เมื่อกล่าวถึง ‘เป้าหมายสูงสุด’ ในอาชีพการงาน หลายคนมักนึกถึงความสำเร็จที่จับต้องได้ และนำมาซึ่งความสุข
ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเสียงโด่งดัง มั่งคั่งเงินทอง มั่นคงในหน้าที่การงาน มุ่งหวังตำแหน่งสูงสุดขององค์กร หรือการก้าวไปสู่สถานะบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในวงการ ฯลฯ
ทว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดสำหรับ ‘จิราพร คูหากาญจน์’ หญิงแกร่งและเก่งคนหนึ่งในวงการสื่อมวลชน ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวและมีประสบการณ์โชกโชนในทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพข่าว ผู้ประกาศข่าว โปรดิวเซอร์ หรือผู้สื่อข่าววิดีโอ
จิราพรขึ้นชื่อในความ ‘ลุย’ ผิดจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูสวยหวานและบอบบาง
ซ้ำอาจยิ่งฟังดูประหลาด หากจะบอกว่า เป้าหมายสูงสุดในอาชีพสื่อมวลชนของเธอ คือการทำงานในแนวหน้าของ ‘สมรภูมิรบ’ สถานที่ที่เส้นแบ่งระหว่างความเป็นกับความตายนั้นพร่าเลือน และความรุนแรงสารพัดพร้อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
จิราพรตั้งเป้าหมายนี้นับแต่วันแรกของการทำงานในวงการสื่อ จนกระทั่งเมื่อ ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ หนึ่งในความขัดแย้งครั้งใหญ่ของโลกร่วมสมัยใหม่ปะทุขึ้น เธอจึงไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสในการทำงานครั้งนี้
การทำข่าวประจำการที่แนวหน้าของสมรภูมิรบในฐานะผู้สื่อข่าววิดีโอประจำรอยเตอร์ (Reuters) มอบประสบการณ์ให้เธอนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบาก ความทุกข์ การสูญเสีย หรือแม้แต่การสัมผัสถึงความรู้สึกในสถานการณ์ ‘เฉียดตาย’ ที่แปรเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล และทำให้เธอรู้ว่า “เราไม่อยากได้อะไรอีกเลย อยากได้ชีวิตเท่านั้น”
อาชีพสื่อมวลชนของคุณจิราพรเริ่มต้นอย่างไร และผ่านประสบการณ์ทำงานที่ไหนมาบ้าง
เรามีประสบการณ์ในวงการสื่อเป็นระยะเวลาประมาณ 8-9 ปี โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการเป็นช่างภาพข่าว (Photo Journalist) ที่บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) ในเวลาเดียวกัน ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวของทีเอ็นเอ็น (TNN) ด้วย หลังจากนั้น จึงตัดสินใจทำอาชีพผู้ประกาศข่าวเต็มตัว
แต่ต่อมาไม่นาน ก็มาทำงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าววิดีโอ (Video Journalist) ของบีบีซีไทย (BBC Thai) และตำแหน่งสุดท้ายจบด้วยการเป็นผู้สื่อข่าววิดีโอประจำรอยเตอร์ (Reuters)
จากหลายตำแหน่งหน้าที่ที่ผ่านมา คุณชอบบทบาทไหนเป็นพิเศษ
จริงๆ น่าจะชอบบทบาทล่าสุด คือโปรดิวเซอร์และผู้สื่อข่าววิดีโอที่รอยเตอร์ เป็นงานที่เราต้องดูแลงานทั้งหมด 4 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ไทย เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งขนาดงานใหญ่ขึ้น ก็มีโอกาสได้เดินทางเยอะขึ้น ทั้งในเอเชีย ยุโรป และหลายๆ ประเทศ
นอกจากนี้ เราได้มองเห็นขนาดของประเด็นที่กว้างมากขึ้น เรามองประเด็นของไทยจากมุมมองของต่างประเทศว่า เขามองไทยอย่างไร อยากจะได้ข่าวอะไรจากประเทศของเรา และเราก็มองประเทศเพื่อนบ้านของเราจากมุมผู้สื่อข่าว หรือสื่อต่างชาติมากขึ้นด้วย
การทำงานข่าวทั้งในไทยและต่างประเทศ มีประสบการณ์ไหนที่ ‘ติดอยู่ในใจ’ คุณมากที่สุด
ถ้าไม่รวมการทำงานในสนามรบ ก็มีสองงานด้วยกัน อันดับแรกคืองานที่เคยทำกับบีบีซีไทย เป็นงานหนึ่งที่ได้รับรางวัลจากแอมเนสตี้ประเทศไทย (Amnesty Thailand) งานนี้ชอบมาก เพราะเราได้เห็นอิมแพ็คของการเป็นนักข่าวว่า เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ
จุดเริ่มต้นคือ บีบีซีตั้งงบฯ มาหนึ่งก้อนและให้เราเสนองานเข้าไปได้ หัวข้อที่เราอยากทำเป็นประเด็นแรงงานไทยในอิสราเอล เพราะพวกเขาเดินทางไปทำงานเกษตรกรรมหลายคนมาก แต่ปรากฏว่าภายในหนึ่งปี แรงงานกลุ่มนี้เสียชีวิต 30-40 คน โดยที่ไม่มีใครรู้สาเหตุ คือหลายๆ คนไหลตายไปเลย ขณะที่ทางการอิสราเอลก็ไม่แจ้งว่าสาเหตุของการเสียชีวิตคืออะไร
การถ่ายทอดเรื่องราวของเราจึงคล้ายๆ กับการทำสารคดีสืบสวน (Investigative Documentary) เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของพวกเขา สุดท้ายก็ค้นพบว่า แรงงานไทยทำงานหนักมาก โดยใช้ระยะเวลาถึง 16-17 ชั่วโมงต่อวัน สภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาก็ย่ำแย่ ห้องน้ำกับห้องครัวอยู่ติดกันเลย ส้วมกับห้องนอนก็เหมือนกัน คือรวมในห้องเดียว และที่นอนก็ทำจากไม้อัดบางๆ สรุป ความเป็นอยู่ของแรงงานไทยไม่ใช่สภาพแวดล้อมสำหรับมนุษย์อาศัยอยู่
