หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของนกกระจอกเทศว่า เวลาที่มันตกใจกลัวอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นศัตรู หรือแค่ฟ้าร้อง มันจะเอาหัวซุกลงไปในทรายเพื่อหลบภัย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Ostrich buries its head in the sand’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ
เพราะความจริงแล้วนกกระจอกเทศไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนที่เห็นว่ามันเอาหัวมุดลงทรายนั้น ก็เพื่อเอาหัวลงไปเช็กและกลับไข่ที่มันวางไว้ในรูที่เจาะไว้ใต้ดิน ไม่ใช่มุดเพื่อหลบภัยแต่อย่างใด
และความเชื่อผิดๆ นั้นก็กลายเป็นที่มาของคำว่า The Ostrich Effect นั่นเอง
The Ostrich Effect ภาวะปิดหูปิดตาจากข่าวร้ายที่ไม่อยากฟัง
The Ostrich Effect คือการที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะไม่ฟัง หรือไม่ให้ความสนใจกับข่าวร้ายๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนของตัวเอง แต่จะเลือกฟังแต่ข่าวดีๆ ของการลงทุนที่ตัวเองวางเอาไว้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่านักลงทุนส่วนใหญ่มักจะไม่อยากได้ยินว่าการลงทุนของตัวเองนั้นกำลังประสบปัญหาขาดทุน เพราะยิ่งรู้ก็ยิ่งปวดใจ
ยกตัวอย่างเช่น คนเล่นหุ้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบจับตามองหุ้นที่ตัวเองกำลังถืออยู่ เวลาที่กำลังมีข่าวว่าตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วงขาลง (หรือตอนที่กำลังมี Market Downturn นั่นเอง)
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนต่างๆ ข่าวร้ายนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าข่าวดี เพราะรู้ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับการลงทุนของตัวเอง (เช่น วันนี้ตลาดหุ้นไม่ดีเลย)ทำให้เราสามารถหาทางแลกเปลี่ยนหรือขายหุ้นตัวนั้นๆ ทิ้งไป
สาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่งที่สามารถอธิบายถึงพฤติกรรม The Ostrich Effect ได้ก็คือ คนเราส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับการสูญเสียมากกว่าการได้นั่นเอง (พูดง่ายๆ ก็คือคนเราเกลียดการเสียมากกว่าชอบการได้ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Loss Aversion นั่นเอง)
ซึ่งก็ส่งผลทำให้เรามีพฤติกรรมทำนอง ‘ปิดหูปิดตา’ ที่บางครั้งอาจทำในสิ่งที่ดูไม่ค่อยฉลาดเท่าไรนัก
ทำไม The Ostrich Effect ถึงมีผลต่อพฤติกรรมของคนตรงข้ามกับ The Pandora Effect
ถ้าคุณผู้อ่านได้มีโอกาสอ่านบทความชิ้นแรกที่ผมเขียนให้กับ The Momentum คุณผู้อ่านก็อาจจะมีความสงสัยว่า แล้ว The Ostrich Effect ที่ว่านี้มีความแตกต่างจาก The Pandora Effect ซึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่ชอบอยากรู้อยากเห็นในเกือบทุกๆ เรื่อง ถึงแม้ว่าเรื่องที่รู้อาจจะส่งผลร้ายให้กับตัวเองได้
ผมจึงอยากชี้แจงว่าคนเรามักจะมีพฤติกรรมที่คล้องจองกับ The Ostrich Effect มากกว่าก็ต่อเมื่อ
1) ในเรื่องที่เราไม่อยากรู้นั้น ถึงจะไม่รู้รายละเอียดก็ตาม แต่เราก็รู้ชัวร์ๆ อยู่แล้วว่าเป็นข่าวร้ายแน่นอน
2) เรามีต้นทุนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่
และคนเรามักจะมีพฤติกรรมที่คล้องจองกับ The Pandora Effect มากกว่าก็ต่อเมื่อ
1) ในเรื่องที่เราไม่อยากรู้นั้น เราไม่รู้จริงๆ ว่ามันเป็นข่าวร้ายหรือข่าวไม่ร้าย (ซึ่งอาจจะไม่เชิงเป็นข่าวดี) แต่ความอยากรู้อยากเห็นนั้นมันล้นเหลือเกิน
2) เราไม่มีต้นทุน หรือไม่รู้สึกว่าเรามีต้นทุนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการทราบข้อมูลเพิ่มอยู่
สรุปก็คือคนเรามักมีความโน้มเอียงในการมองข้าม หรือเลือกไม่รับรู้อะไรเลยกับข้อมูลข่าวสารร้ายๆ ที่สามารถทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจกับการตัดสินใจลงทุนของเราในตอนต้น ถึงแม้ว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ร้ายๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยพัฒนาการตัดสินใจของเราเกี่ยวกับทุนที่เรากำลังถืออยู่หรือที่ลงไปแล้วก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีนักวิจัยบางคนค้านว่า The Ostrich Effect นั้นไม่มีจริงๆ ในงานวิจัยล่าสุดของ Svetlana Gherzi นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Warwick ที่ผมทำงานเป็นอาจารย์และเพื่อนร่วมงานของเธอพบว่า
นักลงทุนมักจะมีความไฮเปอร์มากกว่าปกติในการเช็กสต๊อกที่ตัวเองกำลังถืออยู่มากกว่าไม่ให้ความสนใจอะไรเลย ในขณะที่ตลาดกำลังขึ้น หรือในขณะที่ตลาดกำลังลงอยู่ เธอและเพื่อนร่วมงานเรียกความไฮเปอร์ในการเช็กสต๊อกมากกว่าปกตินี้ว่า The Meerkat Effect ตามลักษณะนิสัยของตัวเมียร์แคต สัตว์ในประเทศแอฟริกาที่มักจะกระตือรือร้นตลอดเวลาในการเช็กว่ามีศัตรูอยู่รอบข้างหรือไม่?
แล้วตัวคุณละครับ คุณว่าคุณมีพฤติกรรมที่คล้ายกับนกกระจอกเทศหรือคล้ายตัวเมียร์แคตมากกว่ากัน
อ่านเพิ่มเติม:
– Galai, D., & Sade, O. (2006). The “Ostrich Effect” and the Relationship between the Liquidity and the Yields of Financial Assets. The Journal of Business, 79(5), 2741-2759.
– Gherzi, S., Egan, D., Stewart, N., Haisley, E., & Ayton, P. (2014). The Meerkat Effect: Personality and Market Returns Affect Investors’ Portfolio Monitoring Behaviour. Journal of Economic Behavior & Organization, 107, 512-526.
– Karlsson, N., Loewenstein, G., & Seppi, D. (2009). The Ostrich Effect: Selective Attention to Information. Journal of Risk and Uncertainty, 38(2), 95-115.
ภาพประกอบ: maya
Tags: Ostrich buries its head in the sand, พฤติกรรมรำพัน, ณัฐวุฒิ เผ่าทวี, The Pandora Effect, The Meerkat Effect, opinion, Successful, การลงทุน, The Ostrich Effect