เสือสมิง…
เสือลายพาดกลอน…
เสือลายเมฆ….
เสือเผ่น…
ใครๆ ก็ว่า ‘เสือ’ คือพุทธคุณของขลังชนิดหาตัวจับยาก ยิ่งเป็นเสือที่อยู่ใกล้สถานที่อย่าง ‘เสาชิงช้า’ ยิ่งไปกันใหญ่
ในช่วงแดดร่มลมตก ลัดเลาะตามถนนดินสอจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาราว 500 เมตร ข้ามคลองรอบกรุงแล้วเข้าซอยตึกดิน จะพบกับร่องรอยของป้ายยันต์ Payaq(พยัคฆ์) ที่แปะตามหัวมุม หากพบแปลว่าคุณเดินทางมาใกล้ถึงรังของบรรดาเสือศิลปินที่ซ่อนเขี้ยวเล็บในบ้านแสนอบอุ่น
Payaq Gallery Cafe & Bar (พยัคฆ์)
3 ผู้ก่อตั้ง Payaq Gallery Cafe & Bar (พยัคฆ์)
ร้าน พยัคฆ์ แกลเลอรี คาเฟ่ แอนด์ บาร์ เกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อนศิลปิน 3 คน ประกอบด้วย ต้น-ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แก๊ป-ดร.ยศพร จันทองจีน อาจารย์ประจำสาขาวิชา ออกแบบภายใน วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
และ เติ้ล-ธีระยุทธ พืชเพ็ญ ศิลปิน Street Art แห่งยุค
ทั้ง 3 คนล้วนมีความฝันในการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนด้านศิลปะ เนื่องจากทั้งสามคนล้วนอยู่ในแวดวงศิลปะจึงอยากขับเคลื่อนและเดินหน้าวงการศิลปะไทย ประจวบเหมาะกับเพื่อนในวัยเด็กของ ต้น มีบ้านเก่าอายุกว่า 100 ปีถูกที่ทิ้งร้างไว้นาน จึงอยากรือฟื้นบ้านเก่าสู่พื้นที่แลกเปลี่ยนด้านศิลปะที่เคยวาดฝันไว้
“จะว่าเป็นโชคก็ได้ พื้นที่ตรงนี้ ผมรู้จักมาตั้งแต่สมัยเรียนประถม มัธยม เวลามารวมตัวกับเพื่อนๆ ก็จะใช้บ้านหลังนี้ในการรวมตัว เพราะมีพื้นที่มีบริเวณ จนเราโตขึ้นก็แยกย้าย แต่จดจำความงดงามและความอบอุ่นของบ้านหลังนี้ได้อยู่เสมอ จนเมื่อหลายสิ่งพร้อมเราจึงขอเพื่อนเจ้าของบ้านว่า อยากเปลี่ยนบ้านในความทรงจำหลังนี้ให้กลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะ”
ทีแรกทั้ง 3 ตั้งใจให้สถานที่แห่งนี้ชื่อว่า ‘บ้านไม้ขาว’ เนื่องจากบริเวณรอบๆ บ้านเต็มไปด้วยต้นแก้ว ต้นโมกข์ และดอกเข็มขาว ทั้งหมดล้วนให้ดอกสีขาวบานสะพรั่ง ส่วนตัวบ้านไม้เดิมเป็นสีเทาอมฟ้า จึงได้ชื่อบ้านไม้ขาว
“แต่ด้วยความที่พวกเราต่างเป็นในสายศิลปะ โดยเฉพาะเติ้ล ที่เป็นศิลปิน Street Art เบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย จึงอยากทำให้ที่นี่เป็นแกลเลอรีและพื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่ออยากให้เป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนแนวความคิดสร้างสรรค์ออกแบบ งานดีไซน์ งานศิลปะต่างๆ ขณะเดียวกันเราก็เชื่อในศิลปะว่ามันมีหลายรูปร่างไม่ตายตัว เลยคิดว่าถ้าจะทำที่นี้ต้องสามารถรองรับศิลปะในทุกด้าน”
