“คนทั่วไปทำงานขั้นพื้นฐานคนละ 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ตกสัปดาห์ละประมาณ 40 ชั่วโมงในขณะที่แพทย์ทำงานราว 100-120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากที่กล่าวไป จึงไม่แปลกใจเลยที่หลายคนคิดจะลาออก เพราะราวกับระบบโครงสร้างนี้กดดันให้แพทย์ต้องทำงานหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น” หมอบีม ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (TFPU)
จากกรณีการประกาศลาออกจากราชการของ แพทย์หญิง นภสร วีระยุทธวิไล หรือ ‘ปุยเมฆ’ ไม่ใช่กรณีหรือปัญหาแรกที่สะท้อนปัญหาการทำงานของแพทย์ แต่เป็นการจุดประกายให้สังคมเล็งเห็นปัญหาในวงการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขาดแคลนบุคลากร ภาระหน้าที่และงานที่หนักหน่วงมากเกินไป ประกอบกับการถูกเปิดเผยความหมักหมมต่างๆ ผ่านปรากฏการณ์ ‘หมอจะไม่ทน’ ในช่วงตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงช่วยฉายภาพการกดขี่ทางวิชาชีพได้ดี แม้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สะสมเรื้อรังในโครงสร้างวงการสาธารณสุขเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม
The Momentum ได้พูดคุยกับ ‘หมอบีม’ ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (TFPU) เกี่ยวกับประเด็นว่าด้วยปัญหาต่างๆ ในระบบวงการแพทย์และสาธารณสุขที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์จนกระทั่งเป็นแพทย์เต็มตัวแต่ปัญหาเหล่านั้นก็ยังไม่หมดไป
การทำงานหนักที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ
หมอบีมเล่าว่าตั้งแต่ตอนเรียนคณะแพทยศาสตร์ ช่วงปี 1-3 เป็นช่วงที่เรียนอัดแน่นมากๆ โดยเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทั่วไป และโรคต่างๆ เป็นหลัก เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4-6 เริ่มได้เจอกับคนไข้ ได้ลองรักษาคนไข้จริง เป็นการเรียนประมาณว่าเดินตามอาจารย์ เดินตามพี่ แล้วดูว่าอาจารย์ และพี่เขาทำกันอย่างไร ยังไม่ได้ลงมือรักษาเต็มที่ ทำอย่างมากคือตรวจร่างกาย แต่ความหนักในช่วงนั้นคือทำงานและเรียนทุกวัน แม้กระทั่งสุดสัปดาห์ก็ไม่ได้หยุด
เมื่อขึ้นปีที่ 6 หมอบีมเล่าว่า ได้รู้ซึ้งอย่างชัดเจนว่าระบบสาธารณสุขเป็นอย่างไร เพราะเป็นปีที่ต้องเริ่มทำงานจริงจัง รายละเอียดงานหลักๆ คือการรักษา ตรวจร่างกาย และจัดการระบบเอกสารเกี่ยวกับคนไข้ทั้งหมด ไปจนถึงการเป็น ‘First call’ คือหากอยู่เวรจะเป็นคนแรกที่พยาบาลตาม และไม่ว่าคนไข้จะเป็นอะไรก็ตาม จะต้องเข้าไปดู ซึ่งส่วนนี้หมอบีมคิดว่าเป็นสิ่งที่หนักขึ้นมากหากเทียบจากปีก่อนหน้า
“สำหรับผม คิดว่างานของหมอนั้นเยอะกว่าการเป็นหมอ มันไม่ใช่แค่รักษา แต่คือการทำเรื่องเอกสาร สื่อสารคุยกับอาจารย์ ติดต่อคนประสานงาน เป็นนายทะเบียนทำเอกสารด้วย เป็นหมอด้วย รักษาด้วย ตรวจร่างกายด้วย บางทีต้องเป็นพยาบาล ต้องไปเจาะเลือด และพ่นยา ฯลฯ”
หมอบีมกล่าวเพิ่มเติมในส่วนของปัญหาเหล่านี้ว่า “เกิดจากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรไม่พอ และจาก Job Description ของหมอ จริงๆ แล้วผมว่ามันอาจจะเยอะเกินกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งความผิดปกติที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ ด้วยความที่มันเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียน และทุกคนก็ทำให้มันยังคงเป็นไปเช่นนี้ โดยไม่ตั้งคำถามอะไร” เขาจึงคิดว่าหรือเป็นเขาเองที่ผิดปกติในการมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องแปลก และไม่ใช่ว่าเขา ‘ทนได้’ หากแต่อยู่ในสภาวะที่ ‘ต้องทน’ มากกว่า
