หลายๆ คนที่ทำงานและจ่ายภาษีให้รัฐบาลทุกๆ ปีคงจะทราบว่า ภาษีเงินได้ของไทยเป็นภาษี ‘ก้าวหน้าเชิงบวก’ หมายความว่า ยิ่งฐานเงินเดือนสูง ก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีในอัตราที่มากขึ้น ส่วนคนที่รายได้ต่ำกว่าที่รัฐกำหนดไว้ก็จะได้รับการงดเว้น เช่นถ้ารัฐกำหนดที่ 120,000 บาทต่อปี ใครมีรายได้ต่ำกว่าจำนวนนี้ก็ไม่ต้องจ่าย

แต่สำหรับ ‘ภาษีเงินได้เชิงลบ’ มีความหมายตรงข้าม คือ ขั้นแรก รัฐบาลจะคำนวณรายได้ขั้นต่ำที่คนพึงมีเพื่ออาศัยอย่างปกติสุข แทนที่เราต้องจ่ายภาษี เรากลับจะได้เงินจากรัฐบาล ถ้ารายได้เราต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ถ้าเราหาได้ 50,000 บาทต่อปี เราก็จะได้เงินภาษีคืนมา 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ สูตรคำนวณภาษีเงินได้เชิงลบและรายได้เฉลี่ยขั้นต่ำอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ

นโยบายที่คิดขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเสรีนิยม

ฟังดูแล้วอาจรู้สึกว่า มันเป็นนโยบายที่ก้าวหน้าของอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย แต่ที่จริงแล้ว แนวความคิดนี้ สร้างโดยนักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) เมื่อปี 1962 และนำมาปรับใช้ในบางนโยบายสวัสดิการในสหรัฐอเมริกา

จุดกำเนิดเกิดจากความเชื่อของเขาที่มองว่า รัฐควรจะเข้ามาก้าวก่ายสวัสดิการสังคมอย่างจำกัด และต้องไม่เข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดอันศักดิ์สิทธิ์ สังคมและสมาชิกในสังคมต้องมีสิทธิเลือกสินค้าและบริการได้เองอย่างเสรี ไม่ใช่ว่ารัฐเป็นผู้เลือกและจัดหามาให้

นโยบายสวัสดิการในสหรัฐฯ สมัยนั้นเป็นนโยบายที่ให้สวัสดิการเฉพาะกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและประสบกับความยากลำบาก ดังนั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่ใช่สิทธิถ้วนหน้าที่ได้โดยอัตโนมัติ แต่ประชาชนต้องผ่านระบบราชการ การกรอกเอกสาร และการเก็บข้อมูลกองพะเนินกว่าจะฟันฝ่าได้มา นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ต่างก็กระจัดกระจายไปตามองค์กรต่างๆ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจ้างเจ้าหน้าที่และค่าเช่าสำนักงาน เกิดการทำงานซ้ำซ้อนสับสนวุ่นวาย

มันน่าจะดีกว่าถ้ารัฐบาลจะยุบสิทธิประโยชน์ทิ้งทั้งหมด เช่น เงินช่วยเหลือค่าบ้าน เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงลูก เงินช่วยเหลือค่าการศึกษา ฯลฯ และให้บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิสด้วยการจ่ายภาษีเงินได้เชิงลบ เพราะเงินเป็นสื่อกลางที่ดีที่สุด เมื่อคนจนได้เงินก้อนนี้แล้ว เขาจะมีเสรีภาพไปใช้จ่ายอะไรก็ได้

การจ่ายเป็นรูปตัวเงินโดยไม่ใช่บริการนั้น รัฐบาลไม่ต้องเป็นแม่งานจัดซื้อจัดหาบริการมาให้ แต่เป็นหน้าที่ของกลไกตลาดและภาคเอกชน การจ่ายเงินให้กลุ่มคนยากจนก็ทำได้ง่าย ตรงตามกลุ่มประชากรเป้าหมายมากกว่า เพียงแค่ประชาชนยื่นรายงานภาษีเงินได้ และลดปัญหาการให้บริการแก่กลุ่มคนไม่จนจริง แถมการจ่ายภาษีเงินได้เชิงลบก็ไม่เป็นการบั่นทอนความทะเยอทะยานความขยันและความสามารถของประชากรรายได้สูง

เพียงแค่ ‘นโยบายภาษีเชิงลบ’ อาจไม่พอในการลดความเหลื่อมล้ำ

นโยบายดังกล่าว ถือเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการเสรีนิยม แต่ไม่ใช่แบบรัฐสวัสดิการสังคมนิยมอย่างประเทศยุโรปภาคพื้นทวีปที่รัฐบาลมีบทบาทมากในการแทรกแซงกลไกตลาดและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย ถึงแม้ภาษีเชิงลบสามารถช่วยเหลือกลุ่มประชากรลำบากได้รวดเร็ว แต่การใช้นโยบายเดียวโดยปราศจากนโยบายสังคมอื่นๆ อาจจะไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างที่หวัง

