การเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งตุรกีประจำปี 2023 ได้บทสรุปอย่างแน่ชัดแล้วว่า เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) เป็นผู้ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดถึง 52.14% โดยเอาชนะคู่แข่งตัวเต็งอย่าง เคมัล เคลิกดาโรกูล (Kemal Kilicdaroglu) ที่ได้รับคะแนนเสียง 47.86%
ชัยชนะของเขาในครั้งนี้ ส่งผลให้แอร์โดอันเป็นผู้นำที่ครองเก้าอี้ประธานาธิบดียาวนานที่สุดเป็นเวลา 20 ปี รวมทั้งวาระการดำรงตำแหน่งอีก 5 ปี เท่ากับว่า เขาทำสถิติแซงหน้าอดีตประธานาธิบดี มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Ataturk) ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี หลังจากระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของมุสตาฟาสิ้นสุดแค่เพียง 15 ปี
พิธีรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยแอร์โดอันสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่ง พร้อมประกาศรายชื่อรัฐมนตรีเพื่อเริ่มทำงานเป็นที่เรียบร้อย
“ในฐานะประธานาธิบดี ขอสาบานด้วยเกียรติและความซื่อสัตย์ต่อตุรกีและประวัติศาสตร์ของประเทศอันยิ่งใหญ่ว่า ผมจะพิทักษ์การคงอยู่และความเป็นเอกราชของรัฐ
“ผมจะโอบรับประชาชน 85 ล้านคนในประเทศ ไม่ว่าเราจะมีความคิดแตกต่างทางการเมือง ชาติกำเนิด หรือนิกายทางศาสนาก็ตาม” แอร์โดอันประกาศตัวโดยมีสักขีพยานคือคนตุรกีทั้งชาติ รวมถึงอาคันตุกะนับ 10 คน เช่น นิโคลัส มาดูโร (Nicolas Maduro) ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา และวิกเตอร์ โอร์บาน (Victor Orban) นายกรัฐมนตรีแห่งฮังการี
แม้ว่าจะได้รับชัยชนะในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้ แต่แอร์โดอันตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นความนิยมที่ลดลง พิษจากเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่า นี่คือจุดต่ำสุดของชายคนนี้ ที่ต้องเผชิญในรอบหนึ่งทศวรรษ ซึ่งสะท้อนได้จากผลการเลือกตั้งที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งในรอบแรกและรอบตัดเชือก
The Momentum พาทุกท่านไปอ่าน ‘ความท้าทาย’ และ ‘สิ่งที่แอร์โดอันต้องพบเจอ’ กับการดำรงแหน่งประธานาธิบดีปีที่ 20 ที่อาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้อาจไม่ได้สวยงามเหมือนที่ผ่านมา เพราะเขามีบททดสอบครั้งใหญ่ที่ท้าทายความเก๋า ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่นับว่าเป็นความท้าทายอย่างหนักหน่วง
ปัญหาทางเศรษฐกิจ: Priority แรกของแอร์โดอันในการแก้ไขปัญหา
ในอดีต แอร์โดอันเคยประสบความสำเร็จในการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน จากปัญหาค่าครองชีพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่นโยบายการเพิ่มเงินบำนาญ เงินเดือน หรือการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าในครัวเรือน
แต่ดูเหมือนว่า การแก้ไขปัญหาเหล่านี้คงใช้วิธีเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว หลังจากตุรกีต้องเผชิญวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ ซึ่งมีรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดถึง 85% ในปี 2022 แม้ว่าต่อมา เงินเฟ้อลดลงเหลือ 44% ในเดือนพฤษภาคม แต่นักวิชาการบางส่วนยังโต้แย้งว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 105%
ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น รัฐบาลพยายามป้องกันปัญหามูลค่าสกุลเงินตกต่ำด้วยการขายสินทรัพย์ ‘ทุนสำรองระหว่างประเทศ’ แต่ดูเหมือนว่าทุกอย่างไม่ได้ดีขึ้น เมื่อสกุลเงินลีรา (Lira) ของตุรกีแตะอันดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังแอร์โดอันชนะการเลือกตั้ง เหลือเพียง 20.06 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 697 บาท) โดยนักวิเคราะห์มองว่า นี่คือการสูญเสียมูลค่าทางการเงินถึง 80% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
สาเหตุดังกล่าวเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจของแอร์โดอันเพื่อต่อสู้กับสภาวะเงินเฟ้อด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย จากเดิมที่ลดไปแล้วครึ่งหนึ่งของปี 2022 ทว่านักเศรษฐศาสตร์มองว่า เขากำลังดำเนินนโยบายผิดพลาด เพราะการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า เพื่อทำให้เกิดการลงทุนและความต้องการบริโภคสินค้าลดน้อยลง นั่นรวมถึงราคาสินค้าก็จะลดมูลค่าลงด้วย จนทำให้ตลาดเข้าสู่สภาวะดุลยภาพมากขึ้น
แต่แอร์โดอันปฏิเสธ เขามองว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อและเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การแก้ไขปัญหาของเขาไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงแอร์โดอันยังพยายามรักษาค่าเงินลีราให้คงที่ผ่านกลไกของธนาคารกลางเพื่อการันตีชัยชนะของตนเอง อย่างไรก็ตาม น่าเศร้าที่ผลลัพธ์ทั้งหมดออกมาเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
“ด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX) ที่มีอยู่จำกัด และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งมีค่าติดลบอย่างรุนแรง นั่นจึงทำให้แรงปะทะต่อสกุลเงินลีรารุนแรงมาก” ทีโมธี อาช (Timothy Ash) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของตุรกีใน BlueBay Asset Management แห่งกรุงลอนดอน อธิบายกับอัลจาซีรา (Al Jazeera)
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีแห่งตุรกียังมีความมั่นใจว่า เขาและคณะรัฐมนตรี นำโดย เมห์เมต ซิมเซก (Mehmet Simsek) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและการเงินที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งในวันสาบานตน จะฝ่าฝันวิกฤตไปได้ด้วยกัน
“การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ เป็นหัวข้อเร่งด่วนที่สุดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
“การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเราเลย ผมเป็นคนพิสูจน์ในเรื่องนี้ให้ทุกคนเห็นมาแล้ว เมื่อครั้งที่ผมเคยเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่หรือ?” แอร์โดอันอวดอ้างการแก้ไขปัญหา โดยอ้างอิงผลตอนดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อหลาย 10 ปีก่อน
ในทางตรงกันข้าม อาชกลับประเมินว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตุรกีอาจแย่ลงเรื่อยๆ และอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นถึง 50% ในอีกไม่กี่เดือน
“โชคไม่ดีอย่างมาก ตุรกีกำลังเสี่ยงเกิดวิกฤตเงินเฟ้อขั้นรุนแรง จนอาจนำไปสู่สถานการณ์เช่นเดียวกับอาร์เจนตินาหรือเวเนซุเอลา
“ค่าเงินปัจจุบันไม่คงตัวเลย เช่นเดียวกับสถานการณ์ของแอร์โดอัน ถ้าเขาเปลี่ยนทีมบริหารหรือแพ้เลือกตั้ง ในขณะที่ทีมใหม่เข้ามาทำงาน เปลี่ยนนโยบายของเขาทั้งหมด น่าจะมีอะไรที่ดีกว่านี้
“แต่ถ้านโยบายเช่นนี้กำลังดำเนินไปเรื่อยๆ ตุรกีจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน” เขาอธิบายกับสื่อวิทยุเสียงอเมริกา (VOA) ถึงสถานการณ์ของตุรกี
ชะตากรรมของนาโตที่ฝากไว้ในมือตุรกี: แอร์โดอันกับการยับยั้งสวีเดนเข้าร่วมนาโต