จุดที่รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่สามารถทนได้อีกต่อไป
หมอบีมยกตัวอย่างเหตุการณ์อยู่เวรแบบไม่ได้นอนเลยเป็นเวลา 24-36 ชั่วโมง ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จนบางครั้งคิดว่าหมอที่ดีต้องมาอดหลับอดนอนตอนผ่าตัดคนไข้จริงหรือ นี่คือหมอที่ดีจริงๆ หรือเปล่า
ส่วนอีกหนึ่งจุดที่คิดว่าไม่สามารถทนได้อีกต่อไป คือระบบอำนาจนิยมที่ฝังอยู่ในสังคมวงการแพทย์ ทั้งระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง โดยเฉพาะกับอาจารย์
“อาจารย์เคยบอกว่า ‘ทำแค่นี้ทำไมทำไม่ได้เหรอ หัวสมองพวกเธอแค่นี้ สอบอะไรก็ไม่ผ่านหรอก’ แล้วก็ด่าวนไปเรื่อยๆ เป็นชั่วโมง” หมอบีมขยายเพิ่มเติมว่า รู้สึกว่าต้องทนให้ได้เพราะคนอื่นก็ทนได้ และเราก็อยากเป็นหมอที่ดี อย่างไรก็ตามวิธีการรับมือกับเรื่องดังกล่าวค่อนข้างเป็นปัจเจกบุคคลมากพอสมควร
‘การขาดแคลนบุคลากร’ และ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’
จากที่กล่าวไปข้างต้น เรื่องแพทย์มีหน้าที่ในงานเยอะเกินไป หมอบีมคิดว่าปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแน่นอน
ประเด็นแรกว่าด้วย ‘ชั่วโมงการทำงาน’ หมอบีมยกตัวอย่างว่า คนทั่วไปทำงานขั้นพื้นฐานคนละ 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ตกสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ในขณะที่แพทย์ทำงานราว 100-120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จึงไม่แปลกเลยที่หลายคนคิดจะลาออก เพราะราวกับระบบโครงสร้างนี้กดดันให้แพทย์ต้องทำงานหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น ประเด็นที่สอง เรื่อง ‘ค่าตอบแทน’ อาชีพแพทย์ได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละประมาณ 80 บาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับภาระงานทั้งหมด หมอบีมกล่าวว่าหากมองคุณค่าของอาชีพในแง่ของค่าตอบแทนอย่างเดียวก็ค่อนข้างที่จะไม่สมเหตุสมผลระดับหนึ่งเลย
อุปสรรคในการคัดง้างกับ ‘กระทรวงสาธารณสุข’
หมอบีมกล่าวว่า จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กล่าวไปข้างต้น คือ ‘การไร้อำนาจการคานกับกระทรวงสาธารณสุข’ (สธ.) การคานดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านกับเขา แต่หมายถึงต้องการสะท้อนเสียงของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดเพื่อต่อรองความเป็นธรรมเหล่านั้น
“ถ้าสมมติมีปัญหาว่าหมอคนหนึ่งถูกรังแก มีบางคนฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ หรือว่ามีบางคนที่เขาลาออกจากราชการ ที่เขายื่นเรื่องไปก็อาจจะยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจเป็นเพราะทั้งจังหวัดมีหมอคนนั้นคนเดียวที่เป็นอาจารย์ทำให้คนอาจไม่พอ เราทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เพราะต่อให้เขาผิดจริงก็ไม่มีใครจะมาแทนที่เขาได้ ก็วนลูปอย่างนี้ เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไม่มีใครที่จะสามารถตรวจสอบหรือบอกอะไรกับ สธ.ได้เลย เราไม่มีองค์กรที่มาต่อสู้กับ สธ.ด้วย รวมถึงตัวข้าราชการ ด้วยตัวเองไม่มีอำนาจและบทบาทที่จะลงโทษหรือออกกฎหมายได้เลย นอกจากยึดใบประกอบวิชาชีพของแพทย์คนนั้นๆ ซึ่งก็ไม่ค่อยเห็นเคสที่เขาทำกันเท่าไร
