เรือสู่เกาะเทชิมา (Teshima) แตกต่างจากเรือสู่เกาะนาโอชิมา (Naoshima) อย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะถูกจัดอยู่ในหมู่เกาะศิลปะไม่ต่างกัน แต่ขนาดลำเรือที่หดย่อเหลือแค่ไม่กี่ที่นั่งและบรรยากาศค่อนข้างเงียบเชียบบอกเล่าได้อย่างดีว่าเกาะแห่งนี้อาจไม่ได้โด่งดังเท่าเกาะหลักอย่างนาโอชิมา อาจเป็นเพราะศิลปินที่จัดแสดงงานไม่ได้มีชื่อเสียงในวงกว้างเทียบเท่ากับยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) หรือเจมส์ เทอร์เรล (James Turrell) เกาะสองแห่งนี้จึงไม่ได้อยู่ในเรดาร์ของผู้ชื่นชอบชมงานศิลปะ
เรือเข้าเทียบท่า นักท่องเที่ยวไม่ถึงสิบคนทยอยลงจากเรือ เราคว้าจักรยานจากร้านให้เช่าแถวท่าเรือ ปั่นข้ามเกาะมาสู่ทางลาดลงทะเลของทางเข้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะเทชิมา (Teshima Art Museum) ก่อนเวลาเปิดเล็กน้อย นักท่องเที่ยวหลากชาติเอาจักรยานมาจอดและยื่นหน้าให้ไอแดดและลมทะเลกอด ด้านหลังของเราเป็นแปลงนาขั้นบันได ส่วนพิพิธภัณฑ์ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังเนินดินเล็กๆ โดดเด่นด้วยโครงสร้างสีขาวสะอาดและช่องว่างรูปวงรีสองด้านที่เปิดให้อากาศ แสงแดด และแมลงผ่านเข้าออกได้อย่างสะดวก ชวนให้สงสัยว่าศิลปะที่จัดแสดงอยู่ด้านในคืออะไร
หลังจากซื้อตั๋ว ถอดรองเท้า แล้วเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่ผมพบคือด้านในอาคารที่ผนังโค้งมน เรียบ และขาวสะอาด ขนาดจุได้ประมาณร้อยคน ผมเดินทะเล่อทะล่ามองหา ‘ศิลปะ’ ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่วิ่งมาบอกให้ระวัง แล้วชี้ไปยังอะไรสักอย่างบนพื้น
ผมชะงักเท้าแบบงงๆ ก่อนจะสังเกตว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเหยียบคือหยดน้ำ!
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเทชิมาคือการทำงานประสานระหว่าง ริว นิชิซาว่า (Ryue Nishizawa) สถาปนิก และ เรย์ นาอิโตะ (Rei Naito) ศิลปิน เกิดเป็นงานศิลปะแสนประหลาด อาคารขาวสะอาดที่ชวนให้เรามานั่งดูหยดน้ำผุดจากจุดต่างๆ บนพื้นก่อนจะกลิ้งไปรวมตัวกับหยดน้ำอื่นๆ เกิดเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่อาจคาดเดาแต่เป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของหยดน้ำในอาคารยังยั่วล้อกับธรรมชาติภายนอก ทั้งแสงแดดที่ปรับเปลี่ยนตลอดวัน รวมทั้งกระแสลม และเสียงตามฤดูกาล
ทุกอย่างผสานเป็นงานศิลปะที่ชวนให้คิด ตีความ และทบทวน ผมเดินอย่างระมัดระวังไปรอบอาคาร เฝ้ามองหยดน้ำผุด บ้างหยุดนิ่ง บ้างเคลื่อนไหวไปรวมกับมวลน้ำอีกกลุ่มก้อน บ้างสะท้อนแสงแดดเป็นประกาย เป็นเวลาเกือบสองชั่วโมงที่เพลินตา เพลินหู และเพลินใจ ท่ามกลางนักท่องเที่ยวจำนวนครึ่งร้อยที่พากันเข้ามานั่งชมงานศิลปะอย่างเงียบเชียบ แม้จะยังไม่อยากกลับ แต่เราก็ต้องเดินทางสู่จุดหมายตามที่ตั้งใจไว้
เราเหลือเวลาไม่มาก แต่มากพอที่จะแวะดูบ้านโยคู ซึ่งออกแบบโดยศิลปินผู้ชื่นชอบการใช้สีสันฉูดฉาด วัสดุชวนสงสัย และผลงานสไตล์คอลลาจ ทาดาโนริ โยคู (Tadanori Yokoo) ด้านนอกมองเผินๆ เราจะเห็นเป็นบ้านธรรมดาที่มีปล่องไฟสีน้ำตาลเข้มขนาดใหญ่ แต่เมื่อปั่นจักรยานเข้าไปใกล้ ด้านหน้าของบ้านกั้นด้วยฉากคริลิกสีแดงสด ย้อมสวนและตัวบ้านด้านในให้กลายเป็นสีแดงเข้ม หลังจากผ่านฉากกั้น เราก็อดยิ้มกับความขี้เล่นของศิลปินไม่ได้ เพราะน้ำตกด้านในและบ่อปลาคาร์ปได้ถูกละเลงให้เป็นสีสันสดใส ภายในตัวบ้านยังมีภาพวาดโดยโยคูที่หยอกล้อกับโครงสร้างบ้านได้อย่างดี แม้แต่ห้องน้ำก็ตกแต่งด้วยแผ่นสแตนเลสยู่ยี่ที่ชวนให้เราปวดหัวเล่น นับว่าเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่หากมาเทชิมาทั้งทีก็ไม่ควรพลาด
เราแวะคืนจักรยาน คว้าอาหารรองท้อง และรีบก้าวขึ้นเรือลำจิ๋วเป็นกลุ่มสุดท้าย
เรือแล่นออกจากท่า เรามองท้องทะเลเวิ้งว้างเกือบ 20 นาทีก่อนที่เกาะเล็กกระจิ๋วหลิวจะปรากฏขึ้นตรงหน้า อินุจิมาเป็นเกาะขนาดน่ารัก เดิน 2 ชั่วโมงก็ครบรอบ เกาะโดดเด่นด้วยปล่องอิฐโบราณและเศษซากกำแพงซึ่งถูกเรียกว่า ‘มรดกจากการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่ยุคสมัยใหม่ (heritage of industrial modernization)’
ตั้งแต่เมื่อราว 400 ปีก่อน เกาะอินุจิมาเป็นแหล่งผลิตหินแกรนิตขนาดใหญ่เพื่อใช้ก่อสร้างปราสาท ต่อมาก็เป็นที่ตั้งโรงงานถลุงทองแดงจนกระทั่งราคาทองแดงตกฮวบ โรงงานจึงถูกทิ้งร้างกว่า 80 ปี แต่ไม่ได้ถูกทำลายทิ้ง โครงสร้างดังกล่าวได้รับการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะโรงถลุงแร่อินุจิมา (Inujima Seirensho Art Museum) เมื่อปี พ.ศ. 2551 และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมจนถึงปัจจุบัน
เราเดินฝ่าเปลวแดดจากท่าเรือมุ่งหน้ามายังปล่องอิฐที่ตั้งโดดเด่นอีกฟากหนึ่งของเกาะ ไม่กี่นาที เราก็เข้ามาอยู่ในวงกตของกำแพงอิฐ และมาเจอทางเข้าโรงถลุงแร่ที่ปลายทาง
แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ที่ห่างไกล แต่แค่ก้าวแรกที่เหยียบเข้าไปก็ทำให้เราประหลาดใจไม่น้อย เพราะทางเดินในโรงงานแปลงเป็นระเบียงกระจกยาวเหยียดที่ศิลปินประยุกต์ใช้เงาสะท้อนอย่างชาญฉลาด แม้ว่าเราจะเดินไปตามระเบียงไกลแค่ไหน ก็ยังเห็นเงาสะท้อนด้านหน้าคือท้องฟ้าโปร่ง ส่วนด้านหลังคือพระอาทิตย์สีส้มสด
ด้านในยังมีผลงานอีกหลายชิ้นซึ่งศิลปินยูคิโนริ ยานากิ (Yukinori Yanagi) ถ่ายทอดชีวิตและนวนิยายของมิชิมา ยูกิโอะ (Mishima Yukio) นักเขียนผู้ที่เคยได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล แต่สุดท้ายเลือกฆ่าตัวตายหลังจากประสบความล้มเหลวจากการรัฐประหารเพื่อคืนอำนาจให้กับจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2531 แม้ผมจะไม่เคยอ่านผลงานของมิชิมามาก่อน แต่ศิลปะจัดวางของยานากิก็สะท้อนได้ถึงความรู้สึกอึดอัด เศร้าหมอง และคับข้องใจที่เปี่ยมล้น
ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ผลงานศิลปะ เพราะโรงงานถลุงเหล็กที่ปรับปรุงโดยสถาปนิก ฮิโรชิ ซัมบูอิชิ (Hiroshi Sambuichi) ก็ได้ประยุกต์หลักความยั่งยืนไว้อย่างแนบเนียน นอกจากจะใช้วัสดุแทบทั้งหมดจากเศษซากของโรงงานแล้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะโรงถลุงแร่แห่งอินุจิมายังอยู่ได้ด้วยตัวเอง กล่าวคือ โครงสร้างอาคารสามารถปรับอุณหภูมิที่เหมาะสม และถ่ายเทอากาศได้สะดวกโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าสักวัตต์
