ว่ากันว่าต้นไม้จะเจริญเติบโตได้ดี ก็ต่อเมื่ออยู่ในดินและสภาพแวดล้อมอันเหมาะสม เช่นเดียวกันกับ ‘ศิลปะ’ ที่จะสามารถเฉิดฉายได้ก็ต่อเมื่อมี ‘อิสระ’ และ ‘พื้นที่’ ในการสร้างสรรค์ผลงาน
ถึงกระนั้น ดูเหมือนว่าประเทศของเรายังห่างไกลจากข้อดีข้างต้นอยู่พอสมควร ศิลปินบางรายมีความคิดสร้างสรรค์บรรเจิด แต่กลับไร้ซึ่งพื้นที่ปลดปล่อย บางรายมีรายได้เลี้ยงปากแต่ก็ไม่พอเลี้ยงท้อง สาเหตุเพราะถูกสังคมลดทอนคุณค่าอาชีพ จนนานวันเข้าก็เคว้งคว้างไร้แก่นสาร จึงตัดสินใจล้มเลิกหนทางอาชีพนี้ในที่สุด
แต่ใช่ว่าจะไม่มีใครรับรู้ถึงปัญหาและไม่มีใครอยากสนับสนุนอาชีพศิลปิน เพราะเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (2565) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ได้ประกาศรับสมัครคัดเลือกศิลปินมือสมัครเล่นเพื่อเข้าร่วม ‘โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ ปีที่ 6’ หรือ EARLY YEARS PROJECT #6 ภายใต้หัวข้อ ‘In A Cogitation’ ที่เปิดให้ศิลปินได้นำประสบการณ์ส่วนตัว ทั้งสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เพศสภาพ ความเชื่อทางศาสนา ธรรมชาติ ฯลฯ มาผ่านกระบวนการพินิจพิเคราะห์ ก่อนจะนำไปตีความให้เกิดเป็น ‘งานศิลปะร่วมสมัย’ ที่เป็นรูปธรรมและแฝงสัญญะได้อย่างแยบยล
ณ เวลานี้ มีศิลปินมือสมัครเล่นที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในงาน EARLY YEARS PROJECT #6: In A Cogitation ทั้งสิ้น 8 ราย ได้แก่ เขตสิน จูจันทร์, ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์, ไชยันต์ นิลบล, พระณัฐวัฒน์ อุปนันท์, ภาคินี ศรีเจริญสุข, มณีรัตน์ ธรรมนารักษ์, มาริษา ศรีจันแปลง และสิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์ แน่นอนว่า ศิลปินแต่ละรายสามารถถ่ายทอดผลงานของตนเองออกมาได้อย่างโดดเด่นและน่าสนใจ บ้างก็ทำงานออกมาในลักษณะประติมากรรม บ้างก็เป็นงานวาด บ้างก็เป็นงานมัลติมีเดีย บ้างก็เป็นสื่อผสม แต่งแต้มพื้นที่ชั้น 7 หอศิลป์กรุงเทพฯ ได้อย่างน่าสนใจและชวนให้ผู้ชมได้ขบคิดตลอดเวลา
คอลัมน์ Culture Club สัปดาห์นี้ ขอพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จัก พร้อมชมสิ่งที่น่าสนใจภายในงานนิทรรศการ EARLY YEARS PROJECT #6: In A Cogitation ที่จะทำให้รู้ว่า ศิลปินไทยเรามีความสามารถและความคิดที่ซับซ้อนลึกซึ้งเพียงใด และเพราะเหตุใดเราควรจึงผลักดันอาชีพศิลปินให้มีคุณค่าไม่แพ้อาชีพอื่น
‘ปัง ปัง ปัง!’
ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามาภายในงานก็ได้ยินเสียงวัตถุบางอย่างกระทบเสียงดังเป็นระยะ พลันสายตาเหลือบไปเห็น ‘ฝาท่อ’ ขนาดยักษ์ตามที่เราเห็นกันบนท้องถนนในเมืองหลวงกำลังเปิด-ปิด โดยมี ‘โอ่งยักษ์’ เป็นฐานรองรับ
ผลงานชิ้นดังกล่าวเป็นของศิลปิน ‘ไชยันต์ นิลบล’ ที่มีชื่อว่า ‘สายเลือดนักสู้จากดินแดนที่ราบสูง’ สารตั้งต้นของงานประติมากรรมดังกล่าว เกิดจากภาพจำในวัยเด็กที่ไชยันต์และครอบครัวหลีกหนีความแร้นแค้นจากผืนแผ่นดินอันแห้งแล้งในภาคอีสาน เพื่อเข้ามาผจญโชคในฐานะแรงงานหาเช้ากินค่ำ ตั้งแต่เล็กจนโตศิลปินชายรายนี้เห็น ‘ความเหลื่อมล้ำในสังคม’ จนชินตา ทั้งชนชั้น รายได้ อาชีพ การศึกษา และโดยเฉพาะโครงสร้างในรั้วทหาร ที่แตกต่างเสียราวกับอยู่โลกคนละใบ
สาเหตุที่ไชยันต์ออกแบบให้งานชิ้นนี้ออกมาในลักษณะฝาท่อและโอ่งยักษ์ที่กลไกเปิด-ปิด เพราะตั้งใจเสียดสี ‘สามัญสำนึกคนกรุง’ ที่มักจะนึกถึงปัญหาก็ต่อเมื่อปัญหานั้นกระทบมาถึงตน เช่นเดียวกับฝาท่อที่เราไม่เคยคิดจะเปิดคว้านขยะขึ้นมา ถ้า ‘น้ำ’ ที่เปรียบเสมือน ‘ปัญหา’ ไม่เอ่อล้นท่วมออกมาเสียก่อน โดยมีตุ่มที่เปรียบเสมือนตัวแทนของบ้านนอกที่จากมารองรับอยู่
ความน่าสนใจของผลงานสายเลือดนักสู้จากดินแดนที่ราบสูง ไม่ได้มีแค่ฝาท่อและโอ่งยักษ์ เพราะยังมีประติมากรรม ‘หุ่นไล่กา’ สีดำทะมึน ที่ตั้งอยู่ใจกลางโถงห้องจัดงานดังแลนด์มาร์ก ชวนให้ผู้พบเห็นต้องหยุดมองเพ่งพินิจ โดยงานดังกล่าวถูกเล่าในบริบทของชนชั้นแรงงานจากภาคอีสานที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง ที่มีสถานะไม่ต่างจาก ‘คนชายขอบ’ หรือ ‘อีกาดำ’ ในสายตาคนกรุง
อย่างไรก็ดี หุ่นไล่กาตัวนี้กลับทนแดด ทนลม และทนฝน ตั้งเด่นตระหง่านไม่มีวันล้ม เฉกเช่นแรงงานที่อดทนปากกัดตีนถีบเรื่อยมา โดยมีผืนดินอันแห้งแล้งข้างใต้ทำหน้าที่เสมือนแผนที่ลายแทงสมบัติให้ออกตามหาความสำเร็จที่รออยู่ในบั้นปลาย
ถ้าบอกว่านี่เป็นผลงานโดยฝีมือของพระสงฆ์หลายคนคงจะไม่เชื่อแน่ เพราะเรื่องของศิลปะกับธรรมมะดูจะเป็นเรื่องสวนทางกันเรื่อยมา อย่างไรก็ดี ผลงานภาพนี้ถูกวาดขึ้นจริงโดย ‘พระณัฐวัฒน์ อุปนันท์’ พระสงฆ์ที่เชื่อมั่นว่า ศิลปะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย แม้จะไร้บทสวดมนต์ใดๆ ก็ตาม ผ่านงานรูปแบบที่ถูกนิยามว่าเป็น ‘พุทธศิลปกรรม’
พระณัฐวัฒน์ ออกแบบผลงานชุด ‘อบาย’ (The Hell) ผ่านภาพวาดรวมทั้งสิ้น 9 ภาพ ได้แก่ นรกพันธนาการ (2 ชิ้น), โมหะจริต, ไอ้ตัวมลพิษ (สัตว์ประหลาดในความทรงจำ), อ้ายแมงมุม, มารแห่งความตะกละ และพิภพแห่งมาร (3 ชิ้น) ด้วยการใช้เทคนิคสีอะคริลิกวาดบนผืนผ้าใบ ท่ามกลางความเงียบสงัดในห้องโกดังเก็บศพ ณ วัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ด้วยความเคยชินไม่หวาดหวั่นเพราะเติบโตมาในครอบครัวที่ประกอบอาชีพสัปเหร่อ ทั้งบวชเรียนใต้ร่มกาสาวพัสตร์หลายพรรษา จึงทำให้มีเวลาในการบ่มเพาะผลงานชุดนี้ได้อย่างฉูดฉาดตระการตาและน่ายำเกรงไปพร้อมกัน
