ในช่วงเส้นทางสู่การเลือกตั้ง ปี 2566 หลายพรรคการเมืองได้หยิบยกนโยบายมาประชันกันอย่างดุเดือด หนึ่งในนั้นคือเรื่องการผลักดัน soft power ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ผ่านมิติทางวัฒนธรรมของไทยให้ทัดเทียมกับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ทำการส่งออกวัฒนธรรมของประเทศแพร่หลายไปทั่วโลก สร้างปรากฏการณ์ Korean wave หรือ ‘Hallyu’ จนกลายเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาล
บทความนี้ จะทำการสำรวจ ถอดรหัสความสำเร็จ หรือเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ สามารถยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงจนเกิดเป็น soft power ที่แผ่อิทธิพลครอบงำทั่วโลกมาเกือบ 20 ปี ผ่านแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางกฎหมายบางอย่าง ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือการยกเลิกกฎหมายเซนเซอร์ ที่คอยกดทับเพดานเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน
Kpop,
วงการบันเทิงเกาหลีใต้ภายใต้กฎหมายเซนเซอร์
เบื้องต้น กฎหมายเซนเซอร์ (Censorship laws) คือ กฎหมายที่ให้อำนาจแก่รัฐในการควบคุมเนื้อหาของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ เพลง ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่า สื่อเหล่านั้นจะได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่สร้างความเสียหายต่อสังคมและประเทศ ก่อนหน้าที่อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้จะได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก กระบวนการผลิตสื่อนั้นเคยถูกควบคุมจากผู้มีอำนาจอย่างเคร่งครัดมาก่อน
งานศึกษาชิ้นหนึ่งได้สะท้อนภาพอดีตของเกาหลีใต้ภายใต้บังคับกฎหมายเซนเซอร์ ช่วงปี 1987-1992 อันเป็นมรดกอย่างหนึ่งที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยระบอบเผด็จการทหาร พัค จองฮี(Park Chung Hee, 1961-1979) และชุน ดูฮวาน (Chun Doo Hwan, 1980-1987) โน แทอู (Roh Tae-Woo, 1988-1992) กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับผู้นำ ณ ตอนนั้น ด้วยการสอดส่อง ตรวจสอบ และเซนเซอร์เนื้อหาของสื่อบันเทิงที่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเมืองและความมั่นคงของรัฐบาล
งานดังกล่าว กล่าวถึงการควบคุมกระบวนการผลิตภาพยนตร์โดยรัฐบาล พัค จองฮี จากการจัดตั้งหน่วยงาน Motion Picture Promotion Corporation (MPPC) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1973 (ภายใต้รัฐธรรมนูญ Yushin 1972 รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหารที่จำกัดเสรีภาพทางการเมืองอย่างหนัก) โดยรัฐอ้างวัตถุประสงค์ว่า เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ภายในประเทศ ทว่าความเป็นจริงแล้ว คือหน่วยงานรัฐที่ถูกตั้งมาเพื่อควบคุมเนื้อหาของสื่อภาพยนตร์
ในการสร้างภาพยนตร์ เหล่าผู้กำกับและผู้ผลิตจะต้องทำงานให้อยู่ในกรอบที่รัฐกำหนดไว้ เนื้อหาของสื่อต้องนำเสนอภาพด้านสว่างของสังคม และส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอเนื้อหาที่ประชาชนคนเกาหลีเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามฝ่ายผู้มีอำนาจ
