ผู้ป่วยที่ทรมานจากโรคปวดศีรษะไมเกรนกำลังมีความหวังใหม่จากยาที่เพิ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะช่วยลดความถี่ของการกำเริบในแต่ละเดือนลง (แต่ยาชนิดนี้ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา อย. แห่งสหรัฐอเมริกาได้รับรอง Aimovig (ชื่อการค้าของยา Erenumab) สำหรับใช้ป้องกันโรคปวดศีรษะไมเกรน ไม่ว่าจะเป็นชนิดปวดชั่วคราว (episodic migraine) หรือชนิดปวดเรื้อรัง (chronic migraine) ในผู้ใหญ่ โดยชนิดปวดชั่วคราวจะมีอาการปวดศีรษะตั้งแต่ 0-14 วันต่อเดือน ในขณะที่ชนิดปวดเรื้อรังมีอาการปวดศีรษะตั้งแต่ 15 วันขึ้นไป
Aimovig เป็นยาชนิดแรกที่ได้รับการรับรองของอย. สหรัฐฯ สำหรับป้องกันโรคปวดศีรษะไมเกรนในกลุ่มยาใหม่ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ CGRP หรือโปรตีนที่สัมพันธ์กับยีนแคลซิโทนิน (calcitonin gene-related peptide) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการเกิดปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ
ผู้ป่วยสามารถฉีดยาเองที่ต้นขา หน้าท้อง หรือบริเวณด้านนอกของแขนส่วนบนเพียงเดือนละครั้ง แต่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ และน่าจะวางจำหน่ายให้กับผู้ป่วยในสัปดาห์นี้ ราคาอยู่ที่ 575 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน หรือ 6,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 1.8 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ 2.2 แสนบาทต่อปี )
นอกจากนี้ยังมียาอีกสามตัวในกลุ่มยาเดียวกันนี้ที่ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง โดยมียาหนึ่งตัวที่อาจจะได้รับการรับรองภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และที่เหลืออาจได้รับการรับรองในปีหน้า
“เมื่อ CGRP หลั่งออกมานอกสมอง มันทำให้เกิดการอักเสบและการขยายตัวของของหลอดเลือด หลอดเลือดที่โตขึ้นร่วมกับมีการอักเสบส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ” ดร. สจวร์ต เท็ปเปอร์ (Stewart Tepper) ผู้อำนวยการศูนย์โรคปวดศีรษะดาร์ตมัธในนิวแฮมเชียร์ และนักวิจัยในโครงการของ Aimovig กล่าว
ทั้งนี้โรคปวดศีรษะไมเกรนพบในผู้หญิงมากเป็นสามเท่าในผู้ชาย และส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
ประสิทธิผลของยา Aimovig ได้รับการประเมินในสามงานวิจัยหลัก ได้แก่
– งานวิจัยแรก ทดลองในผู้ป่วยจำนวน 955 คนที่มีประวัติปวดศีรษะไมเกรนชนิดชั่วคราว ตลอดการรักษา 6 เดือน ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยารู้สึกปวดศีรษะน้อยกว่า 1-2 วันต่อเดือน เมื่อเทียบกับยาหลอก
– งานวิจัยที่ 2 ทดลองในผู้ป่วยจำนวน 577 คนที่มีประวัติปวดศีรษะไมเกรนชนิดชั่วคราว ตลอดการรักษา 3 เดือน ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยารู้สึกปวดศีรษะน้อยกว่า 1 วันต่อเดือน
– งานวิจัยที่ 3 ทดลองในผู้ป่วยจำนวน 667 คนที่มีประวัติปวดศีรษะไมเกรนชนิดเรื้อรัง ตลอดการรักษา 3 เดือน ผู้ที่ได้รบการรักษาด้วยยารู้สึกว่าปวดศีรษะเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 วันต่อเดือนเมื่อเทียบกับยาหลอก
“แม้ยาจะไม่ช่วยลดอาการทั้งหมด แต่สามารถช่วยลดความถี่ ความรุนแรง และระยะเวลาที่เกิดอาการกำเริบได้อย่างน่าทึ่ง” ดร. เท็ปเปอร์กล่าว “ผู้ป่วยต้องรับประทานยาบางชนิดขณะที่เกิดอาการกำเริบ แต่นี่เป็นยาชนิดแรกที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันมากกว่าจะรักษาอาการกำเริบเป็นครั้งๆ ไป”
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดในการศึกษาวิจัย คืออาการปวดเวลาฉีดยาและอาการท้องผูก
ก่อนที่จะมี Aimovig ยาป้องกันโรคปวดศีรษะไมเกรนชนิดชั่วคราวที่ได้รับการรับรองจาก อย. สหรัฐฯ มีเพียงสี่ชนิด โดยสองชนิดเป็นยาต้านเบต้า (beta blockers) ซึ่งเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และอีกสองชนิดเป็นยากันชัก ส่วนยาที่ใช้รักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนชนิดเรื้อรังคือยาโบท็อกซ์ (Botox) ซึ่งทุกตัวจำเป็นต้องรับประทานยาทุกวัน ยกเว้นโบท็อกซ์ที่ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและคอ 31 ตำแหน่งทุกๆ 12 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสองชนิดที่ได้รับการรับรองจาก อย. สหรัฐฯ คือ Cefaly และ gammaCore ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนหันไปใช้การฝังเข็มในการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนแทน
ที่มา:
Tags: การแพทย์, ยา, FDA, ไมเกรน