ตลอดเดือนที่ผ่านมา สังคมไทยโดยเฉพาะชายแดนใต้ต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่อ่อนไหวในความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและมลายูมุสลิม ที่ต่างทนทุกข์ต่อปัญหาความขัดแย้ง จากเรื่อง ‘การแต่งกาย’ ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของอีกศาสนาหนึ่ง ในจังหวัดปัตตานี
ล่าสุด รัฐบาลไทยออกกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งกายในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ธรณีสงฆ์ ที่ห้ามไม่ให้นักเรียนมุสลิมสวมฮิญาบ
สิ่งนี้ ส่งผลต่อการปิดโอกาสให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายให้ถูกต้องตามหลักการศาสนาในพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนศาสนา ขณะที่ตัวสถานศึกษาเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของประชาชนผู้เสียภาษีทุกคน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หากมองผ่านสายตาพุทธศาสนิกชนทั่วไป อาจทำความเข้าใจได้ว่า บางโรงเรียนไม่เคยมีเด็กหญิงที่สวมฮิญาบและเด็กชายสวมกางเกงขายาวเข้าเรียนมาก่อน จึงอาจเกรงว่าจะเสียเอกลักษณ์ของโรงเรียนไป เป็นความแปลกใหม่ที่ยังไม่อาจคุ้นชิน
ลำดับเหตุการณ์ของปัญหาที่อนุบาลปัตตานี
16 พฤษภาคม 2561 วันเปิดเทอมวันแรกของโรงเรียน ผู้ปกครองมุสลิม 3 ครอบครัว และเด็กนักเรียนหญิงอีก 4 คน แต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนมุสลิมไปโรงเรียน โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนออกมาให้การต้อนรับ พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้ห้ามการแต่งกายดังกล่าว และยินดีหากจะแต่งกายตามหลักการศาสนาอิสลาม นักเรียนหญิงสวมฮิญาบได้ ส่วนนักเรียนชายก็สามารถสวมใส่กางเกงขายาวได้เช่นกัน
17 พฤษภาคม 2561 ครูกว่า 20 คนหยุดสอน โดยลากิจและลาป่วย เพราะไม่เห็นด้วยกับการแต่งกายของนักเรียนมุสลิม
18 พฤษภาคม 2561 ผู้อำนวยการโรงเรียนนัดผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันที่ห้องประชุมของโรงเรียน โดยมีประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีสถานะเป็นกรรมการสถานศึกษาประจำโรงเรียนเข้าประชุมด้วย
จากนั้นสถานการณ์ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง เพราะมติจากกรรมการสถานศึกษามีมติว่าห้ามสวมฮิญาบ และยืนยันว่าจะไม่แก้กฎของโรงเรียน
20 พฤษภาคม 2561 โรงเรียนแถลงอนุญาตให้นักเรียนหญิงมุสลิมแต่งฮิญาบเข้าเรียนได้ หลังปลัดกระทรวงศึกษาธิการ-เลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมหาทางออกกับผู้บริหารโรงเรียน โดยให้ยึดระเบียบข้อกฎหมายการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ที่มีผลบังคับใช้ในสถานศึกษาทั้งประเทศ นับเป็นการผ่อนคลายระเบียบของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ทำให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนาได้
แต่ประเด็นข้อถกเถียง เริ่มเคลื่อนไปสู่เรื่องการแต่งกายของนักเรียนมุสลิม ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนที่ธรณีสงฆ์ ในกรณีโรงเรียนอนุบาลปัตตานี
23 พฤษภาคม 2561 มีการแถลงข่าวว่า ผลการอนุญาตของโรงเรียนที่ทำร่วมกับปลัดกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ถูกคัดค้านจากพระและพี่น้องชาวพุทธในพื้นที่อย่างกว้างขวาง เครือข่ายชาวพุทธรวมตัวกันหลายร้อยคน เรียกร้องให้นักเรียนทุกคนแต่งกายเหมือนกันตามกฎของโรงเรียนโดยไม่แบ่งแยกศาสนา ขณะที่มีข่าวว่า ตัวแทนเจ้าอาวาสวัดนพวงศาราม ปรึกษาทนายเตรียมยื่นฟ้องรัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ
ปัญหานี้ยืดเยื้อและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน ฉบับที่ 2 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา ระบุว่า การจะแต่งเครื่องแบบตามหลักศาสนาต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา นั่นคือ นักเรียนมุสลิมในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในที่ธรณีสงฆ์ ไม่สามารถแต่งได้ตามความสมัครใจตามระเบียบเดิม