“ผมว่าด้วยตัวขั้วอำนาจนี้ ทำให้ไม่มีคนออกมาเป็นจุดส่วนรวม ร้องเรียนหรือทำอะไรสักอย่างกับสิ่งเหล่านี้ มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ต่อให้เป็นรุ่นอาจารย์บางคนก็บอกว่าเขาเคยคิด แต่ก็ไม่เคยมีใครทำ เป็นแบบนี้มานานแล้ว จนกระทั่งเพิ่งจะมีสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานมาได้ 1 ปี คนถึงจะรู้จักมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วแพทย์ทำงานอย่างไร คนถึงตื่นตัวมากขึ้น แพทย์ถึงกล้าสู้มากขึ้น เพราะว่ามีสหภาพฯ นี้”
‘แพทย์’ ไม่ถูกนับว่าเป็น ‘แรงงาน’
หมอบีมกล่าวว่า ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในการผลักดันเรื่อง สวัสดิการชั่วโมงการทำงานของแพทย์ คือปัญหาว่าด้วยแพทย์ถือเป็น ‘บุคลากรทางสาธารณสุข’ และไม่ถูกนับว่าเป็นแรงงาน จึงไม่สามารถใช้กฎหมายแรงงานทั่วไปควบคุมชั่วโมงการทำงานของแพทย์ได้ และตอนนี้กำลังพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องในรูปแบบการยื่นกฎหมายเมื่อเปิดสภาฯ ว่าต้องการให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมอาชีพทางสาธารณสุขด้วย
การก่อตั้งสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (TFPU)
สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของคนทำงานในภาคส่วน มีทั้งผู้ที่ไม่โอเคกับระบบ และผู้ที่เห็นว่าผู้อื่นไม่โอเคกับระบบ หมอบีมมองว่าการวางตัวของสหภาพฯ ไม่ได้เป็นไปเพื่อต้องต่อสู้กับกระทรวงสาธารณสุข แต่เมื่อถูกกดขี่ พวกเขาก็ต้องการให้มีผู้รับรองปกป้องเช่นเดียวกัน
นอกจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมี ‘แพทยสภา’ ที่ทางสหภาพฯ จะยื่นนโยบายหรือข้อเสนอใดๆ ไปตลอด กล่าวได้ว่าแพทยสภารับฟังสิ่งที่ร้องขอไปมากพอสมควร เช่น ก่อนหน้าที่ทางสหภาพฯ ยื่นเสนอขอแก้ไขเกี่ยวกับการจำกัดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ทางแพทยสภาก็รับฟัง
“ผมยื่นข้อเสนอไป 3-4 ข้อ เขาก็รับฟังทุกข้อ เช่น เรื่องแพทย์อยู่ในพื้นที่ทำงานเกิน 24 ชั่วโมง จะให้หยุดพัก 4 ชั่วโมง ส่วนนี้แพทยสภาบอกว่าขอร้องให้หยุด 4 ชั่วโมง เพราะเขาไม่มีอำนาจการบังคับ เขาก็ขอร้องให้หยุด 4 ชั่วโมง ตอนผมยื่นข้อเสนอ ยื่นให้หยุด 8 ชั่วโมง เขาก็รับฟังและปฏิบัติอยู่ แต่ในขณะที่สาธารณสุขยังไม่มีช่องทางการติดต่อที่คุยกันแบบจริงจังเท่าไร ไม่เหมือนแพทยสภาที่รับฟังจริงๆ”
อย่างไรก็ตามหมอบีมกล่าวเพิ่มเติมว่า อาชีพทางการแพทย์อื่นๆ ในแวดวงเดียวกัน เช่น พยาบาล ก็พบเจอปัญหาคล้ายกัน และทางกลุ่มพยาบาลเองก็มีสหภาพพยาบาลเช่นกัน อีกทั้งคิดว่าอาจรวมตัวกันตั้งเป็น ‘สหภาพสาธารณสุข’ ขึ้นได้ด้วยซ้ำ เพราะการกดขี่แรงงานนั้นเกิดขึ้นในทุกวิชาชีพ
ปรากฏการณ์ ‘หมอจะไม่ทน’ ครั้งนี้กำลังบอกอะไรกับสังคม
“หากบอกความจริงและความปกติในอาชีพหมอและชีวิตของหมอทั่วไป บางคนเห็นอาจสงสาร เห็นใจ บางคนอาจรู้สึกว่าทำไมหมอยังเสียสละไม่มากพอ ผมว่ามันบอกได้หลายอย่าง ทั้งบอกฝั่งหมอด้วย และบอกให้หมอรู้ด้วยว่าสังคมเป็นอย่างไรกันแน่”
Tags: แพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, หมอ, หมอลาออก, หมอจะไม่ทน, หมออินเทิร์น