เมื่อวานนี้ (27 กันยายน 2023) รัฐสภาเกาหลีเหนือมีมติเอกฉันท์แก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยกำหนดบทบัญญัติใหม่ให้ ‘โครงการนิวเคลียร์’ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ สมัชชาประชาชนสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ (Supreme People’s Assembly) ลงมติเป็นเอกฉันท์ถึงวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งบัญญัติให้เกาหลีเหนือเป็นรัฐที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อธำรงสิทธิการคงอยู่ของรัฐ (Rights of Existence) และยับยั้งการเกิดขึ้นของสงคราม
คิม จองอึน (Kim Jong Un) ผู้นำเกาหลีเหนือ กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมว่า นโยบายพัฒนานิวเคลียร์จะอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างถาวร ใครก็ไม่มีสิทธิดูหมิ่นหรือเหยียดหยามบทบัญญัติดังกล่าว โดยรัฐจะเร่งส่งเสริมการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัย เพื่อป้องปรามภัยคุกคามสำคัญ คือสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ และกระจายการใช้นิวเคลียร์ในหนทางที่หลากหลาย
“นี่เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ทำให้กลไกทางการเมืองของเราเข้มแข็ง เพื่อที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการป้องกันประเทศ” ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าว
รายงานจาก Korean Central News Agency (KCNA) สื่อข่าวของเกาหลีเหนือระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ใช้เวลาพิจารณา 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 26-27 กันยายน 2023
นับเป็นการเว้นระยะห่าง 1 ปี หลังเกาหลีเหนือประกาศสิทธิในการป้องกันตนเองผ่าน ‘กลไกการจู่โจมล่วงหน้า’ (Preemptive Strike) หรือการป้องกันตัวของรัฐต่อขีปนาวุธหรือภัยร้ายแรงของรัฐอื่น ด้วยการ ‘ชิงลงมือทำลายอีกฝ่าย’ ล่วงหน้า (แต่ในเชิงหลักการ ต้องพิสูจน์ให้ได้จริงว่ารัฐอีกฝ่ายลงมือจริงๆ)
ขณะเดียวกัน คิม จองอึนยังเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐร่วมใจเป็นหนึ่งเพื่อต่อต้านพันธมิตรไตรภาคีแห่งเอเชียตะวันออก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่มีความร่วมมือในประเด็นความมั่นคง ข่าวกรอง และการซ้อมรบในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยผู้นำเกาหลีเหนืออ้างว่า นี่คือการสร้างนาโตแห่งเอเชีย (Asian NATO)
“นี่คือการคุกคามที่เลวร้ายที่สุด ไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้างเลื่อนลอย หรือจินตนาการแต่อย่างใด” คิม จองอึนกล่าว
อย่างไรก็ตาม บทบัญญัตินิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นการละเมิดมติคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) เมื่อมีการออกมาตรการควบคุมให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์
ทว่ายิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร เกาหลีเหนือก็เร่งผลิตและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่ลดละ โดย เจก ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เคยส่งสัญญาณเตือนอยู่บ่อยครั้งว่า เกาหลีเหนืออาจจะทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 ในเร็ววัน หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2017
นอกจากนี้ ยัง มูจิน (Yang Moo-jin) ศาสตราจารย์ด้านเกาหลีเหนือศึกษา อธิบายกับรอยเตอร์ (Reuters) ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่ก้าวหน้าขึ้น และอาจเชื่อมโยงกับกองทัพรัสเซีย เมื่อ คิม จองอึนเดินทางไปรัสเซีย เพื่อพบปะกับ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำแห่งเครมลิน เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลีและเอเชียตะวันออก
“สงครามเย็นยุคใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และความตึงเครียดทางทหารในคาบสมุทรเกาหลีจะทวีความรุนแรง” ยัง มูจิน ทิ้งท้ายผ่านรอยเตอร์
อ้างอิง