ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเขตควบคุมมลพิษอยู่ 18 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา และหมู่เกาะพีพี
2. เพื่อการดูแลสุขภาพประชาชนโดยการ ควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรม เช่น เขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง ที่คุ้นกันในชื่อเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด
หลักการ เหตุผล และจุดประสงค์ในการประกาศเขตควบคุมมลพิษของทั้ง 2 กลุ่มนั้นมีที่มาที่แตกต่างกัน จุดประสงค์ของเขตควบคุมมลพิษกลุ่มที่หนึ่ง คือการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สวยสะอาด น่าท่องเที่ยว และนำรายได้มาสู่พื้นที่ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชุมชนท้องถิ่น
ส่วนกลุ่มที่ 2 โดยเฉพาะที่จังหวัดระยอง แม้ปัญหาจะอยู่ในเพียงจังหวัดเดียว แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดและจัดการยากที่สุด สาเหตุคือมีแหล่งกำเนิดสารมลพิษที่หลากหลาย เช่น โรงงานปิโตรเคมี โรงงานกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน คลังน้ำมัน ท่าเรือ การจราจร การเกษตร ฯลฯ แหล่งกำเนิดเหล่านี้บางแหล่งปล่อยสารมลพิษที่เหมือนกัน แต่ปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไปตามกิจกรรมของแหล่งกำเนิดนั้นๆ ทำให้เกิดความยากลำบากที่จะชี้ชัดลงไปว่า สารมลพิษใดจากแหล่งใดเป็นต้นเหตุหลักของปัญหาและด้วยปริมาณเท่าใด ปัญหากรณีนี้จึงหนักหนากว่ากรณีแรกอย่างมาก
ว่ากันตามตรงประเทศไทยมีมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในระดับที่ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว หากควบคุมมาตรฐานที่ว่าในระดับนั้นได้ การประกาศเขตควบคุมมลพิษก็ไม่จำเป็น หรือที่ประกาศไปแล้วแต่ได้มีการแก้ไขไปจนมลพิษบรรเทาลง และไม่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์และสังคมเศรษฐกิจแล้วก็สามารถประกาศยกเลิกเขตควบคุมมลพิษนั้นๆ ได้
อย่างไรก็ดี มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ประกาศออกไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านน้ำ อากาศ และดิน ถือเป็นมาตรฐานเดียวกันและใช้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยใช้หลักคิดว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่ากัน นี่จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการจัดการสิ่งแวดล้อมในแต่ละเขตที่มีปัญหามลพิษไม่เหมือนกัน
หากเป็นพื้นที่ในกลุ่มที่ 1 ทุกฝ่ายต้องพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้อยกว่าค่ามาตรฐาน ข้อนี้ทุกคนรวมถึงผู้ประกอบการภาคธุรกิจเล็กและใหญ่ ตลอดจนคนในพื้นที่ต่างยอมรับ ทั้งยินดีจ่ายค่าบริการของส่วนกลางเพื่อบำบัด กำจัด จัดการ และควบคุมสิ่งแวดล้อมให้ดี เพราะหากทำไม่ได้ก็จะมีผลกระทบทางลบต่ออู่ข้าวอู่น้ำและเศรษฐกิจชุมชน
ส่วนกลุ่มที่ 2 มิได้เน้นเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากเท่ากลุ่มแรก เพราะเป็นพื้นที่ประกอบการของภาคอุตสาหกรรม แต่จะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมมลพิษ มิให้มีความเข้มข้นรุนแรงจนมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะคนท้องถิ่นและคนที่ย้ายมาประกอบอาชีพในพื้นที่นี้ก็ตาม
แต่จุดประสงค์ของการจัดการด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมของเขตควบคุมมลพิษ ตามหลักการไม่ได้มุ่งหวังให้สิ่งแวดล้อมของพื้นที่มีคุณภาพดีเยี่ยมเฉกเช่นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นคนละบริบทและเทียบกันไม่ได้ ทั้งไม่ควรยกมาเปรียบเทียบกันด้วย
ถึงกระนั้น ความคิดหรือตรรกะข้างต้นย่อมมีคนคัดค้าน ด้วยหลักคิดที่ว่า ทุกคนมีสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่ากัน ควรมีอากาศที่บริสุทธิ์เท่ากันในการหายใจ จึงมาถึงคำถามว่า เราควรจัดการกับปัญหาเฉพาะพื้นที่ที่ต่างกันเช่นนี้อย่างไร?
