หลายปีที่ผ่านมา ไททศมิตร เป็นวงดนตรีที่ครองใจคนรุ่นใหม่ เพลงของเขาเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องในสังคมที่สลับซับซ้อน อย่าง เพื่อชีวิตกู เพลงที่พูดถึงการดิ้นรนของคนที่ถูกสังคมด้อยค่า, Hello Mama พูดถึงคนที่แบกความฝันเอาไว้ไกลบ้าน, รจนา มุมมองความรักที่อาจไม่ได้สวยงามเหมือนดังวรรณคดี หรือแดงกับเขียว เพลงที่พูดถึงการใช้กำลังของวัยรุ่นเลือดร้อน
ในยุคสมัยนี้ที่ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ของไททศมิตรกลายเป็นบทเพลงที่ถูกนำไปวิเคราะห์ วิจารณ์สังคมที่บิดเบี้ยวในหลากหลายมุมมอง ไม่ว่าพวกเขาจะออกเพลงใหม่มากี่เพลง ล้วนทำให้คนฟังได้ครุ่นคิด จับไปโยงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม นั่นหมายถึงเนื้อร้องที่ลุ่มลึกและดนตรีที่โดดเด่น ขับให้เนื้อร้องมีความหมายเพิ่มขึ้นไปอีก
และแน่นอน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ พวกเขากลายเป็นตัวแทนของ ‘ศิลปินเพื่อชีวิต’ ณ ปี 2567 ไปแล้วเรียบร้อย
คำถามสำคัญคือ แล้วไททศมิตรเป็นใคร พวกเขาเป็นภาพแทนของใคร พวกเขาเป็นภาพของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นภาพของศิลปินเพื่อชีวิต หรือพวกเขาเป็นเพียงเด็กหนุ่ม ที่ต้องการสะท้อนเสียงบางอย่างออกสู่สังคม มากกว่าที่จะเก็บเอาไว้ข้างใน
Screen and Sound ครั้งนี้พาไปเจาะลึกอัลบั้มภาคพิสดาร การเดินทางอีกก้าวของวงไททศมิตร ที่จะพาเราไปรู้จักอีกมุมของชาย 6 คนนี้ในอีกมิติ กับมุมที่เติบโตไปอีกขั้น วิพากษ์สังคมได้ลึกขึ้น และเนื้อร้อง-ทำนอง ‘เฉียบคม’ ขึ้น อย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่ลืมตัวตน ไม่ลืมความเป็น ‘ร็อก’ แบบไทยๆ ที่ประกอบสร้างพวกเขาขึ้นมา
(1)
ก่อนอื่น ถ้าย้อนกลับไปมองเส้นทางของพวกเขา ไททศมิตรคือการแนะนำพวกเขากับคนไทย ให้รู้จักวงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ ที่ผสมอย่างกลมกลืนกับเพลงกระแสหลัก และอยู่ในรั้วของค่าย GeneLab ได้ อัลบั้มเพื่อชีวิตกู คือการขยายตัวตนไปถึงคนอีกกลุ่ม พร้อมกับนำพาพวกเขาไปยังแนวดนตรีที่หลากหลายมากขึ้น ร่วมงานกับคนดนตรีทั้งผู้อาวุโสอย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับที่มาแหล่สดในเพลงไทยเท่ เพลงสุดมันที่เสียดสีความเป็นไทย รวมถึง เบน ชลาทิศ กับเพลงไอ้สอง เพลงที่สื่อถึงชาว LGBTQIA+ หรือการร่วมงานกับ MILLI ในบทเพลงที่ส่งเสียงแทน ‘โคโยตี้’ ในเพลงโคโยตี้
