“เราว่าคนดูจะได้ความบันเทิง แต่เป็นความบันเทิงแบบอำมหิตและโศกเศร้า จะได้เห็นโลกของคนที่เขาอาจรู้จักและไม่เคยรู้จัก เป็นโลกของคนที่ไม่มีทางเลือก แต่พยายามเหลือเกินที่จะมีทางเลือก แม้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัด ซึ่งคนดูก็จะได้เข้าใจอะไรมากขึ้น หรือหันกลับมามองเกี่ยวกับปัญหาของคนชายขอบ หรือคนที่ไม่มีเสียงในสังคมรอบตัวเขา
“เป็นความบันเทิงและกดดันในตัวหนัง เพราะแม้คนที่ดูหนังจะไม่ได้รู้จักเรื่องราวของคนกลุ่มนี้มาก่อน หรือเคยได้ยินแบบผิวเผิน ก็มาสัมผัสเรื่องราวในมุมที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิมผ่านหนังเรื่องนี้ แล้วถ้าสนใจประเด็นและปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ก็อยากให้ได้มาสนใจ ทำความเข้าใจ ว่ามันเป็นอย่างไร”
ข้างต้นคือคำบอกเล่าของ ภูมิภัทร ถาวรศิริ และอวัช รัตนปิณฑะ สองนักแสดงจากเรื่อง Doi Boy ผลงานล่าสุดของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล และค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ถึงปัญหาเรื้อรังที่ยังปรากฏอยู่ในประเทศไทย ทั้งความรุนแรงทางการเมือง คนชายชอบ ชาติพันธุ์ ระบบราชการ และการถูกอุ้มหาย ที่ยังพบเจอได้อยู่ในสังคมและดูเหมือนว่ายังไร้ซึ่งหนทางแก้ไข เมื่อระบบและกลไกลที่เอื้อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นยังคงอยู่ และไม่ถูกกวาดล้างจนหมดสิ้นเสียที
The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับสองนักแสดงคนสำคัญจากเรื่อง Doi Boy ว่า เรื่องและปัญหาแบบที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ศรและวุฒิ ที่ทั้งคู่ได้รับบทบาท รวมไปถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในเรื่อง สุดท้ายแล้วพวกเขาตั้งใจจะส่ง ‘สาร’ แบบไหน มาบอกกับผู้ชมอย่างพวกเรากันแน่
จุดเริ่มต้นที่คุณได้เข้ามามีส่วนร่วมกับหนังเรื่อง Doi Boy เป็นอย่างไร
เอม: เราได้ยินเรื่องโปรเจกต์ Doi Boy มานานแล้ว แต่ตอนนั้นไม่เคยอ่านบท รู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ในวงการหนังไทย จนพอวันหนึ่งได้รู้ว่าเนรมิตรหนัง ฟิล์ม จะทำหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับเป็นพี่เบิ้ล (นนทวัฒน์ นำเบญจพล) ก็แปลกใจ เพราะเขาเป็นคนทำหนังเชิงสารคดีมาตลอด แต่พอมาจับหนังที่มีประเด็นค่อนข้ามแหลมคมแบบนี้ เลยรู้สึกตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย
จนวันที่เขาติดต่อว่า มีบทอยากให้เข้าไปแคสต์ จำได้ว่าตัดสินใจตกลงทันที ไม่ลังเลเลย เพราะไว้ใจทั้งตัวค่ายและผู้กำกับอยู่แล้ว พอแคสต์ผ่าน ได้มาอ่านบทเต็มๆ รู้สึกว่าคิดถูกที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์นี้