เมื่อมีการเปิดโปงออกมา เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่มาก ทางการอิสราเอลออกมาปฏิเสธ ซึ่งก็กลายเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมทั้งในไทยและอิสราเอล สุดท้าย ทางการไทยจึงติดต่ออิสราเอลไป และเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีข้อบังคับใหม่เกิดขึ้นว่า แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลต้องตรวจสุขภาพทุกๆ ปี จากเหตุการณ์นี้ เราเห็นอิมแพ็คเลยว่า การทำงานตรงนี้ดี สามารถสร้างประโยชน์ให้คนได้จริงๆ
สำหรับงานที่สอง เป็นปัญหาของชาวโรฮีนจา (Rohingya) เราเริ่มทำงานนี้ในปี 2018 เป็นปีแรกที่เพิ่งเข้ารอยเตอร์ เราเน้นทำข่าวในประเด็นการศึกษา ซึ่งหลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไร
ต้องขอเกริ่นก่อนว่า ปกติแล้วการได้รับการศึกษาเป็นสิทธิของกลุ่มผู้ลี้ภัย แต่วันหนึ่ง อยู่ดีๆ ทางการบังกลาเทศปฏิเสธว่า จะไม่ให้สิทธิเหล่านี้กับพวกเขาแล้ว โดยมองว่าเป็นการฉกฉวยทรัพยากรของรัฐ และตัดสินใจไล่เด็กกลุ่มนี้จำนวนถึง 50,000 คน
ต่อมา การประท้วงเกิดขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัย ตอนที่เราไปทำข่าวก็ค้นพบว่า มีเด็กคนหนึ่งอายุ 16-17 ปีสร้าง ‘โรงเรียนลับ’ ขึ้นมา เขาต้องการเป็นหมอ แม้ไม่ได้มีความรู้มาก รวมถึงทักษะภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ดี แต่เขาก็สอนวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เคมีให้กับเด็กๆ อายุ 7-8 ปีด้วยความรู้เท่าที่เขามี และมีเงื่อนไขคือต้องแอบซ่อน เขาใช้ตำราสอนที่มาจากเมียนมา ซึ่งบังกลาเทศไม่อนุญาตให้เรียน เพราะรัฐบาลตั้งเงื่อนไขว่าต้องใช้ตำราของประเทศเขาเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง รัฐไม่ยอมให้เด็กกลุ่มนี้มีสิทธิเล่าเรียนในโรงเรียนของบังกลาเทศด้วยซ้ำ สุดท้ายจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นโรงเรียนลับขึ้นมา
หลังเราทำข่าวเรื่องนี้ออกไป ก็มีอิมแพ็คมาก ต่อมาพอผ่านไปหลายเดือน เด็กโรฮีนจากลุ่มนี้ทั้งหมดสามารถกลับเข้าโรงเรียนของรัฐได้อีกครั้งหนึ่ง
การเป็นสื่อที่เป็น ‘ผู้หญิง’ คุณเคยเจออคติหรือคำพูดปรามาสตามมายาคติ เช่น ‘ผู้หญิงไม่อดทนเท่าผู้ชาย’ ‘ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย’ บ้างไหม
พูดได้ไหม (หัวเราะ) เราเจอเยอะมาก เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มทำงาน เพราะเราเป็นช่างภาพข่าวผู้หญิง 1 ใน 2 คนในวงการที่ทำงานอยู่ เรารู้เลยว่า ความสนใจจับจ้องที่เราเยอะ ด้วยความเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ขาวๆ หน้าหมวยๆ ทุกคนก็จะรู้สึกว่า เราเข้ามาทำไม? ทุกคนต้องมีคำถามว่า เธอมาทำอะไรที่นี่?
ซึ่งเราก็รู้ว่า เราอยากทำงานนี้ ชอบทำงานนี้ และเรามาเพื่ออะไร แต่คนอื่นมีคำถามคำพูดตลอดว่า ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเธอ เธอไม่เหมาะกับการถือของหนัก เธอแบกได้จริงหรือ และอันที่จริง หลายคนเข้ามาพูดด้วยว่า ไปทำงานอย่างอื่นเถอะ งานนี้ไม่พอกิน งานนี้ร้อนและเหนื่อย ไม่เหมาะกับผู้หญิง
ตอนที่ได้ยินคำพูดเหล่านั้นที่ว่า “คุณไม่เหมาะกับที่นี่ อาชีพนี้ไม่ใช่ที่ของคุณ” รู้สึกอย่างไร ท้อบ้างไหม
อันที่จริง ตอนนั้นเราก็เสียใจนะ รู้สึกว่า อาชีพนักข่าวไม่ใช่ที่ของเราขนาดนั้นเลยหรือ แต่ก็คิดได้ว่า สังคมยังไม่เปิดกว้าง เพราะหากย้อนกลับไปใน 10 ปีที่แล้ว คำว่าเฟมินิสต์ยังไม่เป็นที่รับรู้มากเท่าปัจจุบัน เราจึงคิดว่า คนนั้นก็พูดจากความรู้สึกของเขาเอง แต่เราก็เก็บไว้และคิดว่า โอเค วันหนึ่งเดี๋ยวเธอเห็นแน่ (หัวเราะ)
คุณเคยประสบกับการถูกคุกคามทางเพศในอาชีพสื่อด้วยไหม
เคยค่ะ เพราะเราอยู่ในกลางวงของผู้ชายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ การ์ดนายกฯ ที่ดันตัวเราตอนออกไปทำข่าว เขาก็ดันหน้าอกเรา เพราะไม่เห็นว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เนื่องจากกล้องบังหน้าอยู่ หรือบางครั้งเราอยู่ในวงที่เป็นผู้ชายทั้งหมด ก็จะมีคนมาจับก้นเรา จับหน้าอกเรา ซึ่งเราไม่ทราบว่าคนคนนั้นเป็นใคร
กรณีล่าสุดคือหนักสุด มีนักการเมืองโทรมาคุยกับเรา เขาพยายามทำตัวเป็นแหล่งข่าว เหมือนกับว่าเขาจะให้ข่าวเรา แต่เขาโทรมาตอนกลางคืน และพูดกับเราว่า อันที่จริงแล้ว รู้ไหมว่าที่พี่โทรมาหาน้อง ไม่ใช่เรื่องอะไรเลยนะ พี่น่ะชอบก้นน้องมาก น้องมีอะไรที่อยากได้หรือเปล่า อยากได้บ้านไหม อยากได้รถไหม หรืออยากได้อะไรหรือเปล่า
เราก็เลยตอบกลับว่า ไม่อยากได้อะไรเลยพี่ งานที่ทำทุกวันนี้ทำเล่นๆ เพราะที่บ้านมีเงิน (หัวเราะ) เขาก็เงียบๆ ไป เราจึงพูดว่า เราไม่สนใจเงิน คุณเก็บเงินของคุณไปเถอะ แล้วเราอัดเสียงเก็บไว้หมดนะ ตั้งแต่คำพูดแรก สุดท้าย อีกฝ่ายจึงบอกว่า ขอโทษแล้วกัน และเรื่องก็จบลง