ระหว่างที่ทั้ง 3 คนกับกำลังระดมสมองเพื่อปรับปรุงบ้านเก่าพวกเขาก็เจอเรื่องบังเอิญคือ ทั้ง 3 คนต่างมี ‘รอยสัก’ ที่เกี่ยวกับ ‘เสือ’ กันหมดทั้ง 3 คนและก่อนหน้านี้ ต้นกับเติ้ล ได้ร่วมกันทำโปรเจคงานศิลปะประเภท การแสดง (Perfomance art) ในชื่อ ‘กระตั้วแทงเสือ’ ประกอบกับเมื่อพวกเขาค้นหาประวัติของพื้นที่พบว่าในบริเวณใกล้เคียงมีตำนานที่กล่าวถึง เสือ ของวัดมหรรณพารามวรวิหารและเป็นที่มาของศาลเจ้าพ่อเสือ สำหรับคนเกิดปีขาล
“เสืออยู่ในวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในคาบสมุทรอินโดจีน ที่เสือเป็นตัวแทนของอิทธิฤทธิ์เป็นได้ทั้งร้ายและดี ขณะเดียวกัน ในอดีต เสือ คือผู้ล่า แต่ปัจจุบัน เสือ กลับกลายเป็นผู้ถูกล่า อย่างกรณีเสือดำ วันหนึ่งไม่มีทางที่ใครจะยืนทะนงได้ตลอดไป ดังนั้นทุกคนต้องรู้จักที่ทางของตัวเอง เราจึงคิดว่าเสือน่าจะเป็นตัวแทนของหลายๆ สิ่งในปัจจุบันได้ดี”
เลยเป็นที่มาของพยัคฆ์ แกลเลอรี คาเฟ่ แอนด์ บาร์ เมื่อใช้ชื่อว่าพยัคฆ์ โชว์แรกที่จะใช้เปิดก็จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับเสือ ซึ่งก็ได้ฤกษ์เปิดตัววันที่ 11 เดือน 11 ซึ่งก็ไปพ้องกับชื่อ ‘เสือ 11 ตัว’ เชิญศิลปินรับเชิญ 11 คนมาแสดงงานศิลปะไม่จำกัดรูปแบบ อะไรก็ได้เกี่ยวกับเสือ
บ้านไม้ขาว
ต้น เล่าว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านในรูปแบบ ‘ทรงขนมปังขิง’ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กว่าจะมีโฉนดที่ดินก็ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงทำให้อายุของบ้านมากกว่า 100 ปี โดยโครงสร้างเป็นบ้าน 2 หลังประกอบด้วยบ้านใหญ่ และเรือนคนดูแลบ้าน แต่จากความเก่าทรุดโทรมทำให้เรือนคนดูแลบ้านพังต้องตัดสินใจรื้อทิ้งทั้งหมด
บ้านแบบขนมปังขิง (Ginger Bread House) เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกซึ่งได้รับอิทธิพลเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มจากบ้านพักของสถานทูตฝรั่งเศส แพร่หลายมาถึงในวัง วัดวาอาราม พ่อค้า คหบดีชนชั้นกลาง
ชื่อขนมปัง นั้นมาจากการตกแต่งลายฉลุเหนือประตูและช่องลมที่สวยงามละเอียดอ่อน มีความคล้ายคลึงกับ ‘บ้านขนมปังขิง’ หรือคุกกี้ที่ชาวยุโรปมักจะทำกินกันในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาส ซึ่งมีการตกแต่งลวดลายด้วยน้ำตาลที่อ่อนช้อย มีลักษณะหงิกงอคล้ายแง่งขิง
ไอเดียของทั้ง 3 ผู้ก่อตั้ง คืออยากเก็บกลิ่นไอของบ้านไม้เก่าให้ได้มากที่สุด ซึ่งโครงสร้างเดิมและตัวบ้านยังคงแข็งแรงดี แต่ปัญหาใหญ่คือปลวก ทำให้ โจทย์ใหญ่ของการบูรณะบ้านไม้เก่าอายุกว่า 100 ปีครั้งนี้ ความยากคือการจัดการปลวก เพราะในหลายส่วนปลวกได้เข้าไปรื้อกินจนอาจทำให้โครงสร้างพุพังได้ในอนาคต การระดมความคิดร่วมกันระหว่างผู้ก่อทั้ง 3 ซึ่งเป็นสถาปนิก นักตกแต่งภายใน และศิลปิน จึงเริ่มขึ้น โดยมีความคิดที่ตรงกันว่า อยากให้บ้านคงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น บานประตูหน้าต่าง บานพับ บานกระทุ้ง ผนัง ช่องลม ลายฉลุ ยังเป็นของเดิมทั้งสิ้น