ถ้าหนังออกมาและเราไม่ได้แสดง จะต้องรู้สึกเสียดายแน่ๆ เพราะเราคาดหวังให้มีหนังไทยแบบนี้มานานมาก เป็นหนังที่พูดประเด็นที่เป็นปัญหาในสังคมอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน ไม่มีท่าทีเซนเซอร์ตัวเอง เราอยากเห็นอะไรแบบนี้มานานแล้ว
จำได้ว่าช่วงแคสติง ทีมงานบอกว่า เราจะเป็นบทตัวประกอบที่ค่อนข้างเล่นยาก เพราะไม่มีอะไรให้เล่นขนาดนั้น หมายถึงมันค่อนข้างเป็นตัวละครที่ถูกสภาพแวดล้อมพาไปเจอสิ่งต่างๆ มากกว่า ก็พยายามลองประกอบร่างตัวละครดู ว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้จะแสดงออกแบบไหน หรือก่อนหน้านี้ตัวละครมีภูมิหลังอย่างไร เป็นคนแบบไหนมาก่อน เกิดมาอย่างไร ครอบครัวเป็นอย่างไร มีความชอบและไม่ชอบเป็นอย่างไร และอะไรที่ทำให้เขากระโจนมาอยู่ในจุดนี้ ก็พยายามเติมทุกอย่างที่มีเข้าไปในตัวละคร เพื่อให้ตัวละครมันสมบูรณ์ที่สุด
อัด: ก่อนจะได้มาเล่นหนัง Doi Boy หรือก่อนที่จะมาแคสติง เราเคยตัดสินใจว่าจะเลิกแสดงแล้วนะ ยอมแพ้ เพราะมันไปต่อไม่ได้ ทำเป็นอาชีพไม่ไหว ไปทำอย่างอื่นดีกว่า
จนมีโปรเจกต์ Doi Boy ติดต่อมา และเป็นพี่เบิ้ล รู้สึกสนใจ เพราะรู้จักและติดตามผลงานเขาตลอด พอได้อ่านบททั้งหมด มันเกิดความรู้สึกเดียวเลย คือกูอยากได้บทศร เหมือนกับว่าไฟในการอยากเป็นนักแสดงกลับมาอีกครั้ง หลังจากอ่านบทเรื่องนี้
แม้แต่ตอนที่ไปแคสติงยังบอกพี่ๆ ทีมงานเลยว่า ผมอยากได้บทนี้มากๆ เพราะมันท้าทาย มันต้องใช้ความพยายามมากๆ ในการเป็นศร แต่เราอยากจะทุ่มเทไปกับมัน เอาสักตั้ง ให้เห็นไปเลยว่าเราจะเป็นนักแสดงได้จริงไหม
มีวิธีการตีความตัวละครของแต่ละคนอย่างไรบ้าง
เอม: สำหรับตัวละครวุฒิ เขาเป็นนักศึกษาที่ทำงานการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปด้วย อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ จู่ๆ คนรักของเขาถูกทำให้สูญหาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวละครและเพิ่มเหตุผลที่จะทำให้เขาต่อสู้กับความอยุติธรรมบางอย่างมากขึ้น พอคนรักซึ่งอาจเป็นรักเดียวในชีวิตเขาสูญสลายไปแล้ว เขาจึงไม่เหลืออะไรจะต้องเสียอีก และทุ่มเททุกอย่างให้กับการต่อสู้ในครั้งนี้
กระทั่งหลังจากได้พบกับศรและจิ (แสดงโดย อารักษ์ อมรศุภศิริ) ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เขากำลังสู้ด้วยคืออะไร ทรงพลังแค่ไหน หลีกเลี่ยงไม่ได้ขนาดไหน และสามารถพรากอะไรไปจากเขาได้อีก นอกจากคนรัก
ความยากของตัวละครวุฒิ คือทุกอย่างเกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักหนามากที่คนคนหนึ่งต้องเผชิญในคืนเดียว ยากที่จินตนาการว่า คนที่เจอเรื่องแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร เพราะในแง่ของการแสดงก็มีวิธีในการแสดงออกต่อสิ่งเหล่านี้ได้หลากหลาย คือเขาอาจจะชินชาไปเลย ไม่รู้สึกอะไรอีกแล้วก็ได้ แต่ในหนังทำแบบนี้ไม่ได้ เราเลยต้องพยายามที่จะเข้าใจว่า ถ้าตัวละครเจอเรื่องแบบนี้มา เขาจะมีวิธีในการแสดงออกอย่างไร และจะสามารถอยู่ในหนังได้อย่างไร โดยเฉพาะในฐานะของบทสมทบด้วย