จากนั้นปี 1978 รัฐบาล พัค จองฮี ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมในงานสาธารณะ (Public Performance Ethics Committee หรือ PPEC) ขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่ง เพื่อมาดูแลกำกับเนื้อหาของสื่อสาธารณะประเภทต่างๆ และให้กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะมีอำนาจดำเนินการแบน หรือระงับการเผยแพร่สื่อเหล่านั้นได้ตามกฎหมาย โดย อี ยังอิล (Young-Il Lee) ได้บรรยายถึงบรรยากาศ ณ เวลานั้นไว้ว่า
“ภาพยนตร์ในปี 1970 นั้นขาดจิตวิญญาณแห่งศิลปะในการสร้างภาพยนตร์ และทัศนคติของผู้สร้างภาพยนตร์ก็เป็นพวกมักง่ายเกินไป แต่ถ้าภาพยนตร์ประกอบด้วยเนื้อหาที่พูดถึงปัญหา วิพากษ์วิจารณ์ เสียดสีสังคม เนื้อหาเหล่านั้นก็จะถูกระงับยับยั้งจากคณะกรรมการตรวจสอบฯ ภายใต้มาตรการฉุกเฉินของรัฐ ถ้าภาพยนตร์ไม่มีการใส่เนื้อหาที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐที่ต้องทำให้ประชาชนเชื่อฟังคำสั่งผู้มีอำนาจ ก็จะถูกควบคุม สั่งให้แก้ไข ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้เป็นเวลาหลายปี ผู้กำกับและฝ่ายผลิตภาพยนตร์ทั้งหลาย ก็ตระหนักได้ว่า การทำภาพยนตร์ที่มีบทเข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อเจาะกลุ่มชนชั้นล่าง ถือเป็นหนทางเดียวที่ทำให้พวกเขาอยู่รอดได้…”
ต่อมาในยุคสมัยของ ชุน ดูฮวาน ที่ขึ้นเถลิงอำนาจต่อจาก พัค จองฮี ก็ได้สานต่อระบบการควบคุมเนื้อหาของสื่อที่ถูกวางรากฐานเอาไว้ และได้เพิ่มมาตรการควบคุมเนื้อหาเคร่งครัดมากขึ้น เนื่องจากเวลานั้น เริ่มมีเสียงของประชาชนที่เป็นไปในทางต่อต้านอำนาจรัฐบาล กฎหมายเซนเซอร์ ก็ถือเป็นอาวุธชิ้นดี ที่ใช้ในการปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เผยแพร่มาจากสื่อต่างๆ ไม่เฉพาะแต่สื่อบันเทิง แต่ยังรวมถึงการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐบาล
บทกฎหมายที่นำมาบังคับใช้กับกรณีเซนเซอร์เนื้อหา ได้แก่ มาตรา 6, 13 และ 18 แห่งกฎหมายว่าด้วยภาพเคลื่อนไหว (Motion Picture Law) กฎหมายเหล่านี้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมสามารถดูแลควบคุมเนื้อหาของสื่อภาพยนตร์ภายในประเทศได้ หากภาพยนตร์ดังกล่าวบั่นทอนจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ ศักดิ์ศรีของประเทศ บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเกาหลีใต้กับประเทศพันธมิตร หรือทำลายความเข้มแข็งของประชาชนเกาหลีใต้
ตัวอย่างของการปิดกั้นและเซนเซอร์เนื้อหาในช่วงเวลานั้น จะมุ่งไปที่เนื้อหาที่เป็นไปในทางโจมตีรัฐบาล วิพากษ์การเมือง และเนื้อหาที่สะท้อนอุดมการณ์การเมืองฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ เช่น ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง What Are You Going to Do Tomorrow? (Bong-Won Lee, 1997) เป็นภาพยนตร์เรื่องราวความรักของนักศึกษา 2 คน แต่ถูกคณะกรรมการฯ ตัดเนื้อหาบางตอนออก เนื่องจากมีบทสนทนาที่แฝงนัยยะและอาจตีความได้ว่า พาดพิงไปถึงผู้มีอำนาจหรือเป็นการต่อต้านรัฐบาล
โดยเนื้อหาบทสนทนาที่ถูกลบออกไปคือ
“ช: เมื่อพันธบัตรนี้สามารถแลกเป็นเงินสดได้ ผมก็จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อผมมีเงินสดอยู่ในมือ? ผมจะ…
ญ: คุณจะเป็นพ่อคน
ช: คุณเชื่อเรื่องสิทธิในการออกเสียงมั้ย?