ด้วยระเบียบใหม่นี้ นักเรียนมุสลิมในโรงเรียนที่อยู่ในเขตวัด หรือตั้งอยู่บนที่ธรณีสงฆ์ จะแต่งกายแบบใด ก็ต้องอิงตามข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2561 ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษานี้ ลงนามเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 โดยนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีเนื้อหาแก้ไขระเบียบเดิม ข้อ 12 วรรคท้ายที่ระบุว่า “นักเรียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่นนอกจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อาจเลือกแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามวรรคหนึ่งหรือตามแบบที่สถานศึกษากำหนดได้ตามความสมัครใจ” ซึ่งหมายถึงการเปิดเสรีให้นักเรียนมุสลิม เลือกแต่งกายตามหลักศาสนาได้ หรือจะแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบของโรงเรียนก็ได้
ส่วนระเบียบฉบับใหม่ที่เพิ่งแก้ไข และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้ปรับแก้ข้อความใหม่ดังนี้
“นักเรียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่นนอกจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อาจเลือกแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามวรรคหนึ่งหรือตามแบบที่สถานศึกษากำหนดได้ตามความสมัครใจ ยกเว้นสถานศึกษาที่ขอใช้พื้นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา การแต่งเครื่องแบบนักเรียนให้เป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา”
นั่นคือ ด้วยระเบียบใหม่นี้ นักเรียนมุสลิมในโรงเรียนที่อยู่ในเขตวัด หรือตั้งอยู่บนที่ธรณีสงฆ์ จะแต่งกายแบบใด ก็ต้องอิงตามข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา ไม่เปิดช่องให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนาได้ดังที่ผ่านมา
ผลที่ออกมาสร้างความผิดหวังให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมและบุคคลหลายๆ ฝ่ายเกี่ยวข้องกับปัญหาการสวมฮิญาบในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี รวมถึงชนทุกกลุ่มผู้ที่คาดหวังที่จะทำให้ชายแดนใต้/ปาตานีมีความเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย
เมื่อส่วนกลางใช้กฎหมาย ตัดสินใจแทนคนในท้องถิ่น
สำหรับกรณีโรงเรียนอนุบาลปัตตานี การที่รัฐบาลส่วนกลางใช้กฎหมายมาแก้ปัญหา อาจเป็นตัวชี้ขาดและสร้างความชัดเจน แต่ฎหมายไม่ใช่เครื่องมือที่ทำให้ทุกอย่างเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น แง่ความสัมพันธ์ ความไว้วางใจต่อกันอาจจะแย่ลง ความเป็นมิตรอาจยังพอมี แต่ไม่สนิทใจ
นอกจากปัญหาเรื่องการสวมฮิญาบในโรงเรียนอนุบาลปัตตานีแล้ว ที่ผ่านมายังมีปัญหาอ่อนไหวต่อความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิก เช่น การแสดงความไม่พอใจในความเชื่อของต่างศาสนาที่แสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย การต่อต้านการสร้างมัสยิดในภาคเหนือและภาคอีสาน เช่นเดียวกับการต่อต้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่เชียงใหม่ และล่าสุด ข่าวสารที่สื่อให้เข้าใจว่ามีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินับถือศาสนาอิสลามจำนวนถึง 63 คนและกำลังออกกฎหมายเพื่อเอาใจมุสลิมและมุ่งทำลายสถาบันสงฆ์ของไทย
ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้สังคมไทยเผชิญกับความอ่อนไหว ท่วมท้นไปความคำถาม ข้อสงสัย ความไม่ไว้วางใจ ความเข้าใจผิด และเชื่อว่าอีกฝ่ายกำลังรุกพื้นที่ของศาสนาตน จึงต้องป้องกันสิทธิ์ที่ตนพึงได้พึ่งมี
จากปัญหาเหล่านี้ ผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องมี ‘คณะกรรมการส่งเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนิก : พุทธ-มุสลิม’ ที่มีตัวแทนจากทั้งสองศาสนิก ทำหน้าที่ทั้งในระดับชาติ ท้องถิ่น/ภูมิภาค เพื่อปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนทั้งหลักการและความคิดเห็น
