วันนี้ (21 สิงหาคม 2566) ที่รัฐสภา นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคการเมือง 11 พรรค 314 เสียง โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ฯลฯ นายแพทย์ชลน่านระบุตอนหนึ่งว่า ได้รวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ จัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคท้องที่ไทย และพรรคพลังสังคมใหม่ โดยมีเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาล 2 ข้อ ได้แก่
1. ไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล
2. เสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
ขณะเดียวกัน ยังมีการแบ่งกระทรวง ได้แก่
1. พรรคเพื่อไทย
– นายกรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง
– รัฐมนตรีว่าการ 8 ตำแหน่ง
– รัฐมนตรีช่วยว่าการและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 9 ตำแหน่ง
2. พรรคภูมิใจไทย
– รัฐมนตรีว่าการ 4 ตำแหน่ง
– รัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 ตำแหน่ง
3. พรรคพลังประชารัฐ
– รัฐมนตรีว่าการ 2 ตำแหน่ง
– รัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 ตำแหน่ง
4. พรรครวมไทยสร้างชาติ
– รัฐมนตรีว่าการ 2 ตำแหน่ง
– รัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 ตำแหน่ง
5. พรรคชาติไทยพัฒนา
– รัฐมนตรีว่าการ 1 ตำแหน่ง
6. พรรคประชาชาติ
– รัฐมนตรีว่าการ 1 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ จะมีการนำนโยบายหลักของพรรคเพี่อไทยที่หาเสียงไว้ไปปรับใช้ ได้แก่ กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท, ที่ดินทำกิน, ขึ้นค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570, เงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาท, เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ, เพิ่มราคาพืชผลการเกษตร, แก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพยั่งยืนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ, แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และยังคงไว้ในหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังระบุตอนหนึ่งด้วยว่า การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อประชาชน ในสถานการณ์ที่ปัญหาทุกด้านส่งผลกระทบต่อเนื่อง รุนแรง โดยแม้พรรคเพื่อไทยจะเผชิญกับวาทกรรมและข้อกล่าวหาที่ดูแรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่พรรคเพื่อไทยรับรู้ความขัดแย้งดังกล่าวด้วยใจที่เป็นธรรม และตั้งใจที่จะมุ่งสู่เป้าหมายก้าวข้ามความขัดแย้ง ดังนั้น เป้าหมายหลักในวาระนี้ คือการร่วมรับผิดชอบในวาระประเทศและวาระของประชาชน
“พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย แม้จะมีอดีตพรรคการเมืองในรัฐบาลที่ผ่านมาร่วมรัฐบาล แต่ทุกพรรคจะร่วมกันทำงานกับพรรคเพื่อไทยอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ดังเช่นที่ทุกพรรคการเมืองได้เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความรัก สมัครสมานสามัคคี ปรองดอง ของคนในชาติ และจะร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป
“จากแถลงการณ์และเจตจำนงดังกล่าวข้างต้น พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จึงขอรับการสนับสนุนจาก ส.ว. ส.ส.ทุกท่าน และทุกพรรคการเมือง มาร่วมกันผลักดันวาระของประเทศ เพื่อดำรงความมุ่งหมายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และดูแลสถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ ร่วมกันลดเงื่อนไขที่จะขยายความขัดแย้ง ร่วมกันนำพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง การกินดีอยู่ดี ให้ความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ยึดวาระประเทศ และแก้ปัญหาของประชาชน”