ญ: ก่อนหน้านี้ก็ไม่เลยนะ แต่ฉันรู้ถึงพลังอำนาจของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ ฉันจึงเชื่อ”
ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นว่า “สังคมและศีลธรรมอันดีของเรา ต้องได้รับการปกป้องและยึดถือปฏิบัติตาม… ดังนั้น เราจึงไม่อาจรับรองให้สิ่งเหล่านั้นที่อาจนำไปสู่การบ่อนทำลายและส่งผลอันไม่พึงปรารถนาต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ”
การเซนเซอร์เนื้อหา นอกจากจะเป็นเรื่องการเมืองแล้ว ภาพยนตร์และสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศและความรุนแรงก็ถูกควบคุมดูแลด้วยเช่นกัน อีกทั้งรัฐบาลของชุน ดูฮวานยังกำหนดแนวทางและตรวจสอบเนื้อหาภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำเข้ามาฉายภายในประเทศอีกด้วย ทำให้กระบวนริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถูกจำกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลกระทบเชิงลบของการบังคับใช้กฎหมายเซนเซอร์นี้ สามารถจินตนาการให้เห็นภาพได้ว่า หากปัจจุบันเกาหลีใต้ยังมีกฎหมายเซนเซอร์ที่กล่าวถึงอยู่ คงไม่มีใครที่จะได้รับชม Parasite ภาพยนตร์ระดับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะเป็นเรื่องที่สะท้อนประเด็นชนชั้น แฝงด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และฉายภาพความเลวร้ายของสังคมเกาหลี คงไม่มีใครได้ดูซีรีส์เกาหลีตามแพลตฟอร์มต่างๆ เพราะบางเรื่องมีเนื้อหาความรุนแรง และคงไม่มีใครได้เสพความบันเทิงจากบทเพลงในแวดวง K-pop เพราะฝ่ายคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมอาจเห็นว่าเป็นสื่อที่เกี่ยวข้องประเด็นเรื่องเพศ ฯลฯ
ช่วงเวลาการยกเลิกกฎหมายเซนเซอร์
เมื่อกฎหมายเซนเซอร์ของเกาหลีห้ามผู้ผลิตภาพยนตร์และศิลปินอื่นๆ ในการนำเสนอผลงานที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ถือเป็นอุปสรรคขัดขวางความเป็นอิสระในการสร้างสรรค์มาเป็นเวลานาน ในปี 1996 ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลี ได้สั่งยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายเซนเซอร์ และเปิดเพดานเสรีภาพทางความคิดให้เหล่าผู้ผลิตงานสร้างสรรค์และศิลปินได้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ และนำเสนอออกมาได้อย่างเต็มที่
จุดเริ่มต้นของการยกเลิกกฎหมายเซนเซอร์ เกิดขึ้นภายหลังวิกฤตการณ์การเงินและหนี้ IMF ของเกาหลีใต้ รัฐบาลภายใต้การนำขอประธานาธิบดี คิม แดจุง (Kim Dae-Jung) ซึ่งได้วางแนวนโยบายการปฏิรูปและฟื้นฟูภาพลักษณ์ของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ เขาตระหนักว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้นถูกวางไว้บนอุ้งมือของกลุ่มแชบอล (Chaebol) ซึ่งได้ดำรงตนเป็นเสาหลักด้านความมั่งคั่งของชาติมาอย่างช้านาน การส่งออกเทคโนโลยีและวัฒนธรรมจึงถูกเลือกให้เป็นอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง
ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยว (Ministry of Culture, Sports, and Tourism) ยังจัดตั้งสำนักต่างๆ เช่น Content Policy Bureau ที่ประกอบไปด้วยฝ่าย Cultural Industry Policy Division, Film and Video Content Industry Division, Game Content Industry Division, Popular Culture Industry Division และ Hallyu Content Cooperation Division เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะ
ยุคหลัง 1996 นำพาเกาหลีใต้เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมทางด้านวัฒนธรรม และเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลออกไปภายนอกประเทศ จากเอเชียไปจนถึงโลกฝั่งตะวันตก ในเวลาเพียงไม่กี่ปีผู้คนเริ่มรู้จัก ซีรีส์ ภาพยนตร์ และเพลงที่เป็นผลผลิตมาจากเกาหลีใต้ ตัวอย่างเช่น รักนี้ชั่วนิรันดร์ (Autumn in my heart) ในปี 2000, ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม (My Sassy girl) ในปี 2001 ที่เป็นซีรีส์ และภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมทั้งในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง จีน ไทย ฯลฯ และหลังจากนั้นอีกไม่ถึง 10 ปี โลกก็รู้จัก Gangnam Style ของ PSY (2012) เพลงที่ครั้งหนึ่งเคยไต่ขึ้นไปเป็นเพลงที่มียอดวิวสูงที่สุดใน YouTube
