้จะสนใจทำไม

เคยมีผู้ใหญ่ที่รู้จักเอาเราไปด่า จากที่ควรจะต้องเสียความรู้สึกกลับกลายเป็นไม่สนใจมากกว่า แต่คนที่มีความคิดแบบนี้ไม่รู้จะไปสนใจทำไม บางครั้งก็เคยโดนแซะต่อหน้าว่า “อ๋อ ไอ้พวกชูสามนิ้ว” เราก็ยิ้มให้หนึ่งที จริงๆ คิดไม่เหมือนกันไม่เป็นไร แต่ต้องมีมารยาททางสังคมนิดหนึ่ง สิ่งสำคัญคือคุณไม่ต้องคิดเหมือนผม แต่คุณมีมารยาทในฐานะเพื่อนมนุษย์ต่อกันก็ยังดี

การติดตามข่าวสารการเมืองแทบจะตลอดเวลาส่งผลต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าต้องบอกอะไรบางอย่างกับคนที่คิดเหมือนกัน คนที่กำลังต่อสู้เหมือนกัน จะบอกอะไรแก่พวกเขา 

ช่วงแรกที่เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนั้นเหมือนเสพติด แล้วไม่รู้ตัวว่าเสพข่าวการเมืองเยอะเกินไป ทุกครั้งที่อ่าน เรารู้ว่าตัวเองมีส่วนร่วม บางครั้งเห็นภาพความรุนแรงแล้วนอนไม่หลับ หยุดคิดไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ หลังจากนี้ต้องทำยังไงถึงจะเปลี่ยนได้ เอาแต่ถามตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง รู้ตัวอีกทีก็ดำดิ่งมาก เศร้าบ่อยขึ้น หลังๆ เลยต้องพยายามชั่งน้ำหนักและมองตัวเอง ถ้ารู้ตัวว่าตามข่าวต่อไปแล้วจะแย่ ก็เริ่มหยุด

เข้าใจทุกคนว่าเวลาที่ไปร่วมชุมนุมหรือทำอะไรบางอย่างแต่ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง อาจรู้สึกแย่หรือเหนื่อย ทุกคนน่าจะไม่ต่างกัน ถ้าคาดหวังว่าเราลุยเต็มที่แล้วต้องเปลี่ยนแปลงทันที คิดแบบนี้เมื่อไหร่ไฟจะหมดเร็ว ต้องเข้าใจการต่อสู้ครั้งนี้ว่าเป็นการต่อสู้ระยะยาว เหมือนการวิ่งมาราธอน ต้องเรียนรู้ที่จะวิ่ง เรียนรู้ที่จะหยุดพัก แล้วไปต่อ

บางวันอาจท้อ เหนื่อย หมดหวัง สิ้นหวัง ถ้ารู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกแบบนี้ อยากให้แวะพักก่อน ถ้าไฟหมดจงพัก ออกไปหาไฟที่อาจมีอยู่ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องไปม็อบอย่างเดียว คุณอาจไปทำอย่างอื่นแล้วมีไฟ ก็ค่อยกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อก็ได้ สิ่งที่สำคัญของการต่อสู้ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่ยังรวมถึงสภาพจิตใจที่ต้องการเวลาในการเยียวยา นอกจากได้เซฟตัวเอง สิ่งสำคัญคือการเซฟคนข้างๆ อย่างการเซฟเพื่อนที่สู้มาด้วยกัน เราว่าการให้กำลังใจกันสำคัญมาก เพราะถ้าทุกคนหมดไฟพร้อมกัน เราก็อาจไปต่อไม่ได้จริงๆ

การเดินทางครั้งนี้คงต้องใช้เวลา ถ้าวันนี้เขาไม่ฟังเรา แต่เรายืนยันจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ต้องมีสักวันหนึ่งที่ก้าวไปสู่เส้นชัย ไม่รู้ว่านานแค่ไหน แต่คิดว่าต้องมีสักวัน เราต้องมีความเชื่อว่าต้องเปลี่ยนได้ อย่าลืมว่าทุกวันนี้พวกเราเดินกันมากันไกลมากแล้ว เป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ในระยะเวลาไม่นาน ถ้าตอนนี้ไม่ไหว อย่างน้อยก็ส่งต่อให้คนอื่น ให้เขาเดินไปถึงเส้นชัยแทนเราก็ยังได้ ผมเชื่อแบบนั้นนะ

Tags: , , , , , , , , ,