“ผลงานชุดนี้เป็นการสร้างกิเลสต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปลักษณ์ โดยนำมาตีความให้เข้าใจได้มากขึ้นโดยเสนอผ่านเรื่องของกฎแห่งกรรมโดยใช้เรื่องราวของนรก ที่นำเสนอโลกหลังความตาย นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ผลงานเสนอความน่าสะพรึงกลัว เจ็บปวด อึดอัด รุนแรง และสะเทือนใจ เพื่อถ่ายทอดด้านลบของจิตใจมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษและเรื่องเวรกรรมของชาวพุทธที่ยึดโยงอยู่ในพระไตรปิฎก อาตมาจึงสร้างงานศิลปะเพื่อใช้เป็นกุศโลบายสอนชาวพุทธ ให้เกิดความกลัวบาป ไม่ตกเป็นทาสกิเลสได้” พระณัฐวัฒน์ อธิบายถึงที่มาของผลงานชุดอบาย
ผลงานชิ้นถัดมาเป็นของ ‘มาริษา ศรีจันแปลง’ ที่นำประสบการณ์ในฐานะคนไทยเชื้อสายกัมพูชา จากจังหวัดสุรินทร์ ที่เติบโตมาท่ามกลางความเลือนรางครึ่งๆ กลางๆ ทั้งวิถีชีวิตและพรมแดนถิ่นอาศัย เธอจึงตัดสินใจค้นหารากเหง้าของเธอผ่านความทรงจำของคนในครอบครัว ที่เคยผ่านเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาในช่วงปี 2518 ด้วยการบันทึกวิดีโอเป็นสารคดี ที่มีเส้นเรื่องเล่าถึงคุณยายที่กระทบกระเทือนจิตใจจากผลกระทบของสงคราม คุณแม่ที่ใช้ชีวิตดูแลทั้งคุณยาย ลูก และหลานที่รุ่นพ่อแม่ได้รับผลจากสงคราม หรือคุณป้าที่จำใจทิ้งครอบครัวลี้ภัยไปอาศัยในดินแดนประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะตั้งคำถามถึง ‘ความแตกสลาย’ และ ‘กระจัดกระจาย’ เหล่านั้น ส่งผลถึงความเจ็บปวดต่อผู้ที่เหลือรอดจากสงครามอย่างไร และพวกเขาลุกขึ้นมาดิ้นรนใช้ชีวิตกันอย่างไรต่อจากนั้น
ที่น่าสนใจนอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ถูกบันทึกในตำราเรียน ยังมีการเล่าถึงพิธี ‘แซนโฎนตา’ (สารทเขมร) พิธีท้องถิ่นของชาวกัมพูชาที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นพิธีรำลึกถึงบรรพบุรษชาวไทยเชื้อสายเขมร โดยมีการใช้ของเซ่นไหว้สำคัญอย่าง ‘บายเบ็ณฑ์’ หรือ ‘ข้าวต้มมัด’ ที่มีความหมายถึงการรวมเป็นกลุ่มก้อน คล้ายพวกเขาที่มีจำนวนประชากรเหลือไม่มากและต้องดำรงชีพโดยอาศัยซึ่งกันและกัน
นอกจากผลงานที่เป็นวิดีโอแล้ว มาริษายังออกแบบผลงานอีกชิ้นในรูปแบบงานประติมากรรมฝาผนัง สารตั้งต้นของงานชิ้นนี้เป็นการเล่าเรื่องราวต่อจากเนื้อหาภายในวิดีโอที่เล่าถึงพิธีแซนโฎนตา ที่นอกจากจะต้องใช้บายเบ็ณฑ์ หรือข้าวต้มมัดในการเซ่นไหว้ ขณะเดียวกันยังมีของอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญในพิธี นั่นคือ ‘ผกาบายเบ็ณฑ์’ ดอกหญ้าชนิดหนึ่ง ที่มีตำราบันทึกลักษณะไว้เพียงสั้นๆ ว่า มีกลีบใบสีขาวและมีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิ ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในฤดูที่มีการทำพิธีแซนโฎนตา และจะร่วงโรยยามสิ้นสุดฤดูพิธีแซนโฎนตา