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของแอร์โดอันที่ต้องสะสาง คือการเข้าร่วมพันธมิตรนาโต (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ของสวีเดน หลังจากตุรกีและฮังการีเป็นสองชาติในบรรดาประเทศทั้งหมดที่ขัดขวางไม่ให้สตอกโฮล์มเป็นสมาชิกประเทศที่ 30 ของความร่วมมือด้านความมั่นคงนี้
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ต้องย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เมื่อรัสเซียบุกยูเครน ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก รู้สึกหวาดระแวงและไม่ไว้ใจมอสโกอีกต่อไป เพราะกลัวว่าประเทศตนเองจะกลายเป็นเป้าโจมตีในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สวีเดนและฟินแลนด์ประกาศยุตินโยบาย ‘รักษาความเป็นกลาง’ (Non-Alignment) และต้องการเข้าร่วมนาโต ด้วยเหตุผลที่ว่า องค์การระหว่างประเทศนี้สามารถคุ้มครองพวกเขาด้วย ‘อำนาจการป้องกันตนเองร่วมกัน’ (Collective Self-Defense) หรือมาตรา 5 ของกฎบัตร กล่าวคือถ้าสมาชิกนาโตชาติใดชาติหนึ่งถูกโจมตี ประเทศที่เหลือพร้อมจะใช้กำลังเพื่อป้องกันชาติสมาชิกนั้น เพราะถือว่าเป็นการโจมตีชาติพันธมิตรนาโตทั้งหมด
ด้วยผลประโยชน์ทางด้านภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสวีเดน จะทำให้อำนาจของนาโตในบริเวณทะเลบอลติกแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ชาติสมาชิกเกือบทั้งหมดจึงรีบรับรองให้ 2 ประเทศนี้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ยกเว้นตุรกีและฮังการีที่ยังเตะถ่วงและต่อรองไปเรื่อยๆ
แม้ว่าเราได้เห็นฟินแลนด์เข้าร่วมนาโตอย่างเป็นทางการไม่กี่เดือนที่แล้ว หลังจากรัฐสภาตุรกีให้สัตยาบัน (Ratification) รับรองเฮลซิงกิเป็นสมาชิก แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ยุติ เพราะแอร์โดอันในฐานะผู้กุมอำนาจการตัดสินใจของประเทศ ยัง ‘เบรก’ ไม่ให้สวีเดนเข้าร่วมนาโต เพราะความกังวลในด้านความมั่นคงและการก่อการร้าย โดยอ้างว่าสตอกโฮล์มให้การสนับสนุนกลุ่มเติร์ก ซึ่งก็คือพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Workers Party – PKK ในภาษาตุรกี) กลุ่มฝ่ายซ้ายสุดโต่ง (DHKP-C) รวมถึง เฟตุลลาห์ กูเลน (Fethullah Gulen) นักการศาสนา ผู้ที่แอร์โอดันอ้างว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารปี 2016
นอกจากนั้น สวีเดนยังวิจารณ์ประชาธิปไตยในตุรกีและความเป็นเผด็จการของแอร์โดอันอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงปัดหนึ่งในข้อเสนอของตุรกีว่า หากจะให้รับรองสวีเดนในฐานะสมาชิกของนาโต สวีเดนต้องส่งตัว ‘ผู้ก่อการร้าย’ หรือ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง 4 คน ของตุรกีกลับมาเสียก่อน แต่ศาลสูงของสตอกโฮล์มคว่ำคำขอดังกล่าว เพราะถือว่าขัดต่อจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
“รัฐบาลสวีเดนต้องปฏิบัติตามกฎหมายของสวีเดนและกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อตกลงไตรภาคี” กระทรวงการต่างประเทศสวีเดนระบุในความคิดเห็นทางอีเมลตามรายงานของรอยเตอร์ (Reuters)
ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ถ้าการรับรองสมาชิกประเทศที่ 30 ยังไม่มีข้อยุติ และผู้คนในตุรกียังคงผูกใจเจ็บสวีเดนเป็นพิเศษ
สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน อ้างอิงจากรายงานของ โทเบียส บิลล์สตวม (Tobias Billström) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดน มีความตั้งใจให้กระบวนการรับรองของนาโตในข้างต้นแล้วเสร็จก่อนวันที่ 11 กรกฎาคม เนื่องจากพิธีสารภาคยานุวัติ หรือการรับรองสมาชิกนาโตจะจัดขึ้นในวันนั้น ณ ประเทศลิทัวเนีย โดยมีการเข้าร่วมของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ โบเดน (Joe Biden) และผู้นำประเทศในกลุ่มพันธมิตรนาโตทั้งหมด แต่ตุรกีและฮังการียังไม่ยืนยันที่จะปรากฏตัวในวันดังกล่าว