การคุกคามทางเพศในอาชีพสื่อ จะว่าไปก็มีมาตลอด ไม่ว่าจะทำงานที่ไหน แต่เราต้องรู้ว่า ควรวางตัวอย่างไร เราต้องแต่งตัวให้ทะมัดทะแมงเหมือนผู้ชาย มัดผมให้เรียบร้อย เพราะบางครั้งที่เราปล่อยผม หรือมัดเป็นมวยยาวๆ หากมีเรื่องราวเกิดขึ้น คนอื่นจะโดนดึงกระเป๋า แต่สำหรับเราจะโดนดึงผม นี่คือข้อแตกต่าง
แรกๆ เราทำใจไม่ค่อยได้ แต่พักหลัง เราเห็นว่า นี่คือส่วนหนึ่งของงาน เราก็ก้าวผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ แรกๆ เรายอม เราเสียใจ เราเก็บมาร้องไห้คนเดียว แต่พอเวลาผ่านไป เรามีเกราะป้องกันตัวมากขึ้น เรารู้สึกว่าเราไม่ยอม เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เราก็เริ่มโวยวายว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ห้ามทำแบบนี้ พอเราทำตัวให้แข็งแกร่งมากขึ้น ก็ไม่มีใครกล้ามายุ่งกับเรา
ทุกวันนี้เรื่องราวเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ในวงการสื่อ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
เราคิดว่า การคุกคามทางเพศในวงการสื่อควรยุติได้แล้ว ทุกวันนี้สังคมมีความเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย สุดท้าย สื่อก็คืองานหนึ่ง ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำก็ตาม และสิ่งที่ควรจะให้ความสนใจมากที่สุด คือผู้ชม เนื้อข่าว คุณค่าของข่าว ไม่ใช่เพศสภาพคนทำข่าว
ดังนั้น เราไม่ควรแบ่งแยกว่า คนที่ทำงานนี้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย และการคุกคามทางเพศก็ไม่ควรเกิดขึ้นเช่นกัน
แต่สำหรับคนที่เคยพบเจอการคุกคามทางเพศ หรือแม้แต่คนที่กำลังจะก่อความผิดดังกล่าว เราคิดว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก สังคมก้าวหน้าไปไกลเกินแล้ว และหากใครพบเจอเรื่องแบบนี้ ให้พูดออกมา อย่าเก็บไว้
แต่ละคนมักจะมีเป้าหมายสูงสุดในด้านการงาน สำหรับคุณ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตการทำงานสื่อคืออะไร
เรามีเป้าหมาย และทำสำเร็จแล้ว (ยิ้ม) ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานสื่อในบางกอกโพสต์ เราบอกกับตัวเองว่า ต้องไปให้ถึงสมรภูมิรบ (War Zone) เราก็หาทางของเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เจอหนทางแล้ว ก็คือการได้อยู่ในสนามรบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
แนวหน้า (Front Line) ของสงครามหรือเหตุการณ์ความขัดแย้งในโลกมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หรือสงครามกลางเมืองในซีเรีย ทำไมคุณถึงเลือกไปทำงานในเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน
ต้องบอกว่า สนามรบรัสเซีย-ยูเครน เป็นสถานที่เดียวที่รอยเตอร์อนุญาตให้ไป เพราะทั่วโลกให้ความสนใจความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา รอยเตอร์มีการอบรมเพื่อส่งนักข่าวไป และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เราจึงเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับโอกาสนั้น
ทำไมคุณถึงอยากไปทำงานที่สมรภูมิรบ
ส่วนตัวเราชอบทำข่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องความขัดแย้ง เพราะประเด็นนี้มีวิธีการทำงานที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการรายงาน การควบคุมจิตใจ โดยเฉพาะการทำงานลักษณะนี้มีเงื่อนไขสูงกว่าการทำงานโดยปกติทั่วไป เราจึงรู้สึกว่าสิ่งนี้คือความท้าทาย
อีกเหตุผลหนึ่งคือ เราผ่านการทำงานในการประท้วงมาหลายครั้งแล้ว เราจึงคิดว่าเราพร้อมแล้ว ถ้าอย่างนั้น ลองขยับไปทำงานในสนามรบสักครั้งหนึ่งดีกว่า
วินาทีแรกที่เหยียบลงบนสมรภูมิในสงครามรัสเซีย-ยูเครน คุณรู้สึกอย่างไร
ไม่เหมือนที่คิดไว้เลย (หัวเราะ) เราผ่านการประท้วงมา ซึ่งจะมีเสียงปืน มีแก๊สน้ำตา มีกระสุนยาง แต่เราไม่คิดว่าในสนามรบจะมีโดรน มีมิสไซล์ ซึ่งอันตรายมาก ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะปรากฏตอนไหน สรุป สนามรบเต็มไปด้วยอันตราย เราไม่รู้หรอกว่าจะตายตอนไหน
คุณวางแผนการเดินทางไปยูเครนอย่างไร
เราเริ่มต้นด้วยการส่งอีเมลไปยังหัวหน้าที่รอยเตอร์ เพื่ออาสาทำข่าวในยูเครนพร้อมกับการสำรวจสถานการณ์ตั้งแต่สงครามเกิด เพราะเราตั้งใจแล้วว่าอยากไปทำงานที่นี่สุดท้ายหัวหน้าจึงตอบตกลงว่าจะส่งชื่อไปให้
จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ปี 2022 รอยเตอร์ส่งเราไปฝึกในประเทศโปแลนด์ทางตะวันออก ซึ่งมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับยูเครนมากที่สุด ขณะเดียวกัน ผู้ฝึกคนอื่นๆ ก็เป็นอาสาสมัครเช่นเดียวกับผู้เข้าร่วม รวมถึงมีนักข่าวยูเครนที่ประจำการในประเทศเป็นทุนเดิม
การอบรมครั้งนี้เป็นการฝึกเพื่อทำข่าวในสมรภูมิรบจริงๆ ไม่เหมือนการฝึกเพื่อทำข่าวทั่วไป เพราะรายละเอียดมีความยากและจริงจังมากขึ้น เราเริ่มฝึกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน เขาถามว่า เราพร้อมปฏิบัติงานที่ยูเครนหรือเปล่า แต่เราทำวีซ่าไม่ทัน ก็เป็นอันต้องปฏิเสธไป
ต่อมา ในเดือนมกราคม 2023 เขาก็ถามอีกรอบว่า คุณพร้อมหรือไม่ ตอนนั้นเรากลับรู้สึกว่า หนาวจัง (หัวเราะ) เพราะอากาศยูเครนมีอุณหภูมิติดลบถึง 20-30 องศา เลยขอเวลาเตรียมตัวสักครู่ สุดท้าย เมื่อถึงเดือนมีนาคม เราตัดสินใจตกลงเดินทางไปยูเครน เพราะคิดว่าไม่ได้แล้ว อย่างไรเราก็ต้องไป
การฝึกอบรมเพื่อทำงานในสนามรบมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
การอบรมใช้ระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักว่าอาวุธมีอะไรบ้าง เสียงที่ได้ยินอยู่ในระยะไหน หากถูกจับเป็นตัวประกันให้ทำอย่างไร รวมถึงวิธีการขึ้น-ลงรถ การใช้ชีวิต การกิน การอยู่ หรือแม้แต่การกางเต็นท์ รายละเอียดทุกอย่างต้องทราบหมดเลย ซึ่งเรามองว่าการฝึกฝนมีความจำเป็นมาก เพราะสิ่งเหล่านี้ได้ลงมือปฏิบัติจริงในหน้างาน
คุณประจำการอยู่จุดไหนในยูเครนและใช้เวลากี่เดือนในสนามรบ
เราใช้เวลาหนึ่งเดือนครึ่งในการประจำการบริเวณจุดแนวหน้าของสนามรบที่ภูมิภาคโดเนตสก์ (Donetsk) ซึ่งจะมีเมืองบัคมุต (Bakhmut) แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน เนื่องจากทั้งเมืองถูกยึดไปและไม่เหลืออะไรแล้ว และรวมถึงเมืองอื่นๆ ได้แก่ ครามาทอร์สก์ (Kramatorsk) ชาซิวยาร์ (Chasiv Yar) ซิเวอร์สก์ (Siversk) ลิมาน (Liman) บิโอฮอริวกา (Bilohorivka) และอาวดีวกา (Avdiivka) ซึ่งก็คือจุดสู้รบฝั่งตะวันออกเพื่อยึดครองดินแดนระหว่างรัสเซียและยูเครน
การใช้ชีวิตประจำวันท่ามกลางสมรภูมิรบ มีตารางเวลาชัดเจนไหม
ชีวิตประจำวันของเราในสมรภูมิรบเริ่มต้นก่อนหนึ่งวันจากคนทั่วไป ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันก่อน เราต้องคุยกันกับทีม ซึ่งประกอบด้วย 5 คน ได้แก่ ผู้รักษาความปลอดภัย 2 คน เราในฐานะช่างภาพโทรทัศน์และโปรดิวเซอร์ ช่างภาพภาพนิ่ง 1 คน รวมถึงคนในพื้นที่ (Fixture) 1 คนที่เป็นทุกอย่างให้เรา นี่คือที่สุดแล้ว
เราจะเริ่มวางแผนล่วงหน้าตั้งแต่ตอนเย็นของวันก่อนไปทำงานว่า พรุ่งนี้เราจะเดินทางไปไหน ติดต่อทหารหน่วยไหนไว้แล้วบ้าง ใครอนุญาตให้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ และเราจะไปถ่ายอะไร เพราะส่วนใหญ่ รูปภาพที่ถ่ายจะเกี่ยวข้องกับการสู้รบกัน จึงต้องตรวจสอบก่อนว่า พื้นที่เป้าหมายได้รับการอนุญาตให้เข้าไปหรือไม่
หลังจากนั้น เราต้องรายงานให้ที่ประจำการรอยเตอร์ในกรุงคีฟ (Kyiv) ตัดสินใจเพื่ออนุมัติการเดินทาง ระหว่างที่หารือกับหน่วยรักษาความปลอดภัยในทีม เพราะต้องคิดคำนวณล่วงหน้าว่า พื้นที่ตรงนั้นปลอดภัยหรือไม่ ใช้ระยะเวลาในการเดินทางเท่าไร ต้องจอดรถที่ไหน หรือต้องเดินเท้าเข้าไป
สำหรับการอยู่อาศัยในสมรภูมิรบก็ค่อนข้างยากลำบากพอสมควร เราอยู่โรงแรมในเมืองซึ่งเป็นสถานที่เดียวสำหรับการพักอาศัยของนักข่าว และเป็นที่เดียวที่มีน้ำร้อน แต่พอเราไปถึง น้ำร้อนกลับใช้ไม่ได้ (หัวเราะ) ขณะที่อุณหภูมิลบ 5 องศา หิมะตก เราจึงไม่มีทางเลือก ก็ต้องเช็ดตัวแทน ส่วนอาหารไม่ค่อยดีเท่าไร มีขนมปังแท่งยาวๆ กินคู่กับกาแฟดำ
ย้อนกลับมาที่การเตรียมงาน หากทุกอย่างเรียบร้อยดีตั้งแต่เย็นของวันก่อน การทำงานของเราจะเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันถัดไป ในเวลาประมาณ 6 โมงถึง 7 โมงเช้า ทีมจะเดินทางด้วยรถ 2 คัน คันแรกจะเป็นรถเกราะกันกระสุนสำหรับเราและทีม ส่วนอีกคันคือ รถทั่วไปที่ผู้รักษาความปลอดภัยอีกคนขับตาม ซึ่งเป็นรถสำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น หากรถคันที่เรานั่งเกิดระเบิดขึ้นมา รถคันที่สองจะนำพวกเราออกจากพื้นที่
ส่วนใหญ่เราจะใช้เวลาขับรถประมาณ 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ไป และในระหว่างนั้น พวกเราก็เริ่มทำงาน ถ่ายการสู้รบ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ตาม แต่ไม่มีการพักกินอาหารเที่ยง ทีมและเราจะทำงานไปยาวๆ จนถึงเวลาประมาณบ่าย 3 ถึง 4 โมงเย็น ก็จะเดินทางกลับที่พักเพื่อเขียนข่าว ตัดต่อ และเดินหน้าวางแผนของงานวันต่อไป เราใช้ชีวิตประมาณนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง
งานนี้เป็นการทำงานที่รู้สึกท้าทายทั้งในเรื่องของร่างกายและจิตใจ เพราะบางวันก็มีความรู้สึกว่า เรากำลังจะตายแล้ว และบางทีก็รู้สึกเหนื่อย เริ่มนั่งตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราทำมันคุ้มไหม
แต่เราก็หยุดไม่ได้ เพราะอีกวันก็ต้องเริ่มทำงานใหม่แล้ว
ช่วยเล่าถึงประสบการณ์เฉียดตายที่ผ่านมาได้ไหม
อันที่จริง เรามีประสบการณ์เฉียดตายเยอะมากนะ แต่ขอเลือกประสบการณ์ที่ใกล้เคียงจุดจบของชีวิตที่สุด
ทุกอย่างเริ่มต้นในวันหนึ่ง เราต้องเดินทางไปในพื้นที่สู้รบระหว่างทหารรัสเซียและยูเครน แต่ด้วยสภาพของพื้นที่ที่เต็มไปด้วยดินเหนียว ประกอบกับรถหุ้มเกราะมีน้ำหนักถึง 5 ตัน เราจึงเอารถหุ้มเกราะเข้าไปไม่ได้ เพราะรถอาจจมลงไป
ทีมข่าวจึงต้องนั่งรถถังของทหารเข้าไปแทน ถึงแม้ตอนแรกไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็เข้าไปในพื้นที่เพื่อถ่ายทำการสู้รบตามปกติ ซึ่งอยู่ห่างจากทหารรัสเซียประมาณ 200-300 เมตร โดยมีแม่น้ำสายเดิมที่แห้งไปแล้วกั้นห่างระหว่างกัน แต่กลับกลายเป็นว่าเราตกเป็นเป้าหมายในการสู้รบ
ตอนนั้น เราถ่ายทหารสองฝั่งยิงสู้รบกันไปมา ขณะที่ก็ต้องหลบในหลุมเพลาะในสนามรบ บรรยากาศตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อทหารยูเครนโจมตีหนัก ฝ่ายรัสเซียก็ตอบโต้หนักเช่นเดียวกัน สถานการณ์เกิดขึ้นเช่นนี้เป็นเวลา 5 ชั่วโมง เราออกไปไหนไม่ได้เลย
ตอนนั้นเครียดนะ เราไม่รู้ว่าการต่อสู้จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ข้างบนก็มีโดรน มีระเบิด มีสิ่งต่างๆ มากมายที่เราไม่รู้ แต่เรายังต้องมองโลกในแง่ดีว่า เดี๋ยวต้องออกไปได้ เดี๋ยวทุกอย่างจะผ่านไป ขณะที่ก็วางแผนในหัวว่า พรุ่งนี้จะทำอะไรต่อจากนี้ เราพยายามมองไปข้างหน้า ไม่อยากให้หยุดทุกอย่างที่ตรงนี้ ทั้งหมดก็เพื่อจะได้รู้ว่า สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น
จนสุดท้าย เราออกมาจากหลุมเพลาะได้ เมื่อถึงจังหวะที่ขึ้นรถถัง ปิดประตู เราได้ยินเสียงกระทบบางอย่างจากฝั่งที่เรานั่ง ช่วงเวลานั้น เราจึงคิดว่ารถถูกยิงแน่นอน แต่มองอะไรไม่เห็นผ่านช่องสี่เหลี่ยมในรถ เพราะดินปกคลุมหมด ขณะที่ทหารยูเครนคุมรถก็ตะโกนว่า ถูกยิง! ถูกยิง! ถูกยิง! เสียงข้างในรถก็ดังมาก เป็นเสียงปลอกกระสุนกระทบกับข้างในของรถ เพราะทหารยูเครนยิงกระสุนกลับ
เรื่องราวเกิดขึ้นเหมือนเดิม ทหารสองฝ่ายยิงตอบโต้กันไปมาสักครู่ จังหวะนั้นเรากดอัดวิดีโอแล้ว เพราะเชื่อว่ารถถังอาจระเบิด ตอนนั้นคิดว่า จบแล้ว นี่คือช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ถึงแม้รถอาจจะไหม้และระเบิด แต่หากคนของสำนักข่าวอาจกู้วิดีโอได้ เขาอาจจะเห็นวินาทีสุดท้ายของชีวิตเรา
เราแอบน้ำตาซึมนะ ปกติเป็นคนไม่กลัวตาย แต่วันนั้นที่รู้สึกกลัวตาย คือกลัวจริงๆ เป็นวินาทีที่คิดว่า ชีวิตจบสิ้นแล้ว ตอนนั้นเราหันหน้าไปดูช่างภาพนิ่ง เขานั่งดูหน้าจอโทรศัพท์ที่ตั้งเป็นรูปลูกสาว ขณะที่หน้าจอโทรศัพท์ของคนในพื้นที่เป็นรูปภรรยาของเขา ส่วนเราตั้งหน้าจอเป็นรูปแมว (หัวเราะ)
เรารับรู้ว่าทุกคนในทีมคิดถึงจุดจบของชีวิตเหมือนกัน เพราะสถานการณ์การสู้รบประชิดกับทหารรัสเซียมาก แต่สุดท้ายเรารอดมาได้ เพราะทหารยูเครนเก่งมาก วันนั้นเป็นวันหนึ่งที่สุดมากๆ ในชีวิต และทำให้เรารู้สึกพังไปเลย
ในเวลาที่เหมือนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ทำไมคุณถึงเลือกที่จะดูรูปแมวบนหน้าจอโทรศัพท์
แมวเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต เป็นแรงผลักดันสำหรับเรา เราเชื่อว่าเขาอยากให้เรากลับมา ต้องย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เรามายูเครน สิ่งหนึ่งที่เราเตรียมคือ เราทำตัวเหมือนจะไม่ได้กลับมาอีก เรากินข้าวกับครอบครัว เพื่อน คนที่เรารัก เราใช้ชีวิตเหมือนว่า วันนี้คือวันสุดท้าย ซึ่งทุกคนก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน
แต่แมวเป็นแรงผลักดันทำให้อยากกลับบ้าน เรามีแมวหนึ่งตัว เป็นอัลไซเมอร์ ตัวอ้วน หนัก 6-7 กิโลฯ ตอนนั้นก็คิดว่า ถ้ากลับมาได้ เราจะมีโอกาสดูแลแมวตัวนี้อีก
ตอนที่คุณอยู่ในรถถัง ชีวิตอยู่ระหว่างความเป็นความตาย คุณรู้สึกกลัวตายจับใจเลยไหม
อย่างที่บอกไปละว่า ปกติเราไม่กลัวตาย แต่วันนั้นกลัวจริงๆ รู้สึกว่าเหมือนชีวิตจะไม่ได้ใช้แล้ว แผนที่วางไว้ในชีวิตจะไม่ได้ทำ คนที่รักจะไม่ได้เจอ ประเทศที่อยากจะอยู่จะไม่ได้อยู่ อาหารที่เราอยากกินจะไม่ได้กิน เป็นความรู้สึกเหมือนดีดนิ้วแล้วหายไปเลย และเราไม่อยากให้ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น
ตอนนั้นแวบนึกเสียใจขึ้นมาไหมว่า ไม่น่ามาทำงานนี้เลย
มีค่ะ เสียใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะตอนที่เรากำลังจะตาย และก็เกิดคำถามขึ้นว่า คุ้มหรือวะ
ในระหว่างที่ได้ทำงานที่คุณถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของอาชีพ เคยรู้สึกคิดถึงบ้าน หรือนึกอยากกลับบ้านสักครั้งไหม
อยากกลับบ้านประมาณ 2-3 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เฉียดตาย ทุกครั้งที่ต้องอยู่ในช่วงการสู้รบหนักๆ หรืออยู่ในสภาวะอันตรายมากๆ อย่างสถานการณ์ที่เล่าไป ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เราอยากกลับบ้าน
แต่นอกเหนือจากนี้ เรารู้ตัวเสมอว่า เรามาทำอะไรที่นี่ เราเป็นสื่อ เรามาทำหน้าที่รายงานข่าว และเราก็รู้ว่า นี่คือช่วงเวลาเดือนครึ่งที่เราอยากทำงานนี้มากที่สุดในชีวิต
สรุปว่าการไปทำข่าวที่สมรภูมิรบรัสเซีย-ยูเครนเป็นการทำงานที่คุ้มค่ากับการเสี่ยงชีวิตไหม
สำหรับเรา คุ้มนะ เราได้ทำตามเป้าหมาย คือทุกอย่างจบ นี่คือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเรา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของสงครามมักมีการนิยามให้เป็นเรื่องของผู้ชาย เป็นพื้นที่ของผู้ชาย ในฐานะคุณเป็นสื่อเพศหญิง เคยพบเจอความไม่เท่าเทียมทางเพศในการทำข่าวที่ยูเครนบ้างไหม
ไม่มีเลยค่ะ การทำงานร่วมกับทหารยูเครนทำให้เรารู้สึกว่า เขาเป็นมืออาชีพมาก แม้ว่าบางคนเป็นอาสาสมัครเพื่อสู้รบ แต่ผ่านการอบรมเป็นอย่างดี และไม่เคยแสดงตัว หรือทำให้รู้สึกว่าเราเป็นตัวประหลาดเลย
เท่าที่เรามีโอกาสพูดคุย เขาเล่าว่า ผู้ชายยูเครนได้รับการสั่งสอนให้ช่วยเหลือและดูแลผู้หญิง เช่น เวลาเห็นเราถือของหนัก เขาก็อยากช่วย
มันเป็นเรื่องปกติของผู้สื่อข่าววิดีโอที่ต้องถือของมากมายตลอด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเกราะ กล้อง ขากล้อง ฯลฯ แต่ทหารยูเครนก็ต้องการช่วยเหลือเราเสมอ ขณะที่เราไม่อยากให้เขาช่วย เราชอบพกของอยู่กับตัวเองตลอด เพราะสะดวกสบายในการหยิบจับ
สำหรับผู้ชายยูเครน เขาเห็นแล้วรู้สึกทนไม่ไหว อยากจะช่วย จนทำให้เรารู้สึกว่า ไม่ได้ เราไม่อยากให้ใครช่วยเลย เราเลยบอกกับเขาว่า คุณรู้ไหม ความช่วยเหลือของคุณถือเป็นการดูถูกกันนะ เพราะในอีกมุมหนึ่ง นี่หมายความว่า เราไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะเราเป็นผู้หญิง
สุดท้ายเขาก็หยุด ซึ่งอันที่จริงแล้วเรารู้สึกว่า นี่คือบรรยากาศในการทำงานที่ดีมาก เขาเคารพเรา เราก็เคารพเขา
ในสมรภูมิรบ สัดส่วนของสื่อหรือคนทำงานที่เป็นผู้หญิงน่าจะน้อยมาก ที่นั่นคุณมีเพื่อนร่วมงานผู้หญิงบ้างไหม
ตอนแรกมีค่ะ เราเปลี่ยนช่างภาพนิ่ง 2 คน คนแรกเป็นผู้หญิงจากประเทศสเปน อยู่ด้วยกันประมาณหนึ่งอาทิตย์ หลังจากนั้นเป็นผู้ชายทั้งทีมหมดเลย แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกแปลกแยก เราไม่เคยมองว่า เพศทำให้เราแปลกแยกจากคนอื่น
การทำข่าวสงคราม แน่นอนว่า ไม่พ้นที่จะต้องเจอแต่เรื่องหนักๆ เรื่องของความเป็นความตาย แต่อยากรู้ว่ามันพอจะมี ‘แง่งาม’ หรือเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘ประทับใจ’ บ้างไหม
มีเยอะมาก เอาเหตุการณ์แรกก่อน เรามีโอกาสได้พูดคุยและร่วมงานกับทหารคนหนึ่ง เขาเป็นหมอที่อาสามารบในสงคราม เมื่อทำงานเสร็จ ก็กำลังจะแยกย้าย ขึ้นรถกลับ เขากลับนั่งคุกเข่าเหมือนคนขอแต่งงาน และนำป้ายหน่วยที่บอกยศและหน่วยที่ติดบนเสื้อเกราะ ยื่นสองมือให้เรา และบอกว่า เขาจะทำหน้าที่นี้ด้วยเกียรติของเขา ขณะที่เขาหวังว่า เราจะทำหน้าที่นักข่าวด้วยเกียรติอันสูงสุดของเราเหมือนกัน และหวังว่าจะได้พบกันอีกครั้งในวันที่ยูเครนได้ประชาธิปไตยและหลุดพ้นจากรัสเซีย
เรารู้สึกว่า มันขนาดนั้นเลยหรือ (หัวเราะ) แต่เขาไม่ได้มีท่าทีคุกคามเราเลยนะ เขาทำด้วยความจริงใจ
จริงๆ มีอีกหลายเหตุการณ์ เช่น เราออกไปพบคนสูงวัยในพื้นที่ที่มีระเบิด แต่ไม่มีการอพยพ เพราะเขาไม่ยอมย้ายออก ได้มีโอกาสพูดคุยกับพวกเขาและนำอาหารสัตว์ไปมอบให้ เขาก็ขอบคุณและรู้สึกดีใจมาก เมื่อได้รับของจากเรา
สงครามรัสเซีย-ยูเครนให้บทเรียนอะไรกับคุณบ้าง
อันที่จริง สงครามครั้งนี้ให้บทเรียนเราเยอะมาก ถ้ามองในมุมมองของนักข่าว เรามองว่า สงครามให้ประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ และทำให้เราไปถึงเป้าหมายสูงสุดของอาชีพนี้
เราใช้เวลาเดินทาง 7-8 ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ และก็ทำได้สำเร็จแล้ว เรารู้สึกว่านี่คือการปลดล็อกในชีวิตเรา จบทุกอย่าง ประสบการณ์นี้เอาอะไรมาแลกไม่ได้อีกแล้ว และสิ่งนี้จะต่อยอดการทำงานด้านอื่นๆ ของเราต่อไป
แต่หากมองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง สงครามคือความสูญเสีย ไม่มีอะไรดีเลย ทั้งคนที่เราไปเจอ ทหาร บ้านเมือง สุดท้าย นี่คือความสูญเสียที่ต้องใช้เวลาอีกเยอะมากในการสร้างขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราอยากให้สถานการณ์จบลงโดยเร็วที่สุด และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าประเทศไหนๆ ในโลก
ชีวิตหลังจากสมรภูมิรบครั้งนั้น ส่งผลกระทบ หรือทำให้ชีวิตของคุณมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างไหม
ผลกระทบจากสงครามคือเรื่องสภาพจิตใจ เพราะเราอยู่กับบรรยากาศสู้รบทั้งวันทั้งคืนเป็นเวลาเดือนครึ่ง ยังไม่รวมกับการอยู่กับระบบแจ้งเตือนทางโทรศัพท์ เมื่อมีมิสไซส์ลงในยูเครน โทรศัพท์ก็จะแจ้งเตือน ดังทุกชั่วโมง จนตอนกลางคืนเราแทบจะนอนไม่ได้
เราใช้ชีวิตเหมือนเป็นทหาร เราเข้านอนก็จริง แต่ไม่หลับ เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา ปลายเตียงเรามีกระเป๋า รองเท้า เสื้อเกราะ หมวกกันกระสุน เราพร้อมใส่และวิ่งหนีตลอดเวลา อยู่ในสภาวะที่ต้องระวังตัวตลอด เวลาเราเข้าพื้นที่ เราจะได้ยินเสียงของมิสไซล์ คนคร่ำครวญ แม้แต่สัมภาษณ์คน แปลเนื้อข่าว ถ่ายการสู้รบ เราก็เห็นแต่ความสูญเสียตลอด
เราจำได้ว่า วันแรกของการออกพื้นที่ โดยขยับเมืองที่อยู่ออกมาเพื่อจะเข้าคีฟ ซึ่งเท่ากับว่าเราออกจากพื้นที่สนามรบ เป็นพื้นที่มีความเจริญแล้ว แต่เรากลับรู้สึกกระวนกระวาย และคิดว่า นี่ไม่ใช่ที่ของเรา เราต้องอยู่บริเวณสนามรบ เราไม่ควรอยู่ตรงนี้ เราอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เราต้องถือกล้อง กล้องคืออาวุธของเรา เรานอนไม่ได้ กระวนกระวาย เครียด เราจึงรับรู้ว่า นี่คือความไม่ปกติ
แม้จะกลับมาที่คีฟ หรือขึ้นเครื่องบินเพื่อกลับมาประเทศไทย เราก็ยังรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลาระหว่างเข้านอน แม้ร่างกายจะหลับ แต่ภายในพร้อมสะดุ้งตื่นตลอดเวลา เพราะกลัวว่าอาจจะมีอะไรสักอย่าง นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้น
จนเครื่องบินลงแตะพื้นในไทย วันนั้นเรารู้สึกโล่งขึ้นระดับหนึ่ง คำแรกที่เข้ามาในหัวคือ ไม่มีใครฆ่าเราได้แล้ว วันนี้คือวันที่ชีวิตปลอดภัย แต่ก็ยังมีผลกระทบตามมาประมาณสองอาทิตย์ จนเราเริ่มคุยกับนักจิตบำบัดว่า ต้องการจัดการสภาวะนี้ จึงปลีกตัวไปพักผ่อน ไม่ดูงาน ไม่ตามข่าว สุดท้าย ผลกระทบทั้งหมดนี้ก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ
หลังกลับจากยูเครน ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก แต่ก่อนเราเป็นคนชอบช็อปปิ้ง ชอบใช้เงิน ซื้อของหนักมาก แต่พอเราไปอยู่ในจุดที่เราเห็นคน การสู้รบ การสูญเสีย เราอยู่ในช่วงเวลาใกล้ความตาย เรารู้สึกว่า ทุกอย่างไม่มีความหมายเลย นอกจากชีวิต ชีวิตคือสิ่งเดียวที่มีความหมาย และเป็นสิ่งเดียวที่ต้องรักษาไว้
พอกลับมาแล้ว ชีวิตเปลี่ยนแปลงจากเดิม คือเราไม่อยากได้อะไรอีกเลย อยากได้ชีวิตเท่านั้น
ตอนนี้คุณไม่ได้ทำอาชีพสื่อแล้ว แต่หากลองมองย้อนกลับไปในการทำงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในบทบาทนักข่าว ช่างภาพ โปรดิวเซอร์ รวมถึงการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ คุณมองเห็นปัญหาอะไรบ้างในวงการสื่อ
ปัญหาในวงการสื่อคือเรื่องสุขภาพจิต ในฐานะคนทำงานวงการนี้มาสักพัก เราว่า สื่อไทยยังไม่ค่อยตระหนักเรื่องนี้เท่าไร
เรามักพูดประจำว่า การเป็นสื่อเปรียบเหมือนฟองน้ำ เรารับ แต่เราไม่เคยเอาออกมาเลย เราไม่มีพื้นที่ที่จะคุยกับใคร เราจะปรับความคิด หรือจะเอาออกได้อย่างไร เพราะไม่มีนักจิตบำบัดให้เราทุกคนไปหา
ทุกวันคนทำสื่ออยู่กับทวิตเตอร์ อยู่กับข่าว อยู่กับข้อมูล เราอยู่กับภาวะการเมือง บ้านเมือง เราคุยกับคนจำนวนเยอะมาก รับโทรศัพท์ทั้งวันทั้งคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่เครียดมากเลย สุดท้าย สิ่งเหล่านี้อยู่กับตัวเรา ไม่ไปไหน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา
พอรับสภาพดังกล่าวไปเรื่อยๆ หลายปี ความเครียดจึงสะสม ไม่เหมือนกับกรณีต่างประเทศ เขาจัดการกับปัญหาสุขภาพจิต เขามีสหภาพและนักจิตบำบัดให้ แต่ประเทศไทยไม่มี มากที่สุดคือคุณทำงานอยู่ในองค์กรที่เป็นสื่อต่างประเทศ เขาก็มีนักจิตบำบัดให้ แต่สื่อไทยไม่มี เราต้องเสียเงินกันเอง ซึ่งไปครั้งหนึ่งก็เสียเงินเป็นพัน
เมื่อก่อนถ้าเราไปคุยเรื่องนี้กับสื่อรุ่นเก่าๆ เขาก็จะบอกว่า อ๋อ เรื่องสุขภาพจิต กินเหล้าสิ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ก็อาจจะเปิดใจมากขึ้นว่า การกินเหล้าไม่ใช่ทางออก เราต้องสู้กับปัญหา
เราจึงคิดว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการทำงานสื่อ ถ้าเรามีสุขภาพจิตที่ดี เราจะทำงานได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ
ตอนทำงานเป็นนักข่าวในเมืองไทย คุณก็คงเคยมีปัญหาด้านสุขภาพจิตจากการทำงานมาไม่น้อยเหมือนกันใช่ไหม
เยอะค่ะ (หัวเราะ) แต่ขอยกตัวอย่างที่รู้สึกว่าหนักมาก คือตอนกราดยิงที่โคราช ตอนนั้นเราเพิ่งกลับมาการทำข่าวเรื่องโรฮีนจาและการประท้วงที่ฮ่องกง ซึ่งหนักมากทั้งคู่ โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ เราไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) มีการยิงกันประมาณ 6-7 ชั่วโมง เราถูกยิงด้วยกระสุนยาง มีเลือดตามตัว ประกอบกับการสูญเสียคนในครอบครัว จิตใจเราจึงไม่พร้อมเลย แต่เราต้องไปทำข่าวกราดยิงที่โคราช พอกลับมา เรานอนไม่ได้ ใจเต้นทั้งวันทั้งคืน เราเห็นคราบเลือด เราต้องไปคุยกับคน
ตอนกราดยิงโคราช เหตุการณ์จบตอน 8 โมงเช้า เราไปเจอกับเด็กคนหนึ่งที่เดินร้องไห้ เขากำลังคุยโทรศัพท์พูดว่า หาไม่เจอ หาไม่เจอ เราเลยเข้าไปสะกิดและถามว่า เขากำลังหาใคร น้องตอบว่า เขาหาเพื่อน เพื่อนเขาติดอยู่ในห้องเย็นห้องสุดท้าย ซึ่งเป็นห้องที่คนร้ายอยู่
เราเลยถามต่อว่า เพื่อนน้องเป็นใคร น้องก็บอกว่า เพื่อนคนนั้นของเขาเป็นลูกของแม่บ้าน เขามารับแม่ตอนเย็น แต่ปรากฏว่าเขาติดอยู่ในห้องนั้น และน้องก็เปิดข้อความให้ดูว่า เพื่อนเขาถูกยิง
พอเราดูก็ปรากฏว่า มีข้อความสุดท้ายตอน 7 โมงเช้าจากเพื่อนเขาบอกว่า ไม่ไหวแล้ว ถูกยิง เลือดออกเยอะ แล้วน้องก็บอกว่า ผมเห็นรูป แต่รูปไม่ชัด ไม่รู้ว่าเพื่อนเขาคือผู้ชายที่นอนตายข้างคนร้ายรึเปล่า
เหตุการณ์นี้กระทบจิตใจเรามาก เราได้แต่คิดว่า ทำไมคนบริสุทธิ์คนหนึ่งต้องตายด้วยระบบที่ไม่เป็นธรรม ประกอบกับชีวิตส่วนตัวของเราตอนนั้น คือการทำงานหนักและการเสียครอบครัวไป ชีวิตตอนนั้นพังไปหมดเลย เราจึงเริ่มหานักจิตบำบัดมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่า สิ่งนี้มีผลดีกับชีวิต เพราะหลังจากนั้นเราต้องทำข่าวกราดยิงอีก รวมถึงการประท้วงในไทยและเมียนมา ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็กระทบจิตใจเราเหมือนกัน เพราะเราก็ถือสัญชาติเมียนมา อีกครึ่งหนึ่งเราคือคนเมียนมา
การเห็นคนตายเยอะจากการทำข่าวที่เมียนมา นั่นก็ทำให้เรารู้สึกว่า ครึ่งหนึ่งของเราก็ตายไปด้วยเหมือนกัน และเราก็เป็นคนไทยที่ต้องทำข่าวประท้วงในไทย ซึ่งก็กระทบจิตใจเราไม่ต่างกัน
แม้ว่าเราเป็นนักข่าว แต่สุดท้ายเราก็ยังเป็นมนุษย์ เราเป็นมนุษย์ก่อนเป็นนักข่าว เมื่อหลายอย่างเข้ามา มันย่อมกระทบจิตใจเรา แต่เราอยู่รอดมาได้ เพราะเรามีพื้นฐานของสภาพจิตใจที่พร้อม อย่างการกลับมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ เราสามารถเยียวยาจิตใจตัวเองได้ และพร้อมกลับมาเป็นคนปกติ ใช้ชีวิตปกติได้ในเวลาสั้นๆ
คุณคิดว่าทุกวันนี้สื่อยังมีพลังต่อสังคมอยู่ไหม
เราว่าสื่อยังมีพลังมาก เพราะเรามีพื้นที่ของตนเองในการรายงานออกไป ไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ตาม เราจะบอกว่าในแต่ละพื้นที่เกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไรที่ไหน อย่างไร และคนดูก็จะตัดสิน
ดังนั้น ผู้ชมไม่ทราบหรอกว่า ข้อมูลถูกหรือผิด หรือผ่านการคัดกรองมาแล้วขนาดไหน เราคิดว่า สื่อมีพลังมากที่จะเปลี่ยนแปลงโลกหรือสังคม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า นักข่าวควรมีมาตรฐานที่สูง และควรรายงานข่าวบนพื้นฐานความถูกต้องมากที่สุด
หากมีคนอยากทำงานในฐานะนักข่าวสงคราม คุณมีคำแนะนำอะไรบ้างไหม
อันที่จริง นี่เป็นประสบการณ์ที่ดีในการไปสมรภูมิรบ โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรในการทำงานด้านนี้ เรื่องนี้จึงสำคัญสำหรับองค์กรและวงการสื่อ เพราะมีคนจำนวนน้อยที่จะได้ไป ต้องผ่านการอบรม และอะไรหลายอย่าง
แต่เราคิดว่า ความเสี่ยงของอาชีพนี้สูง และอยากให้คิดดูดีๆ ว่า ความเสี่ยงนั้นคุ้มค่าหรือไม่ หากเราทำงานนี้ คนข้างหลัง ไม่ว่าครอบครัว คนที่รัก จะทำอย่างไรต่อ เขาจะอยู่ได้ไหม รวมถึงค่าประกันด้วย และถ้าเราหายไป เราโอเคหรือไม่ ที่จะไม่ได้ใช้เงินนั้น แต่คนข้างหลังได้ใช้
ในอนาคต คุณวางแผนจะกลับมาทำงานในวงการสื่อมวลชนอีกไหม
เราน่าจะไม่กลับมาทำงานนี้แล้ว ตอนนี้เรากำลังจะเดินทางไปเรียนด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California: USC) เป้าหมายของเราต่อจากนี้ คือการทำสารคดีที่เกี่ยวกับสิทธิและการเมือง
อีกอย่าง เราบรรลุเป้าหมายสูงสุดในอาชีพด้วยการเดินทางไปสนามรบแล้ว เราว่าพอได้แล้ว เรามีเป้าหมายในเส้นทางอื่น สุดท้าย ก็ต้องแยกย้ายไปบรรลุเป้าหมายต่อไปในชีวิต
คุณอยากฝากอะไรทิ้งท้ายในฐานะอดีตสื่อมวลชน
เราอยากให้ทุกคนสนุกกับอาชีพสื่อ อันที่จริง สื่อเป็นอาชีพที่สนุก เราได้เดินทางตลอดเวลา เราได้มีชีวิตที่ไม่แน่นอน (หัวเราะ) มีชีวิตที่ปั่นป่วนตลอดเวลา ซึ่งมันค่อนข้างสนุกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง อยากให้ดูแลรักษาปกป้องจิตใจของตัวเองด้วยเหมือนกัน อย่างที่เคยพูดก่อนหน้านี้ว่า คนทำงานสื่อต้องรับข้อมูลตลอดเวลา ต้องรับแรงปะทะจากประชาสังคม หัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ
แม้จะใส่หมวกในฐานะสื่อ แต่เราคือคน เราเป็นคนก่อนเป็นสื่อ ซึ่งหมายถึงว่าทุกคนมีจิตใจ มีความคิด ความรู้สึก ไม่ใช่หินหรือไม่มีความรู้สึกกับเรื่องอะไรเลย
ดังนั้น เราต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อทำหน้าที่ของการเป็นสื่อมวลชนได้ดีที่สุด
Fact Box
- จิราพร คูหากาญจน์ พื้นเพเดิมจากจังหวัดกาญจนบุรี เป็นทายาทนักธุรกิจส่งออกเชื้อสายเมียนมา จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ภาคอินเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เธอได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่นจากแอมเนสตี้ประเทศไทย (Amnesty Thailand) ในปี 2020 จากผลงานสารคดี ‘แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล’ ของบีบีซีไทย
- ปัจจุบัน จิราพรยุติอาชีพสื่อมวลชน เพื่อไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท ด้าน Cinematic Arts ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย