แรม 4 ค่ำ เดือนมาฆะ (ปีนี้ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม 2567 ตามปฏิทินสากล) วันเวลาแห่งเทศกาลมหาศิวะราตรีจักเริ่มต้นขึ้น ศาสนิกจำนวนมากจะรวมตัวกันในยามค่ำคืนเพื่อบูชาพระศิวะมหาเทพ เทพผู้รับหน้าที่ทำลายล้างจักรวาลนี้เพื่อปูทางสู่การสร้างวัฏจักรใหม่
แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ‘พระศิวะเป็นใคร?’ ทำไมถึงเป็นสวามีของเจ้าแม่อุมาปารวตี เป็นพ่อของพระคเณศและพระขันธกุมาร ที่ทั้งครอบครัวถูกเรียกในนาม ‘KAILASH FAMILY’ หรือครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แห่งเขาไกรลาส
แต่กว่าจะมาเป็นครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น พวกเขามีเบื้องลึก เบื้องหลัง และที่มาอย่างไรบ้าง?
เพื่อตอบคำถามข้างต้นอาจต้องย้อนความกลับไปที่ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของศาสนาฮินดูที่สังเกตได้ชัดเจน คือมีพระเจ้ามากมายหลายองค์ นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากพลังธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ แม่น้ำ และภูเขา ในคัมภีร์พระเวทนักวิชาการกล่าวว่า บรรจุเทพเจ้ารวมกันไว้มากถึง ‘33 ล้านพระองค์’ แต่กว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ ไม่ได้ใช้เวลาเพียงชั่วพริบตา
ศาสนาฮินดูเป็นประดิษฐกรรมที่เกิดจากการผสมผสานความเชื่ออันหลากหลายในดินแดนกว้างใหญ่ของอนุทวีปเข้าด้วยกัน น่าสังเกตว่าเทพเจ้าหลายพระองค์ที่นับถือกันในระบบฮินดูทุกวันนี้ไม่ปรากฏตัวตนอยู่ในพระเวทเลย หรือบางองค์เกิดจากการรวมเทพเจ้าท้องถิ่นกับเทพเจ้าในพระเวทและใช้ชื่อแบบพระเวท ซึ่งเมื่อเราลองแจกแจงเทพเจ้าต่างๆ ออกเป็นโครงข่าย ครอบครัวของพระศิวะนับเป็นโครงข่ายหนึ่งที่มีความน่าสนใจมาก พระไกรลาสปติพระองค์นี้ทรงมีพระมเหสีเป็นลูกสาวแห่งขุนเขาหิมาลัย พระโอรสองค์หนึ่งมีเศียรเป็นช้าง อีกองค์เป็นหนุ่มน้อยถือหอกอันใหญ่ ซึ่งเมื่อพิจารณาดีๆ แล้วจะเห็นว่า เทพเจ้าทั้ง 4 องค์นี้ไม่เคยปรากฏโฉมในโครงข่ายของพระเวทเลย
แล้วเทพเหล่านี้มาจากไหนกัน?