ไม่ลดความแตกต่างทางรายได้ระหว่างคนรวยสุดและคนจน

ประการแรก แนวความคิดนี้ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างการผลิตใดๆ และอนุญาตให้ความแตกต่างทางรายได้ดังกล่าวเป็นเรื่องยุติธรรม

เช่น นาย ก เกิดมาในตระกูลร่ำรวยได้รับการศึกษาสูง จบมาได้ทำงานเป็นผู้บริหาร ได้เงินเดือน 500,000 บาท แต่นาย ข เกิดมาครอบครัวยากจน ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นสูง ทำงานเงินเดือน 5,000 บาท

ถ้ารัฐบาลไม่มีหน้าที่จัดหาการศึกษาฟรีและมีคุณภาพแก่ประชาชนแล้ว ก็เป็นไปได้ยากที่คนอย่าง นาย ข จะสามารถข้ามชนชั้นได้ และความแตกต่างนี้ก็จะกลายเป็นความผิดของนาย ข เองที่ความสามารถไม่เพียงพอ

ไม่ควบคุมราคาของสินค้าบริการพื้นฐาน

ประการที่สอง นโยบายดังกล่าวจะไม่เข้าไปแทรกแซงราคาและกลไกตลาด โดยให้ประชาชนเป็นผู้เลือกซื้อบริการเอง ก็อาจเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการพื้นฐานได้ เช่น มหาวิทยาลัย ก เป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงและมีคุณภาพ สามารถเก็บค่าเทอมแพงๆ เพื่อดึงอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและลูกค้าที่มีกำลังทรัพย์ ในขณะที่มหาวิทยาลัย ข เป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพแย่กว่าและมีแต่ผู้มีรายได้ต่ำเข้ามาเรียนเป็นส่วนใหญ่

รายได้ที่คำนวณอาจไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย

ประการที่สาม เป็นการโฟกัสเฉพาะด้านรายได้โดยขาดการพิจารณาด้านรายจ่าย ซึ่งจะเป็นปัญหามากในประเทศไทย ที่กว่าครึ่งของกิจกรรมเศรษฐกิจอยู่ในภาคนอกระบบ การเก็บข้อมูลรายได้ให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และพบว่าในหลายๆ ครอบครัวมีรายได้เท่ากับศูนย์หรือติดลบ นอกจากนี้การคำนวณตัวเลขรายได้ที่ทำให้สามารถดำรงชีพได้นั้น เป็นเพียงตัวเลขเฉลี่ยที่ขาดการลงลึกไปในแต่ละครอบครัวหรือบุคคล ลักษณะครอบครัวที่แตกต่างกันย่อมส่งผลให้ลักษณะการใช้จ่ายแตกต่างกัน  

คำนวณตัวเลขรายได้ที่ทำให้สามารถดำรงชีพได้นั้น เป็นเพียงตัวเลขเฉลี่ยที่ขาดการลงลึกไปในแต่ละครอบครัวหรือบุคคล 

ในทางทฤษฎีเรื่องความยุติธรรมทางสังคมนั้น ถือว่ารสนิยมส่วนตัวเป็นความรับผิดชอบของปัจเจกเอง ไม่ใช่หน้าที่ที่ส่วนรวมต้องจัดหามาให้ เช่น ถ้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นของจำเป็นสำหรับทุกคนแล้ว สังคมก็ต้องหามาให้ แต่ถ้านาย ก อยากได้เสื้อผ้ายี่ห้อดังราคาแพงก็ต้องทำงานหาซื้อมาเอง

แต่ในการคำนวณรายได้ขั้นต่ำที่คิดจากความจำเป็น หากเกิดเหตุที่คาดไม่ถึง ระบบการประกันเฉพาะรายได้เฉลี่ยย่อมไม่เพียงพอ

เช่น นาย ข เป็นโรคไตวายเรื้อรัง มีค่ารักษาสูงกว่าเงินภาษีเชิงลบ ถ้ารัฐดำเนินนโยบายอย่างเดียวโดยปราศจากหลักประกันสุขภาพอื่นๆ แล้ว นาย ข ย่อมตกสู่ภาวะล้มละลายอย่างง่ายดาย

การช่วยเหลือคนจนด้วยภาษีเงินได้เชิงลบ จึงเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการขั้นต้น ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างการกระจายทรัพยากร และส่งเสริมสวัสดิการอย่างเป็นระบบ ด้วยนโยบายอื่นๆ ควบคู่กันไป

 

อ่านเพิ่มเติม

  • Friedman, Milton, Capitalism and Freedom, Chicago, University of Chicago Press, 1962.
  • Moffit, Robert, “The negative income tax and the evolution of the U.S. welfare policy”, NBER working paper series, working paper 9751, 2003.
Tags: , , , , ,