แม้จะไม่ได้อยู่ในยุคสมัยของการเป็นนักแสดงอันดับต้นๆ ในฮอลลีวูดแล้ว แต่ชื่อของ เบน แอฟเฟล็ก (Ben Affleck) ยังเป็นที่รู้จักและรักในฐานะคนเขียนบทและผู้กำกับอยู่ อันจะเห็นได้จากผลงานต่างๆ ของเขา ทั้ง Argo (2012) ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มาครอง หรือหากย้อนกลับไปนานหน่อย แอฟเฟล็กก็แจ้งเกิดในฐานะคนเขียนบทมือรางวัลร่วมกับเพื่อนรักอย่าง แมตต์ เดมอน (Matt Damon) จากหนัง Good Will Hunting (1997) ที่ส่งสองหน่อในวัยยี่สิบกลางๆ คว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมมาครอง
วันนี้ แอฟเฟล็กหวนเข้าสู่วังเวียนการกำกับอีกครั้งกับผลงานชิ้นใหม่ที่ชื่อ Air (2023) บอกเล่าตำนานมหากาพย์การถือกำเนิดของรองเท้าไนกี้รุ่น Air Jordan ดัดแปลงมาจากชีวิตของ ซันนี (แสดงโดย แมตต์ เดมอน) อดีตแมวมองนักกีฬาบาสเกตบอลที่ผันตัวมาเป็นพนักงานไนกี้ช่วงปี 1984 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาล่อแหลมของบริษัท เมื่อกำลังพ่ายส่วนแบ่งทางการตลาดให้บริษัทรองเท้ากีฬาเบอร์ใหญ่อย่างอาดิดาสและคอนเวิร์ส
โดยหนึ่งในหนทางที่จะทำให้ไนกี้รอดจากปากเหวได้ คือการตีตลาดรองเท้ากีฬาบาสเกตบอล ที่ก็แน่นอนว่าเวลานั้นถูกยึดครองโดยอาดิดาส มิหนำซ้ำแผนการนี้ก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ เมื่อเวลานั้นไนกี้มีภาพจำว่าเป็น ‘รองเท้าวิ่ง’ มากกว่าจะเป็น ‘รองเท้าบาส’ ทางออกคือบริษัทจำเป็นต้องหานักกีฬาชื่อดังในลีก NBA ให้มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้ เงื่อนไขเดียวคือซันนีต้องคว้าตัวนักกีฬาที่จะมาเป็น ‘ภาพลักษณ์’ ของรองเท้าให้ถูกคน ในสภาพการณ์ที่นักกีฬาเบอร์ต้นๆ หลายคนก็ถูกค่ายอื่นดึงตัวไปหมดแล้ว
และเวลานั้นเอง ช่วงเวลาที่ถือได้ว่าเป็นหน้าแรกของประวัติศาสตร์ก็ถือกำเนิดขึ้น เมื่อซันนีเห็นฟุตเทจการแข่งขันของ ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) เด็กหนุ่มหน้าใหม่ที่โชว์ฟอร์มการแข่งระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างยอดเยี่ยม จนจ่อจะถูกเรียกตัวเข้ามาในบาสเกตบอลลีกอย่าง NBA
ในฟุตเทจอันเรียบง่ายที่คนทั้งไนกี้ (รวมทั้งทุกคนในอาดิดาสและคอนเวิร์ส) ดูมาแล้วเป็นร้อยเป็นพันครั้งระหว่างการพยายามตัดสินใจเลือกหาพรีเซนเตอร์ให้บริษัท ซันนีก็พบว่าเจ้าหนุ่มรูปร่างผอมบาง ที่หลายต่อหลายคนพินิจพิเคราะห์แล้วว่าตัวเล็กไปสำหรับลีกที่มีแต่ยักษ์อย่าง NBA (อย่างไรก็ตาม จอร์แดนสูง 198 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเป็นความสูงระดับค่าเฉลี่ยในลีก) กลับเป็นทางสว่างของไนกี้และแผนกรองเท้าบาสเกตบอล ปัญหาเดียวคือจอร์แดนเรียกค่าตัวสูงลิ่วเมื่อเทียบกับการเป็นหน้าใหม่ หากไนกี้อยากคว้าตัวจอร์แดนมา ก็จำต้องยอมแลกทุ่มเงินก้อนทั้งหมดที่มีในงบประมาณ เป็นค่าตัวของเจ้าหนุ่มจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา โดยไม่เผื่อใจกระจายความเสี่ยงไปจ้างพรีเซนเตอร์คนอื่นใดอีก
แน่นอนว่า ฟิล (แสดงโดย เบน แอฟเฟล็ก) ผู้ร่วมก่อตั้งและรั้งตำแหน่งประธานบริษัท ต่อต้านหัวเด็ดตีนขาดว่าไม่มีวันให้ซันนีลงเดิมพันในครั้งนี้ อันเนื่องมาจากความเสี่ยงระดับมโหฬารที่อาจพาลทำเอาทั้งแผนกบาสเกตบอลโดนยุบ ขณะที่ซันนีเองก็พร้อมแลกทุกอย่าง ด้วยการแหกกฎห้ามบริษัทสนทนากับครอบครัวนักกีฬาโดยตรง บุกดุ่มไปยังบ้านจอร์แดน และสนทนากับ เดอโลริส (แสดงโดย วิโอลา เดวิส) แม่ของไมเคิล จอร์แดนซึ่งเป็นผู้ปกครองและเป็นผู้ร่วมตัดสินใจหลักของนักกีฬาหนุ่มในเวลานั้น
แน่นอนว่าเราต่างรู้กันอยู่แล้วว่าเรื่องราวนี้ลงเอยอย่างไร นั่นคือการที่ไนกี้คว้าตัวไมเคิล จอร์แดนมาได้ และเป็นการ ‘แทงหวย’ ที่แม่นยำ ที่ถูกต้องที่สุดของประวัติศาสตร์การเซ็นสัญญาในนักกีฬา คำถามคือแล้วแอฟเฟล็กจะเล่าเรื่องนี้ทุกคนรู้อยู่แล้วเรื่องนี้อย่างไรให้มันยังคงจับใจที่สุด
