หนึ่งในประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจในช่วงเวลานี้ คือการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปยังอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเขาที่ดีที่สุดในประเทศ และมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนจำนวนมากในช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวของทุกปี

ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือความเห็นที่ถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยในการสร้างกับฝ่ายที่คัดค้าน ซึ่งทั้งหมดล้วนวางอยู่บนผลประโยชน์ที่ ‘ควรได้’ และ ‘อาจเสียไป’ ของแต่ละฝ่าย หากว่ามีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นจริง 

การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรครั้งแรกที่จังหวัดหนองบัวลำภู ช่วงเช้าวันนี้ 4 ธันวาคม 2566 กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานตอนบนมีการเสนอของบประมาณ 750 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาในแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยจังหวัดเลยมีแผนจะเสนอให้รัฐบาลปัดฝุ่นศึกษาและสร้างกระเช้าไฟฟ้า รวมถึงงบประมาณเพื่อสำรวจและออกแบบก่อสร้าง ทำให้เกิดการจับตาจากหลายฝ่าย เนื่องจาก ‘การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง’ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายตั้งแต่อดีต

  • มหากาพย์การผลักดันการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง

ประเด็นเรื่องของการผลักดันเพื่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานหรือย้อนหลังไปไม่กี่ปี แต่เรื่องนี้ต้องย้อนไปไกลถึงจุดเริ่มต้นในปี 2525 ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเสนอกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ พิจารณาสร้างระบบขนส่งขึ้นและลงอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ก่อนมีการจัดทำรายละเอียดโครงการในเวลาต่อมา 

ถัดมาในปี 2526 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติเห็นชอบในหลักการดังกล่าว แต่ให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

กระทั่งในปี 2528 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ได้ข้อสรุปว่า แนวทางที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสะดวกต่อการควบคุมดูแล คือการเริ่มต้นจากบริเวณใกล้เคียงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานและสิ้นสุดที่บริเวณหลังแป โดยการสร้างกระเช้าไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม 

นอกจากนี้ การศึกษายังระบุว่า การสร้างกระเช้าไฟฟ้าจะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยวได้ รวมถึงสามารถขนย้ายนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บสู่ด้านล่างได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มองค์กรอนุรักษ์และคนในท้องถิ่น เนื่องจากความกังวลถึงผลประโยชน์ที่อาจเสียไป หากมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นจริง

มีการศึกษาเรื่องสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงและผลักดันมาตลอดหลังจากนั้น ทั้งจากภาครัฐและเอกชนจังหวัดเลย รวมถึงการกำหนดรูปแบบและวิธีจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม เส้นทาง หรือรูปแบบของกระเช้า สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปพร้อมกับความกังวลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กระทั่งในปี 2554 ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอให้มีการศึกษา EIA หรือผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เนื่องจากมองว่า ภูกระดึงมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

กระทั่งรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยมีมติให้ศึกษาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 และทราบผลการศึกษาว่า การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะมีมูลค่า 633 ล้านบาท โดยแบ่งงบประมาณออกเป็น 3 ปี ปีละ 200 ล้านบาท แต่ยังติดเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี ในการสร้างกระเช้า 

ต่อมา หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีในเวลานั้นระบุว่า จากการรับฟังความคิดเห็น มีถึง 99.99% ที่เห็นด้วยในการสร้าง และมีไม่ถึง 1% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

แต่การศึกษาผลกระทบก็ยังไม่จบ ผ่านมาเกือบ 10 ปี กระเช้าขึ้นภูกระดึงก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาต่อไป และยังคงไปไม่ถึงขั้นตอนการอนุมัติก่อสร้างเสียที

  • ผลประโยชน์หรือผลกระทบ

ในปีที่ผ่านมา (2565) มีการเดินทางไปศึกษาระบบการจัดการกระเช้าลอยฟ้าฟานซีปัน เมืองซาปา ประเทศเวียดนาม โดย ณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดเลย และชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รวมถึงข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องและกลุ่มพ่อค้าในจังหวัดเลย เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจของเมืองซาปา หากมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงขึ้นจริง

ในเวลานั้น ณัฐพลระบุว่า การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงไม่ได้เป็นแค่การกระตุ้นเศรษฐกิจเลย แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอีสาน เนื่องจากจะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และมองว่าในยุคนี้สามารถบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ไม่ยาก จากความก้าวหน้าทางวิศวกรรมจึงอยากให้ภาครัฐผลักดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