ส่วนพื้นที่ข้างบนมี 4 ห้อง ล้วนตั้งชื่อที่เกี่ยวข้องกับเสือ ตามชนิดของเสือ ประกอบด้วย ห้องเสือสมิง ห้องเสือลายพาดพาดกลอน ห้องเสือลายเมฆ ห้องเสือโคร่ง
ความเก่าที่เราต่างหลงรัก
ต้น เล่าว่า บ้านหลังนี้ในอดีต เป็นของสืบทอดมรดกของเพื่อน ซึ่งเจ้าของคือพ่อแม่ของเพื่อน แต่บ้านไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไรจึงค่อยๆ ถูกทิ้งร้างมานาน นอกจากสภาพบ้านที่ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา แต่ภายในบ้านกลับเต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์และของเก่าแก่มากมาย
“สภาพบ้านเก่ายังอยู่ดี ยกเว้นเรือนคนใช้ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม ส่วนเฟอร์นิเจอร์ในบ้านยังอยู่ครบ แล้วครอบครัวเพื่อนเหมือนย้ายออกไปแต่ไม่ได้ย้ายของตามไปด้วย ทำให้ในบ้านยังมีข้าวของเก่า เครื่องใช้เก่า มีทุกสิ่งแต่ไม่มีคนอยู่เท่านั้นเอง”
ในช่วงที่ต้นขอใช้บ้านไม้ขาว ในการทำ พยัคฆ์ แกลเลอรี คาเฟ่ แอนด์ บาร์ เราเขียนแบบแปลนปรับปรุงส่งไปให้พ่อและแม่ของเพื่อนซึ่งเป็นเจ้าของบ้านดู สิ่งที่ได้รับกลับมาคือรอยยิ้มและคำยินดี เพราะมีคนสนใจที่จะนำบ้านในความทรงจำของพวกเขามาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งเป็นการเก็บบันทึกเรื่องราวในอดีตของพวกเขาไว้
“ที่บ้านหลังนี้มีของเก่าเยอะมากจนวันที่จะรื้อบ้านซ่อมบ้านต้องให้คุณพ่อคุณแม่เพื่อนเจ้าของบ้านเข้ามาดูอีกรอบว่ามีอะไรจะนำกลับไปบ้าง ก่อนจะไปพวกเขาบอกว่า มีสิ่งหนึ่งที่อยากขอไว้คือ ‘เก็บของเก่าให้เป็นที่ระลึกเพราะจะมีอีกหลายคนที่หลงรักของเก่าและบ้านหลังนี้’ ”
ห้องบ้านไม้ขาว เป็นห้องใหญ่กลางบ้านเป็นตัวแทนของห้องที่สามารถรักษาความเก่าไว้ได้มากที่สุด ในช่วงการรื้อซ่อมแซม ห้องไม้ขาวเป็นเพียงห้องเดียวที่แถบจะไม่มีอะไรต้องรื้อ เอกลักษณ์ของห้องคือการเดินเข้า-ออก ผ่านช่องหน้าต่าง
“ตอนนั้นเราก็สงสัยว่าทำไมห้องนี้ต้องเข้าและออกทางหน้าต่าง ปรากฎว่าจริงๆ แล้วประตูของห้องจะอยู่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเปิดไปยังพื้นที่หลังบ้าน แต่ในปัจจุบันบ้านแต่ละแห่งย่อมรั้วรอบขอบชิดทำให้ประตูไปชนกับรั้วแบบพอดิบพอดี จึงทำให้ประตูปิดตายและใช้ทางเข้าออกเป็นบานหน้าต่างแทน”
หนังสือโป๊ วัฒนธรรมความ ‘ใคร่’ ในยุคไร้สมาร์ตโฟน
ในสมัยเมื่อก่อนเวลา ต้น ไปบ้านเพื่อนจะมีห้องๆ หนึ่ง ใช้สำหรับฉายหนังโป๊ ตามประสาเพื่อนผู้ชาย ซึ่งในห้องดังกล่าวมีทั้งหนังสือ วีดีโอ วีซีดี ภาพเปลือยพื้นที่ตรงนี้ต้นและเพื่อนทั้ง 2 ตั้งใจว่าจะจัดไว้เป็นศิลปะ เพื่อระลึกถึงช่วงเวลาดังกล่าว โดยจะมีโซฟาและทีวีเก่าที่เวียนจะฉายหนังวาบวิวเปิดไว้เป็นงาน Art ตลอดทั้งวัน ซึ่งต้นกล่าวว่า สำหรับบางคนอาจมองว่าเป็นความใคร่ แต่ถ้าเรามองให้เป็นศิลปะก็ได้เช่นกัน
