“ทำไมถึงไม่เอายาที่กินอยู่มาด้วย” ผมถามออกไปห้วนๆ ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ (พูดเหมือนนาน แค่สองปีที่แล้วเอง) การที่คนไข้ไม่ได้เอายาเดิม-ยาที่กินอยู่เดิมของคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นยาที่กินอยู่ประจำ หรือยาที่เพิ่งซื้อมากินแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น-ติดตัวมาโรงพยาบาลด้วย ทำให้ผมหัวร้อนอยู่บ้างเหมือนกัน
“พอดี รีบมา”
“ไม่รู้ว่าต้องเอามาด้วย”
“กินหมดไปแล้ว”
“อยู่ที่รถ เดี๋ยวไปเอามาให้”
ฯลฯ
ครับ… ไม่ใช่ความผิดของคนไข้เลยแม้แต่น้อย ส่วนจะเป็นความผิดของผม-หมอประจำที่โรงพยาบาล-หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะไม่มีทางเจอคนไข้เลยจนกว่าจะมาเจอกันที่โรงพยาบาล (แต่ผิดแน่ๆ ที่หัวร้อนไปแบบนั้น)
แล้วใครกันแน่ที่มีหน้าที่เตือนคนไข้ไม่ให้ลืมเอายาเดิมติดตัวมาโรงพยาบาลด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าจะรีบออกจากบ้านมาขนาดไหนก็ตาม
“แล้วทำไมถึงต้องเอายาเดิมมาด้วย” บางคนอาจกำลังตั้งคำถามผมกลับในใจอยู่แน่ๆ เพราะ “ไปโรงพยาบาลทีไร ก็ไม่เคยเห็นหมอจะขอดูยาเดิมซักที?”
ผมขอตอบคำถามแรกก่อนด้วยการอธิบายความสำคัญที่ต้องนำยาเดิมมาด้วย แบ่งเป็นสองกรณี ได้แก่ กรณีคนไข้รายใหม่และกรณีคนไข้มาตามนัด
กรณีคนไข้รายใหม่
หมายถึง คนไข้ที่เพิ่งมีอาการเกิดขึ้นแล้วมาพบหมอที่โรงพยาบาล
1. อาการที่เพิ่งเกิดขึ้น อาจเป็นผลมาจากยาที่กินอยู่เดิมก็ได้
ผลในที่นี้อาจเป็นอาการแพ้ยา (drug allery) เช่น อาการผื่นแดงขึ้นหลังจากกินยา ต้องนำยามาเพื่อตรวจสอบว่าแพ้ยาตัวใดและออกบัตรแพ้ยาให้ หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากยา (side effect) ก็ได้ เช่น อาการไอเรื้อรังหรืออาการขาบวม อาจเกิดจากยาลดความดันโลหิตบางตัว (คนไข้อาจเข้าใจผิดว่าเป็นหวัด) ในขณะที่ยาลดไขมันบางตัวก็ทำให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จึงต้องนำยามาเพื่อหาสาเหตุของอาการที่เป็น
2. อาการที่เพิ่งเกิดขึ้นยังไม่หาย หลังจากซื้อยากินเองที่บ้าน หรือไปตรวจที่คลินิกใกล้บ้านมาแล้ว
สมมติว่า นาย ก. ป่วยเป็นไข้กินยา A และ B มาสามวันแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องนำยาทั้งสองตัวมาโรงพยาบาลด้วย เพราะหมอจะได้ใช้ประกอบการวินิจฉัยแยกโรค เนื่องจากการได้รับการรักษามาก่อนแล้วยังไม่หายนั้น อาจเป็นเพราะ 1. มาถูกทางแล้ว แต่ขนาดยา A ไม่ถูกต้อง หรือ กินยา A ผิดวิธี หรือ ยา A ยังไม่ครอบคลุมเชื้อโรคที่ดื้อยา หมอก็จะเปลี่ยนยาให้ใหม่ หรือ 2. อาจเป็นเพราะมาผิดทาง หากเป็นโรคนั้นจริง เมื่อกินยา B ควรจะดีขึ้น หมอก็จะได้ตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรคใหม่
จะเห็นได้ว่าการนำยาที่กินอยู่เดิมมาด้วย ทำให้หมอที่รับไม้ต่อไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ตรงกันข้ามหากคนไข้ไม่ได้นำยาเดิมมาด้วย ก็อาจมีโอกาสได้ยากลับไปซ้ำกับตัวเดิมที่มีอยู่ และไม่ได้ปรับเปลี่ยนยาอย่างที่ควรจะเป็น ถึงแม้ว่าคนไข้จะจำลักษณะเม็ดยาได้ แต่ยาชนิดเดียวกันของแต่ละยี่ห้อมีหน้าตาไม่เหมือนกัน หมอจึงไม่สามารถเดายาจากคำบรรยายได้
พอทำงานมานานๆ เข้าเจอกรณีนี้ที่ไม่ได้นำยามาด้วยจนคุ้นชิน ผมก็ต้องทึกทักคาดเดาเอาว่าถ้าเป็นหมอคนแรกที่เจอนาย ก. จะต้องจ่ายยาอะไรบ้าง แล้วเลี่ยงการจ่ายยาไม่ให้ซ้ำกันกับยา A และ B