มหาเทพ
‘พระศิวะ’ หนึ่งเทพผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามของศาสนาฮินดู นอกจากความยิ่งใหญ่แล้วตามหลักฐานที่เราค้นพบ พระองค์แทบจะเป็นหนึ่งในเทพที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งด้วยการขุดค้นทางโบราณคดี ณ เมืองโบราณฮารัปปา ในทศวรรษ 1940 พบตราประทับเก่าแก่ของเทพบุรุษนั่งในท่าโยคะ มีลึงค์ตั้งตรง แวดล้อมด้วยสัตว์ป่ามากมาย เหล่านักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และนักภารตวิทยา สรุปว่า ตราประทับนี้เป็นรูปลักษณ์ต้นแบบของพระศิวะในนาม ‘ปศุปติ’ – ราชาแห่งสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งสะท้อนภาวะการเป็นเทพท้องถิ่นของพระศิวะที่น่าจะถูกนับถือโดยผู้คนในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมาก่อนการเกิดขึ้นวัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์ หรือ ‘วัฒนธรรมพระเวท’
ตราประทับปศุปติ
ที่มา: Wikipedia
นอกจากนี้ หากอ้างอิงตามขนบอย่างพราหมณ์แล้ว มนต์ที่เรียกว่า รุทรราษฏาธยายี ในคัมภีร์ยชุรเวท ความว่า “โอม นมะ ศํภวาย จมโย ภวาย จ…” อาจถือเป็นการปรากฏขึ้นครั้งแรกของคำว่า ‘ศิวะ’ เห็นได้จากคำว่า ศํภวายะ แปลว่า ความเป็นมงคล แต่ก็เป็นเพียงแค่ ‘คำ’ เท่านั้น ไม่ได้มีคุณลักษณ์อย่างที่คุ้นเคยกันในสมัยหลัง (มีสามตา ถือตรีศูล)
เหตุที่เหล่าพราหมณ์ถือกันเช่นนี้ เนื่องด้วยในคัมภีร์พระเวทกล่าวถึงเพียงเทพเจ้าองค์หนึ่งชื่อ ‘พระรุทรเทพ’ เทพเจ้าแห่งเสียงร้องโหยหวน ฟ้าร้อง และเสียงลมหวีดหวิวบนภูเขา แต่ไม่มีการกล่าวถึงพระศิวะเลย ฉะนั้นต่อมาเมื่อต้องการดึงเทพท้องถิ่นเดิมเข้ามาในระบบวัฒนธรรมอย่างพระเวท จึงเกิดการหลอมรวมเทพทั้งสองให้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เหตุคือเทพทั้งสองมีความสัมพันธ์กับภูเขา ความน่ากลัว และสัตว์ป่าเช่นเดียวกัน (ในกรณีพระศิวะจะเห็นได้ชัดเจนจากตราประทับปศุปติในข้างต้น) พราหมณ์จึงจับเอาคำสั้นๆ นี้มาเป็นสัญลักษณ์เพื่ออ้างถึงการมีอยู่ของพระศิวะตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา
จากที่เคยเล่ามาก่อนหน้าแล้วว่า พระศิวะได้รับการนับถืออย่างแพร่หลายในรูปของลึงค์ ซึ่งปรากฏมาแล้วตั้งแต่วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ จากหลักฐานตรงนี้ชี้ให้เห็นโดยคร่าวว่า พระศิวะเป็นเทพที่อยู่ในความรับรู้ของคนท้องถิ่นมาก่อน แม้จะไม่ใช่พระศิวะแต่เทพเจ้าที่มีลักษณะองค์ประกอบคล้ายคลึงพระศิวะน่าจะมีอยู่แล้วแต่เดิม
อีกข้อสังเกตหนึ่งของพระศิวะ คือพระองค์ทรงได้รับการนับถือมากในรูปลักษณะของ ‘ไภรวะ’ หรือรูปลักษณะดุร้าย มีพระวรกายเปลือย เขี้ยวยาว เสวยเลือด รูปปรากฏนี้ของพระองค์พบกระจายทั่วไปท้องถิ่นต่างๆ เช่น พระกาลไภรวะ เมืองพาราณสี พระองค์ปรากฏเป็นเสามีหน้ากากยักษ์มีหนวด มีเขี้ยว มีบันทึกในรัชกาลพระเจ้าอักบาร์แห่งราชวงศ์โมกุลว่า ชาวบ้านนิยมเอาเลือดสัตว์มาทาที่เสานี้ สร้างความน่ารังเกียจอย่างมากแก่ชาวมุสลิม ลักษณะเช่นนี้ชวนให้นึกถึงเสาเจ้าที่และเสาผีในศาสนาท้องถิ่น
หรือพระกาลไภรวะ เมืองอุชเชน ที่นั่นพระองค์ปรากฏเป็นหินธรรมชาติ มีช่องปาก ด้านบนมีลักษณะคล้ายหนวด แต่ที่สำคัญคือ ของบูชาที่ถวายแด่พระองค์ต้องเป็นเหล้า โดยพราหมณ์จะเทเหล้าใส่เข้าไปในช่องหินที่เหมือนปากนั้น ซึ่งการถวายเหล้าแด่พระเจ้าเป็นสิ่งที่ศาสนาฮินดูห้าม
กาลไภรวะ แห่งอุชเชน
ที่มา:ทวิตเตอร์แอ็กเคานต์ @kaalbhairav_in
อเล็กซิส แซนเดอร์สัน (Alexis Sanderson) ศาสตราจารย์ด้านศาสนาฮินดูจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) กล่าวว่า ลักษณะเช่นนี้สะท้อนถึงการหลอมรวมของเทพเจ้าท้องถิ่นต่างๆ ให้ร้อยเรียงเข้าสู่เส้นสายเดียวกัน แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น สิ่งนี้ยังสะท้อนถึงคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระศิวะ คือความยืดหยุ่น ความเข้าถึงง่าย และความเป็นเทพเจ้าท้องถิ่นมาแต่เดิม ทำให้พระองค์ง่ายต่อการโอบรับเทพเจ้าท้องถิ่นที่อยู่นอกขอบเขตของศาสนาพราหมณ์ อันส่งผลให้พระศิวะก้าวขึ้นสู่ฐานะ ‘มหาเทพ’
อุมามเหศวร
กรณีเจ้าแม่คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากเพราะเทพีหรือเจ้าแม่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวทมากมาย เป็นต้นว่า พระแม่ธรณี พระนางสรัสวดีในฐานะเจ้าแม่แห่งสายน้ำ นางอุษาเจ้าแม่แห่งรุ่งอรุณ พระศรีเจ้าแห่งโชคลาภ หรือพระนางอทิติที่เป็นพระแม่แห่งทวยเทพ หากสังเกตตรงนี้จะพบว่าเจ้าแม่ในพระเวทมีลักษณะหนึ่งร่วมกัน คือแสดงภาวะนามธรรม เช่น โชคลาภ ความเป็นมารดา หรือแสดงลักษณะอันมงคลในธรรมชาติ เช่น สายน้ำ รุ่งอรุณ แผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ หรือโดยสรุปคือเจ้าแม่มักอยู่กันอย่างสงบนั่นเอง
ในทางกลับกัน เจ้าแม่ท้องถิ่นจะแสดงภาวะดุร้ายอย่างที่สุด ชัดเจนในกรณีพระนางกาลี พระนางทรงแสดงภาพลักษณ์อันดุร้าย ปล่อยผมรุงรัง กินเลือด เปลือยกาย ผิวกายดำสนิท ต่างจากพระแม่เคารีซึ่งเป็นเจ้าแม่แห่งความอุดมสมบูรณ์ เจ้าแม่แห่งโภคทรัพย์ พระนางทรงครององค์ด้วยผ้าส่าหรีขาวสะอาด มีผิวพรรณทองนวล มัดผมเรียบร้อย อยู่ในอาการสงบ
เจ้าแม่ทั้ง 2 องค์จึงแสดงภาพสะท้อนของผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรม (เคารี) กับผู้อยู่นอกวัฒนธรรม (กาลี) อย่างชัดเจน ความอยู่นอกวัฒนธรรม ความเปลือยเปล่าของนางดำอย่างพระแม่กาลี คือตัวชี้ความเป็นท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ของพระนาง เพราะศาสนาผู้หญิงที่มีมาแต่โบราณในอนุทวีปไม่เคยจับผู้หญิงใส่เสื้อผ้ามาก่อน เจ้าแม่สามารถโชว์อวัยวะสืบพันธ์ุได้อย่างชัดเจน เจ้าแม่สามารถมีน้ำนมไหลจากเต้าได้ และความดุร้ายของพระนางกาลีเองก็สอดรับกับกลุ่มเจ้าแม่ท้องถิ่นในอินเดียใต้ หากลองสังเกตดูจะพบว่า เจ้าแม่ในฝ่ายใต้ส่วนใหญ่มีเขี้ยว ผิวกายเข้ม นี่แหละคือผีเจ้าที่แต่เดิม ไม่ต่างอะไรจากพระไภรวะที่เราพูดถึงก่อนหน้า นอกจากนี้ ตำนานส่วนตัวของเจ้าแม่ยังบอกอีกว่า เจ้าแม่เป็นลูกท้าวหิมวัต คือเป็นเขาน้อยใหญ่ที่เป็นลูกสาวของเขาหิมาลัย ยิ่งชี้ชัดว่าเจ้าแม่เป็นหญิงชาวเขา หรือคนที่อาศัยอยู่แต่เดิมในพื้นที่ตรงนั้น