เบื้องหลังภารกิจนี้คือ อเล็กซ์ คอนเวอรี (Alex Convery) มือเขียนบทที่เพิ่งจะเขียนบทให้ Air เป็นเรื่องแรกของชีวิต จับจ้องไปยังเส้นเรื่องของไนกี้ที่ตีตลาดได้แต่รองเท้าวิ่ง แต่สำหรับรองเท้าบาสเกตบอลกลับไม่เคยประสบความสำเร็จเลย มิหนำซ้ำ ไมเคิล จอร์แดน ก็๋ไม่ได้ปลาบปลื้มไนกี้นักและค่อนไปทางเอนเอียงใจให้อาดิดาส เท่ากับว่าทั้งเนื้อทั้งตัว ไนกี้มีอาวุธในมือแค่เงินค่าตัวจอร์แดนเท่านั้น
หนังทั้งเรื่องจึงเล่าช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าการคว้าตัวจอร์แดนมาเซ็นสัญญา นับตั้งแต่ที่ทั้งองค์กรมองว่าซันนีเสียสติไปแล้ว ที่กล้าทุ่มสุดตัวให้เจ้าเด็กหนุ่มจากมหาวิทยาลัย, ฟิลที่ยื่นคำขาดว่า ไม่มีทางทุ่มเงินก้อนยักษ์สำหรับการเซ็นนักกีฬาสามคนไปให้จอร์แดนเพียงคนเดียวเป็นแน่แท้ และด่านสุดท้ายคือแม่ของจอร์แดน ผู้เฉียบคมและอ่านเกมขาดจนกลายเป็นหนึ่งใน ‘ผู้เล่นหลัก’ ของการเซ็นสัญญานี้ Air จึงหาที่ทางการเล่าเรื่องตำนานที่ถูกเล่ามาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ งโดยไม่ได้ผ่านตัวจอร์แดนหรือผ่านตัวรองเท้า Air Jordan ด้วยซ้ำ แต่ผ่านเรื่องราวการเซ็นสัญญา การเอาชนะด่านมหากาพย์ทั้งปวงของไนกี้
ดังนั้นแล้ว นาทีประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่นาทีที่จอร์แดนจรดปากกาในหน้ากระดาษสัญญา หากแต่เป็นนาทีที่ซันนีโน้มน้าวเขาในห้องประชุมเพื่อให้เขาเลือกมาอยู่กับไนกี้ สิ่งสำคัญที่ไนกี้ (และซันนี) เห็นในตัวจอร์แดน ไม่ใช่แค่ว่าเขาเป็นนักกีฬาชั้นยอด หากแต่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่จะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การกีฬาอเมริกันไปตลอดกาล โอบรับความรุ่งเรือง ความสำเร็จ ชื่อเสียง และได้รับการสถาปนากลายเป็นตำนาน
ในทางกลับกัน ก็ในฐานะมนุษย์ที่ต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวัง พ่ายแพ้ และล้มเหลว ซึ่งอาจทำให้เขาหวนกลับลงสู่สังเวียนได้ยากลำบาก แต่นั่นคือสิ่งที่จอร์แดนในฐานะนักกีฬา NBA จะต้องพบเจอ และรองเท้า Air Jordan คือสิ่งที่เล่าถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ในแง่มุมนี้ไว้อย่างหมดจด และนี่ย่อมเป็นฉากที่เบน แอฟเฟล็ก ทุ่มทั้งตัวเพื่อปั้นออกมาให้ดี (เพราะเข้าใจว่าหากเล่าไม่ถึง หรือแม้แต่บางลงไปนิดเดียว พลังของหนังจะหดหายไปอย่างน่าเสียดาย) ถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นหัวใจสำคัญของ Air ทั้งเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อหนังโหมประโคมฟุตเทจจริงของจอร์แดนเข้ามาด้วย ทั้งในยามที่เขาคว้าแชมป์ติดกันอย่างที่แทบไม่มีนักกีฬาหน้าไหนเคยทำ หรือในห้วงเวลาที่เขาเจ็บปวดและร่วงหล่นลงสู่พื้น ก่อนจะตะกายกลับมาอีกครั้งอย่างสง่างาม กลายเป็นตำนานจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่น่าจับตาอีกประการคือ ภาษาหนังของ Air ค่อนไปทางหนังยุค 80s อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะการเชื่อมภาพ การใช้ดนตรีเล่าเป็นฉากหลัง หรือการตัดต่อเองก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลนี้กลายเป็นสิ่งที่ช่วยเล่าเรื่องบรรยากาศของสหรัฐฯ และวงการบาสเกตบอลในยุคนั้นได้อย่างน่าชื่นชม และคิดว่าคงเป็นความตั้งใจของแอฟเฟล็กในฐานะผู้กำกับเองด้วย
อีกประการ ใครก็ตามที่เป็นคนดูบาสเกตบอล การได้เห็นฟุตเทจของไมเคิล จอร์แดนตัวจริง แทรกขึ้นมาในนาทีที่ซันนีเล่าถึงสิ่งที่เด็กหนุ่มจากมหาวิทยาลัยคนนั้นจะต้องเผชิญ แล้วจะไม่น้ำตาซึมกันบ้างเล่า
Tags: Nike, Screen and Sound, Air, Michael Jordan, ไมเคิล จอร์แดน