ปัญหายาเดิมที่พบบ่อยอีกอย่างคือ ยาที่ได้จากคลินิกมักเป็นยาตัก-ยาที่ตักแบ่งออกมาจากกระปุกใหญ่ ทำให้ไม่มีฉลากยา และที่ซองยาก็มักจะไม่มีชื่อยากำกับ คลินิกมักจะเขียนเฉพาะสรรพคุณ และวิธีกินยาเท่านั้น ทำให้ถึงแม้จะนำยาเดิมมาด้วย แต่หมอที่รพ.ก็ไม่สามารถรู้ชื่อยาได้ ยกเว้นจะสำคัญจำเป็นจริงๆ ถึงจะส่งให้เภสัชกรช่วยระบุชื่อยาให้ ทางแก้คือตอนรับยา หากคนไข้สังเกตว่าไม่มีชื่อยาเขียนไว้ ก็ต้องให้คนจ่ายยาเขียนชื่อติดไว้ด้วย หากมีปัญหาจะได้ไม่ต้องกลับไปขอประวัติที่คลินิกอีกครั้ง
กรณีคนไข้มาตามนัด
เช่น คนไข้โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง มารับยาโรคเรื้อรังตามนัด อย่างนี้ก็มีความจำเป็นต้องนำยาเดิมมาด้วยอยู่สองข้อ กล่าวคือ
1. หากหมอจ่ายยาเดิมให้
การนำยาที่เหลืออยู่มาด้วย จะทำให้ได้ทบทวนวิธีการใช้ยาว่าใช้ถูกต้องหรือไม่ เพราะการที่ยาเหลืออาจเกิดจากการกินยาผิดขนาดก็ได้ แต่ถ้ากินยาถูกต้องแล้ว เภสัชกรก็จะได้นับจำนวนยาที่เหลือ แล้วจ่ายเพิ่มแค่ให้เพียงพอกับวันนัดครั้งต่อไป จะได้ไม่มียาเหลือค้างหมดอายุอยู่ที่บ้าน เพราะในแต่ละครั้ง หมอมักจะจ่ายยาเกินนัดเล็กน้อย เผื่อคนไข้ตัดแบ่งยาแล้วยาหล่น ทำยาหาย หรือเผื่อมีเหตุจำเป็นทำให้มาตามนัดไม่ได้ จะได้ไม่ขาดยาอยู่แล้ว
2. หากหมอปรับเปลี่ยนยา
คนไข้จะได้คืนยาตัวเดิมให้กับโรงพยาบาลในวันนั้นเลย แล้วรับยาตัวใหม่กลับไป จะได้ไม่สับสนว่าต้องหยุดยาตัวใด หรือกินยาตัวไหนต่อ หรือถ้าหมอเพิ่มลดขนาดยา โดยที่ยังเป็นยาตัวเดิมอยู่ เภสัชกรก็จะได้เปลี่ยนฉลากยาให้ใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นถ้ายังเป็นยาชนิดเดิม แต่โรงพยาบาลเปลี่ยนบริษัทผู้ผลิต ส่งผลให้หน้าตาบรรจุภัณฑ์หรือเม็ดยาเปลี่ยนแปลงไป เภสัชกรก็จะได้ชี้แนะว่ายาตัวไหนคือตัวเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่คนไข้มักจะจำรูปพรรณสัณฐานของยาเป็นหลัก จะได้กินยาต่อได้ถูกต้อง
สมัยก่อนตอนที่คุณตาของผมยังมีชีวิตอยู่ ช่วงใกล้ถึงวันนัดไปรับยาที่โรงพยาบาล ผมจะเห็นท่านนำยาที่กินอยู่ทั้งหมดออกจากถุงมานับจำนวนเม็ดที่เหลือ แล้วจดตัวเลขต่อท้ายชื่อยาในใบสรุปยาของโรงพยาบาลเพื่อนำไปยื่นให้กับหมอเป็นประจำ วิธีนี้ช่วยให้ไม่ต้องหิ้วซองยาทั้งหมดไป แต่มีข้อแม้ว่าคนไข้จะต้องจำชื่อยาได้ด้วย
โดยสรุป ‘ยาเดิม’ ซึ่งคนไข้อาจไม่เห็นความสำคัญว่าจะต้องนำมาโรงพยาบาลด้วย อาจมีส่วนช่วยหมอในการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาได้ต่อเนื่องจากยาที่กินอยู่เดิม นอกจากนี้การนำยาเดิมติดตัวมาคลินิกโรคเรื้อรังด้วย จะช่วยป้องกันความสับสนในกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนยาได้ ดังนั้นจึงต้อง “เพิ่มเติมคือควรเอามาโรงพยาบาลด้วย”
ไม่ว่าจะรีบขนาดไหน ถ้าไม่ได้รุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ ขอให้ตั้งสติ แล้วกลับหลังหันเดินไปหยิบยาเดิมของคนไข้มาด้วย ดีกว่าต้องเสียเวลาขับรถย้อนกลับไปเอามาอีกรอบ และหมอก็จะให้การวินิจฉัยล่าช้าตามไปด้วยครับ
อ่อ ผมยังไม่ได้ตอบคำถามที่ 2 ที่ว่า “ไปโรงพยาบาลทีไร ก็ไม่เคยเห็นหมอจะขอดูยาเดิมซักที?” ในทางปฏิบัติ หมอแต่ละคนมีการทบทวนยาเดิมของคนไข้แตกต่างกัน หากเป็นโรงพยาบาลที่มารักษาประจำก็มีประวัติยาในระบบเวชระเบียน บางอาการหากไม่น่าเป็นผลข้างเคียงจากยา หรือยาที่จะจ่ายไม่น่าจะ “ตีกับยาอื่น” (drug interaction) ก็ไม่จำเป็นต้องขอดูยาเดิม หรือเป็นความเคยชินของหมอต่อคนไข้ที่มักจะไม่ได้เอายามาด้วย หมอเลยคร้านที่จะถามหายาเดิมจากคนไข้อีกก็เป็นได้
Tags: ยา, การรักษา, ความเจ็บป่วย, คนไข้, medication, การแพทย์, โรงพยาบาล