1.
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทรนด์แฟชั่น ‘เสื้อผ้ามือสอง’ กลายเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นผู้ชื่นชอบการแต่งตัว ไม่ว่าจะเป็นกางเกงยีนส์ กางเกงคาร์โก้ เสื้อเชิ้ตโปโล แจ็กเก็ต โดยเฉพาะเสื้อยืดแนววินเทจ ที่พ่อค้าแม่ขายรวมถึงนักสะสมบัญญัติศัพท์ว่า ‘ผ้าบาง’ ราคาตั้งแต่หลักร้อยไต่ระดับถึงหลักหมื่น จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับสภาพความสมบูรณ์และความหายากเป็นหลัก
วิวัฒนาการของแหล่งซื้อเสื้อผ้ามือสองในไทย เท่าที่จำความได้พอสังเขปคงมีอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น ตลาดนัดจตุจักร ตลาดปัฐวิกรณ์ ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ และตลาดโรงเกลือสระแก้ว
จริงอยู่ว่า ตลาดที่กล่าวมาข้างต้นมีสินค้าแฟชั่นให้เลือกซื้อละลานตา ทั้งแบรนด์เนมไปจนถึงสินค้าแฮนด์เมด ทว่า Pain Point สำคัญของนักช็อปที่เจอในแหล่งซื้อประเภทตลาดนัด คือ ‘สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์’ หรือที่เรียกว่า ‘ของก็อป’ ฉะนั้น ถ้าไม่ชอบวิธีซื้อแบบตาดีได้ตาร้ายเสีย ก็ต้องฝึกสังเกตการณ์ซื้อให้เชี่ยวชาญก่อนลงสนามจริง
อย่างไรก็ดี วิวัฒนาการแหล่งเสื้อผ้ามือสองในไทย ปัจจุบันมีมากกว่าแค่การ ‘คุ้ย’ ตามกองเสื้อพะเนินเทินทึก แต่ถูกยกไปอยู่ตามห้างติดแอร์ ที่เดินทางง่าย จัดวางสินค้าสะอาดตาเป็นระเบียบและน่าสนใจ โดยร้านจำหน่ายส่วนใหญ่ล้วนอิมพอร์ตจากประเทศญี่ปุ่น
คำถามสำคัญคือ ปัจจัยใดที่ 2nd Street สามารถครองตลาดธุรกิจเสื้อผ้ามือสองในไทยเพียงระยะเวลาสั้นๆ เราขอชวนไขคำตอบจากบทความชิ้นนี้
2.
2nd Street ก่อตั้งในปี 1996 โดยมีสาขาแรกเปิดที่จังหวัดคางาวะ (Kagawa) ภูมิภาคชิโกกุ (Shikoku) ในลักษณะสโตร์ขนาดย่อม บรรยากาศอบอุ่น ก่อนจะขยับขยายสาขาในประเทศต่อถึง 660 แห่งทั่วประเทศในปี 2020 และยึดหัวเมืองแฟชั่นอย่างย่านชินจุกุ (Shinjuku) อยู่หมัด
ต่อให้เป็นคนรักสายแฟชั่น แต่คติจับจ่ายของชาวญี่ปุ่นแต่ละครั้ง คือต้องประหยัดและคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ ขณะเดียวกัน พวกเขาใส่ใจกับการเก็บออมมากเป็นพิเศษ แม้ประเทศจะไม่อยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจเงินขาดสภาพคล่องหรือเงินเฟ้อก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นรากฐานที่ปลูกฝังส่งต่อกันมาหลังประเทศผ่านพ้นภาวะสงคราม เช่นเดียวเหตุภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นคราวใดก็ได้
ฉะนั้น แนวคิดธุรกิจเสื้อผ้ามือสองของ 2nd Street จึงสอดคล้องกับวิถีการใช้เงินของชาวญี่ปุ่น เพราะว่ากันตามตรง เสื้อผ้าเป็นสินค้าที่มนุษย์ซื้อขายกันอยู่ตลอดเวลา ซื้อเพราะโครงสร้างร่างกายเปลี่ยนแปลงตามวัย ซื้อตามความเหมาะสมของหน้าที่การงาน หรือซื้อเพื่อเสริมบุคลิกก็ตาม
นั่นหมายความว่า แนวคิดธุรกิจของ 2nd Street คือการแบ่งเบาภาระเสื้อผ้าล้นตู้ของผู้บริโภค ที่ไม่รู้ว่าจะเก็บเสื้อผ้าไม่ใส่แล้วไปไว้ไหน ขณะเดียวกัน เสื้อผ้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นแบรนด์เนมที่นำลดราคาราว 50-80% ตามแต่คุณภาพสินค้าและยี่ห้อนั่นเอง
3.
ในปี 2020 ยูโซ เอนโด (Yuzo Endo) ซีอีโอแห่ง Geo Corp. ระบุว่า กลยุทธ์ที่พวกเขามีชื่อว่า ‘60-cent hamburgers’ หรือ ‘กลยุทธ์แฮมเบอร์เกอร์ลด 60%’ อิงมาจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ในสมัยที่เอนโดเป็นพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ด McDonald’s โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเต็มใจควักเงินในกระเป๋าสตางค์ซื้อเบอร์เกอร์ช่วงที่ลดราคา มากกว่าช่วงที่มีการจำหน่ายในราคาปกติ
เช่นเดียวกับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าจำพวกเสื้อผ้า เอนโดเล่าว่า เขาสังเกตพฤติกรรมของหนุ่มสาวย่านชินจุกุ พวกเขาส่วนใหญ่ใช้เวลาในการเดินเข้าออกร้านซื้อเสื้อผ้าในย่านดังกล่าว เพื่อเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นที่เหมาะกับตัวเองจนพอใจ ทว่าสุดท้ายแล้วด้วยราคาพวกเขากลับตัดใจจากการเลือกซื้อสินค้า เพราะเกรงในราคาที่จ่ายไปแล้วอาจกระทบต่อค่าครองชีพ โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19 ที่มีผู้คนตกงานหรือรายได้ลดลง
“หลังจากผ่านช่วงเศรษฐกิจซบเซา แนวคิดเรื่องการบริโภคอย่างชาญฉลาดก็แพร่ขยายออกไป ซึ่งการประหยัดผ่านการเลือกซื้อสินค้าก็ถือเป็นความคิดที่ไม่เลว” เอนโดระบุ
นอกจากแนวคิดของเอนโด เทรนด์ ‘รักษ์โลก’ ผ่านการใช้สินค้าซ้ำ เพื่อลดกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ยังมีส่วนทำให้ธุรกิจเสื้อผ้ามือสองเติบโตเพิ่มแบบก้าวกระโดด หนำซ้ำ ยังลบภาพจำเดิมๆ ที่ว่า ของมือสองต้องเป็นของไร้คุณภาพหรือของสกปรก
4.
หลังได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่น 2nd Street ยังขยับขยายกิจการสู่ประเทศใหญ่ เช่น ย่านเชลซี (Chelsea) เมืองลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ ในปี 2018 ตามด้วยเมืองทอร์รันซ์ (Torrance) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ประเทศสหรัฐฯ โดยการขยับขยายครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของบริษัท Geo Corp. หลังเข้าเทกโอเวอร์ 2nd Street ที่ต้องการขยายกิจการไปยังเมืองแฟชั่นในประเทศใหญ่
ถึงกระนั้น การขยับขยายกิจการในต่างแดนย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจเหวี่ยงไปมาราวกับรถไฟเหาะ ดังนั้น กลยุทธ์ที่พวกเขาใช้ดึงดูดและมัดใจลูกค้า คือการใช้บริการพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญในการ ‘ตรวจสอบสินค้า’ โดยสินค้าที่พวกเขารับซื้อมือสองมาจะใช้เวลาขั้นต่ำ 24 ชั่วโมงในการตรวจสอบ รวมถึงตีราคาคุณภาพ
ขณะเดียวกัน 2nd Street ยังคง ‘เสน่ห์’ ของการซื้อเสื้อผ้ามือสอง นั่นคือการปัดราวเลือกซื้อ ที่หากใครโชคดีก็จะ ‘ของหลุด’ ในราคาถูกกว่าความเป็นจริง ส่วนจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนล็อตสินค้าที่ลงขายในแต่ละครั้ง
อีกปัจจัยสำคัญเกื้อหนุน คือ 2nd Street ยังเป็นร้านเสื้อผ้ามือสองที่รับซื้อและจำหน่ายสินค้าประเภทคอลแลปกับดีไซเนอร์ชื่อดัง เช่น เวอร์จิล แอบโล (Virgil Abloh) โยจิ ยามาโมโตะ (Yohji Yamamoto) อิซเซ มิยาเกะ (Issey Miyake) และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสินค้ามือหนึ่งมีราคาแพงเกินเอื้อม แต่เมื่ออยู่ในร้านมือสองแล้วจึงมีราคามิตรภาพจับต้องได้
เมื่ออยู่ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์และยกย่องความสามารถศิลปิน สินค้าคอลแลปข้างต้นจึงมีสถานะไม่ต่างจากสมบัติล้ำค่า แม้จะอยู่ในสถานะมือสองก็ตาม
5.
กระทั่งปี 2024 2nd Street ขยับขยายมาเปิดในประเทศไทยเป็นสาขาแรก ที่ห้างสรรพสินค้า BigC พระราม 4 กลายเป็นกระแสไวรัลและทางเลือกใหม่ในหมู่วัยรุ่นขาโจ๋ ผู้ชื่นชอบการแต่งตัว นอกจากตึกแดง จตุจักร หรือตามตลาดนัดชื่อดัง
จากองค์ประกอบที่กล่าวมาในข้างต้น ทำให้วัยรุ่นชาวไทยให้ความสนใจกับการมาของ 2nd Street ยังมีอีกปัจจัยสำคัญ และเชื่อว่าเป็น Pain Point ของคนรักการแต่งตัวอยู่ไม่น้อย กับกระแส ‘Fast Fashion’ ที่เปลี่ยนแทบจะทุกนาที ไม่ว่าจะแต่งตามอินฟลูเอนเซอร์ ดารานักแสดง หรือตามศิลปินที่ติดตาม เช่น ศิลปินจาก K-Pop เกาหลีใต้
ดังนั้น ถ้าไม่อยากตกเทรนด์ก็ต้องซื้อ ซื้อ และซื้อ แต่นั่นอาจเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยที่มีกำลังซื้อมากพอ
สอดคล้องกับกระแสแฟชั่นวินเทจที่ได้รับความนิยมในฟากฝั่งตะวันตก ที่ยิ่งเก่าก็ยิ่งมีราคา โดยเฉพาะในสินค้าประเภทเสื้อวง เมื่อรวมกับองค์ประกอบกลยุทธ์ของ 2nd Street ที่ลงล็อกพอดี นั่นคือราคาดี เก่าเก็บ และเป็นของแท้
น่าติดตามว่ากระแสสินค้ามือสองในบ้านเรารวมถึงทั่วโลกในปี 2024 จะไปจบลงตรงไหน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีมากกว่าแย่ ตราบใดที่มนุษย์ยังขวนขวายหาอดีตและมักใช้หวนรำลึกความทรงจำผ่าน ‘สิ่งของ’ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
อ้างอิง
https://2ndstreetusa.com/about
https://mr-mag.com/2nd-street-brings-second-hand-shopping-experience-to-chelsea/
https://www.dallasobserver.com/arts/2nd-street-usa-resale-clothes-dfw-texas-locations-15958295
https://www.timeout.com/tokyo/shopping/2nd-street-shimokitzawa
Tags: เทรนด์เสื้อผ้ามือสอง, ธุรกิจ, Feature, Business, เสื้อผ้ามือสอง, 2ndStreet, Secondhand Clothes