วันนี้ (3 สิงหาคม 2023) เป็นวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 มีกำหนดการต้องขึ้นศาลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เนื่องจากถูกฟ้องร้องในข้อหา ‘พยายามล้มการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020’ หลังมีการเปิดเผยเอกสารคำฟ้องจำนวน 45 หน้า ในวันอังคารที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยรายละเอียดส่วนใหญ่ประกอบด้วยเรื่องความเท็จในการเลือกตั้งของทรัมป์
“ผมมีสิทธิประท้วงการเลือกตั้งที่เชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่า มันถูกโกงและขโมยมา เช่นเดียวกับที่พรรคเดโมแครต (Democratic Party) ที่ทำกับผมในปี 2016 รวมถึงคนอื่นอีกมากมาย” ทรัมป์แสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียไม่กี่วันที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืนของเขา โดยบอกว่า นี่คือการล่าแม่มดทางการเมือง และการสอบสวนครั้งนี้ไม่ต่างจากกลุ่มนาซีเยอรมนี
แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ทรัมป์จะปรากฏตัวในศาลวันนี้หรือไม่ แต่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ตกเป็นจำเลยในคดีความครั้งที่สาม นับตั้งแต่ ‘การให้สินบนเพื่อปิดปาก’ สตอร์มี แดเนียลส์ (Stormy Daniels) ดาราหนังโป๊ชื่อดัง และ ‘การซ่อนเอกสารลับ’ โดยสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าพนักงานระดับสูง
อย่างไรก็ตาม คดีความครั้งนี้มีความน่าสนใจกว่าครั้งที่ผ่านมา แม้ว่านักกฎหมายส่วนใหญ่มองว่า เรื่องนี้อาจไม่สามารถขัดขวางการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 ของทรัมป์ได้ แต่ ซาราห์ สมิธ (Sarah Smith) บรรณาธิการบีบีซี (BBC) ประจำทวีปอเมริกาเหนือ แสดงความคิดเห็นว่า นี่เป็นคดีความร้ายแรงที่สุดเท่าที่ทรัมป์เคยพบเจอมา เพราะเขากระทำความผิดดังกล่าวในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมีบทลงโทษที่ร้ายแรงกว่า 2 คดีความก่อนหน้านี้ทั้งหมด
The Momentum จึงชวนทุกคนวิเคราะห์และเจาะลึกคดีความการพยายามล้มเลือกตั้งปี 2020 ของโดนัลด์ ทรัมป์ และผลกระทบที่อดีตผู้นำสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญ โดยเฉพาะชะตากรรมของเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024
พยายามเปลี่ยนแปลงผล ขัดขวางกระบวนการ และใช้วิธีการที่ไม่ชอบ: รายละเอียดของเอกสารฟ้องร้องการล้มการเลือกตั้งปี 2020
คดีอาญาข้อหาพยายามล้มเลือกตั้งในปี 2020 ของทรัมป์ประกอบด้วยความผิด 4 กระทง ได้แก่
1. สมรู้ร่วมคิดเพื่อฉ้อโกงรัฐ – โทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป
2. ขัดขวางการพิจารณาดำเนินการของเจ้าหน้าที่ – โทษจำคุก 20 ปี
3. สมคบคิดเพื่อขัดขวางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ – โทษจำคุก 20 ปี
4. สมรู้ร่วมคิดเพื่อไม่ให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ (เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญที่ถูกบัญญัติขึ้นหลังสงครามกลางเมือง โดยพัฒนาจากสิทธิกลุ่มคนผิวดำในสหรัฐฯ แต่ในประเด็นนี้คือสิทธิของประชาชนในการลงคะแนนเสียงและนับคะแนน) – โทษจำคุก 10 ปี
รายละเอียดการฟ้องร้องครั้งนี้เกิดขึ้นจากการรวบรวมพยานหลักฐานผ่านคำพูดของคนใกล้ตัวของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็น ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) อดีตรองประธานาธิบดี ที่ปรึกษา ทนายความประจำทำเนียบขาว ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวในการฟ้องร้องเป็นไปตามไทม์ไลน์ดังต่อไปนี้
- คนใกล้ตัวยืนยันกับทรัมป์ว่า ไม่มีการโกงเลือกตั้งในปี 2020 เกิดขึ้นแน่นอน ขณะที่อดีตประธานาธิบดีไม่เชื่อ และพยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อกดดันให้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์การเลือกตั้ง
- ทรัมป์กับผู้สมรู้ร่วมคิดเตรียมการวางแผนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยเริ่มจากการกดดันฝ่ายนิติบัญญัติกับเจ้าหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งให้เปลี่ยนแปลงชัยชนะการเลือกตั้งของไบเดน และส่งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่ายสนับสนุนตนเองที่ถูกปลอมแปลงไปยังสภาคองเกรส โดยใช้กระทรวงยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนความน่าเชื่อถือของรายชื่อดังกล่าว
- อดีตประธานาธิบดียังพยายามกดดันเพนซ์ให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งบางรายการเป็นโมฆะ
- แต่วิธีการดังกล่าวไม่สำเร็จ ทรัมป์จึงต้องใช้วิธีสุดท้าย คือการยุยงผู้สนับสนุน และปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงเพื่อขัดขวางการรับรองการลงคะแนนเสียงของสภาคองเกรส จนเกิดเหตุการณ์การบุกรัฐสภาของสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคม 2021
ผู้สมรู้ร่วมคิดของทรัมป์ในการก่ออาชญากรรมครั้งนี้มีใครบ้าง?