หลักฐานทางโบราณคดีที่น่าสนใจคือ ‘ศักติศิลา’ ขุดค้นพบจากหมู่บ้านเมเธาลี (Medhauli) ในหุบเขาโสน (Son) แคว้นมัธยประเทศ หินสามเหลี่ยมเหล่านั้นแกะสลักลวดลาย ก่อนทาด้วยสีต่างกันไป ตั้งอยู่บนลานกลมล้อมเศษหิน อิฐ หรือหินทราย ลักษณะคล้ายมดลูก สะท้อนถึงการบูชาอวัยวะเพศหญิงที่มีมาแต่เดิมอย่างชัดเจน ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเป็นเทวีต่างๆ ในคัมภีร์พระเวทดังที่กล่าวไปข้างต้น
ศักติศิลา
ที่มา: Chakarbarti, 2006
มหาคณปติหรือพระคเณศ
นักมานุษยวิทยาเสนอว่า หัวช้างของพระองค์สื่อถึงกลุ่มคนที่นับถือ ‘ช้าง’ มาก่อนคล้ายกับพระศิวะ ชื่อของพระองค์ไม่เคยปรากฏในพระเวท มีเป็นมนต์สั้นๆ คำว่า ‘คณปติ’ ที่ปัจจุบันเป็นพระนามหนึ่งก็จริง แต่พระนามนั้นไม่ได้หมายถึงพระคเณศที่มีรูปลักษณ์อย่างในปัจจุบัน เพราะไม่มีตรงไหนบอกว่าเป็นเทพมีเศียรเป็นช้าง ระบุเพียงว่ามีพระวรกายสีแดงและเป็นราชาแห่งหมู่กวีทั้งหลาย
อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่า ถิ่นเดิมของพวกอารยันหรือต่อให้เป็นชาวลุ่มแม่น้ำสินธุก็ดี อยู่ห่างจากถิ่นที่อยู่ของช้างมาก เพราะดินแดนแถบนั้นหนาวเกินกว่าช้างซึ่งเป็นสัตว์เขตร้อนอาศัยอยู่ ไหนจะเทวรูปของพระองค์ที่ไม่เก่าไปกว่าศิลปะคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9) และกระจุกตัวมากในเขตอินเดียกลางถึงใต้ ธรรมชาติของหลักฐานทั้งทางโบราณคดีและคัมภีร์สนับสนุนชัดว่า พระองค์ทรงอยู่นอกกรอบความคิดของคัมภีร์พระเวทแต่เดิมก่อนจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในกลุ่มเทพเจ้าซึ่งมีภูมิหลังความเป็นท้องถิ่นเหมือนกัน (พระศิวะ+เจ้าแม่)
มหาสกันทะ
องค์สุดท้าย พระขันธกุมาร พระสกันทะ หรือพระมุรุกัน จะเรียกพระนามใดก็ตาม แต่พระองค์ถูกกล่าวถึงในพระเวทในนามว่า ‘กุมาระ’ ซึ่งหมายถึง ‘เด็ก’ ตามตำนานการกำเนิดของพระองค์เล่าว่า พระองค์ทรงเกิดจากพระแม่จำนวน 6 องค์ตั้งท้องเด็กชาย ซึ่งตำนานในส่วนนี้ไปตรงกับตราประทับในวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่มีรูปผู้หญิง 6 คนอุ้มเด็กชายอยู่ การพบหลักฐานนี้ในวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่ให้ความสำคัญกับการนับถือพลังเพศแม่ จึงสนับสนุนว่า อาจมีแนวคิดเกี่ยวกับเด็กในวัฒนธรรมแถบนั้นด้วยเป็นแน่