ความยากอีกอย่าง คือการลากเส้นอารมณ์ว่าตัวละครอยู่ในจุดไหน ผ่านเรื่องอะไรมาบ้าง คิด หรือกังวลอะไรอยู่ขณะนั้น ซึ่งแต่ละซีนก็แตกต่างกันไป และที่สำคัญจะไปควบคุมให้มันแตกต่างชัดเจนก็ไม่ได้ มันไม่ต่อเนื่อง ไม่สวยงาม ต้องปล่อยให้มันไหลไปตามเรื่องราวเป็นธรรมชาติบ้าง นี่คือความยากของการเป็นตัวละครวุฒิ
วิธีตีความบทบาทแบบนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากที่ไหน
เอม: ไม่ได้มาจากไหนเลย เราพยายามมองแทนตัวละครเข้าไป คือถ้ามองเห็นตัวละครวุฒิมาประมาณหนึ่ง รู้จักเขามาประมาณหนึ่ง สามารถจินตนาการได้ว่า ถ้าเขาไปเจอกับสถานการณ์แบบนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร เราก็แค่ติดตามเขาไป แต่ต้องมีขอบเขต จะไปติดตามเขาจนสุดก็ไม่ได้ เพราะมันจะออกนอกจากกรอบของบทที่ผู้กำกับวางไว้ จึงต้องมีความประนีประนอมกับตัวละครและสถานการณ์อื่นๆ ด้วย
เช่น ฉากที่ศรปลดเชือกให้และตัวละครวุฒิตัดสินใจหนีออกมา เป็นตัวอย่างของความรู้สึกไม่ไว้วางใจของตัวละคร คือกูเพิ่งเจอมึงครั้งแรก กูเพิ่งฟังสิ่งที่มึงพูดกับไอ้จิเป็นครั้งแรก เราพยายามคิดว่าเขามีความสัมพันธ์กันแบบไหน แล้วเราสามารถชักจูงเขาเพื่อช่วยกันหนีได้หรือเปล่า แต่มันก็ไม่สามารถเชื่อใจตัวละครนี้ได้ เพราะเพิ่งเจอกันคืนแรก สุดท้ายเป็นไง ก็กลับมานั่งที่เดิม (หัวเราะ)
แล้วบทนำอย่างศรล่ะ ตัวละครนี้เป็นอย่างไรบ้าง
อัด: ศรเป็นผู้ลี้ภัยมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นเด็กคนหนึ่งที่ลี้ภัยเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายในไทย แล้วก็ได้ทำงานที่บาร์เกย์ด้วยการค้าประเวณี ก่อนหน้านี้เขาคือเณรที่ถูกบังคับเกณฑ์ทหารจากเหตุความขัดแย้งในประเทศ
พูดโดยภาพรวม เขาเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ไม่มีทางเลือกอะไร ถูกระบบบังคับให้พาไปในที่ต่างๆ เป็นชีวิตที่จำยอมต่อระบบ ไม่มีปากมีเสียง ไม่สามารถพูดหรือเรียกร้องอะไรได้ ที่สำคัญคือไม่รู้ว่า ตัวเองมีสิทธิหรือจะทำอะไรได้บ้างในฐานะมนุษย์ คือเป็นคนที่ไม่ได้รับการป้อนข้อมูลในหลายมิติ ใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน สิ่งที่คิดมีเพียงแค่ พรุ่งนี้จะกินอะไร จะเอาเงินจากไหน จะจ่ายค่าห้องอย่างไร ซึ่งการทำงานค้าบริการในบาร์เกย์ ก็เป็นหนทางเดียวที่ทำให้เขามีเงินเยอะขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังจะสร้างชีวิตกับคนรักของเขา อาจสร้างเนื้อสร้างตัวและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
