เนื่องในโอกาส ‘วันแรงงานสากล’ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 พุธิตา ชัยอนันท์ สส.พรรคก้าวไกล หยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิแรงงาน โดยเสนอให้มีกฎหมาย ‘เมนส์มา ลาได้’ เพื่อรองรับสิทธิการลาปวดสำหรับผู้ที่มีประจำเดือน แยกออกมาจากการลาป่วยปกติ โดยทาง ส.ส.พรรคก้าวไกลย้ำว่า ไม่ได้ทำไปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเหนือกว่า แต่เป็นไปเพื่อความเท่าเทียมด้วยเหตุผลทางกายภาพที่แตกต่างกัน
สิทธิในการลาปวดประจำเดือน คือกฎหมายที่จะช่วยให้แรงงานที่ประสบกับอาการปวดประจำเดือนสามารถลางานโดยได้รับค่าจ้าง หรือในบางกรณีอาจทำงานนอกสถานที่แทน ซึ่งจริงๆ แล้วนโยบายลาปวดประจำเดือนเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในหลายบริษัท รวมถึงบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น กับกฎหมาย ‘Seirikyuuka-Physiological Leave’ ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2490 ที่อนุญาตให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยจากประจำเดือนลางานกับนายจ้างได้โดยตรง หรือสเปนที่มีกฎหมายให้แรงงานลาป่วยจากอาการปวดประจำเดือนได้ 3 วัน และขยายเป็น 5 วันต่อเดือนได้ตามความจำเป็น
ทั้งนี้ แม้ว่าสิทธิในการลาปวดประจำเดือน (Menstrual Leave) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทุกครั้งไม่ต่างจากประเด็นสิทธิอื่นๆ ของผู้หญิง อย่างสิทธิลาคลอดหรือการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมาย โดยผู้เขียนจะขอหยิบยกประเด็นสำคัญที่กำลังตกเป็นที่ถกเถียงหลัง ส.ส.พรรคก้าวไกลได้ออกมาพูดถึงร่างกฎหมายดังกล่าว รวมถึงข้อมูลที่อาจช่วยตอบข้อสงสัยเหล่านั้นได้บ้าง
ลาเพราะปวดท้องเมนส์จริงหรือไม่ จะตรวจสอบอย่างไร?
มีความคิดเห็นจำนวนมากทั้งจากผู้ชายที่ไม่มีประจำเดือน รวมถึงผู้หญิงบางส่วนที่ชี้แจงว่า อาการปวดประจำเดือนของตนเองไม่ได้หนักหนาอย่างที่หลายคนเป็น และมองว่าหากมีกฎหมายดังกล่าวจะใช้หลักฐานอะไรมายืนยันว่า พนักงานคนนั้นเป็นประจำเดือนและป่วยจริงๆ ถ้ามีคนที่แกล้งปวดประจำเดือนเพื่อลาป่วยการเมืองหรืออู้งานจะทำอย่างไร
อันดับแรก หากคุณไม่เคยปวดท้องประจำเดือนหรือเจ็บปวดจนถึงขั้นทำงานไม่ได้ ถือเป็นเรื่องที่ดีแล้ว เพราะหลายคนไม่ได้โชคดีเช่นนั้น อาการเจ็บป่วยช่วงประจำเดือนสามารถเป็นได้ทั้งการปวดท้องอย่างหนัก คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหลัง ตะคริว ไมเกรน ฯลฯ บางคนถึงขั้นเป็นลมเพราะอาการปวดประจำเดือนที่ดูเป็นเรื่องธรรมดาในสายตาของหลายคน ยังไม่นับรวมอาการ PMS (Premenstrual Syndrome) ที่เกิดในผู้หญิงกว่า 80% หรือที่รุนแรงกว่านั้นอย่าง PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) คือกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติซึ่งพบได้ราว 3% ในคนที่มีประจำเดือน ซึ่งจริงอยู่ที่แต่ละคนปวดไม่เหมือนกัน หรืออาจไม่ได้ปวดทุกวันที่มีประจำเดือน สิทธินี้จึงมีเพื่อการรับรองว่าลาได้ ใช้ได้ มีวันที่กำหนดตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่ามีแล้วทุกคนจะพร้อมใจกันลาปวดตลอดทั้งเดือน
ทั้งที่รู้กันว่าประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ และจะเห็นว่าอาการปวดนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตไม่แพ้การเจ็บป่วยอื่นๆ แต่ทำไมเราจึงอยู่ในสังคมที่ผู้คนไม่ไว้ใจกันจนถึงขั้นว่าต้องตรวจสอบว่าใครปวดประจำเดือนจริงหรือไม่
สิทธิลาปวดประจำเดือนอาจส่งผลต่ออัตราการจ้างงานผู้หญิง
บ้างว่าลาบ่อยแบบนี้แล้วใครจะจ้างผู้หญิงไปทำงาน บ้างว่าผู้หญิงควรกลับไปเป็นแม่บ้านอย่างเดียวแบบสมัยก่อน จริงหรือที่ผู้หญิงอาจโดนกีดกันจากพื้นที่การทำงาน เพราะการมีสิทธิลาปวดประจำเดือน?
ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับประเด็นแรก คือหากเลือกได้คงไม่มีใครอยากป่วยหรือปวดประจำเดือน ถึงจะมีกฎหมายออกมาก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะใช้วันลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ที่ผู้คนยังคงมองว่าอาการปวดประจำเดือนไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอยู่เช่นนี้ ทำให้แม้แต่ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่กล้าที่จะให้อาการปวดประจำเดือนเป็นเหตุผลในการลาป่วยของตน
แม้แต่ประเทศที่บังคับใช้กฎหมายลาปวดประจำเดือนอย่างญี่ปุ่น ที่แม้ว่าจะออกกฎหมายลาปวดประจำเดือนมาหลายสิบปี แต่กลับพบว่ามีพนักงานหญิงไม่ถึง 0.9% เท่านั้นที่ลางานด้วยเหตุผลนี้ เนื่องจากพวกเธอรู้สึกว่าจะเป็นการเอาเปรียบเพื่อนร่วมงานจนเกินไป รวมถึงหัวหน้างานที่มักจะเป็นผู้ชาย จนสุดท้ายพนักงานหญิงในญี่ปุ่นก็ไม่กล้าที่จะใช้สิทธิลาปวดประจำเดือนอยู่ดี
ความกังวลเรื่องว่าการมีสิทธิลาปวดประจำเดือนจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานจึงแฝงไปด้วยอคติ ซึ่งสะท้อนว่าผู้พูดยังคงไม่เห็นว่าการปวดประจำเดือนนั้นเทียบเท่ากับอาการเจ็บป่วยอื่นๆ สิ่งที่เป็นปัญหาจึงไม่ใช่การให้สิทธิ แต่คือระบบแรงงานและทัศนคติต่อความเท่าเทียมทางเพศที่ควรปรับเปลี่ยน
ลาปวดประจำเดือนแล้วใครจะทำงานแทน?
เช่นเดียวกับประเด็นสิทธิแรงงานอื่นๆ ทั้งการลาป่วย ลาคลอด และการลาปวดประจำเดือนที่มักจะถูกตั้งคำถามเสมอว่า ถ้าลาแล้วใครจะทำงานแทน ทั้งที่การลาคือสิทธิของแรงงาน ไม่ต่างจากการลากิจส่วนตัว หรือแม้แต่การลาบวชที่สามารถทำได้สูงสุดถึง 120 วัน คำตอบของคำถามที่ว่าใครควรมาทำงานแทน จึงเป็นหน้าที่ในการบริหารจัดการของบริษัท รวมถึงรัฐบาลว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่พนักงานที่ใช้สิทธิที่ตนพึงมีจะต้องเป็นคนรับภาระในส่วนนี้
ในปี 2562 ของมหาวิทยาลัยรัดเบาว์ (Radboud University) สำรวจผู้หญิงที่มีประจำเดือนจำนวน 32,748 คน พบว่า ในแต่ละปีประสิทธิภาพการทำงานในช่วงที่มีประจำเดือนของเนเธอร์แลนด์ลดลงโดยเฉลี่ยถึง 9 วันต่อคน จะเห็นว่าการทำงานขณะที่มีอาการปวดประจำเดือนส่งผลกระทบต่อบริษัท ดังนั้นหากเป็นห่วงบริษัทและเพื่อนร่วมงานจริงๆ จึงควรให้ผู้ป่วยได้พักรักษาตัวมากกว่าที่จะให้ฝืนทำงานต่อไปทั้งที่ร่างกายไม่พร้อม
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายลาปวดประจำเดือนของพรรคก้าวไกลที่ว่านี้ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจา และความสำเร็จของกฎหมายไม่ได้อยู่แค่ตอนที่ร่างกฎหมายผ่าน ผู้เขียนหวังว่าหากกฎหมายนี้เกิดขึ้นจริง ทั้งรัฐบาล นายจ้าง และแรงงานผู้มีประจำเดือนเองจะกล้าที่จะใช้สิทธิของตัวเอง และให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าหน้าที่การงานใดๆ
ที่มา:
https://x.com/prachatai/status/1788875529346838778
https://time.com/6105254/menstrual-leave-policies/
https://theconversation.com/health-check-why-women-get-pms-and-why-some-are-more-affected-106077
https://www.bbc.com/worklife/article/20220426-could-menstrual-leave-change-the-workplace
Tags: Period Leave, Menstrual Leave, เมนส์มาลาได้, Gender, ประจำเดือน, พรรคก้าวไกล, labour