วันนี้ (30 กรกฎาคม 2567) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) และเต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานกำกับคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร จัดแถลงความคืบหน้ากรณี ‘การทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย’
ณัฐพงศ์ระบุว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ทาง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งขึ้น ซึ่งดำเนินการตรวจสอบโครงการจัดซื้อรวมกว่า 7 โครงการของ กทม. ผ่านเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปได้เป็น 4 ประเด็น ดังนี้
1. การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมีราคาแพงเกินจริง โดยราคาสูงกว่าท้องตลาดและสูงกว่าการจัดซื้อในปีงบประมาณก่อนหน้า
2. ในการจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (Term of Reference: TOR) พบว่า มีการปรับคุณสมบัติ หรือสเป็กของเครื่องออกกำลังกายให้สูงขึ้นเกินความจำเป็น เช่น เพิ่มกำลังแรงม้า โปรแกรมการออกกำลังกาย และการเพิ่มจอระบบสัมผัส
3. การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตาม TOR มีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้เสนอราคาได้อย่างเท่าเทียม เช่น การกำหนดให้แนบหนังสือรับรองผลงานและสำเนาสัญญาซื้อขายที่ทำกับภาครัฐไม่น้อยกว่า 4 สัญญา โดยมีระยะเวลาย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้น เป็นการกำหนดที่เกินกว่าที่กระทรวงการคลังกำหนด ทำให้ราคาของการจัดซื้อมีครุภัณฑ์มีราคาสูงกว่าปกติ
4. จากการสืบสวนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการจัดซื้อและการพิจารณางบประมาณจำนวน 25 ราย ได้ดำเนินโครงการโดยไม่คำนึงถึงหลักความคุ้มค่าที่ครุภัณฑ์จะต้องมีคุณสมบัติและราคาที่เหมาะสม รวมทั้งในการกลั่นกรองงบประมาณไม่มีการทักท้วงในประเด็นราคาแต่อย่างใด
รองปลัด กทม.ยังกล่าวอีกว่า จากการสืบสวนของคณะกรรมการฯ ทำให้ปลัด กทม.มีคำสั่งย้ายผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อทั้ง 7 โครงการไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักปลัด กทม.เพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับหลักฐาน และเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใส
สำหรับขั้นตอนถัดไปที่ทาง ศตท.กทม.จะดำเนินการ เต็มศิริเผยว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญาได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของประเด็นทางวินัยทาง ศตท.กทม.ได้รับแจ้งว่า พบมูลว่า ครุภัณฑ์มีราคาสูงเกินจริง ในขั้นตอนต่อไปจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง
ส่วนกระบวนการสอบสวนทาง กทม.มีกฎกรรมการว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย กำหนดให้กระบวนการสอบสวนมีระยะเวลา 120 วัน (ขยายเพิ่มกรอบระยะเวลาได้ไม่เกิน 60 วัน) นับตั้งแต่การเรียกประชุมครั้งแรก โดยจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา สรุปพยานหลักฐานที่เข้าข่ายการกระทำความผิด และให้โอกาสในการชี้แจงข้อเท็จจริง
เต็มศิริระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากการดำเนินการทางวินัยแล้วนั้น ศตท.กทม.ยังจะต้องดำเนินการทางกฎหมายแพ่งควบคู่กันไป ที่เรียกว่า ‘ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ’ ที่ผู้กระทำความผิดทำให้ทาง กทม.ต้องจ่ายค่าครุภัณฑ์ที่สูงเกินจริง นับเป็นการกระทำที่ทำให้ กทม.เสียหาย ดังนั้นจึงต้องดำเนินการหาผู้รับผิดทางแพ่งมาคืนเงินชดเชยให้ทาง กทม.
Tags: กรุงเทพมหานคร, กทม., ทุจริต, เครื่องออกกำลังกาย