ในบทของศรถือว่าเป็นตัวละครที่มีความแตกต่างกับคุณ (อวัช) ค่อนข้างมาก ในการเตรียมตัวมีความยากหรือง่ายขนาดไหน
อัด: แน่นอนว่าเป็นบทที่ยากและท้าทายมากๆ ในฐานะนักแสดง ผมกับศรแตกต่างกันสิ้นเชิงเลย ตัวผมเกิดมามีอภิสิทธิ์มากกว่าเขาเยอะมาก ดังนั้น ตอนที่ผมปั้นตัวละคร ต้องไปศึกษาว่า คนกลุ่มนี้เขาคิดอย่างไร มีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ แบบไหน การถูกมองเป็นวัตถุทางเพศต้องรู้สึกอย่างไร
ที่สำคัญคือการต้องเข้าใจว่า คนเหล่านี้เขาใสซื่อเพียงใด เป็นความใสซื่อในขนาดที่ว่า ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ในฐานะมนุษย์ หลายอย่างเขาก็ทำเพียงแค่ยอมรับชะตากรรมและอยู่กับมันให้ได้ ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องสู้เพื่ออะไรที่ดีกว่า เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ามีสิทธิที่จะต้องสู้หรือไม่ เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ช็อกอยู่เหมือนกันตอนศึกษาข้อมูล
พอเราศึกษาจนเข้าใจก็ต้องมาปรับ เพราะตัวละครศรต้องเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องพวกนี้ ต้องใสซื่อมาก ดังนั้น ความยากของตัวละครนี้ คือการต้องลืมเรื่องพวกนี้ทั้งหมด อย่าไปคิดถึงมัน
อีกอย่างคือความยากเรื่องภาษาไทยใหญ่ที่ต้องฝึก โชคดีที่นักแสดงในเรื่องคนหนึ่งพูดภาษาไทยใหญ่ได้ ช่วยกันติว ช่วยกันฝึก รวมถึงต้องเปลี่ยนสำเนียงให้เหมือนกับเวลาที่คนรัฐฉานพูดภาษาไทยด้วย
ตัวละครในเรื่องมักพูดว่าชีวิตของพวกเขาไม่มีทางเลือก คำถามคือหากคุณต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับในเรื่อง จะมีการตัดสินใจที่แตกต่างออกไปจากตัวละครเหล่านี้ไหม
เอม: ความจริงก็มีบ้าง แต่เรารู้สึกว่ามันอาจจะไม่สำคัญที่จะบอกเท่าไร เพราะมันจะกลายเป็นการเอาตัวเองเข้าไปใส่ในตัวละคร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ตัวละครคิดและเลือกแบบนั้น เชื่อแบบนั้นจริงๆ ซึ่งก็เป็นจุดที่สะท้อนได้ดีว่า เรามีความแตกต่างกับตัวละครมากแค่ไหน
สิ่งที่ตัวละครเจอและตัดสินใจทำในตอนนั้น เป็นเพราะเขาไม่มีทางเลือกแล้ว ดังนั้น เราไม่สามารถบอกได้ว่า เราจะทำให้มันแตกต่างออกไปได้จริงๆ ไหม เพราะด้วยเงื่อนไขอะไรหลายๆ อย่างไม่เหมือนกัน
อัด: เห็นด้วยกับพี่เอม เพราะเรากับศรอยู่คนละเงื่อนไขชีวิต จึงเอาสิ่งที่เราเป็นไปเทียบและตัดสินใจแทนเขาไม่ได้ ถ้ามีคนมาตัดสินว่าศรควรทำแบบนี้ นั่นก็จะไม่ใช่ศรอีกต่อไป
อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจคือจิ คิดเห็นหรือมองตัวละครนี้อย่างไรบ้าง
อัด: ในมุมมองของเรา พูดยากว่าตัวละครนี้ดีหรือเลว เขาคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความยากลำบาก เพียงแต่เราไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้เขาต้องไปพัวพันกับระบบ ที่ผูกมัดตัวเขาให้กลายเป็นคนที่ไม่มีทางเลือก และต้องทำสิ่งที่ไม่ดีกับคนอื่น