นอกจากนี้ อาคารยังติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำเสียที่สุดท้ายจะนำไปใช้รดสวนส้มและมะกอกที่อยู่ด้านบน
เวลาราวสองชั่วโมงที่เหลือ เราใช้ไปกับการเดินท่องเที่ยวตามจุดต่างๆ ในแผนที่โครงการบ้านศิลปะอินุจิมา (Inujima Art House Project) ซึ่งให้บรรยากาศค่อนข้างต่างจากบ้านศิลปะที่นาโอชิมา ส่วนหนึ่งเพราะผลงานส่วนใหญ่ของอินุจิมาได้ควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะในชุมชน กลมกลืนเข้ากับบ้านเรือนในเขตชนบทที่เงียบสงบ เราสามารถใช้เวลายามบ่าย ทอดน่องเดินชิลล์ๆ และลุ้นว่าแยกข้างหน้าเราจะเจอผลงานศิลปะตั้งอยู่หรือไม่
ผลงานที่น่าสนใจ เช่น contact lens (2013) และ reflectwo (2013) โดยฮารูกะ โคจิน (Haruka Kojin) ศิลปะจัดวางสองชิ้นใหญ่ที่ทำให้ภูมิทัศน์ใจกลางชุมชนดูแปลกตา Ether (2015) โดย ชินะสึ ชิโมดาอิระ (Chinatsu Shimodaira) บ้านผ้าทอสีเหลืองสดใส ที่เชื้อเชิญในคนในชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลงานศิลปะ และ Self-loop (2015) โดย โอลาเฟอร์ เอลิอัสสัน (Olafur Eliasson) ศิลปินชาวไอซ์แลนด์ผู้เชี่ยวชาญด้านแสงและภาพลวงตา ผลงานที่จัดแสดงบนเกาะอินุจิมาของโอลาเฟอร์นั้นค่อนข้างเรียบง่าย มีเพียงกระจกสามบานตั้งอยู่โดยจัดเรียงคล้ายกับไม่ตั้งใจ และช่องมองภาพสีดำอยู่ตรงกลาง เชื้อเชิญให้เราเข้าไป ‘ปรับมุมมอง’ ที่บ้างมองเห็นด้านหลังของตัวเราเองกำลังจ้องมองเข้าไปในกระจก หรือสะท้อนให้เห็นตัวเรากำลังเฝ้ามองสวนญี่ปุ่นด้านนอก
เราใช้เวลาเดินเล่นไปตามแผนที่อีกสักพัก แวะถ่ายรูปกับน้องหมายักษ์ที่นั่งหมอบอยู่ริมชายหาด ก่อนจะกลับมานั่งแช่ในน้ำแข็งไสร้านเดียวบนเกาะ และรอเวลาเรือรอบสุดท้ายตอนประมาณบ่ายสามโมง
ทริปเกาะศิลปะจบลงเมื่อเรือออกจากท่าเพื่อพาเรากลับสู่ชายฝั่ง เป็นอีกหนึ่งวันที่ผมได้ทบทวนตัวเอง ทั้งความคิดที่ตกตะกอนจากผลงานศิลปะที่แวะชมตลอดวัน รวมถึงอคติต่อผลงานของศิลปินที่ไม่รู้จัก ในตอนเช้าผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับเกาะเทชิมาและอินุจิมาซึ่งถือว่าเป็นพระรองเมื่อเปรียบเทียบกับเกาะหลักอย่างนาโอชิมา แต่เมื่อได้สัมผัสผลงานที่อยู่ตรงหน้า ก็พบว่าความสร้างสรรค์ของศิลปะบนสองเกาะนี้ไม่ได้ด้อยกว่านาโอชิมาเลย
แต่หากใครมองข้ามสองเกาะนี้ไป ผมบอกตามตรงว่าน่าเสียดาย เพราะคุณได้พลาดเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ในทะเลปิดเซโตะ (Seto inland sea) แห่งนี้
ขอบคุณเพื่อนร่วมทาง ธิษณา กูลโฆษะ
Fact Box
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเทชิมา อินุจิมา และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ได้ที่
Smoothly Sculpted Teshima Art Museum Flows Like a Bead of Water
Teshima Yokoo House
Reclaimed Factory Makes Fascinating Statement on Sustainability
Inujima “Art House Project”
Self-loop at Inujima Art House Project