อันที่จริง ทรัมป์เป็นจำเลยคนเดียวที่ถูกตั้งข้อหาในคำฟ้อง ขณะที่รายชื่อของผู้สมรู้ร่วมคิดจำนวน 6 คน ยังไม่มีการเปิดเผย แต่ก็มีสื่อหลายสำนักในสหรัฐฯ เปิดโผการคาดเดารายชื่อออกมา ได้แก่
1. รูดี จิอูเลียนี (Rudy Giuliani) ทนายความส่วนตัวของทรัมป์ ที่เรียกร้องฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้รับรองผลการเลือกตั้ง
2. เจฟฟรีย์ คลาร์ก (Jeffrey Clark) อดีตข้ารัฐการกระทรวงยุติธรรม ที่พยายามไต่เต้าให้ตนเองได้เป็นอัยการสูงสุด เพื่อมีอำนาจสอบสวนการฉ้อโกงเลือกตั้งในจอร์เจียและรัฐอื่นๆ ที่มีคะแนนผันผวน
3. จอห์น อีสต์แมน (John Eastman) ผู้เสนอทฤษฎีทางกฎหมายแปลกประหลาดว่า เพนซ์ระงับการรับรองการเลือกตั้งได้
รวมถึงคนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วม เช่น ซิดนีย์ โพเวลล์ (Sidney Powell) ทนายความที่ยื่นฟ้องผู้ว่าการรัฐจอร์เจียในข้อหาโกงเลือกตั้ง จิม ทรูพิส (Jim Troupis) และเคนเนธ เชสโบร (Kenneth Chesebro) ทนายความที่ถูกมองว่า ช่วยวางแผนขัดขวางการรับรองผลการเลือกตั้ง
การตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของทรัมป์ในการเลือกตั้งปี 2024 หรือไม่?
คำตอบดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ หากอ้างอิงจากสถานการณ์ล่าสุด อนาคตทางการเมืองของทรัมป์ เพื่อลงรับสมัครเป็นแคนดิเดตท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะยังไม่สูญสิ้นไป เพราะในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ไม่มีข้อจำกัดการลงสมัครหรือท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แม้ว่าบุคคลใดก็ตามอยู่ภายใต้ข้อกล่าวหา หรือถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา รวมถึงต้องรับโทษจำคุกอยู่
รูปแบบที่ 2 กรณีทรัมป์ถูกตั้งข้อหาในฐานะ ‘กบฏ’ จริง เขาจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยอ้างอิงจากเอกสารการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ในหมวด 3 ว่าด้วยเนื้อหาการขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งที่ว่า
“หากผู้ใดที่สาบานต่อรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ แต่กลับมีส่วนร่วมในการจลาจลหรือก่อกบฏ พวกเขาจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน หรือทหาร ทั้งในระดับประเทศหรือมลรัฐใดๆ ก็ตาม”
อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่ 3 จะคลุมเครือมากที่สุด หากทรัมป์ชนะการฟ้องร้อง เพราะไม่มีข้อจำกัดและคำอธิบายในรัฐธรรมนูญว่า ควรดำเนินการอย่างไรกับผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในกรณีที่พวกเขาชนะการฟ้องร้อง
นี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป และอาจเป็นมาตรฐานใหม่ทั้งในทางการเมือง และกฎหมายของสหรัฐฯ โดยเฉพาะทางตันจากรัฐธรรมนูญของดินแดนแห่งเสรีภาพ สืบเนื่องจากกระบวนการแก้ไขที่ ‘ยากลำบาก’ กว่าปกติ แม้ว่าชาวอเมริกันหลายคนจะภาคภูมิใจต่อกฎหมายสูงสุดฉบับนี้ ในฐานะรัฐธรรมนูญที่ประมวลในเล่มเดียว (Codified Constitution) เก่าแก่ที่สุดในโลกก็ตาม
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/articles/cxr0l456w77o
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-66381761
https://edition.cnn.com/interactive/2023/08/politics/annotated-text-copy-trump-indictment-dg/
https://www.bbc.com/news/live/world-us-canada-66248859
Tags: ประธานาธิบดี, เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020, Donald Trump, โจ ไบเดน, สหรัฐอเมริกา, เลือกตั้งสหรัฐ, โดนัลด์ ทรัมป์, Joe Biden, ทำเนียบขาว, รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา, ผู้นำสหรัฐฯ, ล้มเลือกตั้ง, พรรคเดโมแครต, จลาจลสหรัฐ, ไมค์ เพนซ์, เลือกตั้งสหรัฐ 2020, พรรครีพับลิกัน, การเมืองสหรัฐอเมริกา, สหรัฐ, สภาคองเกรส