รู้ว่าไม่มีแจ้งเตือนจากใคร แต่ก็ยังกดเข้าไปดูทุกแอปฯ
กลัวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ต้องตามให้ทันทุกข่าว
ไม่กดออกจากกลุ่มไลน์ แม้ว่ากลุ่มนั้นจะเงียบกริบไปเป็นปีแล้ว
FOMO หรือ Fear Of Missing Out เป็นคำที่ใช้เรียกความรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะพลาดสิ่งสำคัญ (รวมถึงไม่สำคัญ) โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย จนต้องคอยเปิดมือถือเพื่อเช็กความเป็นไปของผู้คนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้คนที่กำลังประสบสภาวะแบบนี้มีอาการหงุดหงิดหรือเครียดจากการรับข้อมูลข่าวสารมากเกินไป ในโลกที่หมุนไวเกินไปได้
และถึงแม้ว่าจะมีคำแนะนำออกมามากมาย ทั้งการทำ Social Detox การเขียนไดอารี่แทนที่จะโพสต์ให้ทุกคนรับรู้ การจำกัดการเล่นมือถือของตน ฯลฯ แต่ทั้งหมดมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะหักดิบ แล้วหันมามีความสุขกับการอยู่กับตัวเองได้ง่ายๆ เช่นกัน
แต่รู้หรือไม่ ในอีกมุมหนึ่งนอกจากสิ่งที่เรียกว่า FOMO แล้ว ยังมีศัพท์ที่เรียกว่า JOMO หรือ Joy Of Missing Out ซึ่งเป็นคำที่ถือว่าเป็นขั้วตรงข้ามของ FOMO เลยทีเดียว
สำหรับ JOMO นั้นหมายถึง ความรู้สึกพึงพอใจในการไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย เพราะการเลือกที่จะไม่สนใจ ไม่รับรู้แล้ว จะรู้สึกมีความสุขมากกว่า ซึ่งอาจรวมถึงการไม่อัปเดตชีวิตตัวเอง หรืออัปเดตแต่ไม่ได้กลับไปดูว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น ไม่สนใจว่ามีใครเห็นโพสต์นี้ หรือมีใครทักมาถามไถ่บ้างหรือเปล่า
JOMO ดูเผินๆ แล้วไม่มีอะไรที่เหมือนกับ FOMO เลย ทั้งยังเป็นเหมือนเป้าหมายที่ FOMO อยากไปให้ถึง เพราะถ้าเลือกได้ ใครๆ ก็อยากที่จะมีความสุขได้แบบไม่พึ่งโซเชียลมีเดียกันทั้งนั้น เพราะมันเป็นการสะท้อนถึงความสงบด้วยการใส่ใจในชีวิตและความสุขของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องรับรู้เรื่องราวของคนอื่นให้วุ่นวาย
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่มีสภาวะเช่นนี้จะมีความสุขเสมอไป เพราะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Washington State ได้เผยอีกแง่ของ JOMO ว่า การที่หลายคนเลือกจะไม่สนใจโลกโซเชียล อาจไม่ใช่ความสุขจากการได้รับความสงบทางใจอย่างแท้จริง แต่อาจหมายถึงการกลัวมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสังคม จึงเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการเล่นโซเชียลมีเดีย และไม่แลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตกับคนอื่นต่างหาก
ดังนั้น JOMO จึงอาจไม่ใช่อาการที่สะท้อนถึงสุขภาพจิตที่ดีอย่างที่เข้าใจกันเสมอไป เพราะมันอาจเป็นผลลัพธ์จากความวิตกกังวลกับการเข้าสังคมของบางคนมากกว่า
นอกจากนี้ งานวิจัยยังเผยอีกด้วยว่า ในกลุ่มคนที่มีอาการแบบ JOMO มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีความสุขจาก JOMO จริงๆ โดยที่ไม่ได้มีความวิตกกังวลทางสังคม และแม้ทุกคนจะอยู่คนเดียวเป็น แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังมีความรู้สึกเหงาในระดับปานกลาง ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่มักจะมีพฤติกรรมแบบ FOMO นัก
สุดท้ายแล้ว ความต้องการที่จะอยู่คนเดียวและความต้องการที่จะปฏิสัมพันธ์กับสังคม จึงเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็เป็นได้ ทั้ง JOMO และ FOMO จึงควรเป็นเพียงสภาวะหนึ่ง ไม่ใช่การบ่งบอกว่าตัวตนของใครเป็นเช่นไรอย่างตายตัว การตระหนักว่าเวลาไหนที่เรารู้สึกอยากหยุดพัก และเวลาไหนที่เราอยากรับรู้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรตอบตัวเองให้ได้มากกว่าในแต่ละช่วงเวลา
Tags: JOMO, FOMO, social media, ความเหงา, Wisdom