ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โรงละครแห่งชาติไถ่จง (National Taichung Theater) ประเทศไต้หวัน มีการจัดแสดงงาน Fever Room ของ เจ้ย—อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งก่อนหน้านี้เคยจัดแสดงร่วมกับการฉายหนังสั้นในงาน METAPHORS: AN EVENING OF SOUND AND MOVING IMAGE WITH KICK THE MACHINE ที่บางกอก ซิตี้ ซิตี้ แกลเลอรี่ แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการของประเทศไทย ทำให้ Fever Room ไม่สามารถแสดงได้ในระดับฟูลสเกล

Fever Room ในไต้หวันครั้งนี้จึงเป็นร่างสมบูรณ์ แบบที่ไม่สามารถหาดูได้ในไทย ชิ้นงานเริ่มต้นด้วยการฉายหนังสั้นบนจอสามจอ โดยจอฉายแต่ละจอจะเลื่อนขึ้นลงสลับไปมา ในบางครั้งก็ฉายพร้อมกันทีละหลายจอ ว่าด้วยเรื่องราวที่พอจับต้องได้เกี่ยวกับความฝันและความทรงจำต่างๆ ของตัวละครในจักรวาลหนังของอภิชาติพงศ์

บางครั้งเป็นเสียงเล่าความฝันของป้าเจน (ซึ่งปรากฏตัวอยู่ในหนังเกือบทุกเรื่องของเขา) พร้อมภาพที่แกนอนหลับอยู่ บางครั้งเป็นภาพทะเลที่มีคลื่นซัดเข้าฝั่งช้าๆ เรื่องราวค่อยๆ ไหลลื่นไปเรื่อยอย่างไม่ปะติดปะต่อ ตามแบบฉบับวิธีการเล่าของอภิชาติพงศ์ เหมือนกระแสความนึกคิด ความทรงจำ หรือความฝันมากกว่าจะเป็นพล็อตที่เชื่อมโยงเป็นระบบ

อีกข้อหนึ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญใน Fever Room คืองานชิ้นนี้ทำให้ง่วงนอน ซึ่งน่าจะเป็นความตั้งใจของคนทำ อภิชาติพงศ์สนใจเรื่องการหลับและสภาวะของความฝัน ภาพยนตร์ของเขามักมีซีนนอนหลับหรือเรื่องราวเกี่ยวกับนอนหลับอยู่เต็มไปหมด ถึงขนาดเคยมีการจัดพูดคุยถึงหัวข้อนี้เป็นหลักใน IFFR Big Talk โดยเทศกาลหนังรอทเทอร์ดาม

การพาคนดูไปสู่สภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น (หรือบางคนอาจจะเลยไปที่หลับอย่างเดียว) ใน Fever Room จึงมีผลอย่างมากกับผู้ชมในช่วงเข้าสู่ไคลแมกซ์ที่จอวิดีโอจะเลื่อนเก็บไป ม่านกั้นเบื้องหน้าเปิดออก และมีโปรเจคเตอร์ฉายแสงมาใส่เรา

ในตอนนั้นถึงจะเห็นลางๆ ว่า ความจริงเรานั่งอยู่บนเวทีที่ใช้แสดงในโรงละคร ข้างหน้าเราคือเก้าอี้คนดู จากตำแหน่งดูเหมือนว่าเรากำลังกลายเป็นตัวละครไปเสียเอง และพอรู้ตัวอีกทีก็มีควันลอยเต็มพื้นที่แสดงไปหมดแล้ว

เมื่อเราถูกผลักให้อยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น แสงและควันเหล่านั้นยิ่งเบลอพรมแดนระหว่างความฝันกับความจริง สำหรับผมมันยังทำให้นึกถึงเรื่องเล่าที่บอกว่าเวลาคนใกล้ตายจะเห็นแสงสว่างลิบๆ ในความมืด อาจจะเรียกได้ว่า Fever Room เป็นการขยายขอบเขตของหนัง (Expanded Cinema) ให้ไปไกลกว่าการเป็นแค่ภาพเคลื่อนไหว พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้คนดู 

บังเอิญอย่างยิ่งที่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองเพิ่งมีการเปิดแสดงนิทรรศการชิ้นล่าสุดของผู้กำกับหนังและศิลปินชาวไต้หวัน ไฉ้ หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) ในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา

ทั้ง ไฉ้ หมิงเลี่ยง และ อภิชาติพงศ์ มีบางอย่างคล้ายคลึงกัน ทั้งคู่คือคนทำหนังที่สร้างงานศิลปะควบคู่ไปด้วย ในงานศิลปะแต่ละชิ้นมักจะสัมพันธ์กับภาพยนตร์ หนังของทั้งคู่ขึ้นชื่อเรื่องความนิ่งช้า สภาวะระหว่างความจริงความฝัน ทั้งคู่มักจะใช้นักแสดงหน้าเดิมวนเวียนไปมา ตัวอภิชาติพงศ์เองก็ชื่นชม ไฉ้ หมิงเลี่ยง ที่สำคัญนิทรรศการล่าสุดของไฉ้ก็มีลักษณะของ Expanded Cinema ที่ขยายขอบเขตของหนังไปสู่งานรูปแบบอื่น

งานนี้จัดขึ้นที่เมืองยี่หลาน (Yilan) บ้านเกิดของนักวาดนิยายภาพชื่อดัง จิมมี่เลี่ยว (Jimmy Liao) เมื่อถึงยี่หลาน ต้องเดินทางออกจากสถานีรถไฟต่อด้วยรถเมล์ท้องถิ่นสู่ย่านที่ชื่อว่าจางเว่ย (Zhuangwei) ตามป้าย Zhuangwei Visitor Center ไป (เนื่องจากที่นี่เพิ่งเปิด การเดินทางอาจจะยากลำบากนิดหนึ่ง เพราะไม่สามารถตามกูเกิ้ลแมพไปได้ แต่คิดว่าอีกไม่นานคงจะมี) พอไปถึงเราจะพบกับตึกสีดำรูปร่างแปลกตา ล้อมรอบด้วยต้นไม้ มีทางน้ำไหลตัดผ่านอยู่ข้างๆ พอเข้าไปภายในตัวตึกจะเจอพื้นและผนังที่มีลักษณะโค้งนูนดูไหลไปมาได้ไม่เหมือนของแข็ง ตัวอาคารทั้งหมดนี้ถูกออกแบบโดยสถาปนิก ฮวง เส่งหยวน (Huang Sheng-yuan) ด้วยคอนเซปต์เนินทราย (sand dunes) ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิประเทศอันเฉพาะตัวของเมืองจางเว่ย

เมื่อเดินต่อเข้าภายในนิทรรศการก็จะพบกับเนินทรายของจริง ไฉ้ หมิงเลี่ยง ได้นำเอาทรายสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของชายฝั่งทะเลยี่หลานจำนวนมากมาถม กินบริเวณเกือบทั่วทั้งภายในตึก ทั้งทรายและสถาปัตยกรรมภายในรวมกัน ทำให้รู้สึกเหมือนว่ากำลังจมเข้าไปในหลุมทรายดูดสีดำ พื้นที่ของนิทรรศการถูกแบ่งออกเป็น 6 ส่วน แต่ละส่วนถูกตั้งชื่อว่า Dust, Wind, Rain, Sea, Tide และ Moonlight  แต่ละห้องจะมีวิดีโอหนังสั้นจากงานชุด Walker ของ ไฉ้ หมิงเลี่ยง ฉายไปที่ผนังพร้อมด้วยทรายสีดำที่มีวิธีถมต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ และพิเศษคือโซน Moonlight มีน้ำอยู่ด้วย ทำให้เหมือนว่ายกชายทะเลเข้ามาในห้อง โดยมีแสงจากโปรเจคเตอร์ฉายหนังสะท้อนกับน้ำเป็นแสงจันทร์

สำหรับหนังชุด Walker อธิบายง่ายๆ ก็คือ ‘พระเดินช้า’ ในทุกเรื่องจะมี หลี่ คังเซิง นักแสดงคู่บุญของ ไฉ้ หมิงเลี่ยง แต่งชุดพระจีน เดินสโลว์โมชั่นในเมืองต่างๆ ทั้ง ไทเป โตเกียว ฮ่องกง และ มาร์กเซย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เคลื่อนไหวในความเร็วปกติ พระหลี่องค์นี้จึงดูเหมือนหลุดออกจากทุกอย่าง