สำหรับพวกเขานี่คือความจริงใจกับความทรงจำของตัวเอง ที่บันทึกเรื่องราวของห้องและบ้านไม้แห่งนี้ในอดีตได้อย่างลงตัวผ่านงานศิลปะหลายแขนง และ หนังสือโป๊ วัฒนธรรมความ ‘ใคร่’ ก็เป็นหนึ่งในงานเช่นกัน
พื้นที่ทางศิลปะ
อย่างที่กล่าวไปว่า พยัคฆ์ แกลเลอรี คาเฟ่ แอนด์ บาร์ มีไอเดียเริ่มต้นจากการอยากหาพื้นที่ทางศิลปะ จึงทำให้ในทุกส่วนของตัวบ้าน ถูกประดับประดาไปด้วยงานศิลปะหลากหลายแขนงไม่ว่าจะเป็น ภาพพิมพ์ ภาพดิจิทัล งานแกะสลัก หรือแม้แต่ดนตรี
ในวันที่เข้าไปชมบ้านไม้ขาว งานที่จัดอยู่คือ ‘พยัคฆ์ 11 ตัว พาร์ท 2’ งานศิลปะจาก 11 ศิลปินชั้นนำของเมืองไทย จัดอยู่ในบ้านไม้ขาวทั้ง 2 ชั้น ซึ่งต้นเล่าว่า ในแต่ละช่วง งานจะถูกสับเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน เช่น ก่อนหน้าเป็นงานเปิดตัว พยัคฆ์ แกลเลอรี คาเฟ่ แอนด์ บาร์ จึงใช้ชื่อว่า ‘พยัคฆ์ 11 ตัว’ ที่นำศิลปะทั้งในไทยและนอกประเทศมาตีความหมายคำว่า ‘เสือ’ ในฉบับพวกเขา บางคนก็ตีความเป็น ‘นักล่า’ บ้างก็ตีความเป็นดัง ‘เหยื่อ’ แต่ไม่ว่าจะตีความอย่างไร บ้านไม้ขาวก็พร้อมเป็นพื้นที่รองรับความคิดสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ
โดยก่อนหน้านี้ในช่วง BKK Design week บ้านไม้ขาว และ พยัคฆ์ แกลเลอรี ก็เป็นส่วนหนึ่งของงาน โดยนำเสนอเรื่องราวของ ‘จรจัดสรร’ บ้านสำหรับน้องหมาไร้เจ้าของ
ส่วนศิลปิน หรือนักศึกษา สามารถติดต่อนำศิลปะมาวางได้เช่นกัน โดยสามารถติดต่อได้ผ่านทางแฟนเพจของร้าน payaq.gallery
‘กระตั้วแทงเสือ 2022 ’ วัฒนธรรมที่มีชีวิต
กระตั้วแทงเสือ คือ งานที่ต้นและเติ้ลได้ทำร่วมกัน ก่อนที่จะหันมาเปิดแกเลออรีเป็นของตัวเอง โดยเป็นการหยิบงานแสดงโบราณในชื่อเดียวกันอย่าง กระตั้วแทงเสือ มาตีความใหม่ จากคนไปปราบเสือก็เปลี่ยนเป็นไปตามหาเสือ เพราะเสือในปัจจุบันได้หายไปจากระบบนิเวศ จากที่คนต้องเกรงกลัวเสือกลับกลายเป็นคนจ้องจะไปยิงเสืออย่างเหตุการณ์ยิง ‘เสือดำ’ อันน่าสลดในป่าใหญ่
“เสือเป็นสัตว์ที่อยู่บนห่วงโซ่อาหาร ถ้าหากเสือหายไปจากป่าแปลว่าระบบนิเวศนั้นได้พังลง และในความเป็นจริงมนุษย์ก็รุกรานป่าจากอดีตที่เสือเข้ามาหาคน กลายเป็นเราเข้าไปแย่งที่ รุกรานพื้นที่สัตว์ป่า เป็นเช่นนั้นเสือจะทำอย่างไร”
ต้นเล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรกการหยิบยกเอางานการแสดงศิลปะไทยโบราณมาหยิบจับปัดป้องในรูปแบบใหม่นั้นอาจได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่คิดได้ แต่สำหรับเขาคิดว่า วัฒนธรรมไม่ต่างจากไลฟ์สไตล์ เป็นสิ่งเคลื่อนที่มีพลวัต เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ รัฐไทย ผู้มีอำนาจ หรือคนที่ดูแลเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม มักตีกรอบความเป็น ว่าวัฒนธรรม ต้องเป็นเรื่องชั้นสูง (High culture) เท่านั้น จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม ศาสนา ทำให้ของเช่นนี้ถูกแช่แข็งไว้ โดยเฉพาะงานศิลปะ คนไม่สามารถเข้าถึง พอจะไปหยิบอะไรมาจะนำมาต่อยอดก็ไม่สามารถทำได้เพราะจะผิดครูต่างๆ นานา แต่หากนำศิลปะเหล่านั้นมาดัดแปลงต่อยอดโดยไม่หลงลืมรากเหง้า นั่นต่างหากคือทางรอดของศิลปวัฒนธรรมไทยในโลกยุคใหม่
‘พยัคฆ์เปรี้ยวตีน’
ในเมื่อเป็นบาร์ สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้คือเครื่องดื่ม ซึ่งมีมากมายให้เลือกสรรไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มอันสุดร้อนแรงไปจนถึงเย็นซ่าสดชื่นสะใจ แต่ที่จะพามาแนะนำคือ เครื่องดื่มอันขึ้นชื่อของร้านอย่าง ‘พยัคฆ์เปรี้ยวตีน’
พยัคฆ์เปรี้ยวตีน เป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติของส้มอันแสนสดชื่นผสานกับแอลกอฮอล์อันร้อนแรงอย่างจิน (Gin) ทำให้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วได้กลิ่นของส้มและความสดชื่นอย่างลงตัว
ต่อมาคือเครื่องดื่มที่ชื่อว่า ‘ดอกไม้ขาว’ เครื่องดื่มสีขาวนวลน่าหลงใหล แยกชั้นน้ำเป็น 2 เลเยอร์อย่างชัดเจน ส่วนด้านบนเป็นน้ำฟองเต้าหู้ ผสมกับแอลกอฮอล์และตกแต่งด้วยดอกไม้ขาวตามชื่ออันเป็นเอกลักษณ์
สุดท้าย ขอแนะนำ เครื่องดื่มที่ชื่อว่า ‘พยัคฆ์’ ใครจะดื่มอะไรก็ตามแต่ใจปรารถนา แต่สำหรับ 3 ผู้ก่อตั้งแอลกอฮอล์ไทยคือที่สุด ผสมโซดาให้สดชื่นซาบซ่า คงเรียกได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่ ดุดัน แข็งแกร่ง ไม่เกรงใจใคร คงต้องยกให้แก้วนี้ เข้มข้นตามสไตล์ไทย
ส่วนอาหารส่วนใหญ่ เน้นร่วมกับชุมชนและพื้นที่ จึงอนุญาตให้สามารถนำของกินเข้ามารับประทานร่วมกันได้ แต่จะดีมากหากเป็นของกินที่หาได้ในชุมชนใกล้เคียง
“จะนั่งแฮงเอาท์ไปกินอาหารประจำถิ่นไปยิ่งดีใหญ่ เพราะเรามาอยู่ที่นี้ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้อย่างลงตัว”
The Story Of Our Hero | แชมป์โลกไร้เข็มขัด
ท่ามกลางกระแสดราม่าเรื่อง ‘มวย’ ในวัฒธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเป็นที่ร้อนแรง โดยเฉพาะในกีฬาประเภท ‘มวยไทย’ ซึ่งสร้างชื่อเสียงและนำแชมป์มาสู่คนไทยมามากมาย จนกลายเป็น ‘ฮีโร่ของคนไทยทั้งชาติ’ แต่ใครจะรู้ว่า เมื่อเวลาผ่านไปฮีโร่เหล่านั้นต้องผ่านความยากลำบากในชีวิตอีกมากมาย หรือ คำว่าฮีโร่ของคนไทยทั้งชาติเป็นเพียงวาทกรรม
พยัคฆ์ แกลเลอรี และ Thai Cult ร่วมกันนำเสนอสารคดีสะท้อนชีวิตของเหล่านักมวยหมดอายุ ผ่านงานแสดงศิลปะชุด The Story of Our Hero | แชมป์โลกไร้เข็มขัด โดยนำเสนอศิลปะผ่านงานประเภทต่างหลากหลายรูปจาก 6 ศิลปิน ประกอบด้วย BIPO, JORNBEHINDTHEHOUSE, NAWAT LERTSAWAENGKIT, PHAI TANASAN, SUMETHA PECH IN, และ TRK
อีกทั้งยังพบปะแขกรับเชิญพิเศษ อดีตนักมวยแชมป์โลก
สมชาย นักบาลี , แรมโบ้ รัตนพล ส.วรพิน และ แสน ส.เพลินจิต
งานจัดแสดงมีตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2566 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป