วาสุนทารา รามาสามี (Vasunthara Ramasamy) หนึ่งใน Celebrity Chef ชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดีย เคยพูดเล่นๆ ถึง ‘ขนมอินเดีย’ เอาไว้ระหว่างการสัมภาษณ์ของสำนักข่าวแชนเนลนิวส์เอเชีย (CNA) ว่า
“มันไม่ผิดเลย บางทีฉันอาจจะเป็นคนโกรธยาก แต่มิไฐ (Mithai แปลว่า ขนมในภาษาฮินดี) มันก็หวานจริงๆ นั่นแหละ”
สำหรับคนที่เคยกินจะรู้กันดีว่า ขนมอินเดียขึ้นชื่อในเรื่องรสชาติหวานที่นำโด่ง หวานแหลม หวานมาก จนบางครั้งคนไทยเรารู้สึกว่ามันมากเกินไป และเนื่องจากช่วงนี้ตรงกับเทศกาลดีวาลีของชาวอินเดีย จึงอยากมาชวนขุดคุ้ยหาความหมายเบื้องหลังความหวานอันน่าหลงใหลของขนมอินเดียไปพร้อมกัน
Mithai?
ในภาษาฮินดี ‘ขนมหวาน’ เรียกว่า ‘มิไฐ’ (मिठाई แต่หากออกเสียงให้ตรงรูปอักษรคือ มิฐาอี เมื่อออกเสียงตามสำเนียงอินเดียจะกลายเป็นมิไฐ) มีรากมาจากคำว่า มีฐา (मीठा) ซึ่งแปลว่า ความหวาน (Sweetness) โดยนักวิชาการด้านภาษาสันนิษฐานว่า มีฐาน่าจะมีที่มาจากภาษาสันสกฤตคำว่า มธุระ หรือมธุละ ซึ่งแปลว่า ‘ความหวาน’ ซึ่งในภาษาไทยเราก็หยิบยืมคำคำนี้มาใช้ คือ ‘มธุรส’ ที่กล่าวถึงน้ำอ้อย รสหวาน น้ำผึ้ง หรือคำว่า ‘มธุรสวาจา’ ที่แปลว่า วาจาอันไพเราะ
ว่าด้วยความเป็นมาของความหวานในอนุทวีป
จากการศึกษาทางโบราณคดี นักวิชาการสามารถสืบย้อนวัฒนธรรมความหวานของอินเดียกลับไปได้ถึงราว 8,000 ปีมาแล้ว โดยนักโบราณคดีขุดพบซากละอองเกสรของต้นอ้อยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ทั้งยังพบหลักฐานการปลูกอ้อยในเขตอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ-ปากีสถาน ซึ่งกำหนดอายุได้ราว 4,500-4,700 ปี หรือในสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Valley Civilization)
ด้านวรรณกรรม ความเก่าแก่ก็ไม่น้อยหน้า ในฤคเวท (อายุราว 3,000-3,500 ปี) ระบุถึงขนมหวานชนิดหนึ่งที่ทำจากส่วนผสมของข้าวมาเรย์และน้ำอ้อย ทอดในน้ำมันเนย (ฆีร์) หรือต้มในน้ำเดือด จิ้มกินกับน้ำผึ้งเรียกว่า อปูปะ (Apupa) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นขนมมัลเปา (Malpau) ในเบงกอล เนปาล และบังคลาเทศ ต่อมาในเอกสารรุ่นหลังอย่าง มานโสลลาสะ (Manasollasa) ซึ่งเชื่อกันว่าแต่งขึ้นโดยพระเจ้าโสเมศวระ ที่ 3 แห่งอาณาจักรจาลุกยะตะวันตก เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 ได้รวบรวมสูตรการทำอาหารและขนมจำนวนมากเอาไว้ โดยเมนูที่ชึ้นชื่อที่สุดเมนูหนึ่ง คือปายะสัม (Payasam) ฆีร์ (Kheer) ตามภาษาถิ่นอินเดียเหนือ หรือโปงกัล (Pongal) ตามภาษาถิ่นอินเดียใต้ ซึ่งมีลักษณะเป็นพุดดิ้งข้าวต้มกับนมและน้ำตาลอ้อย
จะว่าไปคนไทยเราเกือบทุกคนน่าจะเคยได้ยินชื่อขนมปายะสัมมาแล้วตั้งแต่สมัยเป็นเด็กน้อย เพราะคือคำคำเดียวกับ ‘ปายาส’ หรือ ‘ข้าวมธุปายาส’ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรับจากนางสุชาดาในรุ่งเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ ก่อนจะตรัสรู้พระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าสมณโคดมในเวลาค่ำของวันเดียวกันนั้น และความจริงแล้ว ข้าวมธุปายาสกับขนมปายะสัมก็คือเมนูเดียวกัน
เค. ที. อจายะ (K.T. Achaya) กล่าวว่า ขนมอินเดียมีความซับซ้อนมากขึ้นหลังการเข้ามาของชาวมุสลิมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมการกินระหว่างคนท้องถิ่น คือ นม เนย แป้ง และน้ำตาล กับวัตถุดิบจากผู้มาใหม่อย่างแพร่หลาย เช่น น้ำเชื่อมกุหลาบ ถั่วพิสตาชีโอ ลูกเกด ผลไม้แห้ง จนก่อเกิดเป็นขนมที่มีลักษณะเฉพาะของอินเดีย โดยเฉพาะภาคเหนือ เช่น กุหลาบจามุน (Gulab Jamun) ขนมหวานลือชื่อที่มีลักษณะเป็นแป้งปั้นทรงกลมหรือรีดทอดในน้ำมันเนย ก่อนแช่ในน้ำเชื่อมบาร์ฟี (Barfi) ขนมทรงเหลี่ยมสีสันสวยงาม (คนไทยมักเข้าใจว่า พระแม่ลักษมีทรงโปรดขนมชนิดนี้) ทำจากนมแข็งผสมแป้งและถั่วกดเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ผสมรสชาติผลไม้และถั่วคาเจร์ลา (Gajrela) พุดดิ้งทำจากแครอตขูดฝอยผสมน้ำตาล นม คาราเมล และน้ำมันเนยหรือขนมชื่อดังอีกชนิดอย่าง ราส มาไล (Ras Malai) หรือก้อนนมแช่ในน้ำนมผสมเครื่องเทศ โดยคำว่า ‘ราส’ เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า น้ำสกัดเข้มข้น หรือ Juice ส่วน มาไล แปลว่า นม
ความหวานแห่งการเริ่มต้น
เชฟวาสุนทาราเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ขนมหวานมีไว้สำหรับการเฉลิมฉลอง คุณมอบให้ใครสักคนเพื่อเฉลิมฉลองข่าวดี และเรากินชิ้นเดียว คุณไม่ได้นั่งอยู่ที่นั่น หรือกินทั้งกล่อง”
สิ่งที่เชฟวาสุนทารากล่าวสะท้อนถึงระบบความเชื่อโบราณในทางสัญลักษณ์ของอินเดีย คือขนมหวานหรือความหวานมีความสัมพันธ์กับความโชคดีและความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากแต่ก่อน ของหวานทำยากมาก กว่าจะหีบน้ำตาล ต้มน้ำตาลได้ เพราะฉะนั้น น้ำตาลจึงเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและมีราคาสูง คนที่จะกินได้จึงมีแต่คนร่ำรวยเป็นส่วนใหญ่ และด้วยความที่มีราคาสูง การจะกินน้ำตาลจึงเกิดขึ้นเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น เทศกาลทางศาสนา งานแต่งงาน วันเกิด หรือการต้อนรับกลับจากการเดินทางไกล ด้วยเหตุนี้ ความหวานจึงเข้าสัมพันธ์กับภาพลักษณ์นั้นและกลายเป็นตัวแทนในที่สุด ตัวอย่างสำคัญหนึ่งคือพระคเณศ ที่ต้องถือถ้วยขนมและตัวอ้วน นั่นเป็นเพราะท่านแสดงภาวะของความอุดมสมบูรณ์ และถ้วยขนมก็แสดงภาวะของความโชคดีปราศจากอุปสรรคใดๆ เสมอหนึ่งได้กินของหวาน
ย้อนกลับมาที่ตัวอย่างใกล้ตัวที่ได้พูดถึงไปแล้วอย่างข้าวมธุปายาส เมนูข้าวหุงด้วยน้ำนมใส่น้ำผึ้งที่นางสุชาดาเอามาถวายพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ ถ้าลองคิดกันเล่นๆ ตามกรอบความคิดของวัฒนธรรมอินเดีย การรับข้าวมธุปายาส หรือข้าวต้มหวานจากนางสุชาดา เป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนจากเส้นทางเก่า (ทุกรกิริยา) ไปสู่เส้นทางใหม่แห่งการรู้แจ้งในอริยสัจ เป็นการสื่อสารในทางสัญลักษณ์ว่า หลังจากนี้ พระโพธิสัตว์สิทธัตถะจะเริ่มการเดินทางบนถนนเส้นใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยความรู้แจ้ง (พระโพธิญาณ) และเส้นทางใหม่นี้จะนำมาซึ่งความสุขสวัสดิ์แก่ผู้คนทั้งหลาย ดั่งความหอมหวานที่ได้รับจากการกินข้าวต้มมธุปายาสที่หุงด้วยน้ำผึ้งและนมโค
หากคิดต่อไปอีก ผู้ที่นำข้าวต้มนั้นมาถวายให้คือนางสุชาดา หรือถอดย่อยลงไปคือ ‘สตรีเพศ’ เป็นผู้ถวายข้าวนั้นแด่พระโพธิสัตว์ ในจุดนี้อาจตีความได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงรับการอวยพรอันหอมหวานนี้จากนางศักติ เหตุที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากคำว่า ‘ศักติ’ หมายถึง พลังหรืออำนาจ หากไร้ซึ่งพลัง-อำนาจ การที่พระโพธิสัตว์จะฝ่าฟันไปสู่การตรัสรู้ยากยิ่งนัก สิ่งนี้เห็นได้ชัดในตอนมารวิชัยที่พระโพธิสัตว์ทรงเอาปลายพระหัตถ์สัมผัสแผ่นดินอันเชิญพระแม่ธรณีขึ้นมาชำระล้างเหล่ามารร้ายที่มาผจญท่านจนแพ้พ่าย พระแม่ธรณีก็เป็นตัวแทนของพุทธอำนาจ เป็นพุทธศักติเช่นเดียวกัน