นอกจากนั้น มีรายงานจากโพลิติโค (Politico) ว่า สวีเดนพยายามทำตามเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกของนาโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขกฎหมายการก่อการร้ายในประเทศ เพื่อจำคุกบุคคลที่มีส่วนร่วมกับการก่อการร้าย ซึ่งมีคนมองว่าอาจจะเป็นกลุ่ม PKK ที่ลี้ภัยจากตุรกี นี่จึงนับว่าเป็นหนึ่งก้าวสำคัญของท่าทีอันผ่อนปรนของสวีเดน
รวมถึง เย็นส์ สต็อลเตินบาร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการนาโต ออกมายืนหยัดท่าทีสนับสนุนสวีเดนอย่างชัดเจนท่ามกลางเสียงผู้ต่อต้านในเมืองอิสตันบูลที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมนาโตของสวีเดน
“สวีเดนทำตามเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกแล้ว” เขากล่าวในวันที่ 4 พฤษภาคม โดยอ้างว่าประเทศที่จะเข้าร่วมพันธมิตรนาโตได้ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสริมสร้างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย
“เรารู้ว่าแอร์โดอันเห็นเรื่องราวเหล่านี้ และ (…) เขาคงจะโกรธมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น พวกเราก็จะตอบโต้สิ่งที่เดียวกับที่แอร์โดอันทำ เราจะเตะถ่วงสวีเดนและนาโตให้นานกว่านี้” โทมัส เพตเทอรส์สัน (Tomas Pettersson) หัวหน้ากลุ่มต่อต้านนาโตในตุรกีออกมาพูดถึงเจตจำนงของเขา โดยอ้างอิงการประท้วงในสตอกโฮล์มในเดือนมกราคม เพราะมีเหตุการณ์ ‘การเผาคัมภีร์อัลกุรอาน’ เพื่อประท้วงให้สวีเดนเข้าร่วมนาโต นั่นจึงสร้างความโกรธแค้นต่อมุสลิมทั่วโลก
ส่วนท่าทีของแอร์โดอันปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด นอกจากคำพูดของผู้นำสหรัฐฯ ว่าด้วยการเจรจาซื้อขายอาวุธ F-16 ให้ตุรกี ที่กลายเป็นหนึ่งในข้อต่อรองเพื่อเข้าร่วมนาโตของสวีเดน
“ผมคุยกับแอร์โดอันแล้ว ผมแสดงความยินดีกับเขา เขายังคงต้องการจะปฏิบัติงานอะไรซักอย่างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ F-16 ผมเลยบอกเขาว่า เราก็ต้องการปิดดีลนี้พร้อมสวีเดน ถ้าเช่นนั้น พวกเรามาทำมันให้สำเร็จกันเถอะ” ไบเดนบอกสื่อข่าวในวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากแอร์โดอันชนะเลือกตั้ง
สุดท้ายนี้ ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจทำให้ความเย่อหยิ่งของแอร์โดอันอยู่ได้อีกไม่นาน โดยเฉพาะความต้องการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตก ซึ่งอาจมีเงื่อนไขการรับรองสวีเดนเป็นชาติสมาชิกของนาโตเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่นี่เป็นเรื่องราวที่น่าหนักใจ เพราะแอร์โดอันก็ต้องเลือกรักษาความนิยมภายในประเทศด้วยเช่นกัน นั่นก็คือความเกลียดชังของคนมุสลิมต่อสวีเดนในความขัดแย้งทางศาสนา อาจกล่าวได้ว่า ชายคนนี้กำลังพบเจอกับสภาวะทางสองแพร่งที่ยากลำบากในการตัดสินใจ ซึ่งยากจะคาดเดา และต้องรอดูกันในอนาคตว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไรให้ตุรกีและตัวของเขาเจ็บตัวน้อยที่สุด
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-europe-13746679
https://www.longtunman.com/39152
https://www.reuters.com/world/sweden-rejects-four-extradition-requests-turkey-report-2023-01-12/
https://www.politico.eu/article/erdogan-back-sweden-presses-turkey-on-nato-bid/
Tags: ข่าวต่างประเทศ, Analysis, นาโต้, Kilicdaroglu, Turkey, เลือกตั้งตุรกี, Sweden, เคลิกดาโรกลู, สวีเดน, เลือกตั้งตุรกี 2023, ตุรกี, แอร์โดอัน, Erdogan, NATO