เจ้าลัทธิบูชาเด็กปรากฏเป็นศาสนาโบราณแบบหนึ่ง ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า เด็กเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากพลังลึกลับบ้าง เช่น ในบาหลีมีวัฒนธรรมว่า เด็กเพิ่งเกิดต้องห้ามตัวโดนพื้นดิน เพราะเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าปนเปื้อนแต่เด็กจะทำให้เด็กคนนั้นไม่แข็งแรง ตรงนี้สะท้อนถึงระบบคิดเรื่องเด็กในฐานะชีวิตที่ต่อยอดแรงงานในสังคมของตน การคลอดลูกในโลกโบราณเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ฉะนั้นกว่าเด็กคนหนึ่งจะเกิดขึ้นมาต้องพึ่งพิงหลายอย่างมาก เด็กจึงจะได้รับการนับถือ
ประติมานวิทยาข้อหนึ่งของพระองค์ คือพระกุมารจะทรงสร้อยเขี้ยวสัตว์อยู่เสมอ ซึ่งเป็นเครื่องรางแสดงความเป็นเด็ก สร้อยเขี้ยวเสือนี้คือสุดยอดของความเป็นท้องถิ่น คนทมิฬ (คนในอินเดียภาคใต้) ปัจจุบันยังสวมกันอยู่ เชื่อว่าป้องกันภูติผีและสัตว์ร้าย สัตว์ลักษณะคล้ายเสือหรือสิงโตก็ปรากฏในตราประทับลุ่มแม่น้ำสินธุด้วย ตรงนี้อาจมีความเชื่อมโยงกับตุ๊กตาดินเผาแม่อุ้มเด็กที่เราพบจากแหล่งวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเช่นเดียวกัน
พระสกันทะ ทรงสร้อยเขี้ยวสัตว์
ที่มา: อธิพัฒน์ ไพบูลย์
ก็นั่นแหละครับ ‘กว่าจะเป็น KAILASH FAMILY’ ที่จริงแล้วยังมีข้อมูลอีกมากที่จะมาเล่าถึงเรื่องพวกนี้ ที่ผมยกมาวันนี้เป็นเพียงส่วนสั้นๆ เท่านั้น เพื่ออยากจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับครอบครัวของพระศิวะ เนื่องในวัน ‘มหาศิวะราตรี’
อ้างอิง
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2559). เทวี: เทวสตรีในอินเดีย. กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม? ผี-พราหมณ์-พุทธ?. กรุงเทพฯ: มติชน.
ศรีหริทาส. (2552). คเณศวิทยา. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.
จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา. (2545). พระศิวะ พระวิษณุ พระพิฆเนศวร. กรุงเทพ: เทวสถานโบสถ์พราหมณ์.
ผาสุข อินทราวุธ. (2522). รูปเคารพในศาสนาฮินดู. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Gatwood, Lynn E. (1985). Devi and the spouse goddess: women, sexuality, and marriage in India. New Delhi : Manohar.
Devdutt pattanaik. (2016). 7 Secrets of the Goddess from the Hindu trinity series. NewDelhi: Westland ltd, 2016.
Chanda-Vaz, Urmi. (Ndb.). Murugan Vs Skanda The Ayan Appropriation of a tribal Dravidian god.
Sanderson, Alexis. (2009). “The Saiva Age: The Rise and Dominance of Saivism during the Early Medieval Period” in Genesis and Development of Tantrism, 41–350, edited by Shingo Einoo. Tokyo: Sankibo Busshorin, Heisei .
Chakravarti, Mahadev. (1994). The Concept of Rudra-siva Through The Ages (Second Revised ed.). Delhi: Motilal Banarsidass.
Tags: อินเดีย, พระศิวะ, KAILASH FAMILY, เทศกาลมหาศิวะราตรี, Indianiceation, มหาศิวะราตรี