ซีรี่ย์ชุดนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2011 เมื่อโรงละครแห่งชาติ (national theater) ได้ชวน ไฉ้ หมิงเลี่ยง มาร่วมโปรเจคต์ละครเวที ซึ่งไฉ้ได้สร้างงาน performance จากความประทับใจในการขยับตัวอันสุดแสนจะเชื่องช้าของ หลี่ คังเซิง หลังจากงานแสดงนั้นจบลง เขาก็เกิดไอเดียอยากสร้างหนังที่ หลี่ คังเซิง เดินช้าๆ ในเมืองต่างๆ ทั่วโลก โปรเจคต์หนังชุด Walker จึงเกิดขึ้นและต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ โปรเจคต์นี้ออกฉายตามเทศกาลหนังมากมาย และ No Form (2012) งานหนึ่งจากซี่รี่ย์นี้ยังเกือบกลายเป็นหนังโฆษณาให้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง แต่สินค้าถูกถอดออกก่อนวางตลาด จึงพับไป

ภายในนิทรรศการนี้ยังมีเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยเฉพาะอีกด้วยคือ Sand (2018) ซึ่งมีฉากพระหลี่เดินอยู่ในที่รกร้างริมชายหาดทรายสีดำและใน Zhuangwei Visitor Center เมื่อวิดีโอนี้ถูกฉายในห้องเดียวกับที่พระหลี่เดิน ยิ่งเชื่อมโลกให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนว่ากำลังอยู่บนทรายผืนเดียวกับเขาที่ถูกฉายภาพอยู่บนผนัง

Walker จึงขยายขอบเขตตัวเองจากหนังสั้นไปสู่สิ่งอื่น เริ่มจากวิดีโออาร์ต (ความแตกต่างของหนังกับวิดีโออาร์ตคือ หนังจำกัดให้ผู้ชมจดจ่ออยู่กับมันตามเวลาที่กำหนด ด้วยโรงฉาย การต้องนั่งชม ฯลฯ
แต่วิดีโออาร์ตอนุญาติให้ผู้ชมเลือกได้ว่าจะอยู่กับงานนี้นานแค่ไหน จะเริ่มหรือหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ และกลับมาอีกตอนไหนก็ได้) ด้วยคุณสมบัตินิ่งช้า รวมถึงจุดเริ่มจุดจบของเรื่องราวเลือนราง ผู้ชมจึงสามารถเลือกเข้ามารับชม Walker และออกไปเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจตัวเองโดยไม่มีผลกับการติดตามเรื่องใดๆ บวกกับการจัดวางพื้นที่ด้วยทรายและน้ำ รวมถึงเก้าอี้สีแดงแบบโรงหนัง ทำให้ Walker พาผู้ชมข้ามเส้นแบ่งของภาพยนตร์กับงานศิลปะ หรือกระทั่งโลกแฟนตาซีกับความจริง เพราะทรายสีดำที่เราเหยียบอยู่ได้เชื่อมโลกของเราเข้ากับโลกในหนัง ไม่ต่างอะไรกับที่อภิชาติพงศ์ละลายเขตแดนความฝันด้วยแสงและควัน

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือทั้งการออกแบบทางสถาปัตยกรรมรวมถึงนิทรรศการที่จัดขึ้นนี้ ถูกคิดให้มีความเชื่อมโยงกับระบบนิเวศท้องถิ่น ทั้งที่เห็นได้จากภายนอกอย่างชายหาดสีดำ ต้นไม้ ภูมิประเทศหลุมทราย น้ำทะเล รวมถึงเรื่องภายในอย่างคอนเซปต์ของความช้า (Slowness)

เฉิน เหมยชิว (Chen Mei-Hsiu) เจ้าหน้าที่ Northeast and Yilan Coast National Scenic Area Administration ได้บอกไว้ในหนังสือนิทรรศการว่า ทั้งงานออกแบบสถาปัตยกรรมของ ฮวง เส่งหยวน รวมถึงหนังของ ไฉ้ หมิงเลี่ยง ล้วนแสดงถึงความช้า ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวพิเศษของเมืองจางเว่ย ด้วยความเป็นเมืองห่างไกลความวุ่นวาย เต็มไปด้วยธรรมชาติสวยงาม การมาเยือนเมืองนี้ทำให้เราสามารถดื่มด่ำกับความเชื่องช้า จนค่อยๆ ย่ำผ่านเนินทรายนุ่มนิ่มและเริ่มเดินในสปีดเดียวกับพระหลี่ได้

