ย่านที่มีเสน่ห์ที่สุดในลอนดอนสำหรับฉันคือ East London โดยเฉพาะช่วงทางเดินริมคลอง Regent จาก Hackney Wick ไปจบที่ Hackney ซึ่งเป็นย่านพักอาศัยในสถาปัตยกรรมวิคตอเรียน ที่มีทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ แกลเลอรี่ ตลาดนัดวันหยุด และ City Farm ที่ครอบครัวคนรุ่นใหม่มักจะนัดมาเล่นสเก็ตบอร์ดหรือปิกนิกกันหน้าแปลงผัก
นอกจากการเดินริมคลองจะทำให้ฉันได้เห็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ริมน้ำที่เกิดขึ้นแล้ว ฉันยังสนใจในวิถีของเรือบ้าน ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าใครอยากอยู่บนเรือ ก็ซื้อเรือแล้วหอบผ้าหอบผ่อนขึ้นไปอยู่ได้เลยนะ เพราะเรือก็เหมือนรถนั่นล่ะ คือเจ้าของเรือต้องไปยื่นเอกสารขอมีทะเบียนเรือเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันสามารถทำออนไลน์ได้ จากนั้นจึงจะได้รับอนุญาตให้นำเรือลงไปล่อง
ส่วนทะเบียนเรือมีสองแบบ แบบแรกคือสามารถหยุดจอดที่ใดที่หนึ่งได้เป็นระยะเวลานานๆ ตั้งแต่ 3 เดือน – 3 ปี (แล้วแต่กรณี) และแบบที่สอง คนจำนวนมากมักเลือกจดเพราะราคาถูก คือทะเบียนเรือประเภทห้ามจอดที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานานกว่าสองอาทิตย์ และเรือจะต้องมีระยะการเดินทางทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 20 ไมล์ต่อปี โดยจะล่องไปที่ไหนก็ได้ในสหราชอาณาจักร เพื่อให้เรือลำอื่นๆ ได้มีโอกาสสลับหมุนเวียนเข้ามาจอดใช้พื้นที่ ถามว่าถ้าเราจอดนานหรือไม่ย้ายไปไหนเลย ใครจะไปรู้ ? … รู้สิคะ หน่วยงานที่เขาดูแลรับผิดชอบอยู่จะรู้แน่ๆ เพราะในทุกครั้งของการย้ายเรือไปจอดตามที่ต่างๆ เจ้าของเรือจะต้องแจ้งรายละเอียดด้วยการล็อกอินเข้าไปในเว็บไซด์ของ Canal & River Trust รวมทั้งวันดีคืนดีก็จะมีการสุ่มตรวจ โดยเจ้าหน้าที่จะลงไปสังเกตการณ์ตามจุดที่มีการจอดเรือ
หากใครไม่ทำตามกติกา ก็จะถูกจดบันทึกไว้เป็นข้อมูล และอาจโดนปฏิเสธในการต่อทะเบียนเรือที่เจ้าของเรือจะต้องต่อใหม่ในทุกปี โดยปัจจุบัน คลองและแม่น้ำในประเทศอังกฤษ ซึ่งกินอาณาเขตพื้นที่รวมสองพันไมล์ มีเรือบ้านที่จดทะเบียนขึ้นตรงกับ Canal & River Trust หน่วยงานผู้ดูแลลำคลองและแม่น้ำในประเทศอังกฤษอยู่ทั้งหมดกว่า 35,000 ลำ ส่วนเหตุผลที่มีการสนับสนุนให้คนหันมาใช้เส้นทางน้ำก็เป็นเรื่องของ Well Being หรือความเป็นอยู่ที่ดี เพราะเมื่อมีกติกาในการใช้แม่น้ำลำคลองร่วมกันอย่างชัดเจน มีกฎหมายที่แข็งแรง ประสิทธิภาพในการดูแลรักษาแม่น้ำก็เกิด พอน้ำสะอาด อากาศดี คนก็อยากมาเดิน มาวิ่ง มาใช้ชีวิต เกิดการขยายเป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่ๆ ของคนในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นฐานเดียวกันคือรักแม่น้ำ
ในขณะที่ฉันลองเปลี่ยนจากการนั่งรถประจำทาง ไปใช้วิธีการเดินริมคลองติดกันมาสามวันแล้ว ฉันพบว่าคนที่นี่มีจิตสำนึกในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันสูงมาก เพราะแม้บางช่วงของทางเดินจะแคบ แต่เมื่อมีรถจักรยานขับมาข้างหลัง หรือมีคนกำลังวิ่งสวนทางมา ต่างฝ่ายก็ต่างหลีกทางให้กันตามเหมาะสม มีการส่งยิ้มให้กันตลอดเส้นทางเพื่อขอบคุณ รวมทั้งในทุกช่วงของคลอง ที่มีบันไดเชื่อมขึ้นไปยังถนน จะมีทางลาดสำหรับผู้ใช้จักยาน และรถเข็นคนพิการ อยู่ด้วย
ระหว่างเดินอยู่ริมคลอง ฉันเจอกับเรือบ้านลำหนึ่ง ถ้าดูจากวิธีการตกแต่งเรือแล้ว ฉันว่าเจ้าของเรือไม่ธรรมดาแน่ๆ จนพอโผล่หน้าเข้าไปทักทายเธอในเรือ ผู้หญิงผมทองติดโบว์สีแดงไว้กลางศีรษะ ตะโกนกลับทักทายและชวนฉันเข้ามานั่งในเรือของเธอ พอได้คุยกันแล้วก็พบว่านี่ไม่ใช่เรือบ้านทั่วไป แต่เป็นโรงละครเคลื่อนที่ !