แน่นอนว่าการอุ้มหายไม่ควรมีใครถูกกระทำ และคนที่ทำก็สมควรได้รับโทษ แต่ถ้าเรามองถึงบริบทอื่นๆ ของตัวละครนี้ก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า อะไรผลักไสให้เขาต้องมาทำสิ่งนี้
เอม: ถ้าพูดถึงสิ่งที่เขาทำ จิคือฆาตกร ซึ่งผิดแน่นอน แต่เอาเข้าจริง เราเชื่อว่าทุกคนไม่อยากจะเบียดเบียนหรือทำร้ายใคร ไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากเป็นคนเลวหรอก แต่เหมือนระบบที่เป็นอยู่ ทำให้เขาต้องดิ้นรนและหาทางเลือกในแบบของตัวเอง ซึ่งทางเลือกในแบบของเขามันอาจจะเบียดเบียนคนอื่น เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด
ถ้าจิเลือกได้ หัวหน้าของจิเลือกได้ หรือลูกน้องของจิเลือกได้ เขาก็ต้องเลือกทางที่ไม่ไปทำร้ายคนอื่นให้เป็นตราบาปตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น ปัญหาทั้งหมดของสิ่งนี้ คือระบบที่บังคับให้ทุกคนต้องเลือกเส้นทางที่ต้องทำร้ายคนอื่น
เราไม่เคยเจอใครที่ดำและขาว เราเจอแค่ในหนังกับหนังสือ ทุกคนมีมิติ มีเรื่องราวที่ผลักให้เขาเป็นไปในแต่ละช่วงเวลา
ฉากไหนในหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นบทบาทที่ท้าทายสำหรับตัวคุณ
อัด: ยากพอๆ กันหมด ไม่ได้มีอันไหนที่รู้สึกกังวลแบบสุดๆ เราอาจเป็นศรไปแล้วในเวลานั้น จึงไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ได้กังวลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
ตอนถ่ายทำ เราไปอยู่ที่นั่นเป็นเดือน ถ่ายยี่สิบคิวติดต่อกัน ไม่ได้มีช่วงแวะกลับมาบ้าน พออยู่ที่นั่น เราก็อยู่ในโหมดตัวละครศรตลอด ได้อ่านบททุกวัน ได้เจอศรทุกวัน จึงไม่ได้มีฉากไหนยากที่สุด การเปลื้องผ้า การโป๊ ไม่ใช้สิ่งที่กังวลอะไร เราว่าการที่เชื่อมอยู่กับตัวละครและใช้เวลาด้วยกันอยู่ตลอด มันลดความกังวลของอัด อวัช ออกไป และเป็นศรได้ต็มที่
เอม: สำหรับเราน่าจะเป็นซีนน้ำตก ที่ตอนเล่นไม่ได้รู้สึกว่ายาก แต่มันกังวลหลังจากนั้น เพราะมีเวลาไม่พอ เลยไม่มีโอกาสได้แก้ไข
การเดินทางไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 (BIFF) ของพวกคุณเป็นอย่างไรบ้าง
อัด: โดยรวมถือว่าโอเค เพราะคนรู้จักหนังเรื่องนี้เยอะมาก ตอนฉายหนังเรื่องนี้ในเทศกาลสามรอบ ก็ขายตั๋วหนังหมดทั้งสามรอบในสิบนาที ไปเจอผู้กำกับต่างชาติ หรือนักแสดงต่างชาติในงาน เขาก็บอกว่าอยากดูหนังของเรามากๆ หลายคนชื่นชมงานของเรา แล้วก็สอบถามเรื่องราวการเป็นนักแสดง หรืออุตสาหกรรมในไทยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ในมุมเราก็ได้กำลังใจมากขึ้น มีคนให้ความสนใจกับหนังไทยมากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่มีความหมาย ได้เติมกำลังใจมากๆ