ฉะนั้น ในกรณีใกล้เคียงกันนี้ นางสุชาดาก็เป็นศักติที่มาถวายคำอวยพรแห่งการเริ่มต้น มาให้โชคแห่งความสำเร็จแด่พระโพธิสัตว์ เป็นศักติในลักษณะของผู้สนับสนุน (ฝ่ายบุ๋น) ต่างจากพระแม่ธรณีที่แสดงตัวในลักษณะศักติผู้มีอำนาจทำลายล้าง (ฝ่ายบู๊)
นอกจากข้าวมธุปายาสแล้ว ในอินเดียภาคใต้ยังปรากฏประเพณีหนึ่งซึ่งชาวทมิฬเรียกกันว่า เทศกาล ไท โปงกัล (Thai Pongal) จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อเป็นหมุดหมายของการเริ่มเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกใหม่ โดยในเทศกาลนี้ ชาวทมิฬจะจัดเตรียมหม้อดิน หม้อโลหะ เพื่อต้มข้าวโปงกัล หรือข้าวต้มหวานแบบทมิฬ โดยข้าวโปงกัลเป็นข้าวต้มกับนมและน้ำตาลอ้อย น้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลโตนด การต้มข้าวโปงกัลจึงเป็นหมุดหมายของการเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับข้าวมธุปายาสที่สะท้อนถึงห้วงแห่งการเปลี่ยนแปลงจากความทุกข์ไปสู่การตื่นรู้
ดังเห็นได้ว่า ความหวานมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นสิ่งดีๆ เสมอ ปัจจุบันนี้ เวลาคนอินเดียจะออกเดินทางไปในที่ไกลๆ พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่มักป้อนขนมให้กับคนผู้นั้น หรือป้อนให้เพื่อต้อนรับบุคคลนั้นกลับมายังบ้าน การป้อนขนมจึงเป็นสัญลักษณ์ของการอวยพรให้โชคดี ที่คนอินเดียมักจะทำกันในช่วงเทศกาล เพื่อขอให้ครอบครัว เพื่อน หรือลูกศิษย์ เจอแต่เรื่องดีๆ เหมือนกับรสหวานของขนม
ความจริงแล้ว ประเพณีเช่นนี้ยังชวนให้นึกถึงการกล่าวทักทายของคนที่พูดภาษาตระกูลไทกะได คือ ‘ขอให้อยู่ดีกินหวาน’ ซึ่งมีความหมายถึงการขอให้โชคดี ขอให้มีความสำราญเหมือนเวลากินของหวานๆ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ รสชาติหวานจึงเป็นรสชาติแห่งวัฒนธรรม เป็นรสชาติอันทรงคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว หากขนมหวานไม่หวาน คุณค่าดังกล่าวก็คงเสื่อมคุณค่าไปด้วย
อย่างไรแล้ว ก่อนจากกัน ก็ขอให้บริโภครสชาติแห่งความโชคดีนี้อย่างมีสติ ไม่อย่างนั้นอาจจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลกันหลายเลยทีเดียว
ที่มาข้อมูล
เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2559) ประติมากรรมฮินดู-พุทธในศิลปะอินเดียกับคัมภีร์ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤต. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์
พระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), สมเด็จ. (2563). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ: ผลิธัมม์.
Achaya, K.T. (1998). Indian Food: A Historical Companion. London: Oxford University Press.
Cush, Denise; Robinson, Catherine A. & York, Michael (2008). Encyclopedia of Hinduism. Cornwall: Psychology Press.
Tan, Annette. (2023). What’s the story behind mithai, those colourful sweets that’s a hallmark of Indian celebrations in CNA Lifestyle https://cnalifestyle.channelnewsasia.com/dining/mithai-indian-sweets-singapore-376501
Sen, Colleen Taylor. (2004). Food Culture in India (Food Culture around the World). Connecticut: Greenwood press
Tags: Feature, อินเดีย, ขนมอินเดีย, ดีวาลี