M.J. เจ้าของเรือเป็นผู้หญิงวัย 54 ปีจาก Brixton สมัยอดีต เธอมีความฝันอยากเรียนหรือทำงานในวงการภาพยนตร์มาก แต่ครั้นจะไปสมัครเรียน เธอก็จ่ายไม่ไหว เธอเลยใช้วิธีไปสมัครงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ TGI Friday Cocktail Bar ตรง Covent Garden เพราะที่ร้านนี้มักจะมีคนในวงการหนังแวะเวียนมานั่งกันอยู่บ่อยๆ
จนวันหนึ่งเธอได้รับการแนะนำจากเพื่อนร่วมงานให้ไปทำงานในตำแหน่ง Runner ของทีมถ่ายทำมิวสิควิดีโอ ซึ่งเรียกง่ายๆ ก็เด็กชงชากาแฟ เก็บกวาด และทำสารพัดทุกสิ่งอย่าง กระทั่งเวลาผ่านไปสามสิบปี Runner คนนั้นไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน M.J. เป็นที่รู้จักดีในแวดวงของคนทำหนังกับตำแหน่ง Film Producer
หลังตัดสินใจขายบ้านใน Brixton เพื่อมาใช้ชีวิตบนเรือด้วยเหตุผลว่า ‘อยู่บนเรือ มันง่ายดี ค่าใช้จ่ายถูกกว่าอยู่บ้าน’ M.J. ใช้ความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ในเรื่องของการทำอาหารและเครื่องดื่ม มาผสมกับทักษะในการจัดกิจกรรมการแสดง เธอจัดสรรพื้นที่บนเรือให้เป็นทั้งบ้านและโรงละคร ซึ่งมีการแสดงหมุนเวียนทุกรูปแบบ ดนตรีแจ๊ส ละครเวที ทอร์กโชว์ โอเปร่า โดยที่นั่งในเรือนั้นสามารถขยับปรับเปลี่ยนได้หมด บางครั้งเก้าอี้ผู้ชมอาจถูกยกออกไปอยู่บนทางเดิน เพื่อนั่งหันหน้าเข้ามาชมการแสดงที่อยู่บนเรือ และบางทีการแสดงก็อาจจะอยู่กลางเรือ โดยมีผู้ชมนั่งล้อมรอบ
การที่ M.J. ต้องย้ายเรือในทุกสองอาทิตย์ตามกฎระเบียบ เธอมองว่าเป็นข้อดีในส่วนของการประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่ยากคือถ้าเธออยากจะกลับมาจอดเรือตรงที่เดิมเพื่อจัดกิจกรรม เธออาจต้องหาวิธีคุยตกลงกับเรือลำอื่นๆ ที่อาจมาจอดอยู่ในช่วงเวลาขณะนั้น เพราะคลองด้านหน้า Victoria Park ที่เธอกำลังจอดอยู่นี้ ถือเป็นหนึ่งในจุดจอดเรือยอดนิยม
หลังกลับจากลอนดอน เพื่อนคนหนึ่งถามฉันว่า ‘โห บ้านเรือที่นั่น เยอะขนาดนั้น น้ำไม่สกปรกตายเหรอ’ ซึ่งนี่ล่ะที่ฉันว่าแปลก คนใช้เส้นทางน้ำกันเยอะมากแต่น้ำก็สะอาดดีนะ ไม่เห็นมีถุงพลาสติกลอยอืดหรือขยะอุดตันตามท่อใดๆ นี่ละมังที่เขาว่าตราบใดที่คนเรามีจิตสำนึก ธรรมชาติก็ไม่ถูกทำลาย
Tags: ลอนดอน, Regent, คลอง