ขณะที่ย้อนไปในปี 2562 ศศิน เฉลิมลาภ เขียนบทความในเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า แม้การสร้างกระเช้าภูกระดึงจะมีสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ยังมี ‘โจทย์ที่ต้องคำนึงถึง’ 3 ระดับ โดยสรุปได้ดังนี้

  1. ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking Trail ที่ดีที่สุดของประเทศ มีระยะทางการเดินที่ไม่ไกลมาก มีที่สวยๆ ให้เดินเที่ยวมากมาย ได้ซึมซับความงามจากธรรมชาติและมิตรภาพระหว่างทาง เมื่อมีกระเช้าอาจเป็นการทำลายความท้าทายดังกล่าว และทำให้คนเลือกทางสบายในการขึ้นกระเช้าแทน

  1. ผลจากการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้า ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพิ่ม เช่น อาคาร ถนนหนทาง รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ต่างๆ 

  1. คำถามที่ว่า หากมีคนขึ้นไปจำนวนมาก จะพร้อมเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ที่อุดมไปด้วยธรรมชาติ ให้กลายเป็นการรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบในอนาคตหรือไม่

  • ปัดฝุ่นรื้อสร้างโครงการ

การผลักดันโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงกลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง หลังจาก พวงเพ็ชร​ ชุนละเอียด​ รัฐมนตรี​ประจำ​สำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า จะมีการขออนุมัติงบประมาณ 28 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี ในการออกแบบโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ในการประชุม ครม.สัญจรนัดแรก (4 ธันวาคม 2566)

ขณะที่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ระบุว่า นี่เป็นเพียงการของบประมาณเพื่อสำรวจและออกแบบก่อสร้าง เพื่อประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ต้องมีการแนบแบบก่อสร้าง ไม่ใช่การเสนอเพื่อขออนุมัติก่อสร้าง โดยจะมีการเก็บข้อมูลและความเป็นไปได้ในการสร้างกระเช้าไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566-กันยายน 2568

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ พวงเพ็ชรซึ่งมีอีกสถานะหนึ่งคือเป็นอดีต ส.ส.เลย เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ยืนยันว่าการสร้างกระเช้าไฟฟ้าจะเป็นการสร้างความเจริญของจังหวัดเลย

“เมื่อก่อนการศึกษาจะมีทางขึ้นสองทาง ทางหนึ่งยังเป็นทางเดินอยู่ อีกทางหนึ่งด้านหลังเป็นกระเช้า ซึ่งเป็นคนละทางกัน ใครยังอยากได้ฟีลลิ่งการเดินก็เดินขึ้นไป คนเฒ่าคนแก่ที่อยากเห็นยอดภูเรือหรืออยากเห็นเมืองเลยก็ไปขึ้นด้านกระเช้า ดิฉันคิดว่า ถ้าเป็นความเจริญของจังหวัดเลย ทุกคนคงเห็นชอบ เพราะจะมีรายได้เข้าจังหวัดมากมาย และต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ”

ทางด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ดูแลภาพรวมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุเรื่องการขออนุมัติงบประมาณว่า ยังมีเสียงต่อต้านจากกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษ์ในพื้นที่ จึงต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจ

“คงต้องหารือหลายฝ่าย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความคล่องตัว การอำนวยความสะดวกของการท่องเที่ยว และเป็นการทำให้การท่องเที่ยวสามารถเดินได้ ทำให้การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ก็จะมีเรื่องของกลุ่มอนุรักษ์ ซึ่งมีความคิดความเห็นอยู่ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องระดมความคิด เสนอ พิจารณาร่วมกัน”

ขณะที่รายงานล่าสุด นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงแต่อย่างใด ทำให้มหากาพย์การสร้างกระเช้าภูกระดึงยังคงไม่ได้บทสรุปที่ชัดเจน 

และยังคงอยู่ในขั้นตอน ‘ศึกษาแต่ยังไม่อนุมัติ’ เหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา

อ้างอิง:

https://www.matichon.co.th/politics/news_51664

https://www.nationtv.tv/news/region/378885356

https://www.seub.or.th/bloging/column/sasin/%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B6%E0%B8%87-%E0%B8%88%E0%B8%B0/

https://www.dailynews.co.th/news/2961653/

https://www.thaipbs.or.th/news/content/334561

https://www.thaipbs.or.th/news/content/334569

https://mgronline.com/politics/detail/9590000020210

Tags: , , ,