เฉินยังกล่าวอีกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในแผนสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เอาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) มารวมกับศิลปะ ซึ่งจะทำให้มันไปไกลกว่าการเที่ยวชมเมืองแบบเดิมๆ รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนศิลปะไปในตัว Zhuangwei Visitor Center จึงไม่ได้เป็นแค่ศูนย์ท่องเที่ยวทั่วไปหรือแม้แต่แกลเลอรี่ เห็นได้จากผู้เยี่ยมชมที่หลากหลาย มีทั้งคนที่ตั้งใจมานิทรรศการ หรือครอบครัวที่พาลูกๆ มาชมธรรมชาติ หรือแวะดูของท้องถิ่นในร้านกิฟท์ช็อปต่อก็ได้

ครอบครัวยังสามารถพาเด็กๆ สนุกกับการปีนเนินทรายในนิทรรศการ (ตัวไฉ้เองเขียนไว้เลยว่าจะเดินจะนอนจะเหยียบบนพื้นที่ยังไงก็ได้) มองอีกแง่ที่นี่ก็เหมือนสวนธีมพาร์กของไฉ้ หมิงเลี่ยง อาจจะฟังดูไม่ให้เกียรติมากนัก แต่การยกศิลปะไว้สูงลิ่ว อาจจะทำให้โอกาสในการเข้าถึงของคนอีกมากมายหายไปและจบที่ทุกอย่างจำกัดอยู่ในวงแคบ (แต่แน่นอนว่าครอบครัวต้องดูแลไม่ให้น้องๆ เลยเถิดถึงขนาดไปพังโปรเจคเตอร์หรือข้าวของในงาน) และฟังดูน้ำเน่า แต่ไม่แน่ว่าในวันหนึ่ง หนึ่งในเด็กๆ เล่นทรายเหล่านี้อาจจะต่อยอดประสบการณ์จากที่นี่จนกลายเป็นศิลปินคนสำคัญก็ได้

การรวมตัวกันอย่างเข้าใจของศิลปิน หน่วยงานท่องเที่ยว และองค์กรรัฐ ทำให้ทั้งนิทรรศการและตัว Zhuangwei Visitor Center มีโมเดลความคิดที่น่าสนใจในหลายมิติ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ไกลตัวจากประเทศไทยมากด้วยซ้ำ มันคือความร่วมมือของหลายฝ่าย และใช้บุคคลากรที่มีอย่างเหมาะสม ที่สำคัญมันทำให้เห็นว่าศิลปะกับการพัฒนาชุมชนสามารถเกื้อกูลกันได้ การสนับสนุนศิลปะไม่ใช่ความเสียเปล่าในเชิงเศรษฐกิจ

น่าเสียดายพอกลับมาคิดถึง Fever Room ของอภิชาติพงศ์ ที่ไม่สามารถแสดงงานในไทยได้สมบูรณ์ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งเรื่องสถานที่ ที่การหาโรงละครขนาดเหมาะสมและยอมให้จัดงานนี้ดูเป็นไปได้ยาก กับด้านกลไกการตลาดส่งผลให้ราคาบัตรอาจจะต้องแพงมากหากจะจัดให้คุ้มทุน (ไต้หวันขายบัตรราคาแค่ประมาณ 800 บาท ในขณะที่หากจัดในไทย เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่เคยพูดคุยทีมงาน พบว่าถ้าทำเต็มสเกล ราคาบัตรอาจจะแตะถึง 5,000 หรือ 6,000 บาท นอกจากนั้นด้วยสภาวะทางการเมืองหลายอย่างยังทำให้อภิชาติพงศ์ตัดสินใจไม่ทำหนังยาวในประเทศไทยอีก พบว่าหลายเหตุการณ์ในบ้านเราได้ผลักคนทำงานให้ต้องออกไปสร้างสรรค์ผลงานในต่างประเทศแทน

อย่างไรก็ตาม ทั้งงานของ อภิชาติพงศ์ และ ไฉ้ หมิงเลี่ยง ต่างแสดงให้เห็นว่าหนังสามารถขยายขอบเขตตัวเองไปได้มากมาย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้งานสามารถขยายขอบเขตไปได้ถึงเพียงนั้น ก็อาจไม่ใช่แค่พลังของศิลปินเพียงอย่างเดียว

อ้างอิง

Exhibition catalogue งาน WALKER, TSAI MING-LIANG

https://konmongnangetc.com

http://bangkokcitycity.com

http://en.npac-ntt.org

https://www.necoast-nsa.gov.tw

http://www.scmp.com

http://www.indiewire.com

Fact Box

  • Fever Room ไม่อนุญาตให้ผู้ชมบันทึกภาพใดๆ ในนิทรรศการ
  • Walker จะจัดแสดงที่เมืองจางเว่ยอยู่เพียง 2 ปีเท่านั้น