หากมองที่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาอย่างที่มาเลเซีย ก็มีองค์กรเอกชนภายใต้กำกับของรัฐที่ทำงานในลักษณะที่คล้ายกันนี้คือ Institute of Islamic Understanding Malaysia หรือ สถาบันเสริมสร้างความเข้าใจต่ออิสลาม มาเลเซีย ทำหน้าที่ทั้งบริการความรู้ วิจัย อบรม สัมมนา ผลิตตำราและสื่อสารความรู้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
ส่วนที่มหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง จอร์จทาวน์ (Georgetown University) ในวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ก็มีหน่วยงานลักษณะนี้ ชื่อ The Prince Alwaleed Bin Talal The Center for Muslim-Christian Understanding หรือสถาบันเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างมุสลิม-คริสเตียน ทำหน้าที่ในทางวิชาการ ทั้งผลิตสื่อและตำราออกเผยแพร่แก่สาธารณะ ที่เน้นเรื่องความรัก สันติภาพ ความกลมเกลียวและการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความต่างของศาสนิก
ทั้งสององค์กรที่กล่าวมา มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศที่ต้องเผชิญกับความอ่อนไหวในความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิก
ถ้าไม่สร้างที่ทางในการคุยกัน ความเข้าใจก็ไม่เกิด ถ้าคุยแต่กับฝ่ายเดียวกัน ความเห็นต่างก็ไม่มีที่ยืน แล้วจะทำอย่างไรให้การคุยข้ามความเชื่อความศรัทธามีความเป็นได้
อย่างไรก็ดี จากปัญหาที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ที่รัฐบาลจากส่วนกลางออกกฎหมายเพิ่มเติม ทับกฎหมายเก่าที่เคยให้สิทธิเสรีภาพ ผลของการตัดสินนี้ถูกมองได้จากฝ่ายหนึ่งว่า เป็นการออกฎหมายที่เอียงข้างเอาใจบางฝ่าย ขณะที่อีกฝ่ายยอมมองได้ว่าเป็นการพิทักษ์สิทธิ์ ซึ่งส่วนกลางว่ามาอย่างไรก็ต้องทำตาม
ถ้าเราเชื่อว่าท้องถิ่นมีภูมิคุ้มกัน มีภูมิปัญญา ทำไมปัญหาแบบนี้จึงคุยปรึกษากันเองในระดับท้องถิ่นไม่ได้ กลับต้องมอบอำนาจให้คนไกลเป็นผู้ชี้ขาดความถูกต้องในแบบแพ้-ชนะ ส่วนคนในท้องถิ่นที่ต้องอยู่ร่วมกันระยะยาวต้องอึดอัด
หากเชื่อว่าท้องถิ่นทุกที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน ก็ควรจะมีคณะกรรมการหรือสถาบันในลักษณะเช่นนี้ เพื่อรับมือต่อสภาพปัญหาในปัจจุบันและปัญหาใหม่ๆ ที่จะตามมาอีกอย่างไม่รู้จบในอนาคต
ปัญหาที่คนต่างศาสนาเผชิญอยู่ในแต่ละภาคของประเทศ ย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน ปัญหาที่ภาคเหนือและอีสาน ย่อมต่างจากปัญหาที่ชายแดนใต้ บางปัญหาอาจมีแกนกลางของปัญหาที่ต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งหลักการศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่น ตัวบทกฎหมาย และข้อเสนอหรือทางออกในเชิงจิตวิทยาทางสังคม เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจและพิเคราะห์ปัญหา ซึ่งควรได้รับการพิจารณาร่วมกันจากมุมมองจะคณะกรรมการร่วมทั้งสองศาสนาในหลากหลายมุมมองและทุกมิติของปัญหา
ถ้าไม่สร้างที่ทางในการคุยกัน ความเข้าใจก็ไม่เกิด ถ้าคุยแต่กับฝ่ายเดียวกัน ความเห็นต่างก็ไม่มีที่ยืน แล้วจะทำอย่างไรให้การคุยข้ามความเชื่อความศรัทธามีความเป็นได้ โดยไม่ใช้หลักการศาสนาที่สุดขั้วและแข็งทื่อ เห็นแต่ความสำคัญของศาสนาและอำนาจของฝ่ายตน โดยขาดความเอื้ออาทร ความเป็นมิตรระหว่างกัน
คำถามที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากข้อเสนอนี้
อาจมีคำถามตามมาว่า ข้อเสนอนี้อาจเบาและซ้ำรอยอดีต เพราะที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ก็เคยผ่านวิธีแก้ปัญหาด้วยการคัดเลือกคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นคณะกรรมการที่เกิดขึ้นจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2548 ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลส่วนกลาง โดยทำงานร่วมกันจากผู้คนจากหลายส่วน ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตนักการเมือง แพทย์ ฝ่ายปกครอง ภาคราชการ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และบุคคลสำคัญในภาคธุรกิจทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมกันกว่า 48 คน
