วันนี้ (3 เมษายน 2567) ที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรมีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล อภิปรายถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน ตอนหนึ่งว่า เป็นการดำเนินนโยบายแบบ ‘ปัญหาเฉพาะหน้ารอได้-ปัญหาระยะไกลไม่เห็นทางออก’ โดยไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ศิริกัญญาฉายภาพผลงานของรัฐบาลตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาว่า หลายโครงการที่เป็นโครงการช่วยลดภาระของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าไฟฟ้าและการลดภาษีน้ำมันเริ่มทยอยหมดอายุมาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบันแล้ว รัฐจะมีมาตรการใดออกมารองรับอีกหรือไม่ นอกจากนั้นยังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

พร้อมกับยกตัวอย่างกองทุนน้ำมันที่ต้องนำเงินไปอุดหนุนน้ำมันดีเซล ทำให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีหลุดเป้ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาทตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา และปัจจุบันกองทุนน้ำมันได้ขาดทุนไปแล้วกว่า 1.05 แสนล้านบาท จึงต้องตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า จะมีแผนดำเนินการอย่างไรต่อ

ศิริกัญญายังระบุอีกว่า ปัญหาการส่งออกในปัจจุบันของประเทศไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับประเทศจีนที่ไทยขาดดุลการค้าไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาทในปี 2566 เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค จึงต้องตั้งคำถามว่ารัฐจะดำเนินการกับปัญหานี้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่รัฐบาลเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) เป็นเรื่องที่ดี แต่ตัวเลขการเข้าร่วมใช้สิทธิของผู้ส่งออกในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผู้ใช้สิทธิไม่ถึง 75% หรือข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่แทบจะไม่มีผู้ใช้สิทธิเลย ทั้งที่มีจุดเด่นคือเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ร่วมกันได้ ดังนั้น รัฐจึงต้องเร่งสนันสนุนให้ผู้ส่งออกเข้ามาใช้สิทธิให้มากขึ้น เพื่อให้ FTA สร้างประโยชน์อย่างแท้จริง

ศิริกัญญายังแสดงความกังวลใจต่อแนวนโยบาย Last Man Standing ที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศสุดท้ายที่ผลิตยานยนต์สันดาปไว้ว่า รัฐจะต้องมีแผนเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ด้วย เพราะในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีแรงงานมากถึง 8.9 แสนรายที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ

ขณะที่นโยบายเรือธงอย่าง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ศิริกัญญากล่าวว่า โครงการนี้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดไปหลายครั้ง สร้างความสับสนแก่ประชาชน อย่าง ‘แหล่งเงิน’ ล่าสุดของโครงการดังกล่าวจะมีการแบ่งงบประมาณออกเป็น 3 ก้อน ได้แก่ แบ่งงบประมาณปี 2568, ใช้งบกลางของงบประมาณปี 2567 และกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. แบ่งงบประมาณปี 2568 เพิ่มงบประมาณรายจ่ายเป็น 3.75 ล้านล้านบาท โดยจะกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
  2. ใช้งบกลางของงบประมาณปี 2567 : ออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม โดยกู้ชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดาน 1 แสนล้านบาท โดยนำงบดังกล่าวไปฝากในกองทุนของรัฐบาลเพื่อใช้ในปีงบประมาณปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะเป็นกองทุนประชารัฐเพื่อสวัสดิการ
  3. กู้ ธ.ก.ส. : ให้ ธ.ก.ส. ดำเนินนโยบายแทนตาม มาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง 2561 เพื่อแจกเงินดิจิทัล อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ของสถาบันการเงินดังกล่าวมีเพื่อพัฒนาชนบท ดังนั้นการทำธุรกรรมต่างๆ ต้องเป็นเพื่อการสร้างผลผลิตเกษตรกรเป็นหลัก

ศิริกัญญาได้กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นการดำเนินนโยบายที่ออกทะเลไปไกลแล้ว เพราะเม็ดเงินที่นำมาดำเนินการก็มาจากการกู้ นอกจากนั้นก็ยังมีความกังวลในเรื่องของระบบในการดำเนินนโยบายที่เปลี่ยนไปมา

“สรุปแล้วรัฐบาลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงใช่หรือไม่ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคลังทำให้ดิฉันตกใจว่าทำไมถึงกล้าออกนโยบายแบบนี้ออกมาได้” ศิริกัญญากล่าว

สุดท้ายศิริกัญญาได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ในฐานะที่รัฐบาลอาสาเข้ามาแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

Tags: , , ,