ด้วยข้อมูลที่มีอยู่น้อยนิด มาริษาได้ดั้นด้นตามหาดอกไม้ดังกล่าว ที่เธอเปรียบว่า คล้ายกับการออกตามหาความทรงจำช่วงหนึ่งของชีวิตที่ขาดหายไป ซึ่งถูกพัดกระจายไปตามที่ต่างๆ เพื่อเป็นความทรงจำเหล่านั้นมาประกอบร่างใหม่ โดยที่บนฝาผนังนอกจากดอกผกาบายเบ็ณฑ์ ยังมีการติดข้อความจดหมายที่ญาติพี่น้องของเธอที่พลัดถิ่นใช้ติดต่อไปมาหาสู่กัน
เดินต่อไปไม่ไกลนักจะพบกับผลงานของ ‘มณีรัตน์ ธรรมนารักษ์’ หญิงสาวที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ สาขาทัศนศิลป์ ภาควิชาศิลปไทย ผลงานของเธอถูกออกแบบมาในงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า ‘กระสุนพระอินทร์’ โดยเป็นการหยิบยกช่วงชีวิตวัยเด็กของเธอ ที่โตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจสวนยางพารา บนผืนแผนดินจังหวัดชุมพร
ช่วงชีวิตวัยเด็กของมณีรัตน์ เธอได้เห็นครอบครัวและเพื่อนบ้านหลายรายต้องเผชิญกับพิษเศรษฐกิจ จนสุดท้ายธุรกิจสวนยางพาราค่อยๆ ปิดตัวลง เหลือทิ้งไว้เพียงเศษซากความทรงจำ โดยเธอนำ ‘ปล้อง’ ของ ‘กิ้งกือกระสุนพระอินทร์’ แมลงที่พบได้ทั่วไปในสวนยางพาราเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราว โดยออกแบบให้มีลักษณะเหมือนมันกำลังขดตัวป้องกันภัยจากนักล่า หรือก็คือพิษเศรษฐกิจ ท่ามกลางสิ่งของที่เคยถูกใช้ในโรงงานผลิตยางพารา ทั้งแผ่นรีดยาง ตราชั่ง วิทยุทรานซิสเตอร์ จักรยาน ถุงมือ ไปจนถึงรองเท้าบูท
นับได้ว่าผลงานชิ้นนี้ เป็นการตีความเสียดสีปัญหาที่ดินทำกิน และอาชีพของชาวสวนยางในภาคใต้ที่ถูกกดขี่เป็นเวลาช้านาน โดยใช้อัตลักษณ์ประจำถิ่นเป็นเครื่องมือถ่ายทอดออกมาอย่างพิถีพิถัน โดยมณีรัตน์เล่าให้เราฟังว่า นานาของใช้ที่ปรากฏในชิ้นงาน เป็นของที่ครอบครัวเธอเคยผ่านการใช้งานในสวนยางจริงๆ
ผลงานของศิลปินหลายรายเลือกจะขุดความทรงจำหรือตั้งคำถามต่อปัญหาในสังคม แต่ในรายงานของ ‘ภาคินี ศรีเจริญสุข’ เธอเลือกที่จะใช้ความไม่พอใจและความสับสนที่ขมุกขมัวอยู่ในจิตใจ มาเป็นแรงสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า ‘Flesh and Spirit’ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.Flesh ที่มีสารตั้งต้นมาจากประโยคที่ว่า ‘คนเราแบกภาระอะไรเอาไว้แตกต่างกัน’ เช่นเดียวกับภาคินีในวัย 30 ปี ที่แบกภาระเอาไว้หลายอย่าง ทั้งงาน ชีวิตครอบครัว หรือความเป็นลูกผู้หญิง เธอจึงนำความกลัดกลุ้มเหล่านั้นมาถ่ายทอดเป็นสิ่งของต่างๆ ที่ถูกแบกเก็บไว้อยู่ในลังกระดาษ โดยที่ด้านบนสุดมีโหลที่ด้านในมีภาพวาดดิจิทัลเป็นผีเสื้อกำลังเชยชมดอกไม้ดอกหนึ่ง จุดนี้เป็นการสื่อตัวตนระหว่างเธอกับแม่ ที่ไม่ว่าจะห่างไกลกันแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาพบกันเป็นครั้งคราว
2.Spirit เป็นภาพวาดบนผืนทะเลทราย ที่ได้ตนแบบมาจากภาพถ่ายบนดวงจันทร์ เป็นการใช้สัญญะที่เปรียบเสมือนการเดินทางผ่านทะเลทรายกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เพื่อไปสู่การค้นพบตนตัวและจิตวิญญาณในปลายทาง โดยรวมแล้วผลงานทั้ง 2 ชิ้น มีส่วนเติมเต็มความหมายซึ่งกันและกัน รวมถึงชวนย้อนนึกถึงความหมายในการมีชีวิตอยู่ของแต่ละคน
นี่เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ปรากฏอยู่ในงานนิทรรศการ EARLY YEARS PROJECT #6: In A Cogitation เท่านั้น เพราะยังมีผลงานอีกหลายชิ้นของศิลปินที่น่าสนใจ เช่น เขตสิน จูจันทร์ กับผลงาน ‘Dusk Chorus’ ที่ใช้เสียงของธรรมชาติในเมืองกรุงมาถ่ายทอดเป็นงานรูปแบบ Sound installation, ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์ กับผลงาน Here We Are ที่ถ่ายทอดมายาคติ ‘American Dream’ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ ณ ช่วงสงครามเย็น โดยการเก็บข้อมูลผ่านเอกสาร ภาพถ่าย คำบอกเล่าจากปากตัวบุคคล ก่อนนำมาร้อยเรียงเป็นวิดีโอสารคดี และสิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์ กับผลงาน ‘Rehearsal for the Missing Parts [1-8]’ ที่หยิบเรื่องราวส่วนที่หายไปจากนวนิยายสี่แผ่นดิน มาขยายความเล่าเสียใหม่ โดยอิงจากบริบทสังคมไทยในอดีตและปัจจุบัน
ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าว ศิลปินจะได้รับการดูแลและแนะนำเทคนิคจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ก้อง ฤทธิ์ดี นักเขียน นักแปล และรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), เพ็ญวดี นพเกตุ, มานนท์ ภัณธารักษ์ นักวิจัยอิสระ นักจัดการทางวัฒนธรรม และผู้ก่อตั้ง Rai.D Collective, ดร.ให้แสง ชวนะลิขิกร นักวิชาการ ภัณฑารักษ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลขาธิการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการภัณฑารักษ์ (หลักสูตรนานาชาติ), อตินุช ตันติวิท ผู้ก่อตั้ง อัตตา แกลเลอรี (ATTA Gallery) ฯลฯ เพื่อนำคอมเมนต์ที่ได้ไปพัฒนางานให้สมบูรณ์จนจบงาน ตามจุดประสงค์ของโครงการ ที่ต้องการมอบประสบการณ์อันล้ำค่าให้ศิลปินได้นำไปใช้ต่อในอนาคต รวมถึงส่งต่อให้กับศิลปินรุ่นถัดไปจนเกิดเป็นสังคมศิลปินในประเทศไทย
ดังนั้น ทุกครั้งที่มางานของแต่ละรายอาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามคำแนะนำของกรรมการจนกว่าศิลปินเจ้าของผลงานจะพึงพอใจ
นิทรรศการ EARLY YEARS PROJECT #6: In A Cogitation เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2566 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลป์กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ก่อนจะมีการประกาศผลผู้ชนะโครงการในวันที่ 15 กรกฎาคม 2566
โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวนิทรรศการ EARLY YEARS PROJECT #6: In A Cogitation ได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียของหอศิลป์กรุงเทพฯ ทุกช่องทาง และทาง The Momentum
Tags: BACC, หอศิลป์กรุงเทพฯ, Culture Club, EARLY YEARS PROJECT 6