ในระยะเวลาหนึ่งปีของการทำงาน กอส. ทำงานศึกษาและข้อเสนอแนะ ทั้งนโยบาย มาตรการ กลไก และวิธีการในหลายด้าน รวมทั้งศึกษาวิจัยสาเหตุของปัญหา การเสนอรายงานผลการศึกษา ผลการทำงานแก่รัฐบาลและประชาชน ในทางปฏิบัติ เกิดการพัฒนากระบวนการฟื้นคืนสมานฉันท์ในสังคม กระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรง แต่ท้ายที่สุด ปัญหาในพื้นก็ยังไม่จบและมีปัญหาต่อเนื่องจนปัจจุบัน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีโรงเรียนอนุบาลปัตตานี สะท้อนว่า ประสบการณ์ของกระบวนการสานเสวนาระหว่างคนต่างศาสนาในอดีตนับร้อยเวทีตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นไม่ประสบความสำเร็จเลย หรือได้รับผลสำเร็จที่ส่งผลในระยะสั้นเมื่อสานเสวนาเสร็จเท่านั้น จึงทำให้ความเชื่อใจและความเข้าใจระหว่างกันที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางสังคม หรือการมุ่งเป้าสู่การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ ในทางปฏิบัติจริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัญหาล่าสุด ยังชี้ว่า ด้านหนึ่ง ชาวพุทธในพื้นที่จำนวนไม่น้อย ยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์และข้อดีของการแต่งกายตามหลักการศาสนาของศาสนาอิสลาม และอาจจะรู้สึกวิตกกังวลต่อการปรากฏตัวในรูปแบบที่เคร่งครัดของนักเรียนมุสลิมในพื้นที่ศรัทธาของฝ่ายตน ในอีกด้าน มุสลิมเองก็ยังขาดทักษะในการอธิบาย โน้มน้าวใจให้อีกฝ่ายเข้าใจเจตนารมณ์และโอนอ่อนให้เป็นความไม่เป็นพิษเป็นภัยของเครื่องแบบดังกล่าว
ประสบการณ์ของกระบวนการสานเสวนาระหว่างคนต่างศาสนาในอดีตนับร้อยเวทีตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นไม่ประสบความสำเร็จเลย หรือได้รับผลสำเร็จที่ส่งผลในระยะสั้นเมื่อสานเสวนาเสร็จเท่านั้น
เพื่อแก้ปัญหาว่า คณะกรรมการที่มักจะมี ก็หนีไม่พ้นวิธีคิดที่หวังรอให้ ‘คนอื่น’ ซึ่งก็มักจะมาจากรัฐส่วนกลางที่เข้าไปตัดสินหรือจัดการแก้ปัญหาแทนคนในท้องถิ่น โดยที่ึคนในท้องถิ่นเพียงเป็นฝ่ายรอคำตัดสินที่มาจากภายนอก โดยไม่มีโอกาสถกเถียงต่อรอง ชี้แจงเหตุผล ดังนั้น การเกิดขึ้นของคณะกรรมการลักษณะนี้ ก็ควรเกิดจากภายในท้องถิ่น ซึ่งสำคัญกว่าการที่ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายสั่งการลงมาให้ตั้งคณะกรรมการ โดยที่ท้องถิ่นไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของ และไม่ได้คาดหวังในคณะกรรมการที่ไม่มีตัวแทนของตัวเองร่วมพิจารณาปัญหาของตน
นอกจากนี้ ถ้าเราเชื่อว่า เรามีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ที่ทำงานศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่อง พหุวัฒนธรรม การปฏิสัมพันธ์ ทักษะวัฒนธรรม การจัดการและการป้องกันความขัดแย้ง รวมถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนิก รายงานและงานวิจัยนับร้อยเล่มทั้งภาษาไทยและภาษาอื่นๆ ยังคงเพียงพอและเป็นต้นทุนที่ดีในการคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ใช่เพียงการออกกฎหมาย
ด้วยฐานความรู้ด้านการจัดการความขัดแย้งที่เริ่มมีแพร่หลายในสังคมไทย ทำให้แวดวงวิชาการชายแดนใต้ตระหนักว่า บางครั้งประเด็นอ่อนไหว แต่ถ้าไม่คุยกันก็ไร้ทางออก ความขัดแย้งหลายเรื่องใช่ว่าจะจบลงในแบบที่หลายฝ่ายคาดหวัง หากอยากได้สังคมอย่างไรก็ควรลุกขึ้นเรียกร้องต่อรองเอาด้วยวิถีทางทางการเมือง หากแต่ข้อเสนอที่สำคัญในทางวิชาการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องถูกนำเสนอข้อเรียกร้องเหล่านั้นอย่างสุภาพ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และมีความเป็นสันติวิธี
Tags: ปัตตานี, มุสลิม, ฮิญาบ