ดูเหมือนว่าใน พ.ศ.นี้ พวกเขากลายเป็นศิลปินที่รวบรวม ‘เสียง’ ของทุกคนเข้าไว้ด้วยกันในทุกบทเพลง ไม่ใช่เพียงศิลปินที่พวกเขา Featuring ด้วยเท่านั้น แต่คือกลุ่มคนที่พวกเขาสามารถส่งผ่านความคิดความอ่านออกมา ผ่านคำร้องและดนตรีอันหนักแน่น ซึ่งหมายถึงการต้องทำความเข้าใจชีวิตของคนหลากหลายกลุ่มอย่างเข้มข้น จนเรียบเรียงออกมาเป็นคำร้องและทำนองที่แหลมคมได้
จริงอยู่ อาจไม่ใช่ ‘เพื่อชีวิต’ แบบยุคก่อน แต่ก็มีความหนักแน่น มีกลิ่นอายที่แตกต่างจากเพลงของศิลปินกลุ่มอื่นในท้องตลาดอย่างชัดแจ้ง
และนั่นคือภาพจำของพวกเขา ก่อนจะเดินทางมาถึงอัลบั้มใหม่ อัลบั้มที่พวกเขาตั้งชื่อสั้นๆ ไว้ว่า ภาคพิสดาร วลีสุดฮิตที่ใช้ในทศวรรษ 90s กำลังกลับมาอีกครั้ง พร้อมอัลบั้มที่ทำให้คนฟังได้เห็นอีกมุมหนึ่งของวงนี้ว่า พวกเขาไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับดนตรีหนักๆ หรือชีวิตของคนเฉพาะกลุ่มเพียงอย่างเดียว
(2)
คอนเซปต์ของอัลบั้มภาคพิสดาร คือการกลับไปค้นหาสารพัดป็อปคัลเจอร์ในทศวรรษ 2000 ภาคพิสดารเริ่มปูเรื่องด้วย ทนได้ทุกที เพลงในโปรเจกต์พิเศษ ‘ซนซน 40 ปี GMM Grammy’ ที่พาย้อนกลับไปหาผู้กององอาจแห่ง 7 ประจัญบาน ภาพยนตร์สุดฮาเมื่อปี 2545 และต่อด้วยจะหมัดจะมวย เพลงร็อกที่พูดเรื่องปัญหาทะเลาะวิวาท ปัญหาชกต่อย ความเลือดร้อนของบรรดานักเลงทั้งหลาย แม้ทำนองและเสียงลีดกีตาร์ กระทั่งท่อนโซโล่ จะชวนให้เริ่มเปิด เริ่มวางหมัดก่อนค่อยคุยกัน แต่เนื้อเพลงที่ถ่ายทอดออกมา คือการ ‘เตือนสติ’ บรรดาลูกผู้ชายทั้งหลายให้อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ และมีเรื่องอะไรขอให้คุยกันก่อนที่จะเริ่มใช้กำลัง
“จะหมัดจะมวยกระบวยจะเหล็ก อยากจะเช็ก แหมเรื่องง่ายๆ แต่อย่าเลย อย่าทำแบบนั้นเจ้านาย ถ้าหากเรายิ่งใช้อารมณ์ เดี๋ยวมันยิ่งไปกันใหญ่”
เพลงนี้ไททศมิตรพา จตุรงค์ มกจ๊ก หรือแสนแสบ บุญเจริญ ตำนานยอดนักมวยจากราชบุรี จากแสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า ภาพยนตร์ดังเมื่อปี 2549 ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง และจตุรงค์ก็ถ่ายทอดบทบาทนี้ได้ทั้งฮา น่ารัก และเก๋า ไปพร้อมๆ กัน
(3)
เพลงที่ 3 ของภาคพิสดารคือ เพลงบัลลาด ไลน์เปียโนสวยๆ ชื่อยาว ที่มีชื่อว่า แอบเก็บความในใจไว้ภายในแว่นเรย์แบนสีดำ ที่ได้ ต๊อก-ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ พระเอกจากมนต์รักทรานซิสเตอร์ มาเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของชายหนุ่มร้านตัดแว่นที่ใส่เรย์แบนเพื่อซ่อน ‘ความรู้สึก’ ตั้งแต่เด็กจนโต
“ฉันจะเก็บข้อความในใจ ให้เป็นความลับต่อไปเสมอ ขอแค่ได้อยู่ภายในชีวิตเธอ เป็นได้เท่านั้น เพราะกลัวว่าวันหนึ่งเธอหายไป ฉันยอมช้ำใจข้างในแทนเธอ ความจริงมันอาจจะไปทำร้ายเธอ ได้เป็นแค่เพื่อนเธอก็สุขใจ”
นอกจากพระเอกร้อยล้านอย่างต๊อกแล้ว มิวสิกวิดีโอยังได้ ต้องเต-ธิติ ศรีนวล มาเป็นผู้กำกับถ่ายทอดเรื่องราวของความรักที่ไม่มีวันเป็นจริง จนกลายเป็นอีกหนึ่งเพลงช้าที่ฟังแล้ว ‘อิน’ ที่สุดของไททศมิตร โดยเฉพาะกับคนที่แอบชอบใครนานๆ แล้วสุดท้ายจะไม่มีวันเป็นจริง แต่การได้มีใครสักคนอยู่ในความทรงจำให้นึกถึงสักครั้งก็เป็นเรื่องสวยงามที่สุด
(4)
“ได้โปรดอย่าเพิ่งจับอย่าเลยครับนะนายได้โปรด อย่าลงโทษไอ้เพื่อนผมเลยนาย นายอยากได้เท่าไหร่บอกมาสิจะเอาเท่าไหร่ จะไปหาเอามันมากองให้นาย”
มาถึงเพลงที่ 4 เพื่อนผมเกมได้ไง ไททศมิตรพากลับมาสู่จังหวะ 3 ช่า เพลงสนุกๆ ฟังง่าย สะท้อนสังคม ทั้งในมิติความเป็น ‘สังคมอุปถัมภ์’ ทุกอย่างเคลียร์ได้ หากเคลียร์ถูกคน, สารพัดข้ออ้างที่ใช้เมื่อทำอะไรผิด หรือเมื่อถูกจับ เผื่อ ‘นาย’ จะเห็นใจ หรือการเป็นสังคมที่ ‘เงิน’ เคลียร์ได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเรื่องหนักเรื่องเบา
น่าสนใจที่ไม่ว่าผ่านมากี่ปีเรื่องพวกนี้ก็ยังเป็นเรื่องอมตะอยู่คู่กับสังคมไทย ฟังเท่าไรก็ไม่เคยตกยุค
เพลงนี้ได้ เปิ้ล-นาคร ศิลาชัย ตัวละครจ่าเริง จากหนังสาระแนเห็นผี เมื่อปี 2553 กลับมารับบทเดิมอีกครั้ง พร้อมกับท่อนแรปเสียดสีสังคมของ TangBadVoice
“จ่ารู้เปล่าว่าพ่อผมเป็นใคร จ่ารู้เปล่าท่านยศอะไร เดี๋ยวจะให้พ่อจับสอนวินัย เพราะว่าที่นี่เมืองไทย ผมมีกำลังภายใน”
เป็นการร่วมงานกับแรปเปอร์ดังของไททศมิตรอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ ไททศมิตรเคยร่วมงานทั้งกับ MILLI และ D Gerrard มาก่อน
(5)
ในบรรดาเพลงเซ็ตแรกที่ถูกปล่อยออกมา กี่ฤดูนับเป็นเพลงที่พาอารมณ์ลงดิ่งลึกที่สุด โดยเนื้อเพลงพูดถึงการสูญเสีย การจากไป และชีวิตที่ต้องเดินต่อไปแม้ใครสักคนต้องจากลา และแม้จะมี ‘บาดแผล’ เจ็บเพียงใดก็ตาม
สำหรับเพลงนี้ ไททศมิตรชวน ตูน Bodyslam มาถ่ายทอดอารมณ์ดิ่งๆ และพาปลุกใจให้กลับมา ‘สู้’ ได้อีกครั้ง แม้ในวันต้องจากลา แม้ในวันที่ฟ้าและลมไม่เป็นใจ แต่ไม่ว่ากี่ฤดูจะผ่าน ความทรงจำเดิมเกี่ยวกับ ‘เธอ’ จะยังคงอยู่
นอกจากกี่ฤดูจะได้ตูน Bodyslam มาเสริมความหนักแน่นแล้ว ยังได้ หนุ่ม-อรรถพร ธีมากร นักแสดงจากเดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก ที่พูดถึง การจากลาและความสูญเสีย มาเล่นบท ‘พ่อ’ ได้อย่างกินใจ
“กล่องดวงใจที่ฉันได้เคยฝาก นานเพียงใดยังเป็นเพียงเธอเสมอ ไม่ว่ากี่ฤดู มันจะยังคงอยู่ ไม่ว่ากี่เรื่องราว ร้อยพันจะผ่านไป”
เรื่องนี้สะท้อนได้จากคอมเมนต์ในมิวสิกวิดีโอที่ต่างคนต่างก็แชร์ประสบการณ์ของการ ‘สูญเสีย’ และการ ‘ใช้ชีวิตต่อ’ ในช่องคอมเมนต์ของยูทูบได้อย่างกินใจ
(6)
สุดท้ายของอัลบั้มนี้ คือเพลงร็อกผสมกับเสียง Synthesizer ที่เพิ่งปล่อยสดๆ ร้อนๆ ที่ชื่อว่า หมวกกันน็อค พูดถึงการโชว์พลังบนเบาะมอเตอร์ไซค์โดยไม่ต้องใส่ ‘หมวก’ เป็นการพุ่งไปข้างหน้า โบยบินเหนือลม
“อยากเอาหน้าปะทะกับดิน หน้าปะทะกับลม หน้าปะทะกับฟุตบาท”
นับว่าชวนให้อารมณ์พลุ่งพล่านไม่น้อย เมื่อฟังเพลงนี้ไปพร้อมกับขับรถไปด้วยในยามค่ำคืน
หากเพื่อชีวิตกูคือ การรวบรวมชีวิตของคนหลากหลายกลุ่ม ภาคพิสดารก็คือการเสียดสีสังคมไทย ทั้งในเชิงหยิกเบาๆ แบบในเพลงจะหมัดจะมวย ทั้งชกหนักๆ แบบในหมวกกันน็อก และเพื่อนผมเกมได้ไง ก่อนจะมีเพลงสวยๆ อย่างแอบเก็บความในใจไว้ภายในแว่นเรย์แบนด์สีดำและกี่ฤดู โดยรวมเอา ‘วัฒนธรรมป็อป’ ยุค 2000 มาผสมผสาน เพื่อให้เข้าถึงคนวัยเดียวกัน ที่เติบโตมาพร้อมกับพวกเขา ชนิดที่ฟังแล้วอมยิ้ม (หรือยิ้มทั้งน้ำตา) ได้ การผสมผสานนี้เอง ทำให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่มีเอกลักษณ์ที่สุด ชนิดที่ฟังโน้ตแรกก็รู้ว่าเป็นเพลงจากพวกเขา
และภาคพิสดารคือ ความพยายามของไททศมิตร ในการฉีกกรอบไปสู่วงดนตรีที่มีแนวเพลงอันหลากหลายมากขึ้น เติบโตมากขึ้น ทั้งในเนื้อเพลง ดนตรี และในมิวสิกวิดีโอ ก่อนจะเติมความหนักแน่นของดนตรีให้ร้อนแรงทะลุปรอท
การเติบโตที่ไม่ทิ้ง ‘ราก’ และเอกลักษณ์ของพวกเขา ทำให้วงการเพลงไทยก้าวหน้าไปอีกขั้น
และหากจะมีสักวงที่อยู่เคียงข้าง คอยพูดแทนชีวิตของคนทุกคน ก็เห็นจะเป็นไททศมิตรที่ทำหน้าที่นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
สามารถฟังทั้ง 6 เพลงจากอัลบั้มภาคพิสดารได้แล้ววันนี้ทาง YouTube GeneLab หรือสตรีมมิงทุกแพลตฟอร์ม
Tags: GMMMusic, Branded Content, Screen and Sound, TaitosmitH, GeneLab, ไททศมิตร, อัลบั้มภาคพิสดาร, ภาคพิสดาร