แน่นอนว่า การยกเลิกกฎหมายเซนเซอร์ไม่ได้เป็นยาวิเศษที่ทำให้เกาหลีใต้ขึ้นเป็นมหาอำนาจด้าน Soft Power ของโลก เพราะต้องดำเนินควบคู่นโยบายส่งเสริมอื่นๆ ไปด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า การยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นการทำลายเพดานที่เป็นข้อจำกัดของความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตผลงานและศิลปินสามารถแสดงศักยภาพของตนเองได้โดยไม่มีข้อจำกัด ตราบเท่าที่ไม่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อปัจเจกบุคคล หรือประโยชน์สาธารณะ
การเซนเซอร์สื่อบันเทิงในไทย
ลองหันมาพิจารณาที่สังคมและวงการบันเทิงไทย ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยยังคงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายหลายฉบับ เช่น
พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่า
“มาตรา 37 ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง”
พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 29 กำหนดให้ภาพยนตร์ทุกเรื่องต้องผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งหากคณะกรรมการเห็นว่า ภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่บ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้
หลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดจัดอยู่ในประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรนั้น ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ว่า
“ข้อ 7 ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(2) สาระสำคัญของเรื่องเป็นการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนาหรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน หรือปูชนียวัตถุ
(3) เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ
(4) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
(5) สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
(6) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ”
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอื่นๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มุ่งลงโทษการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, มาตรา 116 ที่กำหนดให้แก่การกระทำอันเป็นยุยงปลุกปั่น, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดบนโลกออนไลน์ ฯลฯ
กฎหมายเหล่านี้ รวมถึงวิธีคิดและการทำงานของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบที่ล้าหลัง ย่อมทำให้เกิดการปิดกั้นและเซนเซอร์สื่ออย่างไม่สมเหตุสมผล จากผู้มีอำนาจที่สูญเสียผลประโยชน์ หรือได้รับผลสะเทือนต่อสถานะความมั่นคง จนกลายเป็นข้อจำกัดศักยภาพและเพดานความสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้ สังคมไทยยังคงได้รับชมสื่อบันเทิงแบบเดิมๆ ซ้ำซาก เช่น หนังตลก หนังผี ละครน้ำเน่า ละครตบจูบ วนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่มีทางพัฒนาคุณภาพได้ทัดเทียมกับเกาหลีใต้ และตราบใดที่เป็นอยู่เช่นนี้ การสร้าง soft power ให้วัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วโลกอย่างที่กล่าวอ้างกัน ก็คงเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ เท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
Park, Seung Hyun. “Film Censorship and Political Legitimation in South Korea, 1987-1992.” Cinema Journal 42, no. 1 (2002): 120–38. http://www.jstor.org/stable/1225545.
Seung-Ho Kwon and Joseph Kim, From censorship to active support: The Korean state and Korea’s cultural industries, Economic and Labour Relations Review, 24(4): 517-532.
จิดาภา ลู่วิโรจน์, “ความไม่ปาฏิหาริย์ของกระแสนิยมเกาหลี, 4 มกราคม 2565, เศรษฐสาร, http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/572
Tags: censorship laws, กฎหมายเซนเซอร์, ภาพยนตร์, Kpop, เกาหลีใต้, Soft Power