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เราขอชวนมองภาพกว้างของระบบอุตสาหกรรมแต่เดิม ซึ่งในอดีตบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมตั้งถิ่นฐานกันกระจัดกระจาย ทำให้ยากต่อการจัดการและควบคุมมลพิษ รวมไปถึงการจัดการแหล่งน้ำและพลังงานมาป้อนโรงงาน แนวความคิดที่จะแก้ปัญหานี้อย่างเบ็ดเสร็จ คือการชักจูงให้โรงงานอุตสาหกรรมมาอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อควบคุมและจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในพื้นที่นิคม สวนอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยเราจัดการเรื่องนี้ได้ดีพอตัวทีเดียว
เขตอุตสาหกรรมบางแห่งเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย จึงมีข้อเด่นที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงเพิ่มสถานะทางเศรษฐกิจทั้งของพื้นที่และของประเทศได้ไม่น้อยไปกว่ากลุ่มอื่นๆ
ประเด็นปัญหาที่ต้องช่วยกันรวมหัวคิดหาทางออก คือหากมองในภาพรวมของการพัฒนาที่ยั่งยืนอันรวมเอาทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจไว้ด้วยกัน เราควรใช้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเดียวกันในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษทั้ง 2 กลุ่มหรือไม่? และจะตอบโจทย์ทั้งในแง่พื้นที่ สังคมและเศรษฐกิจได้อย่างไร? จึงจะมีทางออกที่ดีที่สุด
มีคนที่มีความคิดเห็นว่า ควรกำหนดใช้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เท่ากัน ซึ่งน่าจะทำได้ 2 รูปแบบ กล่าวคือ A เอามาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันเป็นตัวตั้ง ยอมอนุโลมให้มาตรฐานสำหรับเขตควบคุมมลพิษที่เป็นภาคอุตสาหกรรมหย่อนลง
หรือ B เอามาตรฐานปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่ใช้ต่อไปกับเขตควบคุมมลพิษในนิคมอุตสาหกรรม แล้วกำหนดมาตรฐานสำหรับพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวให้เข้มงวดขึ้นอีก
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะใช้รูปแบบใดใน 2 รูปแบบข้างต้น ย่อมมีคนที่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ที่จะมีมาตรฐาน 2 แบบ ในขณะที่ชื่อก็ยังย้ำว่า ‘เป็นเขตควบคุมมลพิษ’ เหมือนกัน เช่นนั้นเราใช้ชื่อเรียกที่ต่างกันได้ไหม? สำหรับกลุ่มแรกให้ใช้ชื่อว่า ‘เขตอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยว’ หรือชื่ออื่นใดที่สื่อไปในทำนองนี้ ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็ใช้ชื่อ ‘เขตควบคุมมลพิษ’ ตามแบบเดิม แบบนี้เราก็จะมีมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับบริบทของการใช้พื้นที่นั้นๆ ซึ่งน่าจะดีแก่ประเทศโดยรวม
มีข้อมูลที่อยากจะให้ทราบว่า มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีค่าไม่เท่ากันในพื้นที่ต่างกันมีอยู่จริง เช่น มาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาวัดในรูปของ Dissolved Oxygen (DO) หรือออกซิเจนละลายน้ำที่นครสวรรค์มีค่าเท่ากับ 6.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ในขณะที่อยุธยาและกรุงเทพฯ มีค่าต่ำกว่า เพียง 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตรตามลำดับ ส่วนในระดับนานาชาติก็เช่นกัน เช่น ค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายวันของ PM2.5 ของจีนและอินเดียเท่ากับ 75 และ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนของไทยเท่ากับของสิงคโปร์ คือ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และของสหรัฐฯ เท่ากับ 35.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่สหภาพยุโรปและอังกฤษไม่มีค่ามาตรฐานนี้ด้วยซ้ำ (แต่มีแถบสีบอกว่าคุณภาพอากาศวันนั้นเป็นเช่นไร)
ด้านองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) บอกว่า การกำหนดมาตรฐานและมาตรการควบคุมดูแลเพื่อให้คุณภาพอากาศสะอาด ย่อมมีข้อพิจารณาทางการเงิน การบริหาร และค่าใช้จ่ายประกอบ โดยแต่ละประเทศต้องนำไปดำเนินการเป็นของตนเอง
มีข้อพึงสังวรณ์ว่า เมื่อพื้นที่ใดถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษหรือชื่อใหม่ที่จะตั้งขึ้นตามที่เสนอนี้แล้ว ตามกฎหมายให้ถือว่าเป็นการกระจายหน้าที่ความรับผิดชอบไปยังท้องถิ่น ให้เป็นองค์กรจัดการทั้งสิ้นทั้งปวง จากที่ผ่านมาหลายสิบปีจะเห็นว่า ท้องถิ่นไม่พร้อมสำหรับภารกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร ความรู้ ความเข้าใจ ความชำนาญ งบประมาณ และอุปกรณ์เครื่องมือ ปัญหามลพิษจึงยังคาราคาซังอยู่ในทุกพื้นที่
ปุจฉาถูกตั้งขึ้นแล้ว แต่วิสัชนายังไม่มี การกำหนดคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็น 2 ระดับตามจุดประสงค์ของการประกาศเขตควบคุมมลพิษที่ต่างกัน แต่จะเป็นทางออกที่ดีและปฏิบัติได้จริงหรือไม่ และจะใช้มาตรฐานรูปแบบใด A หรือ B ใน 2 รูปแบบที่เอ่ยมา คำตอบขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจและประชาชนอย่างเราว่าจะเลือกแบบไหน
Tags: มลพิษ, สิ่งแวดล้อม, เขตควบคุมมลพิษ, Feature, Environment