รู้สึกอย่างไรบ้างกับการได้รับรางวัลสาขา Rising Star Award ของคุณ (อวัช)
อัด: เรื่องนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราคิดและคาดหวังเลยแม้แต่น้อย ไม่ได้อยู่ในสารระบบของตัวเราเลย เราแค่รู้สึกว่าอยากแสดงในบทที่มีความหมายสำหรับเรา เป็นบทที่เราจะได้เล่น ได้พูดประเด็นอะไรสักอย่างในฐานะนักแสดง
รางวัลเป็นเหมือนโบนัสจากงานนี้มากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าการได้รับคำชมจากคนในเทศกาล จากนักแสดง จากทีมงาน เป็นสิ่งสำคัญ เติมกำลังใจมากกว่า เป็นคำชื่นชมจากมนุษย์จริงๆ ที่รู้สึกสดชื่น อย่างตอนที่พี่เอมบอกกับเราว่า “I’m so pround of you” เราจะอินและดีใจกับมันมาก
มองว่าผู้ชมจะได้รับประสบการณ์แบบนี้กลับไปจากการดูหนังเรื่องนี้
เอม: เราว่าคนดูจะได้ความบันเทิง แต่เป็นความบันเทิงแบบอำมหิตและโศกเศร้า จะได้เห็นโลกของคนที่เขาอาจรู้จักและไม่เคยรู้จัก เป็นโลกของคนที่ไม่มีทางเลือก แต่พยายามเหลือเกินที่จะมีทางเลือก แม้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัด ซึ่งคนดูก็จะได้เข้าใจอะไรมากขึ้น หรือหันกลับมามองเกี่ยวกับปัญหาของคนชายขอบ หรือคนที่ไม่มีเสียงในสังคมรอบตัวเขา
อัด: เป็นความบันเทิงและกดดันในตัวหนัง เพราะแม้คนที่ดูหนังไม่ได้รู้จักเรื่องราวของคนกลุ่มนี้มาก่อน หรือเคยได้ยินแบบผิวเผิน ก็มาสัมผัสเรื่องราวในมุมที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิมผ่านหนังเรื่องนี้ แล้วถ้าสนใจประเด็นและปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ก็อยากให้ได้มาสนใจ ทำความเข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร
สำหรับนักแสดงในเรื่อง คิดว่า Doi Boy มอบประสบการณ์หรือเติมเต็มอะไรในตัวของพวกคุณบ้าง
อัด: หนังเรื่องนี้ทำให้เรากลับมามั่นใจ เข้าใจว่ายังรักและอยากสู้กับการแสดงอยู่ จะยังคงสู้ต่อไปไม่ว่าจะมีโอกาสแบบไหนเข้ามาหลังจากนี้ ขอบคุณ Doi Boy ขอบคุณพี่เบิ้ล ขอบคุณทีมงานทุกคน ที่ยื่นโอกาสตรงนี้ให้
เอม: การได้เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นกับตัวอัด มันทำให้เราได้ลองย้อนกลับมาดูตัวเองว่าต้องการอะไรในการทำงาน เราต้องการอะไรในชีวิต และเราจะสามารถทำอะไรให้กับความฝันของตัวเองได้อีกบ้าง การเห็นคนคนหนึ่งถูกชุบชีวิตจากการทำงานก็ทำให้กลับมามองตัวเองอีกครั้ง
อีกเรื่องคือทำให้เข้าใจว่าหน้าที่ของการแสดงในอีกมุมหนึ่ง คือการเป็นกระบอกเสียง การสะท้อนอะไรบางอย่าง เพื่อให้คนอื่น ให้สังคมดียิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่เราประทับใจมาก
Tags: Netflix, The Frame, อัด อวัช, Doi Boy, เนรมิตรหนังฟิล์ม, เอม ภูมิภัทร, NetflixTH